18 ม.ค. 2021 เวลา 22:00 • การศึกษา
ความตายไม่น่ากลัว ...แต่การมีชีวิตอยู่ แล้วไม่ได้ทำบุญ น่ากลัวกว่า...
หนทางทั่วทุกแห่งในโลกล้วนแต่ไม่ปลอดภัย เพราะไม่ว่าเราจะเดินทางไปทางน้ำก็ต้องเสี่ยงกับคลื่นลมมรสุม อาจเป็นเหตุให้เรืออัปปางได้ หรือเดินทางไปทางอากาศก็ต้องเสี่ยงกับเมฆหมอกพายุฝนทัศนวิสัยที่ไม่ดี ถ้าไปทางบกก็ต้องเสี่ยงกับอุบัติเหตุระหว่างทาง แม้หนทางที่แสวงหากำไรจากการประกอบธุรกิจก็ต้องเสี่ยงกับภาวะขาดทุน เมื่อเผชิญกับคู่แข่งหรือความแปรปรวนทางเศรษฐกิจ มีเพียงหนทางสายกลางทางเอกสายเดียวเท่านั้นที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความสุขและความปลอดภัยอย่างแท้จริง เป็นหนทางที่ไปได้ด้วยการทำใจหยุดนิ่ง คือ ต้องวางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งมีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกๆคน ยิ่งใจหยุดนิ่ง เข้ากลางของกลางได้มากเท่าไรยิ่งจะได้รับความสุขความปลอดภัยในชีวิต และจะมุ่งตรงต่อหนทางของพระนิพพาน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
" ยถา ทณฺเฑน โคปาโล คาโว ปาเชติ โคจรํ
เอวํ ชรา จ มจฺจุ จ อายุ ํ ปาเชนฺติ ปาณินํ
นายโคบาลย่อมต้อนโคทั้งหลายไปสู่ที่หากินด้วยท่อนไม้ ฉันใด ความแก่ชราและความตายย่อมต้อนอายุของสัตว์ทั้งหลายไป ฉันนั้น "
นายโคบาล คือ คนเลี้ยงโค จะคอยทำหน้าที่ต้อนฝูงโคไปหากินตามทุ่งหญ้าทั้งวัน พอตกเย็นก็ต้อนฝูงโคกลับเข้าคอกทำอยู่อย่างนี้ เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี จนกว่าฝูงโคจะเติบโตเต็มที่และเมื่อถึงเวลาก็จะต้องเข้าสู่โรงฆ่าสัตว์ เหมือนชีวิตของเราที่ถูกชรา คือ ความแก่ และมัจจุ คือ ความตาย ต้อนอายุของเราไปสู่ความเสื่อมสลายทุกขณะ ทันทีที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ ชีวิตของเราก็เหมือนแสงเทียนที่ถูกจุดขึ้น แสงเทียนนั้นได้ส่องแสงสว่างไปเรื่อยๆ เมื่อไส้เทียนหมดลง ย่อมต้องถึงการดับวูบไปในที่สุด
บางคราวเราจะพบว่า หากเทียนบางเล่มถูกลมพัด จำต้องดับวูบลงกลางคัน ไม่ได้ให้ความสว่างไสวจนไส้เทียนหมดเล่มเสมอไป ชีวิตของบางคนตายตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บางคนตายตอนเด็กก็มี ตายตอนยังเป็นหนุ่มสาวก็มาก นอกนั้นก็ตายตอนแก่ บางคนตายเพราะถูกโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน บางคนตายเพราะอุบัติเหตุ ดังนั้นการตายของแต่ละคน ต่างมีสมมุติฐานที่แตกต่างกัน ความแน่นอนของชีวิตว่าจะตายตอนไหนเป็นสิ่งที่กำหนดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับคุณทำกรรมแต่งของแต่ละบุคคล แต่ถึงอย่างไรก็ต้องตายทุกคน เพียงแต่จะเร็วหรือช้าเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ตายเร็วตายช้าก็ไม่ได้เป็นเครื่องวัดความมีโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องดูตัดสินขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ว่าได้สั่งสมบุญกุศลใดบ้าง