11 ม.ค. 2021 เวลา 22:00 • การศึกษา
เลิกตระหนี่ตลอดไป (๑)...
ความสุขและความสำเร็จเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา มนุษย์ต่างดิ้นรนขวนขวาย เสาะแสวงหาสิ่งที่คิดว่า จะเพิ่มเติมส่วนที่ขาดหายไปให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์ เมื่อยังไม่รู้ว่า หนทางแห่งความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ตรงไหน จะเข้าถึงได้อย่างไร จึงทำให้ต้องวนเวียนอยู่กับเรื่องการทำมาหากิน การแสวงหาความสนุกสนานเพลิดเพลิน เกียรติยศ ชื่อเสียง เงินทอง พระบรมศาสดาทรงค้นพบว่า วิธีการที่จะเข้าถึงความสุขที่ แท้จริงนั้น ต้องเริ่มต้นจากใจที่หยุดนิ่ง เพราะสุขอื่นนอกจากใจหยุดใจนิ่งนั้นไม่มี ใจที่สงบหยุดนิ่งจะเป็นต้นทางของความสุข และความสำเร็จที่แท้จริง เมื่อนั้นชีวิตของเราย่อมก้าวไปสู่ความเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ คือ การบรรลุมรรคผลนิพพาน ดังนั้น การปฏิบัติธรรมด้วยการฝึกฝนใจให้หยุดนิ่ง ให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใส นับเป็นทางมาแห่งความสุขที่แท้จริง และเป็นทางหลุดทางพ้นจากทุกข์ทั้งมวล
มีธรรมภาษิตใน อรรถกถาอกิตติชาดก ว่า....
"ธรรมดาว่าการให้ทานนี้ เป็นประเพณีของบัณฑิต ทั้งหลายแต่ปางก่อนอย่างแท้จริง การให้ทานนั้น ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ หรือเป็นบรรพชิตก็ตาม ก็ควรให้ทั้งนั้น"
ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเชื้อสายของบัณฑิตนักปราชญ์ คือผู้ที่ฉลาดในการสั่งสมบุญ ที่อุดมไปด้วยการบำเพ็ญทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา คุณสมบัติ ๓ ประการนี้ คือ หนทางไปสู่ความสุข ความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตทั้งในภพนี้และภพหน้า อีกทั้งยังเป็นเสบียงบุญที่จะนำพาไปสู่สวรรค์ในท่ามกลาง และพระนิพพานในเบื้องปลาย บัณฑิตทั้งหลายต่างตระหนักดีว่า ชีวิตที่ปราศจากการให้ทานนั้น จะไปสู่จุดหมายปลายทางไม่ได้ เหมือนเรือที่น้ำมันหมด ทั้งยังไม่มีใบเรือ ไม่มีหางเสือ ต้องจอดลอยลำอยู่กลางทะเล ฉันใด ชีวิตของผู้ที่ไม่ได้ให้ทาน ย่อมเหมือนลอยเคว้งคว้างอยู่ในสังสารวัฏ ฉันนั้น
ชีวิตของผู้ไม่ให้ทาน ย่อมไม่อาจก้าวสู่บันไดแห่งความสำเร็จ และความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต เหมือนนกที่ไม่มีขนปีก ย่อมบินขึ้นสู่ที่สูงไม่ได้ บัณฑิตในกาลก่อนต่างหมั่นแนะนำ พรํ่าสอนลูกหลาน ญาติมิตร พวกพ้องบริวารว่า
"อย่าเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว คนตระหนี่ไปเทวโลกไม่ได้ และความตระหนี่ยังเป็นศัตรูที่ขัดขวางหนทางแห่งการสร้างบารมีอีกด้วย"
บุญเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต ถ้ามีบุญน้อย อุปสรรคก็มาก ถ้ามีบุญมาก อุปสรรคก็น้อย บุญเป็นเรื่องสำคัญสำหรับชีวิตของพวกเราที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิด สร้างบารมีเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง คือ ที่สุดแห่งทุกข์ ที่สุดแห่งธรรม เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันตเจ้าทั้งหลายที่ได้บรรลุถึงฝั่งแล้ว การให้ทานนับเป็นวงศ์ของบัณฑิต เป็นประเพณีของพระอริยเจ้า ดังเช่นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ดังนี้
ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ อิลลีสะ มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ เป็นมรดกสืบทอด มาจากบิดามารดา ในอดีต อิลลีสเศรษฐีเคยทำทานกับเนื้อนาบุญไว้ แต่บกพร่องในเรื่องการรักษาศีล ทำให้ประกอบด้วยบุรุษโทษหลายอย่าง เช่น หลังค่อม เดินเขยก ตาเหล่ มีตุ่มเกิดบนศีรษะ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา ไม่เป็นที่น่าเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น เนื่องจากบุคลิกภาพของท่านเศรษฐีไม่ดีมากเช่นนี้ จึงทำให้คนทั่วไปไม่รู้ว่าบุคคลท่านนี้คือเศรษฐี ท่านต้องเจ็บใจ และขุ่นเคืองใจบ่อยครั้ง เพราะถูกมหาชนล้อเลียนในรูปกายที่อัปลักษณ์ของตน
นอกจากนี้ อิลลีสเศรษฐียังเป็นคนตระหนี่ ไม่ยอมให้ทรัพย์สมบัติกับใคร ไม่ยอมบริจาคทานแก่พวกยาจกวณิพกตลอดจนนักบวชทั้งหลาย นอกจากไม่ให้คนอื่นแล้วยังไม่ยอมบริโภคใช้สอย เพราะกลัวทรัพย์จะหมดไปอีกด้วย ตรงกันข้ามกับมารดาบิดาของท่านเศรษฐี ซึ่งให้ทานมาโดยตลอด เป็นทานบดีมา ๗ ชั่วตระกูล ครั้นอิลลีสะได้ตำแหน่งเศรษฐี กลับไม่รักษาประเพณีอันดีงามที่บรรพบุรุษทำไว้ ท่านได้เผาโรงทาน ขับไล่พวกยาจกที่มาขอทาน เก็บงำทรัพย์ไว้อย่างมิดชิด บ้านของเศรษฐีที่เคยเป็นเหมือนสระโบกขรณี เป็นประโยชน์เผื่อแผ่ให้กับสรรพสัตว์ กลับกลายเป็นเหมือนสถานที่ที่ถูกรากษสยึดครอง
วันหนึ่ง อิลลีสเศรษฐีไปเข้าเฝ้าพระราชา ซึ่งเป็นธรรมเนียมของเศรษฐีในสมัยก่อน ที่จะต้องเข้าเฝ้าพระราชา วันละ ๒ เวลา ระหว่างเดินทางกลับบ้าน อิลลีสเศรษฐีเห็นคนบ้านนอกคนหนึ่งนั่งดื่มเหล้า และเคี้ยวกินกับแกล้มด้วยความเอร็ดอร่อยอยู่ตามลำพัง เหมือนคนไม่มีความกังวลใจ จึงนึกอยากลองดื่มบ้าง เผื่อจะได้คลายความกลุ้ม ที่แม้ตัวเองเป็นเศรษฐีแท้ๆ แต่กลับถูกล้อเลียนเป็นประจำ
ครั้นจะจัดพิธีดื่มสุราให้โอ่อ่าเหมือนเศรษฐีทั่วไป ก็เกรงพวกข้าทาสบริวารมาขอดื่มด้วย อันจะทำให้ต้องสิ้นเปลืองทรัพย์มาก เศรษฐีอดกลั้นความอยากไว้หลายวัน เมื่อทนไม่ไหว จึงสั่งให้คนรับใช้แอบไปซื้อเหล้ามาขวดหนึ่ง จากนั้น พาคนรับใช้ ออกไปนอกเมือง เดินไปถึงฝั่งแม่น้ำ หลบเข้าไปในพุ่มไม้แห่งหนึ่ง ให้คนรับใช้วางขวดเหล้าไว้ และสั่งให้ไปนั่งสังเกตการณ์อยู่ไกลๆ ให้คอยระแวดระวังไม่ให้ใครเดินผ่านเข้ามาในบริเวณนั้น
