21 พ.ย. 2020 เวลา 16:16 • ข่าว
ทางออกของรัฐบาลญี่ปุ่นเมื่อขยะกัมมันตภาพ​รังสีเพิ่มขึ้นทุกวัน
1
นายก​ Suga ​ขณะไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะค่ะ/ที่มา​ KYODO
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์​ฟุกุชิมะ​- หายนะภัยทางกัมมันตภาพรังสี​ครั้งใหญ่
หากเรายังจำได้ถึงเหตุการณ์​แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุเมื่อวันที่​ 11​ มีนาคม พ.ศ. 2011 คลื่นสึนามิที่มีความสูงกว่า 15​ เมตรถาโถมเข้าใส่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์​ฟุกุชิมะไดอิชิแห่งที่​ 1 ซึ่งเป็นของบริษัทไฟฟ้าโตเกียว (Tokyo Electric Power Company : TEPCO)
คลื่นสูงทำให้อาคารเตาปฏิกรณ์​ในอาคาร​ 1, 2, และ​ 3 ได้รับความเสียหายและกระแสไฟฟ้าถูกตัดขาด​ ส่งผลให้ระบบหล่อเย็นของเตาปฎิกรณ์​ทั้ง​ 3 อาคาร​ไม่ทำงาน​ จึงทำให้เตามีอุณหภูมิ​สูงมากจนกระทั่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เกิดปรากฏการณ์หลอมละลายที่เรียกกันว่า melt down และความร้อนมหาศาลนี้ยังส่งผลทำให้เกิดระเบิดไฮโดรเจนขึ้นที่อาคาร 1, 3, และ 4
2
ซึ่งการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และการระเบิดของไฮโดรเจนนี้ได้ทำให้สารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมาปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมทั้งทางอากาศ​ พื้นดิน​ หรือแม้แต่ไหลลงสู่ทะเลจนต้องอพยพประชากริอกไปจากพื้นที่ทั้งหมด
1
ที่มา Boston.com
​อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์​ที่ฟุกุชิมะ​มีความรุนแรงเป็นอันดับที่​ 2 รองจากอุบัติภัยเชอร์โนบิลในปี 1986 การระเบิดที่ฟุกุชิมะทำให้มีการปลดปล่อยกัมมันตรังสีออกมาเพียง 30% เมื่อเปรียบเทียบกับเชอร์โนบิล​ อาจฟังแล้วดูเหมือนว่าไม่รุนแรง​ แต่แท้จริงการแก้ปัญหา​กลับมีความซับซ้อนมากกว่าเนื่องจากเครื่องปฏิกรณ์ทั้งหมดได้รับความเสียหาย
1
กัมมันตภาพ​รังสีที่ยังเหลือจากหายนะภัยและการจัดการของรัฐบาลญี่ปุ่น
หลังจากการระเบิดในปี​ 2011​ รัฐบาลญี่ปุ่น​ได้ดำเนินการปลดระวางโรงไฟฟ้าทั้ง​ 4 อาคาร​ แต่เนื่องจากโรงไฟฟ้ามีขนาดใหญ่และมีความเสียหายหลายจุด​ คาดว่าจะใช้เวลาโดยประมาณ​ 50​ ปีจึงจะแล้วเสร็จ
3
ทำไมต้องปลดระวาง​ และเป้าหมายหลักที่สำคัญของการปลดระวางคืออะไร
เป้าหมายแรกคือการเก็บซากที่เกิดจากการหลอมละลายของแท่งนิวเคลียร์ และถอดแท่งนิวเคลียร์ที่ยังไม่หลอมละลายออกจากอาคารเตาปฏิกรณ์ออกไปให้หมด ในปัจจุบันการทำงานในส่วนนี้ยังไม่แล้วเสร็จเนื่องจากการระเบิดทำให้แท่งเชื้อเพลิงหลอมเหลวปะปนกับเศษซากต่างๆ​ ดังนั้นจึงต้องมีการขจัดการปนเปื้อนและนำเชื้อเพลิงออกมา