และมองไหลไปถึงชีวิตหลังความตายได้ว่า ตายแล้วไปไหน มีสุคติหรือทุคติเป็นที่ไป เมื่อเข้าใจเช่นนี้แล้ว ต้องไม่ประมาทในวัยและชีวิต ด้วยการหมั่นหาโอกาสสั่งสมบุญให้มากที่สุด ก่อนที่ความตายจะมาถึง เหมือนเรื่องของผู้มีบุญคนหนึ่ง ท่านได้ชิงช่วงสร้างบุญกุศล ก่อนที่จะถูกพญามัจจุราชมาช่วงชิงเอาชีวิตไปก่อน
ในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุรูปหนึ่งได้เดินออกบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ เพื่อไปเป็นเนื้อนาบุญแก่พุทธศาสนิกชนตามปกติ วันหนึ่งลูกสะใภ้ของหญิงผู้เป็นมิจฉาทิฎฐิเห็นพระบิณฑบาตผ่านหน้าบ้านด้วยอาการที่สงบสำรวม จึงอยากถวายภัตตาหาร แต่เกรงว่าแม่ของสามีจะทำร้ายเอา เพราะนางเป็นคนดุร้ายและไม่มีศรัทธาเลื่มใสในพระรัตนตรัย อีกทั้งยังห้ามตักบาตรพระอีกด้วย แต่เนื่องจากตนมีจิตเลื่อมใส อยากทำบุญสักครั้ง เมื่อแม่ของสามีไม่ให้ตักบาตรด้วยข้าวปลาอาหารเธอก็ทำบุญด้วยการน้อมถวายท่อนอ้อยแต่พระคุณเจ้า
เมื่อพระคุณเจ้าเดินคล้อยหลังไป แม่ผัวกลับถึงบ้านและอยากดื่มน้ำอ้อย จึงเดินเข้าไปหาท่อนอ้อยในครัว แต่หาไม่เจอนางได้ซักถามลูกสะใภ้ว่า เอาอ้อยไปเก็บไว้ที่ไหน ลูกสะใภ้ไม่อยากโกหก แม้รู้ว่าแม่ของสามีจะต้องโกรธเคืองในสิ่งที่ตนทำไปก็ตอบไปตรงๆว่า ไม่ได้เอาไปทิ้งที่ไหนและไม่ได้รับประทานแต่ได้ถวายแด่พระภิกษุ ถ้าหากคุณแม่อยากรับประทาน ดิฉันจะไปหามาให้ใหม่
แม่สามีโกรธจัด ได้บริภาษลูกสะใภ้ด้วยคำหยาบคายพลางคว้าเอาตั่งฟาดนางอย่างแรงจนถึงกว่าความตาย แม้ร่างกายของนางจะปวดร้าวเพราะถูกฝาดด้วยตั่ง แต่ขณะนั้นนางสามารถนึกถึงบุญที่ได้ทำไว้ ด้วยจิตที่ผ่องใสนั้น ครั้นละโลกเธอได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานทองที่สว่างไสวร่วมกับเหล่าเทวดาทั้งหลาย
พระมหาโมคคัลลานเถระได้เหาะขึ้นไปบนสวรรค์ ได้เห็นวิมานทองของนาง จึงเข้าไปไต่ถามบุพกรรมว่า "รัศมีกายของท่านส่องสว่างเหมือนดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ รุ่งโรจน์ล้ำโลกพร้อมทั้งเทวโลก ด้วยสิริ วรรณะ ยศ และเดช เหมือนดั่งท้าวมหาพรหม รุ่งโรจน์ล้ำทวยเทพชั้นไตรทศพร้อมทั้งองค์อินทร์ ดูก่อนเทพทิดาผู้เลอโฉมทัดทรงมาลัย ดอกอุบล มีดอกไม้กรองบนศีรษะ มีผิวพรรณผุดผ่องดุจดั่งทอง ประดับองค์ทรงภูษาอันสูงสุด ท่านเป็นใครจึงมาไหว้อาตมา เมื่อก่อนท่านได้ทำกรรมอะไรไว้ ท่านสั่งสมทานหรือรักษาศีลมาอย่างไร จึงได้เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เป็นผู้มียศมาก มีบริวารมาก ดูก่อนเทพธิดาขอท่านโปรดบอกเถิด นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไรหนอ"
