21 พ.ย. 2020 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เมื่อสหรัฐตัดสิทธิ GSP ไทย รับมือปัญหา 'ธุรกิจส่งออก' ด้วยเทคโนโลยีและดาต้า
เมื่อสหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้านำเข้าจากไทย จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ทั้งต้นทุนการส่งออกที่จะเพิ่มขึ้น และมีผลอาจทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาดภายในประเทศตามมาด้วย แล้วธุรกิจส่งออกไทยจะรับมืออย่างไร?
บทความโดย ดร.ธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ | คอลัมน์ รัดเข็มขัด ขจัดความเสี่ยง กับ ดร.เรือบิน
เมื่อสหรัฐตัดสิทธิ GSP ไทย รับมือปัญหา 'ธุรกิจส่งออก' ด้วยเทคโนโลยีและดาต้า
จากการที่สหรัฐซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย เป็นถึงคู่ค้าอันดับ 3 ได้ระงับให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) กับสินค้านำเข้าจากไทยจำนวน 573 รายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 48,000 ล้านบาท มีผลตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.2563 และจำนวน 231 รายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท มีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2563
1
เหตุการณ์นี้ส่งผลโดยตรงแก่บรรดาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องโดยต้นทุนการส่งออกจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาษีนำเข้าสูงขึ้นเฉลี่ย 4.5% ทำให้เสียความสามารถในการแข่งขัน โดยคาดการณ์ไว้ว่ามูลค่าการส่งออกรวมของไทยอาจลดลงไปอีก 0.01% และยังทำให้เกิดภาวะสินค้าล้นตลาดภายในประเทศตามมาด้วย ซึ่งหากทางไทยเราไม่สามารถเจรจาต่อรองเพื่อแก้ไขการระงับสิทธิ GSP ดังกล่าวได้ ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่
เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนด้านอื่นๆ
การลดต้นทุนในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในขณะนี้ ซึ่ง CFRESH เองถือเป็นบริษัทหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP เช่นเดียวกันโดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจส่งออกกุ้งแช่แข็งไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงสหรัฐ ซึ่งในช่วงปี 2563 นี้ได้มีการปรับกลยุทธ์โดยการขยายฐานผลิตสินค้าไปยังกลุ่มบริษัทย่อย ลดต้นทุนการผลิตและระบบจัดการขนส่งด้วยการใช้เทคโนโลยี ปรับกลยุทธ์การขายสินค้า เพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายทางออนไลน์
10
รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในด้านต่างๆ เช่น การคัดแยกสินค้า การพัฒนาศักยภาพของเครื่องจักร ที่นอกจากจะช่วยทุ่นแรงงานแล้วยังช่วยลดความเสี่ยงด้านการปนเปื้อน ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกๆ ในอุตสาหกรรมอาหาร ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 นี้ บริษัทกลับมีรายได้สูงขึ้น 9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สร้างมูลค่าเพิ่มในตัวสินค้า เพื่อเจาะตลาดใหม่ในประเทศ
แบรนด์เก่าแก่อยู่คู่ครัวคนไทยและชาวต่างชาติที่รักในอาหารไทยมานานอย่าง “แม่ประนอม” ซึ่งมีกลุ่มผู้บริโภคหลักคือร้านอาหาร โรงแรม และส่งออกขายในต่างประเทศถึง 30% ก็อยู่ในกลุ่มเข้าข่ายที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไม่มากก็น้อย ประกอบกับทางแบรนด์ได้ทำการสำรวจผู้บริโภค และพบว่าสำหรับผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ๆ แบรนด์แม่ประนอมกลับยังไม่รู้จัก ทั้งๆ ที่ยังมีการบริโภคอยู่เป็นประจำ
ผู้บริหารจึงหันมาทำกลยุทธ์เพื่อเจาะตลาดใหม่ๆ ภายในประเทศ โดยทำการตลาดให้เข้ากับยุคสมัยด้วยการหา Insight จากผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ โดยใช้ Data จากเครื่องมือ Social Listening เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป จนนำมาสู่การทำแพ็คเกจใหม่เป็นหลอดบีบ ซึ่งเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ เน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์
1
และมีการทำ Real-Time Marketing เพื่อเกาะกระแสของคนรุ่นใหม่ และสร้างแคมเปญต่างๆ เช่น “แม่ประนอม in your area!” ที่โดนใจและได้รับการตอบรับทางออนไลน์อย่างมาก ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ทำให้แม่ประนอมได้เข้าไปเป็นที่รู้จักของคนรุ่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้น มียอดขายเพิ่มขึ้น จนนำมาสู่การคว้ารางวัล PM Award 2020 ถึง 2 รางวัล
ในยุคที่ลูกค้ามีตัวเลือกมากมาย กลยุทธ์ที่จะทำอย่างไรให้แบรนด์หรือสินค้าของเราได้รับความสนใจจากลูกค้า การเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ จะสำเร็จถ้าแบรนด์รู้จักและเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดี และลึกซึ้งเพียงพอ การใช้ Data จากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากฐานข้อมูลลูกค้าเก่า แต่นำมาวิเคราะห์ในมิติใหม่ๆ การเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากลูกค้าเก่า
การเก็บข้อมูลจากภายนอก เช่น Social Media หรือผ่านทาง Community ต่าง ๆ คือเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับเข้าใจ Customer Insight และนำมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ หรือ แม้กระทั่งการ Cross-Selling จากการแนะนำผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ผู้บริโภคอาจต้องการ และปรับกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อให้เข้าถึงความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม รวมถึงอัพเดทเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา กลายเป็น Solution ที่สามารถเติมช่องว่างระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน และลดช่องว่างระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภค
เทคโนโลยีและการใช้ Data นอกจากสามารถช่วยในการเจาะตลาดกลุ่มใหม่ คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และช่วยลดต้นทุนด้านต่างๆ แล้ว ยังสามารถนำมาวิเคราะห์และใช้ Forecast หรือคาดการเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป เพราะทุกวันนี้กุญแจสู่ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ในการแข่งขันทางธุรกิจอยู่ที่ความ Intelligence ที่ได้จากข้อมูลและความรวดเร็วในการคิดกลยุทธ์ตามสถานการณ์ ซึ่งการทำนายเทรนด์และความสนใจของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำจะช่วยให้ธุรกิจเราสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนที่ยังรออยู่อีกมากมายในเบื้องหน้าครับ
โฆษณา