เป้าหมายที่สองคือการจัดการกับน้ำปนเปื้อน​ ถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้จะปิดตัวลงหลังการระเบิด แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องฉีดน้ำกว่า​ 150 ตันต่อวันเข้าไปหล่อเลี้ยงเตาปฏิกรณ์ทั้ง 3 แห่งอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยลดอุณหภูมิที่ร้อนจัดจากขี้เถ้าหลังระบบหล่อเย็นเสียหายตั้งแต่ปี 2011 เพื่อป้องกันการ melt down ที่อาจเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้​
1
น้ำหล่อเย็นเหล่านี้จะพาขี้เถ้าจากเตาปฏิกรณ์​ออกมา​ นอกจากนี้ใต้อาคารยังมีน้ำใต้ดินปริมาณ​ 400​ ตันที่ยังไหลเวียนอยู่​ ซึ่งน้ำทั้งหมดนี้คือน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพ​รังสี
รัฐบาล​ญี่ปุ่นมีความพยายามที่จะบำบัดน้ำปนเปื้อนเพื่อกำจัดสารกัมมันตภาพรังสีออกไป หากแต่ยังมีสารกัมมันตรังสีที่เป็น​ last boss อีกตัวที่ไม่สามารถขจัดออกได้ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ซึ่งก็คือ “ทริเทียม”
1
ทริเทียม​ คืออะไร​ ทำไมเราต้องกังวลกับทริเทียม
ทริเทียมคือไอโซโทปชนิดหนึ่งของอะตอมไฮโดรเจน​ ทริเทียมเกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ ดังนั้นจึงสามารถพบสารชนิดนี้ในแทบจะทุกพื้นที่ของเตาปฏิกรณ์ เมื่อมีการใช้น้ำเพื่อการลดอุณหภูมิ จึงทำให้น้ำปนเปื้อนทริเทียม​ แต่เนื่องจากว่าคุณสมบัติทางเคมีของน้ำปนเปื้อนทริเทียมนี้มีความคล้ายคลึง​กับน้ำธรรมดา จึงยังไม่มีเครื่องมือใดๆ สามารถขจัดทริเทียมออกจากน้ำได้
4
มีการศึกษาจาก Nuclear Free Local Authorities (NFLA) ว่า นอกจากการปนเปื้อนในน้ำแล้ว ทริเทียมยังสามารถปลิวกระจายไปในอากาศและไปตกลงบนผลิตผลทางการเกษตรได้ไกลกว่า 10 ไมล์อีกด้วย
4
ทริเทียมไม่สามารถทะลุผ่านผิวหนังแต่จะเข้าสู่ร่างกายได้จากการกินหรือดื่มน้ำ​ปนเปื้อน การดูดซึมผ่านผิวหนังหรือแผล​ และด้วยความที่เป็นของเหลว น้ำปนเปื้อนทริเทียมจึงสามารถแพร่กระจายไปสู่ส่วนต่างๆ​ ของร่างกายได้​อย่างง่ายดายและรวดเร็ว​
อย่างไรก็ตาม​ ยังคงมีการถกเถียงกันถึงผลกระทบของทริเทียมต่อมนุษย์​ The Health Physics Society บอกว่าทริเทียมไม่ใช่เจ้าตัวร้ายซักหน่อยเพราะมีองค์ประกอบ​ของกัมมันตภาพรังสี​น้อยมากๆ​ ซึ่งอาจจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรเลยด้วยซ้ำ​ แต่ทาง Nuclear Information and Resource Service เชื่อว่าทริเทียมคือตัวจี้ดที่จะก่อให้เกิดมะเร็ง​ และมีผลต่อเด็กในครรภ์​ รวมถึงภาวะผิดปกติทางพันธุกรรม​
3
ในเมื่อไม่สามารถกำจัดทริเทียมในน้ำได้​ และยังไม่แน่ใจในผลกระทบของทริเทียมว่าใครพูดผิดพูดถูกกันแน่ รัฐบาล​ญี่ปุ่นก็ทำได้เพียงสร้างถังเก็บน้ำไว้ใช้เก็บน้ำปนเปื้อนทริเทียม​ไว้ก่อน และเก็บเรื่อยมาตั้งแต่ปี​ 2011​ จนปัจจุบัน​มีน้ำกว่า​ 1.2​ ล้านตันบรรจุไว้ในถังน้ำกว่าพันถังในพื้นที่โรงไฟฟ้า
