22 พ.ย. 2020 เวลา 02:41 • หุ้น & เศรษฐกิจ
'สงครามการค้าจีน-สหรัฐ' ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร
ไม่ว่ามหาอำนาจ อเมริกาและจีนจะทำอะไร ก็มีผลต่อชาวโลก และเมื่อใดที่'ไบเดน' รับตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกาอย่างเป็นทางการ หลายประเทศกำลังมองว่า อเมริกาจะมีนโยบายต่างประเทศอย่างไร ลองอ่านบทวิเคราะห์มุมต่างๆ ของนักวิชาการกลุ่มนี้
'สงครามการค้าจีน-สหรัฐ' ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไร
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา การแข่งขันทางการค้าระหว่างจีนกับอเมริกา เป็นทั้งคู่ค้าที่ดีและศัตรู เหมือนเช่นที่หลายคนกล่าวว่า ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร ถ้าอย่างนั้นการค้าระหว่างสองมหาอำนาจจะมีผลกระทบต่อไทยและโลกอย่างไร
สองมหาอำนาจในเวทีการค้า
2
ดร.ประพีร์ อภิชาตสกล อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า หลังจากปีค.ศ. 1949 นโยบายอเมริกามองว่า จีนเป็นภัยคุกคามเป็นคอมมิวนิสต์ในสงครามเย็น(ปีค.ศ. 1950-1960) อเมริกาจึงมีนโยบายปิดกั้นจีน แล้วหันไปร่วมมือกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย ฟิลิปปินส์ ซึ่งยุทธวิธีที่อเมริกาใช้ในปัจจุบันก็ไม่ต่างจากเดิม
กระทั่งปี ค.ศ.1964 จีนและสหภาพโซเวียตมีความขัดแย้งกัน เนื่องจากอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ตรงกัน จีนจึงหันมาทางอเมริกา ในช่วงประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และจิมมี คาร์เตอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างสองมหาอำนาจยังราบรื่น พอเข้าสู่ยุคประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เยือนไต้หวัน ทำให้จีนเกิดความไม่พอใจ และหลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็สลับไปมาทั้งดีและร้าย
ส่วนในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ดร.ประพีร์ บอกว่า มีการขยายการค้าในระบบดิจิทัลของอาลีบาบา ทรัมป์มองว่าเป็นการขยายอิทธิพลที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง จึงไม่ยอมให้สินค้าจีนเข้าอเมริกา โดยใช้กำแพงภาษีปิดกั้น พร้อมๆ กับนโยบายอินโด แปซิฟิก เน้นสงครามการค้ากับจีน แต่นโยบายนี้ไม่ได้ผล
"ถ้าเมื่อใดโจ ไบเดน เข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ เขาน่าจะใช้เรื่องอุดมคติของสหรัฐ ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย สิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน มากดดันจีน และเชื่อว่าจะมีผลต่อไทยและอาเซียน
ยุคไบเดน อเมริกาจะกลับมามีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง และอีกด้านเชื่อว่ปัญหาหลักๆ ทีี่ยังคงอยู่ มีทั้งเรื่องไต้หวัน สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ฮ่องกงเรื่องการได้เปรียบดุลการค้า จีนต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ ”
ถ้าอย่างนั้นสงครามการค้าทั้งสองมหาอำนาจจะส่งผลต่อกระทบต่ออาเซียนและไทยอย่างไร ดร.ประพีร์ มองว่า สี่ปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากนัก ทำให้ไทยเอนเอียงไปทางจีน
1
“นโยบายทางด้านต่างประเทศของ'ไบเดน'ตอนนี้ยังไม่ชัดเจน ถ้าใช้นโยบายความเป็นกลางอาจถูกกดดันในการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าใหม่ ดังนั้นไทยควรเตรียมรับมือเรื่องนี้ ทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม ไทยต้องสร้างสมดุลระหว่างจีนและอเมริกาให้ดี
อย่างน้อยๆ เรามีเวทีอาเซียน ไม่จำเป็นต้องให้มหาอำนาจมากำหนดทิศทาง ไทยควรพึ่งพาอาเซียน และที่ผ่านมานโยบายด้านต่างประเทศของไทยถือว่าเก่ง สามารถรอดพ้นจากอาณานิคมมาได้ เพราะเราใช้นโยบายลู่ลม ซึ่งปัจจุบันก็ยังใช้ได้”
