12 ม.ค. 2021 เวลา 22:00 • การศึกษา
เลิกตระหนี่ตลอดไป (๒)...
ไม่มีวิธีการใดที่จะขจัดความคิดเบียดเบียน ความเห็นแก่ตัว การทะเลาะเบาะแว้ง ความเห็นผิดของมนุษย์ ให้หมดไปจากโลกนี้ได้ดีเท่ากับการประพฤติปฏิบัติธรรม ให้เข้าถึงความเหมือนกัน คือ พระรัตนตรัยภายใน การปฏิบัติธรรมเป็นภารกิจที่ติดตัวเรามาข้ามภพข้ามชาติ แต่เนื่องจากทุกครั้งที่มนุษย์กลับมาเกิดใหม่ ต่างต้องมาเรียนรู้ความจริงของชีวิตกันใหม่ บางทีก็รู้ผิดบ้างถูกบ้าง ฉะนั้นการทะเลาะเบาะแว้ง และการทำสงครามภายนอกยังคงมีอยู่รํ่าไป หากเมื่อใดที่ทุกคนหันมาทำใจให้หยุดนิ่ง ทำสงครามภายในรบกับกิเลสอาสวะในตัว เข้าถึงแหล่งแห่งความรู้อันบริสุทธิ์ภายใน เมื่อนั้นความขัดแย้งและความเห็นที่แตกต่างจะหมดสิ้นไป ความรักและปรารถนาดีต่อกันอย่างแท้จริงจะบังเกิดขึ้นในที่สุด
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ว่า...
"ทาน ท่านกล่าวว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของความสุข เป็นต้น ทาน ท่านกล่าวว่าเป็นที่ตั้งแห่งบันไดทั้งหลายที่ไปสู่พระนิพพาน ทานเป็นเครื่องป้องกันของมนุษย์ เป็นเผ่าพันธุ์ เป็นเครื่องนำหน้า เป็นคติสำคัญของสัตว์ที่ถึงความทุกข์"
เมื่อเราได้โอกาสเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ควรสั่งสมบุญให้ทานในทุกโอกาส ทานคือคลังเสบียงของการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ การจะได้สมบัติมานั้น มีทางเดียว คือ ต้องเป็นผู้ให้ก่อน ด้วยการบริจาคทาน ไม่หวงแหน ต้องให้เท่านั้นจึงจะได้ ไม่ให้ก็ไม่ได้ จะให้กับสัตว์เดียรัจฉานก็ดี จะให้กับมนุษย์ก็ดี หรือจะให้กับผู้ทรงศีล มีศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ กระทั่งให้กับผู้ที่ได้ ฌานสมาบัติ หรือเป็นโคตรภูบุคคล ตลอดจนเป็นพระอริยเจ้า ผู้เป็นทักขิไณยบุคคลก็ดี ถ้าให้ถูกแหล่งแห่งบุญ ถูกเนื้อนาบุญ บุญนั้นจะให้ผลเกินควรเกินคาด เป็นอสงไขยอัปปมาณัง
ความเดิมได้กล่าวไว้ถึงตอนที่ท้าวสักกเทวราชได้เสด็จลงจากเทวโลก เพื่อมาทรมานอิลลีสเศรษฐีให้กลับตัวกลับใจใหม่ โดยได้แปลงกายเป็นอิลลีสเศรษฐีไปเข้าเฝ้าพระราชา และแจ้งความจำนงว่า ขอให้พระราชาสั่งให้พวกราชบุรุษไปขนทรัพย์ของตนเข้ามาไว้ในพระคลังหลวง แต่พระราชาทรงปฏิเสธ อิลลีสเศรษฐีจึงขอพระบรมราชานุญาตให้ตนบริจาคทานแก่คนยากจนได้ตามความพอใจ
เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้ว ท่านรีบออกเดินทางไปบ้านอิลลีสเศรษฐี พวกคนรับใช้และบริวารเห็นเศรษฐีกลับมา ต่างพากันห้อมล้อม โดยไม่มีใครสังเกตว่า นี่คืออดีตเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริง ท้าวสักกะบอกทุกคนในบ้านว่า "เราเป็นคนตระหนี่มาช้านาน วันนี้เรารู้แล้วว่า การให้ทานเป็นสิ่งที่ดี ขอให้ทุกคนช่วยกันบริจาคทานเถิด"