10
ภาพถ่ายมุมสูงในปี 2019 / ที่มา Mainichi.jp
เต็มพรืดเลยค่ะ/ ที่มา KYODO
เมื่อที่เก็บถังน้ำปนเปื้อนเริ่มไม่เพียงพอ​ แล้วต้องทำยังไงต่อดี
ปัญหาใหญ่ที่ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องนอนก่ายหน้าผากคือพื้นที่ในการจัดเก็บถังน้ำปนเปื้อนอยู่เต็มพื้นที่โรงไฟฟ้านั้นไม่มั่นคงและกำลังจะมีไม่เพียงพอแล้ว เพราะพื้นที่ที่เตรียมไว้สามารถเก็บได้​ 1.3​ ล้านตันนั้น​ ตอนนี้ใช้ไปแล้ว​ 1.1​ ล้านตัน​ และคาดว่าจะเต็มพื้นที่ในช่วงฤดูร้อนในปี​ 2022
ถังบรรจุน้ำปนเปื้อน/ที่มา AP
ในเมื่อไม่มีที่เก็บ​แล้ว​ แถมถังเก็บยังอยู่ใกล้ชายฝั่งอีก ความคิดนึงที่คิดได้คือ​ ก็เทลงทะเลไปซะเลย​ ว่าซั่น!!!!
1
ถึงแม้จะเป็นเพียงแผนการของรัฐบาลเท่านั้น แต่ทั้งประชาชนในประเทศโดยเฉพาะชาวประมงและนานาประเทศต่างก็ลุกฮือขึ้นมาค้านหัวชนฝาห้ามเทลงทะเลเด็ดขาด​ เพราะทั่วโลกยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับน้ำปนเปื้อนนี้อยู่​ 3 ประการคือ
1. น้ำจะได้รับการบำบัดก่อนเทลงทะเลจริงๆใช่มั้ย
2. จะมั่นใจได้ยังไงว่าน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีอื่น​ (นอกจากทริเทียม)​ จะไม่เกินค่ามาตรฐาน​
3. น้ำปนเปื้อนทริเทียมจะไม่เป็นอันตรายต่อ​สัตว์​น้ำจริงหรือ เพราะสุดท้ายเราก็กินสัตว์​น้ำอยู่ดี
1
ดังนั้นในเมื่อยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามทั้งสามข้อ รัฐบาลญี่ปุ่นจะปล่อยลงสู่ทะเลก่อนได้ยังไง??
1
เธอคิดอะไรที่ง่ายเกินไป​ ไม่เคยจะแคร์​ใจชั้นบ้างเลย!!
1
หลังจากได้รับเสียงคัดค้านอย่างท่วมท้น​ ทางรัฐบาลก็เลยเริ่มคิดว่าถ้าจะดึงดันต่อไปก็ไม่น่าจะเป็นวิธีการที่ชาญฉลาดนัก​ ทั้งรัฐบาลและ​TEPCO (บริษัทที่ดูแลโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ)​ พยายามที่จะอธิบายกับประชาชีว่าน้ำจะได้รับการบำบัดอย่างแน่นอนก่อนการปล่อยลงทะเล​ และสารกัมมันตรังสี​อื่นๆ​ ก็จะน้อยกว่าค่ามาตรฐาน​เพราะจะทำการบำบัด​ 2 ครั้ง​ก่อนปล่อยลงทะเล อีกทั้งการที่ปล่อยน้ำปนเปื้อนเหล่านี้ลงสู่ทะเลน่าจะเป็นเรื่องดีกว่าเก็บไว้ในถังซะอีก​ เพราะรัฐบาลไม่ได้ปล่อยตู้มเดียวทั้งหมด​ จะเป็นการทยอยปล่อย และน้ำทะเลเนี่ยก็จะช่วยเจือจางทริเทียมไปหลายล้านเท่า​ ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นอันตรายใดๆ​ กับมนุษ​ย์
4
แต่เพราะเสียงคัดค้าน​ที่ยังหนักแน่น ตอนนี้รัฐบาลญี่ปุ่นก็ยังไม่ได้มีทีท่าว่าจะทำยังไงต่อไปดี
1
และหากผู้อ่านคิดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นมีเพียงปัญหาน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพ​รังสีจากโรงงานไฟฟ้าฟุกุชิมะเท่านั้นที่ต้องกังวล
คุณผู้อ่านคิด..........
