29 พ.ย. 2020 เวลา 11:49 • การศึกษา
เสียภาษีรูปแบบไหน คุ้มกว่ากัน
นิติบุคคล VS บุคคลธรรมดา
1
พอใกล้สิ้นปี หลายคนก็อาจจะเริ่มกระตือรือร้นในการหาวิธีการลดภาษี และอาจจะมีอีกหลายคนที่อาจจะกำลังวางแผนที่จะเข้าสู่ระบบนิติบุคคล แต่ก็ยังสงสัยว่า ระหว่างนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา แบบไหนจะเสียภาษีน้อยกว่ากัน และคุ้มค่ากว่ากัน
ในการที่จะเข้าสู่ระบบนิติบุคคลนั้น โดยปกติแล้วก็จะมีรายได้อยู่ที่ 1.8 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี ซึ่งเป็นระดับรายได้ที่ทางกรมสรรพากรกำหนดให้ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นปัญหาให้ผู้ประกอบการต้องครุ่นคิดและตัดสินใจว่าจะดำเนินการไปในแนวทางไหนดี จึงจะคุ้มค่าที่สุด วันนี้เราจะชวนมาคำนวณและพิจารณาไปพร้อมกันเลยนะคะ
⛳ สมมุติ หากท่านมีรายได้จำนวน 2 ล้านบาท และไปปรึกษากับนักบัญชี ว่าควรจะเข้ารูปแบบไหนดีกว่ากัน ท่านอาจจะได้คำตอบว่า เข้าระบบนิติบุคคลย่อมดีกว่าอยู่แล้ว เพราะระบบนิติบุคคล ถึงแม้จะมีอัตราภาษีทั่วไปอยู่ที่ 20% ก็ตาม แต่กรณีที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อยหรือที่เรียกว่า SME นั้น จะเสียภาษีในอัตรา 15% เท่านั้น และยังได้ยกเว้นภาษีในส่วนของกำไร 3 แสนบาทแรกอีกด้วย ส่วนของบุคคลธรรมดานั้น มีเพดานภาษีถึง 35% ซึ่งต่างกันค่อนข้างมาก
2
เปรียบเทียบอัตราภาษีบุคคลธรรมดา และภาษีนิติบุคคล
แต่เดี๋ยวก่อน เพราะตัวเลขเหล่านี้อาจหลอกท่านได้ ทางที่ดีเราควรจะคำนวณดูเท่านั้นถึงจะรู้ว่า แบบไหนกันแน่ที่ประหยัดกว่ากัน
1
งั้นเรามาลองคำนวณและเปรียบเทียบดูด้วยกันเลยนะคะ ในที่นี้จะยกตัวอย่างมาให้เห็นตัวเลขชัดๆ เป็น 3 กรณี คือมีกำไรที่ 1 ล้าน 2 ล้าน และ 3 ล้าน ซึ่งเป็นช่วงรายได้หัวเลี้ยวหัวต่อในการที่จะต้องเข้าสู่ระบบนิติบุคคลนั่นเองค่ะ
1
จากภาพการคำนวณตัวเลขทั้ง 3 กรณีแล้ว จะเห็นได้ว่า
ถ้ามีผลกำไรที่ 1 -2 ล้านบาท แบบบุคคลธรรมดา จะประหยัดภาษีกว่า และถึงแม้รูปแบบนิติบุคคลจะเสียภาษีที่อัตรา 15% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าก็จริง แต่กำไรที่เหลือนั้น ยังไม่สามารถนำผลกำไรนั้นออกมาใช้จริงได้ จนกว่าคุณจะแบ่งกำไรนั้นออกมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งเงินได้จากเงินปันผลตรงนี้ก็ต้องเสียภาษีเงินปันผลอีก 10% และเมื่อหักภาษีเงินปันผลแล้ว ทำให้เงินที่เหลือจริงๆ ที่สามารถนำไปใช้ได้สุทธิ น้อยกว่า การเสียภาษีในรูปแบบของบุคคลธรรมดานั่นเองค่ะ
และถ้ามีกำไรที่ 3 ล้านบาทขึ้นไป ในรูปแบบนิติบุคคลจะเริ่มตีตื้นกลับมาเป็นประหยัดกว่ารูปแบบบุคคลธรรมดา ด้วยจำนวนเงินที่ไม่มากเท่าไรนัก อันนี้ก็แล้วแต่คุณผู้อ่านจะพิจารณาตัดสินใจนะคะ
ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมอีกนิด คือ ถ้าเข้าระบบนิติบุคคล ก็จะมีค่าใช้เกี่ยวกับค่าจัดทำบัญชี ค่าปิดบัญชีสิ้นปี และก็ค่าสอบบัญชีตามมาโดยปริยาย ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะเป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องดำเนินการจัดให้มีขึ้น และยังมีเรื่องที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารตามมาอีกค่อนข้างเยอะ ซึ่งหลายท่านอาจมองว่าเป็นภาระ แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องจัดทำ ดังนั้นก็ให้เป็นข้อสังเกตกันไว้อีกนิดหนึ่งค่ะ
พอทราบกันอย่างนี้แล้ว ผู้เขียนคิดว่าคงจะง่ายขึ้นในการตัดสินใจเลือกแบบที่ตัวเองคิดว่าคุ้มค่าที่สุดได้แล้วนะคะ
💦.....เป็นอย่างไรกันบ้างคะ หวังว่าหลังจากอ่านบทความนี้แล้ว จะช่วยให้ท่านตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านในการวางแผนและบริหารจัดการภาษีของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นนะคะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามนะคะ 🙏🙏😘😘
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา