27 ม.ค. 2021 เวลา 22:00 • การศึกษา
ธรรมคุ้มครองโลก...
ธรรมกายเป็นหลักของโลก ผู้เข้าถึงพระธรรมกาย คือ ผู้เข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา พระบรมศาสดาทรงเข้าถึงความเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า เพราะได้บรรลุกายธรรมอรหัต จึงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสัทธรรมคำสอนของพระองค์ ล้วนออกมาจากกลางธรรมกายที่กลั่นออกมาจากใจที่หยุดนิ่งอย่างสมบูรณ์แล้ว ผู้ที่จะศึกษาวิชชาในทางพระพุทธศาสนาได้ดี ต้องเป็นผู้ที่มีใจหยุดนิ่งเช่นกัน จึงจะสามารถเข้าถึงธรรมอันขาวบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า สุกกธรรม
มีพระบาลีใน ขุททกนิกาย เทวธรรมชาดก ว่า
“หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา
สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร
สัปบุรุษผู้สงบระงับ ประกอบด้วยหิริและโอตตัปปะ
ตั้งมั่นอยู่ในธรรมขาว ท่านเรียกว่าผู้มีธรรมของเทวดาในโลก”
ผู้มีกาย วาจา ใจสงบ มีสติ มีหิริโอตตัปปะ ไม่เบียดเบียนสัตว์โลก ท่านเรียกว่าเป็นสัปบุรุษ ผู้สงบระงับแล้วจากบาปกรรม มีความละอายต่อความชั่วและเกรงกลัวต่อบาป มีธรรมของเทวดาที่เรียกว่า “เทวธรรม” ผู้ประพฤติตามธรรมนี้ ละโลกไปแล้ว จะไปบังเกิดเป็นสหายแห่งเทวดาในสุคติโลกสวรรค์ เพราะตั้งมั่นอยู่ในสุกกธรรม คือ ธรรมขาว หรือธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้
หิริโอตตัปปะ คือ ธรรมคุ้มครองโลก ที่ทำให้โลกเกิดความสงบสุขร่มเย็น เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเจริญทางจิตใจของมวลมนุษยชาติ หิริโอตตัปปะและศีล ๕ เป็นสิ่งที่ต้องประพฤติร่วมกัน เพราะเป็นคุณธรรมพื้นฐานที่เป็นปกติของมนุษย์ เป็นเหตุให้มนุษย์อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ดังเช่นเรื่องในอดีตกาล
สมัยนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระโอรสของพระเจ้ากุรุ ในนครอินทปัต เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว ท่านได้ครองราชสมบัติแทน ทรงพระนามว่า “พระเจ้าธนัญชัย” ทรงปกครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรม และเป็นผู้มีอัธยาศัยในการให้ทานเป็นชีวิตจิตใจพระองค์ทรงสละทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพื่อบริจาคทานถึงวันละ ๖๐๐,๐๐๐ กหาปณะ ทรงบริจาคทานมากมายทุกๆ วัน โดยไม่เคยอิ่มในบุญ ทรงดำริเสมอว่า หากมีใครมาขออวัยวะหรือมาขอราชสมบัติ พระองค์จะยกให้ทันที ในสมัยนั้นที่แคว้นกาลิงคะซึ่งอยู่ติดกัน เกิดทุพภิกขภัยข้าวยากหมากแพง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวเมืองได้รับความเดือดร้อนอดอยากยากจน จึงพากันมาร้องเรียนต่อพระราชา
พระเจ้ากาลิงคะทรงเรียกประชุมเหล่าเสนาอำมาตย์ เพื่อให้ช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา แม้จะพยายามช่วยกันแก้ไขจนสุดความสามารถ แต่ชาวเมืองก็ยังได้รับความลำบากเช่นเดิม พวกอำมาตย์จึงพากันกราบทูลว่า “ในแคว้นอินทปัต พระเจ้าธนัญชัยทรงมีช้างมงคลที่ทำให้บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรือง ถ้าได้ช้างมงคลมา ฝนก็จะตกต้องตามฤดูกาล”
พระเจ้ากาลิงคะทรงมอบหมายให้พราหมณ์ ๘ คน เป็นทูตไปนครอินทปัต เพื่อขอช้างมงคลนั้นพระโพธิสัตว์เป็นผู้ปรารถนาบริจาคทานทุกอย่างอยู่แล้ว เมื่อพราหมณ์มาทูลขอ พระองค์ทรงมีพระทัยปีติยินดีว่า จะได้สละช้างมงคลเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน จึงพระราชทานช้างมงคลให้พราหมณ์ พร้อมอธิษฐานจิตเพื่อปรารถนาการได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณอันเป็นที่รักยิ่งเมื่อพราหมณ์นำช้างมงคลมาแคว้นกาลิงคะ ฝนก็ยังไม่ตก ผู้คนยังอดอยากอยู่เช่นเดิม พระเจ้ากาลิงคะทรงดำริว่า พระเจ้าธนัญชัยเป็นผู้ประพฤติธรรม ในแคว้นของพระองค์จึงอุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล จึงมีพระดำรัสให้อำมาตย์ไปรับกุรุธรรมที่พระเจ้าธนัญชัยทรงรักษา เพื่อพระองค์จะได้ประพฤติตามบ้าง
กุรุธรรมที่พระราชาของชาวกุรุประเทศทรงประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นปกติ คือ ศีล ๕ นั่นเอง ทั้งพระราชมารดา อัครมเหสี จนถึงประชาชนคนธรรมดา แม้กระทั่งหญิงงามเมืองต่างพากันรักษาศีล ๕ เป็นปกติ เมื่อทุกคนมีศีลธรรม จิตใจจึงถูกปรับปรุงให้ดีงามสะอาดบริสุทธิ์ ทำให้สภาพแวดล้อมบรรยากาศของโลกพลอยสะอาดบริสุทธิ์ตามไปด้วย เป็นเหตุให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ ทุกคนในเมืองจึงอยู่เย็นเป็นสุขเหล่าอำมาตย์ได้นำช้างมงคลกลับไปส่งคืน และได้ทูลขอกุรุธรรมจากพระเจ้าธนัญชัย พระองค์ทรงเปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณาปรารถนาจะช่วยเหลือชาวกาลิงคะ จึงโปรดให้เขียนกุรุธรรมทั้ง ๕ ข้อ ลงในแผ่นทองคำคือ
ข้อที่ ๑ ให้พระราชาและพสกนิกรทั้งหมด อย่าเบียดเบียนทำร้ายชีวิตสัตว์อื่น
ข้อ ๒ อย่าได้ลักขโมย ถือเอาสิ่งของที่คนอื่นยังไม่อนุญาต
ข้อ ๓ ห้ามประพฤติผิดในกาม ให้ยินดีในคู่ครองของตน
ข้อ ๔ ให้เว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ และข้อสุดท้าย ให้เว้นจากการดื่มน้ำเมาและสิ่งเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นทางมาแห่งความประมาท
เมื่อเหล่าอำมาตย์ทูลขอกุรุธรรมจากพระราชาแล้ว ได้อัญเชิญไปสู่แคว้นกาลิงคะ พระเจ้ากาลิงคะทรงสมาทานกุรุธรรมทั้ง ๕ ข้อนั้น ทรงตั้งใจประพฤติตาม อีกทั้งได้ประกาศว่า “หากทุกคนอยากจะให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล อยากมีชีวิตอุดมสมบูรณ์ ครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ให้รักษากุรุธรรม ๕ ข้อนี้อย่างเคร่งครัด” มหาชนต่างพากันประพฤติตามด้วยความเต็มใจกันถ้วนหน้า
เมื่อทุกคนในบ้านเมืองพร้อมใจกันประพฤติอยู่ในธรรม สิ่งอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น แผ่นดินที่เคยแห้งแล้งมาช้านาน เริ่มมีฝนตกมาหล่อเลี้ยงให้ชุ่มเย็น สภาพเศรษฐกิจที่เคยฝืดเคืองก็เกิดสภาพคล่อง ชีวิตความเป็นอยู่ที่เคยขัดสนได้รับความทุกข์ยาก ก็เปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทุกคนต่างได้รับความสุข ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการประพฤติธรรม บ้านเมืองจึงกลับเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ทำให้ชาวเมืองรอดพ้นจากภัยพิบัติ และวิกฤตการณ์ทั้งปวง
ถ้าชาวโลกประพฤติธรรม ธรรมย่อมคุ้มครองโลก แค่ทุกคนรักษาศีลให้บริสุทธิ์ ก็สามารถพลิกฟื้นสถานการณ์บ้านเมือง จากภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ ให้กลับดีขึ้นอย่างอัศจรรย์ ยิ่งถ้าทุกคนปฏิบัติธรรม ทำใจให้หยุดนิ่งพร้อมๆ กันทั่วทั้งโลก ได้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน สันติสุขที่แท้จริงย่อมบังเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย ธรรมะจึงเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะช่วยคุ้มครองโลกให้อยู่รอดปลอดภัย
ในภาวะที่บ้านเมืองเป็นเช่นนี้ สิ่งที่เราต้องช่วยกันทำ คือ ให้มีเมตตาต่อกัน มีความเสียสละแบ่งปัน รู้จักสร้างบุญบารมีให้เพิ่มขึ้น เพราะบุญเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิต ถ้าเรามีบุญมาก อุปสรรคก็ไม่มี ถ้ามีบุญน้อย อุปสรรคก็มีมาก กระแสบุญจะช่วยเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างให้ดีขึ้นได้ ขอให้ทุกคนมีจิตใจที่ดี เชื่อมั่นในบุญกันจริงๆ และตั้งใจปฏิบัติธรรม ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมจะดีขึ้นอย่างแน่นอน โลกจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับจิตใจของเรานั่นเอง
การที่พวกเราได้ปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอในเวลาธรรมกาย เพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายนั้น นับเป็นผู้ฉลาดในการแก้ไขปัญหาชีวิต เป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น เพราะเมื่อใจหยุดนิ่ง เราจะเข้าถึงชีวิตในระดับลึก จะเข้าถึงดวงธรรม ดวงศีล ดวงสมาธิ(Meditation) ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายภายในและกายธรรมไปตามลำดับ จนกระทั่งถึงกายธรรมอรหัตซึ่งเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ที่สุด ถือว่าได้บรรลุเป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต
เพราะฉะนั้น ให้ทุกๆ ท่านหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่งให้เข้าถึงพระธรรมกาย จะได้ช่วยกันเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เป็นการแก้ไขปัญหาทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในโลก เพราะทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากจิตใจที่ดีงาม นั่นคือ สันติภาพภายนอกต้องเกิดจากสันติสุขภายใน และสันติสุขภายในต้องเริ่มจากใจที่หยุดนิ่ง ดังนั้น ให้ขยันหยุดใจให้เข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓ หน้า ๓๙๙ - ๔๐๖
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
กุรุธรรมชาดก เล่ม ๕๘ หน้า ๑๘๘
โฆษณา