ผิด ถูก ผิด ผิด ถู้กก (เสียงเชียร์จากห้องส่ง)
ผิดค่ะ
เนื่องจากญี่ปุ่น​เป็นประเทศที่ผลิตพลังงานนิวเคลียร์อันดับ​ 4 ของโลกรองจาก​ อเมริกา​ ฝรั่งเศส​ และจีน​ ทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นมีเตาปฏิกรณ์​ 54​ เครื่องที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ​ 30% ของทั้งประเทศตั้งแต่ปี​ 2011​ และถึงแม้จะมีการปิดตัวลงของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะจากหายนะภัย ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์​เลย​เพราะญี่ปุ่นมีเตาปฏิกรณ์​ที่กำลังใช้งานอยู่​ ​9​ เครื่อง​และอีก​ 18 เครื่องกำลังรอการเปิดใช้งานภายในปี​ 2030
แผนที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น/ ที่มาNippon. com
ขยะกัมมันตภาพ​รังสีมีอะไรบ้าง
เป็นเวลากว่าหลายสิบปีแล้วที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งเชื้อเพลิงไปสกัดซ้ำ​ (การเอาเชื้อเพลิงใช้แล้วมาแยกเอาเชื้อเพลิงที่มีประโยชน์ออกจากกากนิวเคลียร์)​ ที่ฝรั่งเศส​และอังกฤษ​ แต่กากนิวเคลียร์ที่ถือเป็นขยะกัมมันตภาพ​รังสีนั้นก็ยังต้องถูกส่งกลับมาที่ญี่ปุ่นตามข้อตกลงของ​ทบวงการพลังงานปรมาณู​ระหว่างประเทศ​ (IAEA) ที่ว่ากากนิวเคลียร์​ต้องถูกส่งกลับมายังป​ระเทศต้นทาง​
ญี่ปุ่นมีพื้นที่จัดเก็บกากนิวเคลียร์​ชั่วคราวเพียงพอสำหรับ 30​ ถึง​ 50​ ปีที่ร๊อคคาโชในอาโอโมริ​ ปัจจุบันมีแท่งเชื้อเพลิงที่ใช้แล้วกว่า​ 40,000​ รอการจัดเก็บในพื้นที่จัดเก็บกาก​นิวเคลียร์​ถาวร​ซึ่งจะต้องใช้เวลาก่อสร้างกว่า​ 20​ ปี​ อีกทั้งยังต้องจัดหาพื้นที่จัดเก็บกากกัมมันตภาพรังสีระดับต่ำโดยต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่เทียบเท่ากับสระว่ายน้ำโอลิมปิก 8 สระ​ นี่ยังไม่รวมถึงขยะปนเปื้อนเช่น​ ถุงมือ​ หน้ากาก​ ชุดกันรังสี​ เครื่องมือต่างๆ​ เป็นต้น​ ซึ่งขยะเหล่านี้นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ​ ​
ถุงมือเอย ชุดเอย อะไรเอย ทั้งหมดคือขยะปนเปื้อนทั้งนั้น/ ที่มา AP
ตั้งแต่ปี​ 2002​ รัฐบา​ลญี่ปุ่นได้เริ่มเสาะแสวงหาพื้นที่ที่เก็บขยะกัมมันตภาพ​รังสี​ถาวร​ โดยจะต้องมีการสร้างที่เก็บทำจากคอนกรีตหนาและลึกลงไปใต้ดินกว่า​ 300​ เมตร​เพื่อป้องกันการรั่วไหลที่อาจจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์​และสิ่งแวดล้อม​ และที่สำคัญ​ ที่เก็บขยะกัมมันตภาพ​จะต้องมีความทนทานสามารถเก็บได้เป็นพันปี
ในปี​ 2007​ เมืองโตโยได้เสนอตัวเป็นเมืองที่จะใช้เป็นที่เก็บขยะกัมมันตภาพ​รังสี​ หากแต่ได้รับการคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมากจนต้องล้มพับโครงการนี้ไป