บุตรธิดาและภรรยา รวมทั้งข้าทาสกรรมกร ได้ยินถ้อยคำอันเป็นมงคลเช่นนั้น ต่างอนุโมทนาในกุศลจิตศรัทธาของท่านเศรษฐี และบอกให้คนตีกลองร้องป่าวประกาศว่า ใครอยากได้เงินทอง แก้วมณี แก้วมุกดา หรือข้าวปลาอาหาร ขอให้มารับที่บ้านของอิลลีสเศรษฐี คนยากจนทั้งหลายได้ ยินข่าวแล้ว ต่างพากันถือภาชนะต่างๆ ไปยืนชุมนุมกันที่ประตูบ้าน ท้าวสักกะทรงให้เปิดห้องที่เต็มไปด้วยรัตนะ ๗ และให้มหาชนช่วยกันขนไปตามแต่จะขนไปได้
ชาวชนบทคนหนึ่งบอกว่า ตนไม่มีโคเทียมเกวียน ท่านเศรษฐีจำแลงจึงมอบโคคู่ให้พร้อมเกวียนคันงาม ให้ขนรัตนะ ๗ จนเต็มเกวียน จากนั้นเขาได้ขับออกไปนอกเมืองเพื่อเดินทางกลับบ้าน ขณะขับไปก็พรรณนาคุณของท่านเศรษฐีไม่ขาดปาก ฝ่ายอิลลีสเศรษฐีกำลังนั่งดื่มสุราด้วยความมึนเมา เมื่อได้ยินเสียงนั้น ก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า หนุ่มบ้านนอกคนนี้ เอาชื่อของเรามากล่าวอ้าง จึงรีบโผล่ออกจากพุ่มไม้ ร้องตวาดเสียงดังว่า
"เจ้าคนบ้านนอก นั่นโคของข้า รถก็ของข้า เจ้าเอามาได้อย่างไร" พลางรีบวิ่งไปจับสายตะพายของโคไว้ทันที
หนุ่มบ้านนอกลงจากรถ และตะคอกเศรษฐีว่า "เจ้าหน้า ปีศาจ ท่านเศรษฐีให้ทานแก่คนทั้งเมือง เจ้าอย่ามากล่าวตู่เช่นนี้" ด้วยความไม่พอใจ จึงทุบต้นคอเศรษฐีอย่างแรงราวกับสายฟ้าฟาด จากนั้นก็ดึงรถมาและขับต่อไป
ท่านอิลลีสเศรษฐีตัวสั่นงันงก รีบปัดฝุ่นและวิ่งไปยึดรถไว้อีก หนุ่มบ้านนอกก็ลงจากรถ ลงมือทุบตีเศรษฐีอย่างแรง จับคอเหวี่ยงไปมาและขับเกวียนต่อไป โดนเข้าเช่นนี้ ท่านเศรษฐีหายเมาเป็นปลิดทิ้ง รีบกลับเข้าเมืองทันที ครั้นไปถึงหน้าบ้านของตน เห็นมหาชนพากันขนทรัพย์ไป จึงตะโกนบอกให้เอาทรัพย์ของตนคืนมา แต่ก็ไม่มีใครสนใจแต่อย่างใด
เศรษฐีเห็นว่า มีแต่พระราชาเท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งได้ จึงไปเข้าเฝ้าพระราชา พลางกราบทูลความจริงทุกอย่าง พระราชาจึงรับสั่งให้เรียกท่านเศรษฐีจำแลงมา เมื่อทรงพิจารณาดู ก็ไม่เห็นความแตกต่างของคนทั้งสอง จึงรับสั่งให้บุตรและภรรยา มาชี้ว่า คนไหนตัวจริง คนไหนตัวปลอม ฝ่ายบุตรและภรรยา รวมไปถึงข้าทาสบริวาร ต่างชี้ไปที่ท้าวสักกะว่า เป็นท่านอิลลีสเศรษฐีตัวจริง
ท่านเศรษฐียังไม่ยอมอับจน คิดได้ว่า ที่ศีรษะของตนมีปุ่มน่ารังเกียจ ซึ่งเส้นผมปิดไว้มิดชิด มีแต่ช่างกัลบกคนเดียวเท่านั้นที่รู้ จึงบอกให้ช่างกัลบกมาชี้ตัว พระราชาตรัสถามว่า "จำอิลลีสเศรษฐีได้ไหม"
ช่างกัลบกกราบทูลว่า "ตรวจดูศีรษะแล้วคงจำได้ พระเจ้าข้า" ท้าวสักกะได้สดับเช่นนั้น ทรงบันดาลให้เกิดปุ่มขึ้นที่ศีรษะทันที
2
ช่างกัลบกตรวจดูศีรษะของคนทั้งสอง เห็นมีปุ่มเหมือนกัน จึงกราบทูลว่า "ข้าแต่มหาราชเจ้า คนทั้งสองหลังค่อม เดินเขยก ตาเหล่ มีตุ่มที่ศีรษะ ข้าพระองค์ไม่อาจชี้ตัวได้ว่า คนไหนเป็นเศรษฐีตัวจริง คนไหนเป็นเศรษฐีตัวปลอม พระเจ้าข้า"
