23 ก.พ. 2021 เวลา 23:24 • การศึกษา
จิตใจที่สะอาดด้วยความดี...
ความบริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับสรรพสัตว์ทั้งหลาย เมื่อใดมีความบริสุทธิ์บังเกิดขึ้น ย่อมเป็นทางมาแห่งความสุขความสงบในจิตใจ และจะแผ่ขยายไปสู่สังคม ตลอดจนกระทั่งมวลมนุษยชาติทั้งหลาย เมื่อนั้นโลกย่อมพบกับสันติสุขอันไพบูลย์ได้อย่างง่ายดาย ความบริสุทธิ์นี้ เป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้ เพราะมีอยู่แล้วในตัวของพวกเราทุกคน พระธรรมกายภายในตัวเป็นทางมาแห่งความบริสุทธิ์ และความสุขที่แท้จริง เมื่อเราเข้าไปอยู่ในกลางของท่าน ความสุขและความบริสุทธิ์จะพรั่งพรูขึ้นมาอย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้น จิตใจจะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกาย จะมีความปีติเบิกบานคลี่ขยายออกไป ไม่มีประมาณทีเดียว
มีวาระแห่งพุทธศาสนสุภาษิตใน สิริกาลกรรณิชาดก ว่า
“อตฺตนา กุรุเต ลกฺขึ อลกฺขึ กุรุตตฺตนา
น หิ ลกฺขึ อลกฺขึ วา อญฺโญ อญฺญสฺส การโก
บุคคลย่อมทำความดีและความชั่วด้วยตนเอง
คนอื่นจะทำความดีหรือความชั่วให้แก่คนอื่นไม่ได้เลย”
เมื่อได้โอกาสเกิดมา เราควรทำให้ชีวิตที่ดำเนินไปแต่ละวันแต่ละคืนนั้น เป็นช่วงเวลาของเราอย่างแท้จริง สามารถกล่าวได้ว่า หากปรารถนาจะให้ชีวิตของเรามีทิศทางมุ่งไปทางใด ต่ำต้อยหรือสูงส่งเพียงไหน ย่อมขึ้นอยู่กับตัวของเราเอง ความหมายคือ ขึ้นอยู่กับคุณธรรมในใจของเรานั่นเอง คุณธรรมในที่นี้หมายถึงความดีงาม หรือธรรมะที่มีอยู่ในตัว หากไม่มีความดี ไม่มีธรรมะ แม้จะอยู่ในภาวะที่สูงส่ง เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลายก็กล่าวว่า เป็นผู้ที่ต่ำต้อย ไม่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญแต่อย่างใด ตรงกันข้าม หากบุคคลนั้น เป็นผู้ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมความดีงามแล้ว แม้อยู่ในสภาวะเช่นไร ยังคงเป็นที่ยกย่อง และเป็นแบบอย่างให้แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้
เมื่อเรากระทำสิ่งใดไว้ เราต้องเป็นเจ้าของสิ่งนั้น ทำดีย่อมได้ดี ทำบาปอกุศลย่อมต้องได้รับผลแห่งวิบากกรรม นักปราชญ์ผู้รู้จึงกล่าวไว้ว่า จะสร้างโชคหรือสร้างเคราะห์ ก็ด้วยตัวเราเองเท่านั้น ผู้มีปัญญาทั้งหลายจึงหมั่นทำความบริสุทธิ์ให้กับตนเองด้วยการทำความดี ธรรมดาต้นไม้ใหญ่ที่มีร่มเงาเย็นสบาย จะเป็นที่อยู่อาศัยของหมู่วิหค และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ผู้ที่มีคุณธรรม สะอาดด้วยความดีงามนี้ก็เช่นกัน จะเป็นที่พึ่งพิงของบัณฑิตชนทั้งหลาย ฝูงนกย่อมบินเข้าฝูงนก ฝูงเนื้อย่อมเข้าฝูงเนื้อ ผู้เปี่ยมด้วยความดี มีความสะอาดบริสุทธิ์ ย่อมเข้าอยู่ในกลุ่มของผู้ที่มีความสะอาดบริสุทธิ์เช่นกัน
ความเป็นผู้สะอาดด้วยความดีในจิตใจนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “คนดีย่อมไปหาคนดี คบกับคนดี” ครั้งเมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวัน ได้ปรารภถึงท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นับตั้งแต่ท่านดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคล ท่านมีศีล ๕ เป็นปกติ ไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว แม้ภรรยา บุตรธิดา บ่าวรับใช้ทั้งหมดของท่าน ต่างพากันรักษาศีล ๕ ไม่ขาดเช่นเดียวกัน เรื่องราวของท่านจึงเป็นที่โจษจัน เป็นที่อนุโมทนาของนักสร้างบารมีทั้งหลายตลอดมา
วันหนึ่ง พระภิกษุได้นำเรื่องนี้ไปสนทนากันที่โรงธรรมสภา เมื่อพระบรมศาสดาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่เพียงในภพชาตินี้เท่านั้น แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลายก็เป็นผู้สะอาด และยังทำหมู่บริวารให้เป็นผู้สะอาดเช่นกัน” จากนั้นพระองค์ได้นำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า.....
