20 ม.ค. 2021 เวลา 22:00
ผู้มีปัญญา... รีบขวนขวาย...ทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้บริสุทธิ์หลุดพ้นแล้วจากกิเลสอาสวะ สำหรับพระองค์นั้นกิจที่จะทำยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว พวกเราก็เช่นเดียวกันควรจะดำเนินชีวิตตามแบบอย่างของพระพุทธองค์ โดยมุ่งทำความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ เป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องอื่นให้เป็นเรื่องรองลงมา เรามีกิจที่จะต้องทำเพื่อรู้แจ้งให้ได้ว่า เราเกิดมาจากไหน เกิดมาทำไม อะไรคือเป้าหมายของชีวิต เพราะฉะนั้น เราควรหมั่นฝึกฝนอบรมจิตใจให้หยุดให้นิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงผู้รู้แจ้งภายใน คือ พระธรรมกาย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ว่า
“อจฺเจนฺติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย วโยคุณา อนุปุพฺพํ ชหนฺติ
เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน ปุญฺญานิ กยิราถ สุขาวหานิ
กาลทั้งหลายย่อมล่วงไป ราตรีทั้งหลายย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป บุคคลเมื่อเล็งเห็นภัยนี้ในมรณะ พึงทำบุญทั้งหลายอันนำสุขมาให้”
กาลเวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป พร้อมพาเอาความแข็งแรงของร่างกาย ความสดชื่นของผิวพรรณ อีกทั้งสติปัญญาความทรงจำให้เสื่อมไป ถ้าเราไม่สร้างบารมี ชีวิตที่มีอยู่ก็แก่ไปฟรีๆ ผู้มีปัญญาต่างรีบขวนขวายสร้างบารมีทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น เพราะชีวิตใดเล่าจะประเสริฐเท่ากับการเกิดมา และได้เติมความบริสุทธิ์ให้กับตนเองตลอดเวลา บัณฑิตนักปราชญ์จึงสรรเสริญชีวิตเช่นนี้ ว่าเป็นชีวิตของผู้รู้อันประเสริฐ แม้จะถูกขัดขวางในการทำความดีขนาดไหนก็ตาม ท่านยังคงมีมโนปณิธานในการประพฤติธรรมให้บริสุทธิ์อย่างแน่วแน่
ดังเรื่องในอดีตกาล มีพระราชาพระองค์หนึ่งพระนามว่า “เอสุการี” พระองค์มีปุโรหิตเป็นสหายรักตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์ ทั้งพระราชาและปุโรหิตต่างไม่มีพระโอรสที่จะสืบสกุล วันหนึ่ง พระราชาและปุโรหิตปรึกษาหารือกันว่า ถ้าหากบุตรของใครเกิดก่อน บุตรของคนนั้นจะได้ครอบครองราชสมบัติ
ต่อมาปุโรหิตได้พบหญิงซึ่งอยู่นอกเมือง นางมีบุตรถึง ๗ คน บุตรทั้งหมดล้วนไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ปุโรหิตได้ถามนางถึงสาเหตุ นางไม่รู้จะตอบว่าอย่างไร ครั้นเหลือบไปเห็นต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง จึงตอบว่า ได้บวงสรวงขอบุตรจากเทพยดา ที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไทรนี้