9
​ในปี​ 2017​ รัฐบาล​กลางได้เผยแพร่พื้นที่ที่คาดว่าจะถูกนำมาใช้เป็นพื้นที่จัดเก็บ​จะอยู่บริเวณใกล้กับภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นและแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก​และแผ่นดินไหว (เอ๊ะ​ จะดีเหรอ)​ รวมถึงส่ง​ ​signal เป็นนัยๆ บอกว่าพื้นที่ในเมืองซัสซึและคาโมเอะไนในฮอกไกโดดูเหมือนจะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างเพราะอยู่ใกล้กับโรงงานนิวเคลียร์​โทมาริที่เพิ่งปิดตัวไปเร็วๆ​ นี้
เงินอุดหนุน​ -​ ข้อแลกเปลี่ยน​กับการเป็นพื้นที่ทิ้งขยะกัมมันตภาพ​รังสี​
ในเมื่อยังไม่สามารถหาพื้นที่ลงหลักปัก​ฐาน​สร้างพื้นที่เก็บขยะกัมมันตภาพ​รังสีถาวรเพราะใครล่ะจะอยากให้บ้านตัวเองเป็นพื้นที่เก็บขยะกัมมันตภาพ​รังสี​ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงปิ๊งไอเดียเสนอเงินดึงดูดจังหวัดที่ดูจะมีอนาคตไม่มั่นคงเพราะการลดลงของจำนวนประชากร​ด้วยเงินอุดหนุนหลายพันล้านเยนและการจ้างงาน​​เพื่อ​แลกกับการให้รัฐบาลใช้เป็นที่จัดเก็บขยะกัมมันตภาพ​รังสี​
5
ในการก่อสร้างพื้นที่ทิ้งขยะนั้นจะแบ่งเป็น​ 4 เฟส​ โดยในเฟสแรกจะเป็นการวิจัยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการใช้พื้นที่เป็นเวลา​ 2 ปี​ เฟสต่อมาจะเป็นการศึกษาทางธรณีวิทยา​ ซึ่งหากพื้นที่ผ่านเกณฑ์​การศึกษา​ ก็จะได้รับเงินอุดหนุน​ราวๆ​ 7​ พันล้านเยน​ และเฟสสุดท้ายคือการก่อสร้างพื้นที่จัดเก็บ​ใต้ดิน​ ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ​ 14​ ปี
2
ในเบื้องต้นซัสซึและคาโมเอะไนในฮอกไกโดที่รัฐบาลเล็งๆ​ ไว้ก็ได้ตอบรับข้อเสนอ​ ​แต่ทว่าเพราะเรื่องนี้เอง กลับทำให้คนในหมู่บ้านแตกความสามัคคีกันซะแล้ว....
ในซัสซึนั้น​ แผนการนี้ได้รับเสียงสนับสนุนจากชาวบ้านบางกลุ่มเพราะมองเห็นการจ้างงานและเงินอุดหนุน​ที่จะได้รับในอนาคต​ ด้วยความหวังที่ว่าหมู่บ้านชาวประมงที่แสนจะเงียบเหงานี้อาจจะได้รับการฟื้นฟูและพัฒนา​ขึ้นในสักวัน แต่ก็ใช่ว่าทุกคนในพื้นที่จะเห็นด้วย กลุ่มที่คัดค้านมองว่าหมู่บ้านไม่ได้ขาดแคลนงบประมาณ​อะไรขนาดนั้นจนจะต้องอยากได้เงินสนับสนุน และชาวบ้านในพื้นที่ต่างก็มีรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงปากท้องจากการจับหอยนางรม ปลาซาร์ดีน และแอนโชวี​ ดังนั้นจึงมีความกังวลว่าถ้าพื้นที่กลายเป็นที่ทิ้งขยะกัมมันตภาพ​รังสี​ จะต้องส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และ​สัตว์​น้ำ​อย่างแน่นอน และที่สำคัญ​ หลังจากนี้ใครจะมาซื้อปลาซื้อหอยจากพื้นที่ทิ้งขยะนิวเคลียร์???????
