26 ก.พ. 2021 เวลา 23:53 • การศึกษา
เสียดายโอกาส...
ในสมรภูมิรบ หากทหารอยู่ในหลุมหลบภัย ย่อมปลอดภัยจากอาวุธร้ายของศัตรู ในสมรภูมิชีวิตก็เช่นเดียวกัน ผู้มีใจหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกาย ย่อมปลอดภัยจากทุกข์ทั้งปวง ทหารอยู่ในสมรภูมิรบ ย่อมต้องระวังมิให้ตกเป็นเป้าสายตาของศัตรู จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอำพรางตัวหลบซ่อนให้ดี และเพื่อจับทิศทางการเคลื่อนไหวของศัตรูผู้รุกราน ศูนย์กลางกายเปรียบเสมือนหลุมหลบภัยของใจ ที่จะคอยป้องกันภัยจากปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น เมื่อใดที่ใจของเราหยุดนิ่งที่ศูนย์กลางกายได้ถูกส่วน เมื่อนั้นกระแสแห่งความสุข ความชุ่มเย็นภายในจะหล่อเลี้ยงใจให้มีความสุขสดชื่นเบิกบาน ความสว่างไสวย่อมจะบังเกิดขึ้น จนทำให้มองเห็นหนทางที่จะดำเนินไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัยและมีชัยชนะ
มีวาระธรรมภาษิตใน กุมารเปตวัตถุ ความว่า
“เมื่อพระทักขิไณยบุคคลมีอยู่ และไทยธรรมก็มีพร้อม พวกเราไม่อาจทำบุญอันนำความสุขมาให้แม้เพียงเล็กน้อย และไม่สามารถทำตนให้มีความสวัสดีได้ อะไรหนอ จะพึงลามกกว่ากามคุณนั้น พวกเราจุติจากราชสกุลแล้ว ไปบังเกิดในเปตวิสัย พรั่งพร้อมไปด้วยความหิวและกระหาย เมื่อก่อนในโลกนี้ เราเคยเป็นเจ้าของในที่ใด ย่อมไม่ได้เป็นเจ้าของในที่นี้อีก นรชนรู้โทษอันเกิดจากความถือตัวแล้ว ละความเมาในความเป็นใหญ่ได้แล้ว พึงไปสู่สวรรค์”
หลายครั้งที่เราเกิดความรู้สึกเสียดาย และไม่พึงพอใจกับชีวิตที่ผ่านมาว่าไม่น่าเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ถ้าย้อนชีวิตได้ เราจะไม่ทำเช่นนั้นอีกเด็ดขาด จะทำตัวให้ดี ตั้งใจเล่าเรียนหนังสือ ตั้งใจทำงาน หรือจะทำหน้าที่ดูแลพ่อแม่ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ที่ผ่านมายังไม่ได้เลี้ยงดูท่าน เพราะมัวสาละวนอยู่กับการทำมาหากิน เป็นต้น แต่ตอนนี้ก็สายเกินไปแล้ว ได้แต่โศกเศร้าเสียใจกับอดีตที่ผ่านมาพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านกล่าวไว้เป็นสุภาษิตสอนใจว่า...