ท่านเศรษฐีฟังแล้ว ตัวสั่นงันงก ไม่อาจตั้งสติไว้ได้ เพราะความโลภในทรัพย์ ถึงกับเป็นลมล้มฟุบต่อหน้าพระที่นั่ง ขณะนั้น ท้าวสักกะกล่าวกับพระราชาว่า "ดูก่อนมหาราช เราไม่ใช่อิลลีสะ เราเป็นท้าวสักกะ"
จากนั้น ทรงประทับยืนอยู่ในอากาศด้วยท่าทางที่สง่างาม พวกลูกๆ ช่วยกันเอาน้ำมาลูบหน้าท่านเศรษฐีให้ฟื้นคืนมา และรีบลุกขึ้นยืนไหว้ท้าวสักกเทวราช
ท้าวสักกะทรงตักเตือนเศรษฐีว่า "ดูก่อนอิลลีสะ ทรัพย์นี้เป็นของเรา ไม่ใช่ของท่าน เพราะเราเป็นบิดาของท่าน ท่านเป็นบุตรของเรา เราทำบุญไว้มาก จึงได้เป็นท้าวสักกะ แต่เธอตัดวงศ์ของเราขาดสิ้น ตั้งอยู่ในความตระหนี่ เผาโรงทาน ขับไล่พวกยาจก เอาแต่สั่งสมทรัพย์บริโภคเอง เหมือนรากษสหวง สระน้ำ ถ้าเธอไม่ให้ทาน เราจะทำทรัพย์ของเธอให้อันตรธานไปจนหมด แล้วจักตีศีรษะของเธอด้วยอินทวัชระให้สิ้นชีวิตในบัดนี้"
อิลลีสเศรษฐีถูกคุกคามเอาชีวิต จึงเกิดความกลัวและกลับได้สติ ได้ให้ปฏิญญาว่า "ตั้งแต่บัดนี้ ข้าพเจ้าจักให้ทาน"
ท้าวสักกะรับคำปฏิญาณของเศรษฐี ทรงชักนำให้เศรษฐีดำรงในศีล และเสด็จกลับไปเทวโลกตามเดิม ตั้งแต่นั้นมา อิลลีสเศรษฐีได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการทำทานอย่างเต็มที่ และหมั่นรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ครั้นละโลกแล้ว จึงมีสุคติสวรรค์เป็นที่ไป
จะเห็นได้ว่า ...แม้เป็นเศรษฐีแล้ว ยังต้องให้ทาน จะได้รวยข้ามชาติ ไม่ใช่เกิดมาเสวยสมบัติอย่างเดียว ส่วนท่านที่ยังลำบากยากจน ต้องเริ่มให้ทานได้แล้ว จะรอให้รวยแล้วจึงทำทานไม่ได้หรอก ต้องทำทานไปเรื่อยๆ ถึงจะรวย งานทางโลกเราก็ทุ่มเททำกันไป งานบุญงานกุศลก็ทำกันไป ให้เศรษฐกิจกับจิตใจไปด้วยกัน สักวันหนึ่งชีวิตของเราจะเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ สมปรารถนาในทุกสิ่งที่ตั้งใจไว้
ผู้รู้กล่าวว่า ทาน เปรียบเหมือนนาวา ถ้าเราหมั่นให้ทานเป็นประจำ เสมือนการเตรียมนาวาลำใหญ่ ที่จะนำพาให้เราข้ามพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ เพราะชีวิตในท่ามกลางมหาสมุทร ไม่มีการทำมาหากินอย่างอื่น ต้องอาศัยเสบียงที่กักตุนไว้ในเรือเท่านั้น ดังนั้นพวกเราทุกคนเป็นนักสร้างบารมี จึงต้องสั่งสมเสบียงไว้ให้มากๆ นอกจากจะช่วยตนเองได้แล้ว ยังต้องช่วยเหลือสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ขึ้นสู่ฝั่งนิพพานให้หมดอีกด้วย ฉะนั้นให้ทุกคนหมั่นสร้างมหาทานบารมี ประพฤติปฏิบัติธรรมให้เต็มที่เสมอ
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓ หน้า ๓๑๑ - ๓๑๙
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
อิลลีสชาดก เล่ม ๕๖ หน้า ๒๕๓
โฆษณา