เทพธิดาได้ตอบคำถามของท่านด้วยความปลามปลื้มใจว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ดิฉันคืออดิตผู้เคยทำบุญ ด้วยการถวายท่อนอ้อยแด่พระเถระรูปหนึ่งเท่านั้น" นางได้เล่าบุพกรรมด้วยความเบิกบานในบุญ การทำบุญเพียงครั้งเดียว แต่ทำด้วยจิตที่ผ่องใส ไม่อาลัยในชิวิต บุญนั้นได้ส่งผลยิ่งใหญ่ไพศาล ทำให้เธอได้เป็นเทพนารี เสวยสุขอยู่ในสวรรค์
 
นี้เป็นตัวอย่างของผู้ที่รักตัวเองและไม่กลัวตายอย่างแท้จริงเป็นชีวิตของผู้ที่ใจถึง คือ รักบุญยิ่งชีวิต เพราะรู้ว่าความตายไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าความตาย คือ มีชืวิตอยู่ แต่ไม่ได้สั่งสมบุญให้กับตนเอง ชีวิตหลังความตายต้องไปเสวยผลกรรมในอบายภูมิ ชิวิตของคนทั่วไปนั้น หากไม่ทำบุญก็ทำบาป ส่วนที่จะมีใจเป็นกลางๆ เป็นอัพยากตา คือ ไม่ทำบุญและบาปนั้น มีน้อยเหลือเกิน โดยส่วนใหญ่ หากไม่ทำบุญ บาปจะได้โอกาส เข้าแทรกให้ทำความชั่ว ดังนั้นเมื่อมีโอกาสแห่งการทำบุญมาถึงแล้ว ผู้ฉลาดจึงรีบทำบุญโดยไม่หวั่นไหวแม้กระทั่งความตายก็ไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด
นอกจากนี้ หลวงพ่อยังมีตัวอย่างของผู้ที่ทำบุญด้วยจิตที่เลื่อมใส โดยไม่หวั่นไหวต่อปัญหาและอุปสรรค มาเล่าเพื่อเป็นคติสอนใจเรื่องหนึ่ง ซึ่งเรื่องราวการทำความดีของเทพนารีท่านนี้คล้ายๆ กับเรื่องที่แล้ว เพืยงแต่นางได้ถวายท่อนอ้อยแต่พระมหาโมคคัลลานเถระ อีกทั้งเมื่อแม่ผัวรู้เรื้องเข้าด้วยความโกรธเคืองก็ตาม มองหาอะไรไม่เจอ จึงคว้าตั่งที่ตัวเองกำลังนั่งอยู่นั้น ยกทุ่มใส่ศีรษะลูกสะใภ้อย่างแรง จนนางถึงแก่ความตาย ผลบุญนั้นได้ส่งให้นางได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงมีวิมานทองที่สว่างไสวเช่นกัน
เราจะเห็นได้ว่า แต่ละช่วงของชีวิตนั้น มีการชิงช่วงและช่วงชิงอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากกรรมที่เราได้ทำไว้ในอดีต มีทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล วิบากกรรมจะตามมาส่งผลเมื่อไหร่ก็ไม่รู้เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ประมาท ต้องรีบทำความดีในทุกโอกาสเหมือตัวอย่างที่หลวงพ่อนำมาเล่า เพราะแม้จะทำบุญหรือไม่ก็ตาม สุดท้ายทุกคนต้องตาย ใครตายเร็วตายช้า หรือตายเพราะเหตุใดไม่สำคัญ สำคัญตรงที่ว่า ก่อนตายใครสั่งสมบุญไว้มากกว่ากัน ใจใครผ่องใสกว่ากัน และตายแล้วจะไปบังเกิดที่ไหน ดังนั้นเมื่อตัดสินใจทำความดี จงอย่ารอช้า อย่าลังเลใจ ให้ทุ่มเททำไปเลย เมื่อใจแช่อิ่มอยู่ในบุญ บุญจะหนุนนำให้เรามีควารมสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า และเมื่อบุญเต็มเปี่ยม เราจะได้เข้าถึงพระรัตนตรัยกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓ หน้า ๓๖๓ - ๓๗๐
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
จุนทสูตร เล่ม ๓๐ หน้า ๔๒๓
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
โฆษณา