“พายเถิดนะพ่อพาย ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า” หมายถึง จะทำอะไรก็ให้รีบทำ อย่าชักช้าลังเลใจ ต้องทุ่มเททำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ หากหมดเวลาหมดโอกาสแล้ว ก็เหมือนตลาดจะวาย คือ หมดเวลาค้าขาย คนซื้อก็หาย สินค้าก็หมด สินค้าคุณภาพดี ๆ ซึ่งเป็นที่ต้องการก็มีคนมาซื้อไปหมดแล้ว สายบัวจะเน่า คือ เอามาใช้ประโยชน์ไม่ได้จำเป็นต้องทิ้งไป เพราะเหลือแต่ของที่มีคุณภาพต่ำ เป็นสิ่งที่คนอื่นไม่อยากได้แล้ว
แต่นั่นนับว่า ยังเป็นอดีตของภพชาติปัจจุบัน ซึ่งยังไม่สายเกินไปสำหรับการเริ่มต้นใหม่ในการทำความดี เพราะตราบใดที่เรายังมีลมหายใจ มีกำลังใจ มีสติปัญญาและมีศรัทธาพร้อมที่จะกลับตัวกลับใจใหม่ หักดิบเพื่อให้ได้ชีวิตที่สดใสกว่าเดิม ถือว่ายังไม่สายเกินไป แต่เมื่อไรที่เราละจากโลกนี้ คำว่า เสียดายและสายเกินไปจะบังเกิดขึ้น ชนิดที่แก้ไขไม่ได้จริงๆ ภาษาพระเรียกว่า เป็นอเตกิจฉา คือ จะไปแก้ไขหรือย้อนอดีตให้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อเริ่มต้นทำความดีใหม่ หรือจะไปต่อรองกับพญายมราช หรือขอให้นายนิรยบาลลดหย่อนผ่อนโทษให้ ก็ไม่ได้ทั้งสิ้น เพราะตอนนั้น ต้องไปชดใช้กรรมที่ได้ทำไว้ เมื่อครั้งที่ยังเป็นมนุษย์เท่านั้น การทำทาน รักษาศีลหรือนั่งสมาธิเจริญภาวนา ต้องเร่งรีบทำในช่วงที่ยังเป็นมนุษย์นี่แหละ
ดังเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลของผู้ที่ต้องใช้คำว่า สายเกินไปเสียแล้ว เรื่องมีอยู่ว่า ในกรุงสาวัตถี พระเจ้าโกศลมีพระราชโอรส ๒ พระองค์ ทั้งสองกำลังอยู่ในวัยหนุ่ม แต่เนื่องจากประมาทมัวเมาในความเป็นหนุ่ม และไม่มีกัลยาณมิตรคอยชี้แนะหนทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต อีกทั้งไม่ใช้โอกาสที่ได้เกิดในราชตระกูลให้เกิดประโยชน์ กลับใช้ให้เกิดโทษแก่ตัวเอง คือ ทำกรรมโดยคบหาภรรยาของคนอื่น ผิดศีลข้อ ๓ และข้อ ๕ เป็นอาจิณ ตลอดชีวิตไม่ได้ทำบุญกุศลใดๆ ไว้ เมื่อละจากโลกนี้ จึงไปบังเกิดเป็นเปรตที่หลังคูนอกเมืองสาวัตถี
ในเปตโลกนั้น พวกเปรตจะอยู่กันเป็นกลุ่มๆ มีความเดือดร้อน หิวกระหายเป็นปกติ บางพวกหิวน้ำ ก็วิ่งเข้าไปใกล้แม่น้ำ ครั้นไปถึงแม่น้ำ กลับกลายเป็นความว่างเปล่า เมื่อเวลาร้อนอยากเข้าไปสู่ร่มไม้ ร่มไม้ก็กลับกลายเป็นแดดแผดเผา เปรตตัวไหนมีกรรมมากก็จะถูกไฟแผดเผาตลอดเวลา ถ้าบาปน้อยก็จะถูกความหิวกระหายคุกคามตลอดเวลา จะพากันเดินไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหาอาหารแต่ก็ไม่ได้กินอิ่ม เมื่อมีความหิวโหยอิดโรยมากขึ้น ต่างพากันล้มลงบนพื้นดิน บ้างล้มนอนหงาย บ้างล้มควํ่า ดิ้นรนไปมาและสลบอยู่ที่พื้นดิน มีความทุกข์ทรมานแสนสาหัส
ครั้นตกกลางคืน เปรตเหล่านี้จะรำพันด้วยเสียงอันน่าสะพรึงกลัว ชาวเมืองที่อยู่นอกเมืองได้ยินเสียงนั้น พากันสะดุ้งหวาดกลัว ต่างคิดหาวิธีที่จะให้เสียงนี้หายไป ด้วยการถวายมหาทานแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขที่วัดพระเชตวัน พลางกราบทูลเรื่องราวอันน่าสะพรึงกลัวที่เกิดขึ้นในยามราตรี