จากนั้นตนเริ่มรินเหล้าใส่แก้ว ดื่มสุราด้วยความใคร่อยากลอง
ส่วนบิดาของเศรษฐีอิลลีสะนั้น ไปเกิดเป็นท้าวสักกเทวราชในเทวโลก เพราะทำทานไว้มาก ตลอดชีวิตของบิดาเป็นไปเพื่อการสั่งสมบุญล้วนๆ แม้พระพุทธศาสนาจะยังไม่อุบัติขึ้น แต่ท่านตั้งใจทำความดีทุกรูปแบบ ธุรกิจการงานก็ทำควบคู่ไปกับงานทางใจ บุญจึงส่งผลให้ไปบังเกิดเป็นจอมเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ขณะนั้นท่านดำริว่า บุตรชายผู้มีรูปกายขี้ริ้วขี้เหร่ของเรา ยังคงให้ทานตามแบบอย่างของบรรพบุรุษอยู่หรือไม่
ครั้นตรวจตราดูด้วยทิพยจักษุพบว่า บุตรชายได้เผาโรงทานที่พ่อได้สถาปนา นอกจากนี้ยังสั่งให้คนรับใช้ขับไล่พวกยาจกที่มาขอทาน ยึดถือทิฏฐิที่ผิด ๆ นอกจากมีรูปกายที่ขี้เหร่แล้ว ยังมีจิตใจที่ไม่งดงาม เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียวมาก หากท่านไม่ลงไปดัดนิสัย บุตรชายต้องไปตกนรก เสวยวิบากกรรมที่เป็นผลจากความตระหนี่ และผิดศีลจากการดื่มสุราเป็นอาจิณ ด้วยความรักในบุตรชาย จึงทรงดำริว่า จะต้องไปทรมานอิลลีสะให้หันกลับมาบำเพ็ญทาน ประพฤติธรรม เพื่อมุ่งไปสู่หนทางสวรรค์ให้ได้
จากนั้น ท้าวสักกะได้เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ทรงเนรมิตอัตภาพปลอมเป็นเศรษฐีอิลลีสะไปเข้าเฝ้าพระราชา พระราชาเห็นเศรษฐีมาผิดเวลา จึงตรัสถามว่า "ท่านเศรษฐี ทำไมวันนี้ ท่านจึงมาผิดเวลาเล่า"
"ข้าแต่มหาราชเจ้า ที่บ้านของข้าพระบาทมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ ขอพระองค์ได้โปรดให้ขนทรัพย์เข้ามาไว้ในท้องพระคลังด้วยเถิด พระเจ้าข้า"
พระราชาทรงฉงนพระทัย จะทรงรับไว้ หรือจะสั่งการให้ทำอย่างไรต่อไป อีกทั้งท้าวสักกะในร่างของอิลลีสเศรษฐีผู้มีความตระหนี่ จะสามารถทรมานลูกชายให้เป็นผู้ยินดีในการให้ทานได้หรือไม่ คงต้องมาติดตามกันในตอนต่อไป
สำหรับวันนี้ ให้ทุกคนหมั่นสั่งสมบุญให้เต็มที่ อย่าให้ความตระหนี่มาครอบงำจิตใจของเราได้ เพราะความตระหนี่เป็นศัตรูอันร้ายกาจที่คอยกีดขวางทรัพย์สมบัติไม่ให้บังเกิดขึ้น และยังบั่นทอนความสะดวกสบายในการสร้างบารมีอีกด้วย ความโลภไม่รู้จักแบ่งปัน ทำให้เกิดความอัตคัดขาดแคลน ความอดอยากยากจนที่เกิดขึ้น เพราะความตระหนี่นี่เอง ดังนั้นให้ ทุกคนดำเนินตามวงศ์ของบัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย ด้วยการสั่งสมบุญให้เต็มที่ เราจะเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์-สมบัติและคุณสมบัติ มีสมบัติแล้วจะได้ช่วยเหลือตนเอง และสงเคราะห์โลกให้ได้รับความร่มเย็นเป็นสุขต่อไป
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓ หน้า ๓๐๓ - ๓๑๐
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
อิลลีสชาดก เล่ม ๕๖ หน้า ๒๕๑
โฆษณา