3
กลุ่มผู้คัดค้านยังมองประเด็นในเรื่องของการมีส่วนร่วมของคนหนุ่มสาวต่อการตัดสินใจในครั้งนี้ เนื่องจากประชากรที่ยังอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเป็นผู้สูงอายุ แต่พื้นที่เก็บขยะนิวเคลียร์จะตั้งอยู่ที่หมู่บ้านอีกหลายปี ดังนั้นกลุ่มคนหนุ่มสาวจึงควรมีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของตนเอง​​ มากกว่าการให้นายกเทศมนตรี​เป็นผู้ตัดสินใจฟันธง! (40% ของประชากรในเมืองซัสซึมีอายุมากกว่า​ 65​ ปี)
5
ประชาชนในท้องถิ่นจึงเรียกร้องให้มีการดีเบตก่อนตัดสินใจตอบตกลงโอเคซิกาแร๊ตกับรัฐบาล แต่ในเมื่อนายกเทศมนตรี​ของซัสซึอยู่ฝั่งสนับสนุน​และเลือกที่จะไม่สนใจเสียงจากกลุ่มคัดค้านที่ประกอบด้วยองค์การต่อต้านการใช้นิวเคลียร์​ สมาพันธ์​ชาวประมง​ กลุ่มนายกเทศมนตรี​ของเมืองข้างเคียง​ และแม้แต่เสียงคัดค้านของผู้ว่าฮอกไกโดก็ตาม​(ป๊าด)!!! การดีเบตจึงไม่เกิดขึ้น การประท้วงของกลุ่มคัดค้านเริ่มจากสันติวิธีไปจนถึงการข่มขู่​ มีการรวบรวมรายชื่อคัดค้านจากชาวบ้าน การแจกใบปลิว​ และการปาระเบิดขวดใส่บ้านนายก​เทศมนตรีก่อนวันลงนามเซ็นสัญญา​
1
หนึ่งในชาวบ้านคัดค้านและป้ายโปสเตอร์ที่มีความเป็นญี่ปุ่นมากเลยค่ะ / ที่มา Carmen Grau
ทว่าสุดท้ายการประท้วงก็ไม่เป็นผล นายกเทศมนตรีเมืองซัสซึได้เซ็นสัญญาการกับองค์การการจัดการขยะนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น (NUMO) ยอมให้ใช้พื้นที่เพื่อการศึกษาในเฟสแรกไปเมื่อวันที่ 9​ ตุลาคมที่ผ่านมา...
1
รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศข่าวที่น่ายินดีว่าทั้งเมืองคาโมเอะไนและซัสซึเข้าร่วมโครงการ​ และทางรัฐบาลก็จะพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะทำให้ประชาชนหันมาสนับสนุนโครงการดังกล่าว
1
รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม (ขวา)และนายกเทศมนตรีเมืองซัสฃซึ (ซ้าย) ในวันลงนามเซ็นสัญญา / ที่มา AP
หลังจากรัฐบาลปล่อยข่าวนี้ออกไป​ ผู้ว่าราชการจังหวัด​ฮอกไกโดออกมากล่าวว่า​ ต่อให้มีการเริ่มเฟส​ 1 ตนเองจะคัดค้านการศึกษา​ในเฟสที่​ 2 อย่างเต็มที่​ แต่ที่สุดแล้วฝั่งกลุ่มคัดค้านเองก็ยังคงมีความกังวลใจว่า​สุดท้ายแล้วอำนาจเงินอาจจะชนะทุกสิ่ง​ โดยเฉพาะ​อย่างยิ่งแรงกดดัน​จากรัฐบาล​หลังจากการจ่ายเงินอุดหนุน​แล้ว
1
คนต้องรอดูต่อไปนะคะว่านายกซูกะจะแก้ปัญหาอันหนักหน่วงนี้ยังไงค่ะ
1
บทความนี้ใช้เวลาอาทิตย์​กว่าในการเขียนเลยคาะ​ หากชอบใจฝากกดไลค์​กดแชร์​ด้วยนะคะ​ 😊🙏
1
แผนที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
โฆษณา