9 ก.พ. 2021 เวลา 22:00 • การศึกษา
สร้างบารมีกันต่อไป
การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นับว่ายาก แต่การดำรงชีวิตให้เป็นอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ มีใจสูงส่ง มั่นคงในคุณธรรม อยู่บนเส้นทางอริยมรรคของพระอริยเจ้า รวมทั้งสร้างบารมีให้เต็มเปี่ยมบริบูรณ์นั้น ยิ่งยากกว่า ผู้มีบุญมีดวงปัญญาบริสุทธิ์ผ่องใสจะรู้จักใช้ชีวิตให้คุ้มค่า มุ่งหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางถูกต้อง ปลอดทั้งภัยในปัจจุบัน ในอบายภูมิ ตลอดจนภัยในสังสารวัฏ การที่จะให้พ้นจากภัยดังกล่าว เราจะต้องสั่งสมบุญให้มากๆ มีความหนักแน่นตั้งมั่นอยู่ในเส้นทางแห่งความดี รักในการประพฤติปฏิบัติธรรม หมั่นนั่งธรรมะทุกๆ วัน อย่าให้ขาดแม้แต่วันเดียว หากตั้งใจมั่นได้เช่นนี้ ย่อมจะพบกับความสุขสวัสดีอย่างแน่นอน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ในอัจเจนติสูตรว่า
“อจฺเจนฺติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย วโยคุณา อนุปุพฺพํ ชหนฺติ
เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน ปุญฺญานิ กยิราถ สุขาวหานิ
กาลทั้งหลายย่อมล่วงไป คืนทั้งหลายก็ผ่านไป ชั้นแห่งวัยก็ละลำดับไป
บุคคลเมื่อมองเห็นภัยในมรณะ พึงทำบุญทั้งหลายอันเป็นเหตุนำสุขมาให้เถิด”
ชีวิตของคนเราล้วนมีเวลาอย่างจำกัด ประเดี๋ยววันประเดี๋ยวคืน ทุกชีวิตต่างบ่ายหน้าไปสู่ความชราสู่ความตายกันหมด ปีเก่าได้ผ่านพ้นไปแล้ว ปีใหม่ได้เข้ามาแทนที่ เวลาผ่านไปพร้อมกับความแก่ ความเจ็บ และความตายก็ใกล้เข้ามาทุกขณะ ชาวโลกมีการเฉลิมฉลองวันปีใหม่อย่างครึกครื้น แต่สำหรับนักสร้างบารมีเช่นเรา เมื่อปรารภเหตุเนื่องในวาระขึ้นวันปีใหม่ ต้องเฉลิมชัยด้วยการสั่งสมความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป รุ่งเช้าให้ทำบุญตักบาตรรับความเป็นสิริมงคล อีกทั้งควรทำบุญโดยการปล่อยสัตว์ปล่อยปลาให้ชีวิตสัตว์เป็นทาน มีหลายท่านมาวัด มาสมาทานศีลให้บริสุทธิ์และนั่งสมาธิ(Meditation)เจริญภาวนา ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวาระวันขึ้นปีใหม่อย่างมีคุณค่าเสริมสร้างบุญบารมีให้กับตนเองเพิ่มมากขึ้น
เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายปรารภเหตุแล้ว ท่านจะทำบุญสร้างบารมี ทำเช่นนี้มาตลอดระยะเวลายาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นวันนักขัตฤกษ์ หรือวันมหามงคลใดก็ตาม ท่านจะประพฤติปฏิบัติให้เป็นเนติแบบแผน คือสั่งสมบุญบารมีไม่ได้ว่างเว้น เพราะสิ่งนี้จะเป็นวิถีทางที่นำไปสู่ความเต็มเปี่ยมของชีวิต คือการได้ตรัสรู้ธรรมและนำพาสรรพสัตว์ทั้งหลายไปสู่อายตนนิพพาน
พวกเราควรจะหันมาพิจารณาทศบารมีของตนเองว่า มีบารมีใดที่เรายังบกพร่องบ้าง จะได้ทำให้เต็มเปี่ยมเต็มที่ ซึ่งบารมีทั้ง ๑๐ ทัศ ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี
ทานบารมี เป็นบารมีแรกที่พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้หวังการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จะต้องบำเพ็ญเป็นประการแรก เพราะบารมีนี้เป็นพลวปัจจัยให้ได้บรรลุธรรมอย่างสะดวกสบาย และเมื่อได้ตรัสรู้ธรรม ทานกุศลที่ได้บำเพ็ญไว้ดีนี้ จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงพระพุทธศาสนาให้ดำรงอยู่ได้นาน และแผ่ขยายกว้างขวางออกไป เช่นเดียวกับสุเมธดาบสซึ่งเมื่อตัดสินใจปรารถนาพุทธภูมิ ได้รับคำพยากรณ์จากสมเด็จพระทีปังกรพุทธเจ้าแล้ว ท่านได้ตรวจตราดูธรรมที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า เห็นทานบารมีเป็นประการแรก ที่พระโพธิสัตว์แต่เก่าก่อนทั้งหลาย ถือปฏิบัติกันมาโดยตลอด
ท่านได้สอนตนเองว่า “แต่นี้ไป เราจะบำเพ็ญมหาทานบารมีให้เต็มเปี่ยม เหมือนหม้อน้ำที่คว่ำแล้ว ย่อมคายน้ำออกไม่มีเหลือฉันใด แม้เราก็จะไม่เหลียวแลทรัพย์สมบัติ เกียรติยศ บุตรและภริยา ให้สิ่งที่เขาต้องการอยากได้ทั้งหมดแก่ผู้ขอที่มาถึง ไม่เลือกว่าจะเป็นคนชั้นต่ำ ชั้นกลางหรือชั้นสูง มีจิตประกอบด้วยเมตตาในบุคคลเหล่านั้น แล้วถวายทานไม่ให้มีส่วนเหลือ และอย่าได้ติดใจหรือเสียดายในวัตถุทานที่บริจาคไปแล้วนั้น”
พระเดชพระคุณหลวงพ่อปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ท่านเคยกล่าวไว้ว่า...
“ทานนี้เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงพระพุทธศาสนาไว้ ถ้าปราศจากการให้ทานแล้ว ศาสนาก็ไม่มีเครื่องหล่อเลี้ยง จะทรงอยู่ไม่ได้ ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาในพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้ก็เพราะอาศัยทาน เพราะว่าภิกษุสามเณรนั้นไม่ได้ทำไร่ทำนา ไม่ได้ซื้อขายแลกเปลี่ยน เมื่อเป็นนักบวชก็ปล่อยวางธุระการงานในทางโลกจนหมด ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของพระบรมศาสดา อาศัยญาติโยมอุบาสกอุบาสิกาพิทักษ์รักษา เลี้ยงดูพระภิกษุสามเณรให้ดำรงพระพุทธศาสนาไว้”
ดังนั้น ถ้าจะเริ่มสร้างบารมี ต้องเริ่มจากทาน คือการให้นั่นเองนอกจากนี้ ยังมี ศีลบารมี ที่ควรทำให้เต็มเปี่ยม ควรรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เหมือนคนผู้มีตาบอดข้างเดียว คอยรักษาดวงตาอีกข้างหนึ่งไว้ไม่ให้บอดอีก หรือเหมือนนกต้อยตีวิดรักษาไข่ เหมือนจามรีรักษาขนหาง เพราะเมื่อหางของจามรีคล้องติดที่ใดก็ตาม จะยอมตายในที่นั้น ไม่ยอมให้หางหลุดลุ่ย พวกเราก็ควรบำเพ็ญศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เช่นนั้นด้วย
เนกขัมมบารมี เราควรหาโอกาสทำ โดยการมาอยู่ธุดงค์บ้าง ไปปฏิบัติธรรมวันหยุดสุดสัปดาห์บ้าง หรือหากมีเวลา ควรหาโอกาสมาวัดปฏิบัติธรรมร่วมกันเป็นหมู่คณะ เป็นการเพิ่มพูนกำลังใจให้แก่กันและกัน และยังทำให้เกิดพลังแห่งการรู้แจ้งอีกด้วย ส่วนท่านชายอาจจะหาโอกาสออกบวช เพื่อเพิ่มพูนเนกขัมมบารมีให้กับตนเอง แม้เป็นการบวชในช่วงสั้นๆ ก็ได้
จากนั้น เราควรหาโอกาสเข้าใกล้ผู้รู้ สนทนากับนักปราชญ์บัณฑิต ผู้ชี้แนะเส้นทางบุญบอกทางสวรรค์ หรือนิพพานให้กับเราได้ หรือไม่ก็เพิ่มพูนปัญญาบารมี ด้วยการศึกษาธรรมะจากพระไตรปิฎก เพราะพระไตรปิฎกเป็นคลังแห่งความรู้อันบริสุทธิ์ ที่พวกเราทุกคนควรหาเวลาอ่านให้จบ และทำความเข้าใจให้ดี จะได้เป็นอุปนิสัยติดตัวเราไปข้ามภพข้ามชาติ
