17 พ.ย. 2020 เวลา 13:00 • สิ่งแวดล้อม
นักวิทยาศาสตร์ออกแบบโพรงรังเทียมซึ่งใช้การพิมพ์แบบ 3 มิติ เพื่อให้สัตว์ที่ไร้บ้านเนื่องจากไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ในออสเตรเลียได้มีที่อยู่ชั่วคราวไว้พักอาศัย
โพรงรังเทียมในป่า
อภิมหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในออสเตรเลียตั้งแต่ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงต้นปีนี้ ได้ทำให้สัตว์ป่าประมาณ 3 พันล้านตัวต้องตายหรือไร้ที่อยู่ และมันยังทำลายโพรงรังในต้นไม้ไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งโพรงรังเหล่านี้เป็นบ้านของนกนานาชนิดรวมถึงสัตว์ขนาดเล็กชนิดอื่นด้วย
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Charles Sturt ของออสเตรเลีย ออกแบบโพรงรังเทียมเลียนแบบโพรงรังของต้นไม้ในธรรมชาติ เพื่อให้สัตว์ที่รอดชีวิตจากไฟป่าได้มีที่อยู่อาศัยที่ใกล้เคียงกับบ้านเดิมของพวกมัน
พวกเขาได้ร่วมมือกับบริษัท Habitech เพื่อผลิตโพรงรังเทียม โดยนำพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้ 100% มาขึ้นรูปด้วยการพิมพ์แบบ 3 มิติ เพื่อให้มีขนาด รูปร่าง และลักษณะภายนอกใกล้เคียงกับโพรงรังตามธรรมชาติมากที่สุด นอกจากนี้ พวกเขายังได้ออกแบบให้มันมีผนัง 2 ชั้นและมีฝาปิด เพื่อกันความร้อนจากภายนอกด้วย
โพรงรังเทียมที่ออกแบบให้มีผนัง 2 ชั้น (ภาพจาก Charles Sturt University)
นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าโพรงรังเทียมที่ผลิตขึ้นมานี้มีอายุการใช้งานยาวนานใกล้เคียงกับโพรงรังตามธรรมชาติ โดยพวกเขาได้ทดลองนำมันไปติดตั้งไว้ในป่าจริงๆ เพื่อดูการตอบสนองของเหล่าสัตว์ป่า
ผลปรากฏว่านกแก้วสะโพกแดง (red-rumped parrot) เข้าไปอยู่ในโพรงรังเทียมได้ดีไม่มีปัญหาอะไร นั่นจึงทำให้ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์วางแผนที่จะติดตั้งโพรงรังเทียมแบบนี้ในหลายพื้นที่ของออสเตรเลีย เพื่อให้นกและสัตว์ชนิดอื่นที่รอดชีวิตจากไฟป่าได้เข้ามาอาศัย
นกแก้วสะโพกแดงตัวเมีย (ซ้าย) และตัวผู้ (ขวา)
การฟื้นฟูผืนป่าที่ถูกไฟไหม้ให้กลับคืนมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม คงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร เพราะฉะนั้นโพรงรังเทียมที่นักวิทยาศาสตร์คิดค้นขึ้นมานี้จึงน่าจะทำให้เหล่าสัตว์ป่ามีแหล่งพักพิงชั่วคราวที่น่าอยู่และปลอดภัย
โฆษณา