24 พ.ย. 2020 เวลา 04:15 • ปรัชญา
การตอบแทนบุญคุณที่แท้จริง
ขอบคุณภาพพุทธวจน เชียงราย
โดยนิสัยของคนไทย การเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามแก่ชราเป็นเรื่องที่เราทำกันอยู่แล้ว เป็นวัฒนธรรมที่งดงามที่สั่งสอนกันมาแต่โบราณ
ทำให้คนไทยเป็นคนกตัญญูกตเวทีโดยประเพณีนิยม เป็นเรื่องที่คนในสังคมทำกันเป็นเรื่องปกติ
หากแต่การระลึกถึงพระคุณของพ่อแม่นั้น ควรเป็นสิ่งที่มีประจำใจลูกทุกคนมากกว่าจะเป็นแค่การทำตามคำโบราณ หรือทำตามคนอื่นเขาทำกันเท่านั้น
การตอบแทนเลี้ยงดูพ่อแม่เป็นเรื่องที่ต้องใช้ความตั้งใจจริง เพราะต่างคนก็ต่างมีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบ ทั้งตำแหน่งในหน้าที่การงาน ทั้งต้องดูแลคนในครอบครัว ลูก สามี ภรรยา
สมัยก่อนครอบครัวไทยเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่กันตั้งแต่รุ่นทวดไปจนถึงรุ่นลูก หลาน เหลน หลายรุ่นอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน จึงสามารถดูแลซึ่งกันและกันได้ง่าย
แต่ปัจจุบันกลายเป็นอยู่แบบตัวใครตัวมัน เป็นการแยกครอบครัวออกมาอยู่ต่างหาก เป็นครอบครัวเดี่ยว เหลือเพียงพ่อ แม่ ลูกเท่านั้น
การที่คนแก่ถูกทิ้งให้อยู่อย่างยากลำบากโดยลำพังจึงเริ่มจะกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยไปแล้ว
สมัยก่อนคนเราไม่ต้องคิดมากว่าตอนแก่จะอยู่อย่างไร เพราะอยู่ร่วมกันหลายรุ่นในบ้าน ก็จะคอยดูแลกันต่อๆมาแบบรุ่นต่อรุ่น
แต่ตอนนี้คงต้องมีการคิดวางแผนล่วงหน้าให้รอบคอบแล้ว ไม่งั้นอาจต้องใช้ชีวิตอย่างทรมานในยามที่สังขารล่วงโรยแน่ๆ
การที่พ่อแม่เลี้ยงดูเรามา เราก็ควรตอบแทนท่าน ด้วยการเลี้ยงดูให้อยู่สุขสบาย ในยามที่ท่านช่วยเหลือตัวเองได้ลำบาก
แต่การเลี้ยงดูให้ท่านอยู่สุขสบายยังไม่ถือเป็นการตอบแทนบุญคุณอย่างแท้จริงเมื่อเทียบกับพระคุณที่พ่อแม่ได้กระทำแก่เรา ยังถือว่าเท่านี้เล็กน้อยมาก
แล้วต้องทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าการตอบแทนบุญคุณที่แท้จริง
ขอบคุณภาพพุทธวจน เชียงราย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่ายแก่ท่านทั้ง๒ ท่านทั้ง๒ คือใคร คือมารดา๑ บิดา๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าอีกข้างหนึ่ง เขามีอายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติต่อท่านทั้งสองด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ การดัด และท่านทั้งสองนั้นพึงถ่ายปัสสาวะ อุจจาระบนบ่าทั้งสองของเขานั่นแหละ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย
เป็นพุทธวจน ที่คัดมาจากพระไตรปิฎก ที่แสดงให้เห็นว่าการจะตอบแทนบุญคุณพ่อแม่นั้นต้องใช้ความพยายามมาก การดูแลแบบปกติยังไม่ใช่การตอบแทนที่แท้จริง คือทดแทนได้ไม่หมด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่งบุตรพึงสถาปนามารดาบิดาในราชสมบัติอันเป็นอิสราธิปัตย์ในแผ่นดินใหญ่อันมีรัตนะ๗ประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่าอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย
ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะมารดาบิดามีอุปการะมาก บำรุงเลี้ยง แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย
ส่วนบุตรคนใดยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา ให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธาสัมปทา(ตั้งมั่นในศรัทธาที่ถูกต้อง)
ยังมารดาบิดาผู้ทุศีลให้สมาทานตั้งมั่นในศีลสัมปทา(ข้อปฏิบัติอันถูกต้อง)
ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่ให้สมาทานตั้งมั่นในจาคสัมปทา(การสละ/การให้อันถูกต้อง)
ยังมารดาบิดาทรามปัญญาให้สมาทานตั้งมั่นในปัญญาสัมปทา(ความรู้เห็นอันประเสริฐ)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล การกระทำอย่างนั้นย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้ว และทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดา ฯ.
พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่๒๐ หน้าที่๕๘ (พุทธวจน-เชียงราย)
ธรรมะสวัสดี
โฆษณา