วิริยะบารมี นอกจากนี้ให้หมั่นปรารภความเพียรเสมอ ฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งอย่างสม่ำเสมอทุกวันอย่าให้ขาด ให้ถือเป็นกิจวัตรประจำวันของเรา เพราะคนจะล่วงทุกข์ได้ ต้องอาศัยความเพียรนี่เอง
ขันติบารมี เป็นคุณธรรมที่ควรมีในใจ ความอดทนเท่านั้นที่เป็นคุณเครื่องทำให้เราได้บรรลุวัตถุประสงค์ของชีวิต เพราะความอดทนเป็นตบะเครื่องเผาบาปอย่างยิ่ง ธรรมดาแผ่นดินย่อมทนต่อสิ่งของที่เขาทิ้ง สะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง แผ่นดินไม่เคยแค้นเคือง หรือขุ่นมัวฉันใด พวกเราควรฝึกตนเอง ให้เป็นผู้อดทนต่อการกระทบกระทั่ง หรือสิ่งที่มายั่วยุทุกอย่าง ฉันนั้น หากทำได้เช่นนี้ ย่อมก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางได้แน่นอน
สัจจะบารมี นอกจากนี้ ควรฝึกตนเองให้เป็นผู้มีวาจาสัตย์ มีคำพูดไม่เป็นสอง เหมือนดาวประกายพฤกษ์ มีความเที่ยงตรง ไม่โคจรแวะเวียนไปนอกทางไม่ว่าจะในเวลาหรือฤดูกาลใด ก็ไม่ควรเดินเฉออกไปจากทางของความสัตย์จริง ควรเป็นคนซื่อตรง เมื่อถึงคราวปฏิบัติธรรม ใจจะได้มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพาน หยุดนิ่งในศูนย์กลางกายได้อย่างง่ายๆ
สำหรับอธิษฐานบารมีนั้น ทุกครั้งที่ทำบุญ ให้หมั่นอธิษฐานจิตในสิ่งที่ชอบ ประกอบด้วยกุศล ในสิ่งที่เป็นไปเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ให้อธิษฐานเช่นนี้ ทำบ่อยๆ ใจเราจะได้ปักแน่น ไม่หลงใหลไปในทางของพญามาร เมตตาบารมี เป็นสิ่งที่นักสร้างบารมีผู้หวังยกตน และสรรพสัตว์ทั้งหลายขึ้นสู่ฝั่งนิพพาน ต้องทำให้บังเกิดขึ้นในกมลสันดาน
พระบรมโพธิสัตว์ที่เห็นทุกข์ด้วยปัญญา และประกอบด้วยมหากรุณา มีความเมตตาปรารถนาดีว่า ถ้าหากบารมีเต็มเปี่ยมเมื่อไร จะช่วยผู้อื่นให้พ้นจากทุกข์ ท่านอุปมาไว้ว่า ธรรมดาน้ำย่อมแผ่ความเย็นไปให้คนดีและคนเลวเสมอกัน ชะล้างมลทินคือธุลีออกได้ฉันใด แม้เราก็จงเจริญเมตตาให้สม่ำเสมอ ไปในคนทั้งที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูลฉันนั้น
บารมีประการสุดท้าย ได้แก่ อุเบกขาบารมี คือการรู้จักวางใจเป็นกลางๆ ไม่ยินดียินร้ายในโลกธรรม ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง รู้จักทำตัวเหมือนแผ่นดินที่วางเฉยต่อของไม่สะอาดหรือสะอาดที่เขาทิ้งลงไป เว้นขาดจากความโกรธและความยินดีต่อสิ่งทั้งสองนั้น
แม้พวกเราควรฝึกตนให้เป็นคนหนักแน่น นิ่งเฉยเหมือนแผ่นดิน เป็นผู้มีอุเบกขาธรรมอยู่ในใจ รู้จักรักษาใจให้เป็นกลางๆ รู้จักปล่อยวางได้ ถึงเวลาหยุดนิ่ง ใจจะปลดปล่อยวางจากสรรพสิ่งนอกตัวได้สบายๆ และย้อนกลับเข้ามาหยุดอยู่ที่ตั้งถาวรของใจ คือศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ได้อย่างง่ายๆ ทำให้เข้าไปพบกับแหล่งกำเนิดแห่งความสุข และความบริสุทธิ์ที่แท้จริง เข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุดของพวกเราทุกๆ คน ปีใหม่นี้ เรามาเริ่มต้นชีวิตด้วยการสร้างบารมีให้ยิ่งกว่าปีที่ผ่านมา ให้ทุกเวลานาทีของชีวิต เป็นไปเพื่อการสั่งสมบุญบารมี เพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓ หน้า ๔๕๙ - ๔๖๗
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
สุเมธดาบส เล่ม ๕๕ หน้า ๔๕
โฆษณา