ปุโรหิตจึงเดินตรงไปยังต้นไทรทันที จับกิ่งไทรเขย่า พลางขู่รุกขเทวดาว่า “ถ้าไม่ยอมให้พระโอรสแก่พระราชา จากนี้ไปอีก ๗ วัน จะให้คนมาฟันต้นไทรทิ้ง” ปุโรหิตมาพูดขู่ที่ต้นไทรนี้ทุกวัน
ครั้นถึงวันที่ ๖ ก็ขู่ว่า “ท่านรุกขเทวดา เหลือเวลาอีกเพียงราตรีเดียวเท่านั้น ถ้าท่านไม่ยอมให้โอรสแก่พระราชา พรุ่งนี้เราจะให้คนมาตัดต้นไทร”
รุกขเทวดากลัวว่าจะไม่มีที่อยู่ จึงไปยังสำนักของท้าวมหาราช มีท้าวเวสสวัณปกครองยักษ์ ท้าวธตรฐปกครองคนธรรพ์และวิทยาธร ท้าววิรุฬปักษ์ปกครองนาค ท้าววิรุฬหกปกครองครุฑ พลางขอร้องให้ท้าวมหาราชทั้งสี่ช่วยเหลือตนด้วย แต่ได้รับการปฏิเสธเพราะไม่สามารถช่วยได้ ในที่สุดจึงไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ พระอินทร์ทรงใคร่ครวญดู ทอดพระเนตรเห็นเทพบุตร ๔ องค์ เป็นผู้มีบุญมาก จึงมีพระบัญชาให้เทพบุตรทั้งสี่ลงมาเกิดในมนุษยโลก เทพบุตรเหล่านั้นได้ฟังเทวบัญชา ต่างพากันกราบทูลว่า จะไม่ขอเกิดในราชตระกูล แต่จะไปเกิดในบ้านของท่านปุโรหิต เพื่อจะได้ออกบวชได้สะดวกขึ้น
รุ่งขึ้น ปุโรหิตสั่งราชบุรุษให้ไปตัดต้นไทร รุกขเทวดารีบออกมาปรากฏตัว พลางพูดด้วยเสียงอันไพเราะว่า “ท่านปุโรหิต บุตรคนเดียวจะเป็นไรไป เราจะให้บุตรท่านถึง ๔ คน แต่บุตรเหล่านี้ไม่ปรารถนาที่จะครองสมบัติ จะออกบวชกันหมด” ปุโรหิตดีใจมากที่จะได้บุตร จึงเลิกความคิดที่จะโค่นต้นไทรทิ้ง
หลังจากนั้นเทพบุตรทั้งสี่ได้ลงมาเกิดตามลำดับ ปุโรหิตตั้งชื่อคนแรกว่า “หัตถิปาละ” และมอบให้นายควาญช้างเลี้ยงไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ออกบวช คนที่ ๒ ตั้งชื่อว่า “อัสสปาละ” มอบให้คนเลี้ยงม้าเป็นผู้ดูแล คนที่ ๓ ตั้งชื่อว่า “โคปาละ” มอบให้คนเลี้ยงโคเป็นผู้ดูแล คนที่ ๔ ตั้งชื่อว่า “อชปาละ” มอบให้คนเลี้ยงแพะเป็นผู้ดูแล ปุโรหิตได้อาราธนานักบวชทั้งหมดออกจากแว่นแคว้น เพื่อไม่ให้บุตรเห็นบุคคลเหล่านั้น ด้วยเกรงจะตามออกบวชกันหมด
ต่อมาเมื่อทั้งสี่เติบโตเป็นหนุ่ม พระราชาและปุโรหิตใคร่จะทดสอบว่า เมื่อทั้งสี่เห็นนักบวชแล้ว จะรู้สึกอย่างไร ทั้งสองจึงได้ปลอมตัวเป็นฤๅษีเดินผ่านโรงช้าง ทันทีที่หัตถิปาละเห็น เขาบังเกิดความเลื่อมใส รีบเข้ามากราบไหว้ และน้อมนำสิ่งของมีค่าเพื่อให้ทาน จนฤๅษีปลอมต้องรีบแสดงตัวว่า เป็นพระราชาและปุโรหิตผู้เป็นบิดาของหัตถิปาละ พลางแนะนำให้บุตรรีบศึกษาหาความรู้และอยู่สืบราชสมบัติต่อไป แต่หัตถิปาละตอบปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “วิชาในทางโลกเป็นของไม่จริง ลาภสักการะเป็นของไม่เที่ยง สัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญการไม่ถือมั่นเพื่อความหลุดพ้น”