ตั้งรับมหาอำนาจ
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อคิดว่า ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ จะบริหารประเทศยากหน่อย เพราะคะแนนเสียงชนะประธานาธิบดีทรัมป์ไม่มาก สะท้อนว่า ประชาชนจำนวนมากก็เห็นด้วยกับวิธีของประธานาธิบดีทรัมป์
1
“ประธานาธิบดีทรัมป์จะบริหารประเทศไปจนถึงวันที่ 20 มกราคมปีหน้า อาจดำเนินนโยบายบางอย่างที่ขัดต่อการบริหารงานของไบเดนเพื่อไม่ให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น ไบเดนคงจัดการปัญหาระยะสั้นภายในประเทศก่อน ทั้งปัญหาเศรษฐกิจ โควิด โลกร้อน สีผิว ปัญหาสังคม ระยะยาวคงเป็นเรื่องสงครามเทคโนโลยี สหรัฐอาจจะกลับมาอยู่ในข้อตกลง CPTPP(ข้อตกลงความครอบคลุมและความก้าวหน้าเพื่อหุ้นส่วนทางการค้าภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก)”
นอกจากนี้ ดร.อาร์ม ยังบอกว่า ช่วง 20 ปียุคโลกาภิวัตน์ ผลพวงจากการพัฒนาการสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง และเทคโนโลยีสารสนเทศ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือ คนจนของโลก (จีน) ทำงานผลิตสินค้าในโรงงาน และคนรวยในอเมริกาได้ประโยชน์จากต้นทุนการผลิตสินค้าที่ถูกมากในจีน ส่วนคนที่ไม่ได้ประโยชน์คือ ชนชั้นกลางในอเมริกา
"รัฐบาลจีนจึงไม่พอใจที่รับจ้างผลิตสินค้าราคาถูก พวกเขาคิดว่า ต้องมีเทคโนโลยีพัฒนาเพื่อยกระดับจีน ขณะที่อเมริกาได้กำไรจากการผูกขาดเทคโนโลยี แต่จีนเป็นผู้ผลิตที่ได้เงินน้อยมากในการค้าโลก จึงเกิดความขัดแย้งกัน ต่อไปเทคโนโลยีจะมีนัยยะเรื่องความมั่นคงด้วย และจีนกำลังก้าวเป็นผู้นำเทคโนโลยี ซึ่งหมายถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วย"
1
ถ้าถึงตอนนั้น ไทยควรตั้งรับอย่างอย่างไร ดร.อาร์ม บอกว่า ใช้การเจรจาต่อรองกับจีนและสหรัฐมากขึ้น โดยมีจุดยืนในระดับภูมิภาคอาเซียน เตรียมพร้อมเรื่องต่างประเทศให้มากกว่าเดิม
นโยบายกับเทคโนโลยี
“ยุทธศาสตร์เอาชนะความยากจนของจีน ทำให้ประชาชนกว่า 55 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับประชากรกว่า 1300 ล้านคน เพราะแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13-14 ของจีนถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ยังมีปัญหาเรื่องของความเหลื่อมล้ำและการระบาดของไวรัสโควิด” ผศ.ดร.หลี่ เหริน เหลียง อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวและว่า
แผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 มีเป้าหมายนำประเทศไปสู่ความทันสมัยภายใต้ระบอบสังคมนิยม โดยเน้นเสถียรภาพในประเทศ และภายนอกต้องมีสันติภาพ
เป้าหมายในการพัฒนาของจีนในปีค.ศ. 2035 จะต้องเป็นประเทศที่มีความทันสมัยภายใต้ระบอบสังคมนิยมและวัฒนธรรมอันงดงาม ซึ่งในช่วง 5 ปีข้างหน้า จะมีการพัฒนาแบบวัฏจักรคู่ ทั้งในรูปแบบนอกประเทศและในประเทศ
“ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พูดตลอด เรื่องเน้นการพัฒนาในประเทศและการบูรณาการระหว่างประเทศ ลดการพึ่งพาต่างประเทศ เน้นการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยขณะนี้ชนชั้นกลางในจีนที่มีมากขึ้นสามารถรับมือกับสถานการณ์ภายนอกได้แล้ว”
เหตุใดจีนถึงพัฒนาอย่างรวดเร็ว เรื่องนี้ ผศ.ดร.หลี่ บอกว่า ช่วง 40 ปีที่จีนเปิดประเทศและปฎิรูปเรื่องต่างๆ รัฐบาลมีความเชื่อมั่นในเส้นทางที่วางนโยบายไว้ โดยใช้แนวคิดว่า เปิดประเทศ เปิดการลงทุน ส่งเสริมสินค้าจีน
"จีนเรียนรู้การผลิตสินค้าโดยใช้เทคโนโลยี และมีการส่งเสริมการลงทุนในจีนมากขึ้น รวมถึงลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งสงครามการค้าเป็นแค่เสี้ยวหนึ่ง แต่จีนจะเน้นศักยภาพของคนในประเทศเพื่อพัฒนาประเทศ"
โฆษณา