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนอุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลาย ท่านอย่าได้หวั่นวิตกในเสียงนั้นเลย เสียงที่น่าหวาดกลัวนั้น ไม่อาจทำอันตรายพวกท่านได้ เพียงแต่เปรตเหล่านี้ต้องการสื่อสารให้พวกท่านรู้เรื่องเท่านั้นเอง มีเปรต ๒ ตนได้ประกาศโทษของตนว่า
เมื่อพระทักขิไณยบุคคลมีอยู่เป็นอันมาก และไทยธรรมที่จะน้อมเข้าไปตั้งไว้ก็มีอยู่ พวกเราไม่ได้ทำบุญแม้เพียงเล็กน้อย ที่จะนำพาความสุขมาให้ และไม่อาจทำตนให้มีความสวัสดีได้ อะไรจะพึงลามกกว่าการหลงใหลในเบญจกามคุณนั้นเป็นไม่มี พวกเราจุติจากราชสกุลแล้ว ไปบังเกิดในเปตวิสัย พรั่งพร้อมด้วยความหิวและกระหาย
เมื่อก่อนในโลกนี้ พวกเราเคยเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติมากมายในที่ใด เมื่อละมนุษยโลกแล้ว ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของในที่นั้นอีกต่อไป พวกเปรตทั้งหลายบังเกิดขึ้นแล้วกลับเสื่อมลง ย่อมตายเพราะความหิวและกระหาย นรชนรู้โทษอันเกิดด้วยอำนาจความถือตัวว่า เป็นโทษเช่นนี้แล้ว ละความมัวเมาในความเป็นใหญ่ได้แล้ว พึงไปสู่สวรรค์ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสวรรค์”
ครั้นพระบรมศาสดาตรัสบุพกรรมของเปรตเหล่านั้นแล้ว ทรงชี้อานิสงส์ในการถวายทานว่า “สัปบุรุษย่อมให้ทาน คือ ข้าวและน้ำที่สะอาด ประณีต ตามกาลสมควรเนืองนิจในผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นบุญเขต บริจาคทานมากแล้ว ก็ไม่รู้สึกเสียดาย ท่านผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมสรรเสริญทานที่สัปบุรุษให้แล้วเช่นนี้ บัณฑิตผู้มีศรัทธา มีใจอันสละแล้ว บริจาคทาน ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน นำแต่ความสุขมาให้”
จากนั้น ทรงแนะนำให้อุทิศทานที่มหาชนได้ถวายนั้นแก่พวกเปรต และทรงแสดงธรรมที่เหมาะแก่อัธยาศัยของพุทธบริษัทผู้มาประชุมกัน ทำให้มหาชนเกิดความไม่ประมาท ได้ตั้งใจสั่งสมบุญอย่างเต็มที่
จากเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า ความประมาทมัวเมาในลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นภัยใหญ่หลวง มีทรัพย์แล้วต้องใช้ทรัพย์ให้เป็น ถ้าใช้ไม่เป็น สมบัตินั้นย่อมนำพาความวิบัติมาให้ จากที่ได้รูปสมบัติเหมาะสมต่อการสร้างความดี ก็กลายเป็นรูปกายที่วิบัติไป คือ ได้อัตภาพของเปรต อสุรกายหรือสัตว์เดียรัจฉาน คุณสมบัติที่จะคิด พูดหรือทำเรื่องดีๆ ก็ไม่มีอีกแล้ว ดังเรื่องเปรตที่หลวงพ่อนำมาเล่านี้ ถึงแม้อยากจะพ้นจากทุกข์มาก และอยากมาเกิดเป็นมนุษย์เหลือเกิน เพราะเขารู้แล้วว่า เป็นมนุษย์ดีอย่างไร แต่ก็สายเกินไปแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ถ้าเรารักษาศีล ศีลจะรักษาเราให้ร่มเย็นข้ามชาติ อย่าให้คำว่า เสียดาย หรือสายเกินไป เกิดขึ้นกับเรา และหมั่นนั่งธรรมะทุกวัน ให้ใจใสๆ จะได้มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ละโลกไปแล้ว ย่อมมีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไปกันทุกคน
 
จากหนังสือธรรมะเพื่อประชาชน ฉบับมงคลชีวิต ๓ หน้า ๕๒๓ - ๕๒๙
อ้างอิง.......พระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย)
กุมารเปตวัตถุ เล่ม ๔๙ หน้า ๕๔๕
โฆษณา