พระราชาทรงอ้อนวอนขอร้องเพื่อให้เขาอยู่ครองราชสมบัติ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงไปหาบุตรคนที่เหลือตามลำดับ และได้รับการปฏิเสธหมด ทุกคนต่างยืนยันหนักแน่นว่า จะออกบวช พระราชาและปุโรหิตรู้สึกผิดหวังในบุตรทั้งสี่มาก
บุตรทั้งสี่ได้กล่าวว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า พวกข้าพระองค์ปรารถนาจะบวชมานานแล้ว ใคร่ครวญหาทางบรรพชาดังเช่นคนหาโคที่หายไป กรรมดีควรรีบทำในวันนี้ ไม่ควรผลัดวันประกันพรุ่ง ถ้าบุคคลใดผลัดวันประกันพรุ่ง บุคคลนั้นย่อมเสื่อมจากการงาน”
แม้อชปาลกุมารซึ่งเป็นบุตรคนเล็กของปุโรหิต ก็ยังมีใจเด็ดเดี่ยวเกินวัย ได้กล่าวเตือนพระราชาและบิดาว่า “ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมตายในวัยเด็กก็มี ตอนแก่ก็มี ความตายไม่มีเครื่องหมายบอกว่า ผู้ใดจะตายเวลาใด เพราะฉะนั้นข้าพระองค์จะบวชเดี๋ยวนี้แหละ” จากนั้นทั้งสี่พี่น้องพร้อมด้วยบริวารต่างพร้อมใจกันออกบวชทั้งหมด
รุ่งขึ้น พราหมณ์ปุโรหิตคิดว่า “บุตรทั้งหมดของเราบวชแล้ว เราอยู่ไปก็เหมือนตอไม้ที่ไม่มียอด” จึงได้ชวนภรรยา พระราชาและพระมเหสีออกบวชพร้อมกันหมด แม้ข้าราชบริพารก็ออกบวชกันหมด ไม่เว้นแม้แต่คนเดียว
หัตถิปาลกุมารบวชแล้วได้บรรลุฌานสมาบัติ และสั่งสอนบริวารทั้งหมดประมาณ ๑๒ โยชน์ให้ได้บรรลุธรรมตามด้วย ทั้งบิดามารดา พระราชาและพระมเหสีต่างได้บรรลุฌานสมาบัติ พากันบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในป่าหิมพานต์ แม้แต่พระราชาต่างเมืองเมื่อรู้ข่าวอันเป็นมงคลนี้ ต่างพร้อมใจกันออกบวชตามถึง ๖ พระองค์ รวมทั้งบริวารด้วย เมื่อทั้งหมดบวชแล้ว ต่างเป็นผู้ไม่ประมาทในการบำเพ็ญสมณธรรมจนได้บรรลุฌานสมาบัติ ละโลกแล้ว ได้ไปบังเกิดในพรหมโลก มีความสุขอยู่ในสุคติภูมิกันทุกคน
บัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน ล้วนเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต เพราะเห็นคุณค่าของกาลเวลาว่า มีอยู่อย่างจำกัด จะต้องรีบขวนขวายในการสร้างบารมี ต่างพากันออกประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น โดยไม่ยอมให้สิ่งใดมาเป็นอุปสรรคในการสร้างบารมี ดังนั้น เราจะต้องจัดสรรเวลาในการฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ เพราะชีวิตที่มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เป็นชีวิตที่ปลอดภัยทั้งในโลกนี้และโลกหน้าอย่างแท้จริง
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓ หน้า ๓๗๑ - ๓๗๘
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
จุนทสูตร เล่ม ๓๐ หน้า ๔๒๓
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
มก.อรรถกถาหัตถิปาลชาดก เล่ม ๖๑ หน้า ๒๔๕*
โฆษณา