21 พ.ย. 2020 เวลา 13:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จับตา 'เงินบาท' หลัง ธปท.งัดมาตรการคุม
ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่า 30.29 บาท/ดอลลาร์ (20 พ.ย) จากตลาดประเมิน 3 มาตรการธปท. เน้นดูแลสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ไม่ใช่การสกัดเงินทุนไหลเข้า ด้านต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นไทย 2.3 พันล้านบาท 'กสิกรไทย' มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า 30-30.40 บาท/ดอลลาร์
จับตา 'เงินบาท' หลัง ธปท.งัดมาตรการคุม
สำหรับความเคลื่อนไหวหุ้นไทยปรับตัวขึ้นตามบรรยากาศตลาดต่างประเทศ โดยดัชนีปิด (20 พ.ย.) ที่ระดับ 1,389.34 จุด เพิ่มขึ้น 3.18% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 81,685.12 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,386.95 ล้านบาท บัญชีหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 1,526.19 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ1,923.42 ล้านบาท และนักลงทุนบุคคลในประเทศขายสุทธิ 5,836.56 ล้านบาท
3
ด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองว่า ดัชนีหุ้นไทย (สัปดาห์หน้า) มีแนวรับที่ 1,375 และ 1,360 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,400 และ 1,420 จุดตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือนต.ค. ของไทย ประเด็นทางการเมืองของไทย สถานการณ์โควิด-19 รวมถึงประเด็นการเมืองสหรัฐฯ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่
1
ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/63 บันทึกการประชุมเฟด ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือน ต.ค. รวมถึงดัชนี PMI Composite เดือน พ.ย. (เบื้องต้น) ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI Composite เดือน พ.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน และกำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. ของจีน
ทิศทางค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายสัปดาห์ แม้ ธปท. เพิ่มมาตรการดูแลเงินบาท โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ ต้นสัปดาห์แตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 10 เดือนที่ 30.14 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับสกุลเงินเอเชียก็มีแรงหนุนจากการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดีเงินบาททยอยอ่อนค่ากลับมาช่วงกลางสัปดาห์หลังทางการส่งสัญญาณเตือนถึงการแข็งค่าที่เร็วเกินไป ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาแข็งค่าอีกครั้งช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดมองว่า มาตรการธปท. ทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ ปรับเกณฑ์ FCD คลายเกณฑ์ลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย และกำหนดลงทะเบียนแสดงตัวตนซื้อ-ขายตราสารหนี้ เป็นมาตรการที่เน้นดูแลสมดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย ไม่ใช่การสกัดเงินทุนไหลเข้า โดยในวันศุกร์ (20 พ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.29 เทียบกับระดับ 30.22 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (13 พ.ย.)
สำหรับสัปดาห์หน้า (23-27 พ.ย.) ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ ข้อมูลการส่งออกเดือนต.ค. และสถานการณ์ทางการเมือง ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดขายบ้านใหม่ รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก PCE/Core PCE Price Index เดือนต.ค. จีดีพีไตรมาส 3/63 (ครั้งที่ 2) และบันทึกการประชุมเฟด (4-5 พ.ย.) นอกจากนี้ตลาดยังรอจับตาสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป ตลอดจนข้อมูล PMI เบื้องต้นสำหรับเดือนพ.ย. ของสหรัฐฯ และยูโรโซนด้วยเช่นกัน
ส่วนความเคลื่อนไหวราคาทองคำวันศุกร์ ปิดที่ 1,866.99 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำในประเทศอยู่ที่ 26,800 บาทต่อบาททองคำ ด้านวาย แอลจี บูลเลี่ยนอินเตอร์เนชั่นแนล ระบุจากจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวจากโควิด-19 ในโรงพยาบาลสหรัฐทะยานขึ้นเกือบ 50% ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งทําให้รัฐต่างๆต้องออกมาตรการจํากัดรอบใหม่เพื่อควบคุมการแพร่กระจาย จนส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐกําลังเผชิญกับความท้าทาย อันเนื่องมาจากจํานวนผู้ติดเชื 'อไวรัสโควิด-19 ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ประกาศจะไม่มีการต่ออายุโครงการเงินกู้เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 วงเงิน 4.55 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธ.ค.นี้แนวโน้มดังกล่าว กดดันการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง จนกระตุ้นแรงซื้อทองคําในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม นสพ.ไทม์ส รายงานว่า ผู้นํายุโรปจะเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยแผนเบร็กซิทที่ไร้ข้อตกลง ขณะที่เส้นตายสิ้นปี กําลังใกล้เข้ามา ซึ่งความไม่แน่นอนเกี่ยวกับข้อตกลงการค้าหลังBrexit กดดันสกุลเงินปอนด์ จนส่งผลกดดันราคาทองคํา ทั้งนี้ นักลงทุนที่มีทองคําในมือ อาจขายทํากําไรหากราคาไม่ผ่านบริเวณแนวต้าน 1,877-1,885 ดอลลาร์ต่อออนซ์ซึ่งหากราคาไม่สามารถผ่านไปได้อาจเห็นการย่อตัวลงไปบริเวณแนวรับ 1,851-1,849 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยยังคงเน้นการทํากําไรจากการแกว่งตัวในกรอบ
โฆษณา