ชาติหนึ่ง พระโพธิสัตว์เกิดเป็นเศรษฐี อาศัยอยู่ในเมืองพาราณสี เป็นผู้มีจิตใจดีงามมาก รักการสร้างมหาทานบารมี ท่านให้ทานไม่เคยขาดแม้แต่วันเดียว วันไหนที่ยังไม่ได้ถวายทาน วันนั้นท่านจะยังไม่กินข้าว เป็นผู้มีจิตใจรักการให้ทานมาก อีกทั้งยังเป็นผู้ตั้งใจรักษาศีล และศีลของท่านบริสุทธิ์มาก เหมือนแก้วมณีที่ไม่มีรอยตำหนิแม้แต่น้อย
ครั้นถึงวันอุโบสถ ท่านตั้งใจรักษาอุโบสถศีล ความดีงามเช่นนี้ จึงทำให้ทั้งภรรยา บุตรธิดาและข้าทาสบริวารต่างประพฤติธรรมเช่นเดียวกับท่าน ทำให้เหล่ามนุษย์และเทวดาทั้งหลายต่างชื่นชมและอนุโมทนาสาธุการ เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า ท่านเศรษฐีเป็นผู้สะอาดด้วยความดี แม้บริวารของท่านก็เป็นผู้สะอาดด้วยความดีเช่นกัน
วันหนึ่ง ท่านเศรษฐีคิดว่า “ถ้าหากใครเป็นผู้ที่มีความสะอาดเป็นปกติ เข้ามาหาเรา การที่จะให้ที่นั่งที่นอนของเราแก่บุคคลนั้น ไม่เป็นการสมควรเลย ควรที่จะตระเตรียมที่นั่งที่นอน ที่ยังไม่มีผู้ใดใช้ไว้ให้บุคคลนั้น” คิดดังนั้นแล้ว ท่านได้ให้จัดที่นอนที่นั่งไว้ในที่ที่เหมาะสม
ครั้งนั้น มีเทพธิดา ๒ องค์ คือ ธิดาของท้าววิรูปักษ์มหาราช ชื่อ กาลกรรณี และธิดาของท้าวธตรฐมหาราช ชื่อ สิริ ต่างอยู่ในเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา ทั้งสองถือของหอมและดอกไม้จำนวนมาก พากันมายังท่าน้ำสระอโนดาต ด้วยตั้งใจว่าจะเล่นน้ำที่ท่าน้ำนี้ มีเรื่องที่น่าอัศจรรย์ คือ ท่าน้ำจะจัดไว้เป็นระเบียบเรียบร้อย จะไม่ปะปนกัน จะแยกกันว่า นี่ท่าสำหรับพระพุทธเจ้า สำหรับพระปัจเจกพุทธเจ้า สำหรับพระภิกษุ ท่าสำหรับดาบสทั้งหลาย หรือสำหรับเทพบุตรชั้นต่างๆ เป็นต้น สำหรับเทพธิดาก็จะเป็นอีกที่หนึ่ง ไม่ปะปนกัน นี่เป็นเรื่องที่แปลกอย่างหนึ่ง
วันนั้นมีเรื่องบังเอิญเกิดขึ้น เมื่อเทพธิดาทั้งสองมาถึงท่าน้ำในเวลาเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างอยากจะอาบน้ำก่อน ทั้งสองตกลงกันไม่ได้ เทพธิดาชื่อกาลกรรณี เป็นฝ่ายกล่าวก่อนว่า “ฉันเป็นผู้เที่ยวตรวจดูและรักษาโลก สมควรจะอาบก่อน”
ฝ่ายนางสิริเทพธิดาชี้แจงว่า “ฉันเป็นผู้ที่ปฏิบัติชอบ ควรจะได้อาบน้ำก่อน” เมื่อตกลงกันไม่ได้ จึงพากันไปหาท้าวมหาราชทั้งสี่ ขอให้พระองค์เป็นผู้ตัดสิน
ท้าวมหาราชทั้งสี่เกรงว่า การตัดสินให้ผู้ใดผู้หนึ่งได้อาบน้ำก่อน จะทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ จึงพากันไปหาท้าวสักกะ ท้าวสักกะก็ตัดสินไม่ได้ จึงออกกุศโลบายว่า “ในเมืองพาราณสี มีเศรษฐีท่านหนึ่ง เป็นคนดี ในบ้านของเขาปูอาสนะและที่นอนอันสะอาดไว้ ถ้าหากใครสามารถนั่งหรือนอนบนที่ที่เศรษฐีจัดไว้ก่อน ผู้นั้นสมควรได้อาบน้ำก่อน”
นางกาลกรรณีเทพธิดารีบประดับประดาด้วยเครื่องประดับสีเขียว ลงจากเทวโลกมาปรากฏกายอยู่ในที่ไม่ไกลจากท่านเศรษฐี บริวารของเศรษฐีถามว่า “ท่านเป็นใครกัน”
 
นางเทพธิดาตอบว่า “ดิฉันเป็นธิดาของท้าววิรูปักษ์มหาราช เป็นผู้ที่ใครๆ ต้องเกรงขาม นามว่า กาลกรรณี ท่านเป็นผู้ที่ฉันขอโอกาสแล้ว ขอจงให้ที่พักแก่ดิฉันด้วยเถิด”
เศรษฐีต้องการทดสอบนางจึงถามว่า “ตัวท่านนั้น ชอบผู้ชายที่มีความประพฤติเช่นไร”
ธรรมดาเทพธิดาจะไม่พูดโกหก นางจึงตอบว่า “ดิฉันชอบชายที่ดุดัน โหดเหี้ยม โอ้อวด มีจิตริษยา ชายใดได้ทรัพย์มาแล้วนำมาปรนเปรอให้หมดไป ผู้นั้นจะเป็นที่รักของดิฉัน”
ท่านเศรษฐีฟังดังนั้น รีบบอกว่า “นางกาลกรรณีเอ๋ย ความประพฤติของท่าน หาเป็นที่รักของเราไม่ ขอท่านจงไปอยู่ที่อื่นเถิด”
หลังจากที่นางกาลกรรณีจากไป นางสิริเทพธิดาได้มาปรากฏกาย ด้วยความที่นางเป็นผู้มีศีล และประพฤติธรรม ราศีแห่งความดีนั้นได้เอิบอาบไปทั่วร่างของนาง เมื่อท่านเศรษฐีเห็นเช่นนั้น เกิดความรักใคร่เสมือนได้พบธิดาของตน จึงถามความในใจว่า “เจ้าชอบผู้ชายประเภทไหน”
เทพธิดาตอบตามความเป็นจริงว่า “ชายใดที่ไม่โกรธ มีกัลยาณธรรม มีการเสียสละ และรักษาศีล เป็นคนซื่อตรง แม้จะเป็นใหญ่ก็อ่อนน้อมถ่อมตน ดิฉันชอบใจชายที่มีความประพฤติเช่นนั้น”
ท่านเศรษฐีได้ฟังดังนั้น รู้สึกชื่นชม จึงกล่าวว่า “เตียงและที่นั่งที่เราเตรียมไว้นี้ เหมาะสมกับผู้ที่มีจิตใจ และความประพฤติที่สะอาดด้วยความดีเช่นนี้แหละ ขอเชิญท่านนั่งลงเถิด”
นางอยู่ในที่นั้นแล้ว ครั้นรุ่งเช้านางได้ออกไปอาบน้ำที่สระอโนดาตก่อน นางสิริเทพธิดาได้ชื่อว่า เป็นผู้สะอาดทั้งกายและใจ เพราะเป็นผู้ประพฤติธรรม ทำให้เตียงที่เทพธิดานั้นนอน ได้ชื่อว่า สิริสยนะ คือ เป็นเตียงที่เป็นสิริมงคล เพราะนางสิริเทพธิดาเป็นผู้มีศีลมีธรรมอันงามมานอนก่อนผู้อื่น สิริเทพธิดาในคราวนั้น คือ พระนางอุบลวรรณาเถรี ผู้เป็นพระอรหันต์เถรีรูปหนึ่งนั่นเอง
จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ความสะอาดที่แท้จริง ทำให้มนุษย์และเทวดาทั้งหลายยอมรับ และยกย่องสรรเสริญ อีกทั้งเป็นต้นแบบให้กับนักสร้างบารมีรุ่นแล้วรุ่นเล่า ความสะอาดนั้นต้องเป็นความสะอาดด้วยความดีงาม มีศีล มีธรรม เพราะคุณธรรมนี้จะชำระจิตใจให้ใสสะอาดบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นทุกๆ วัน เมื่อเต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว ย่อมส่งผลให้เข้าถึงความบริสุทธิ์ที่แท้จริง คือ พระนิพพาน ดังนั้น หมั่นชำระตนเองให้สะอาดบริสุทธิ์ด้วยความดีกันทุกๆ วัน
 
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓ หน้า ๕๐๕ - ๕๑๒
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
สิริกาลกรรณิชาดก เล่ม ๕๙ หน้า ๗๔
โฆษณา