26 พ.ย. 2020 เวลา 10:00 • ยานยนต์
พร้อมหรือยังถ้าตั้งเป้าไทยเป็นฮับรถยนต์ไฟฟ้า?
จากพื้นฐานความเป็นจริงทั้งนโยบายรัฐและเอกชน
2
เรียกว่าสร้างความฮือฮาให้ตลาดรถยนต์บ้านเราได้อีกครั้ง หลัง ฮอนด้า ออโตโมบิล ได้ทำการเปิดตัว ฮอนด้า ซิตี้ 2 รุ่นใหม่ ได้แก่ รุ่นแฮทช์แบ็ก 5 ประตูที่เปิดตัวครั้งแรกของโลก เน้นจุดเด่นความอเนกประสงค์ ส่วนอีกรุ่นที่ทำเอาแฟนคลับวงการยานยนต์ได้ตื่นเต้น ก็ถูกจบจ้องไปที่ "ซิตี้ อีเอชอีวี" รุ่นแรกที่เป็นฟูลไฮบริด
2
โดย ฮอนด้า ซิตี้ อี:เอชอีวี ใหม่ (e:HEV) จัดเป็นยนตรกรรม ฟูลไฮบริด รุ่นแรกของเซ็กเมนต์ซิตี้คาร์ในประเทศไทยเลยทีเดียว เพราะใช้เทคโนโลยีการขับเคลื่อนแบบ สปอร์ต ไฮบริด ไอ-เอ็มเอ็มดี (Sport Hybrid i-MMD) ซึ่งจะเป็นการทำงานผสานกันของมอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 2 ตัว กับเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร แอทคินสัน ไซเคิล (Atkinson Cycle) DOHC i-VTEC 4 สูบ 16 วาล์ว พร้อมด้วยระบบเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่องไฟฟ้า (E-CVT)
เมื่อเป็นไฮบริด หรือรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว สิ่งที่หลายคนจับตาก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง "แบตเตอรี่" ซึ่งยังคงเป็นชนิดลิเธียม - ไอออน ระบบฟูลไฮบริด แรงบิดสูงสุด 253 นิวตัน-เมตร ที่ 0 - 3,000 รอบต่อนาที ทำให้ช่วยประหยัดน้ำมันได้ราว 27.8 กิโลเมตร/ลิตร อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 85 กรัม/กิโลเมตร
การขยับตัวครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นแนวโน้มของอุตสากรรมยานยนต์ ที่ตอบรับกับเทรนด์รถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น แม้ว่าจะไม่ได้ออกมาเป็น “อีวี” แท้ๆ ทั้งหมด แต่การเริ่มต้นด้วยไฮบริดก็ถือว่าสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้ใช้งานได้ทดลอง ปรับตัวให้ชินกับรถยนต์กลุ่มนี้มากขึ้น ถือเป็นแนวทางที่ค่อยเป็นค่อยไปท่ามกลางตลาดยานยนต์ที่แข่งขันกันดุเดือด
กระแสรถยนต์ไฟฟ้าในระดับโลกค่อนข้างมาแรงอย่างมาก โดยเฉพาะผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดอย่าง Tesla ที่ถือว่าเป็นเจ้าตลาดในรถกลุ่มนี้ ซึ่งพร้อมลงทุนในหลายๆ ประเทศทั่วโลกเพื่อสร้างอาณาจักรรถยนต์อีวี ชิงส่วนแบ่งการตลาดจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า ธุรกิจยานยนต์แห่งยุคถัดไปอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะสามารถเป็นฮับของอุตสาหกรรมผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเหมือนที่เคยเป็นฮับผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาบแบบทุกวันนี้ได้หรือไม่?
4
เล็งเป้าโฟกัสไปที่นโยบายของภาครัฐถึงแผนการที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักของอาเซียนและของโลก หากดูตามแผนการที่วางไว้ รัฐบาลต้องการเพิ่มสัดส่วนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้กลายเป็น 50% ในปี 2573 ก่อนจะทยอยเพิ่มสัดส่วนให้ได้ 85% ช่วงปี 2578 และต้องการให้กลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 100% ภายในปี 2583 หรือในอีก 20 ปีข้างหน้า
3
เมื่อเจาะลงลึกเข้าไปดูในแผนที่จะทำให้ได้ตามเป้าหมายนั้นว่ามีอะไรบ้างจะพบว่า การกำหนัดยุทธศาสตร์ได้ถูกวางเอาไว้ 7 ด้าน ซึ่งจะยกบางด้านมาให้ทราบกัน เช่น
1. โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ จำนวน 100,000 คัน เปิดให้เอารถเก่า 12 ปีขึ้นไป มาแลกกับรถใหม่ที่เป็นพวก ECO Car หรือ XEV รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม HEV / PHEV และ BEV ให้แรงจูงใจเพิ่มคันละไม่เกิน 100,000 บาท
1
2. แผนโครงการสนับสนุนการผลิตและใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า รูปแบบ SWAP ในประเทศ ซึ่งจะแก้ปัญหาสำคัญของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ราคาแบตเตอรี่อยู่ในระดับสูง ทำให้ราคารถแพงแล้วยังติดปัญหาความเร็วในการชาร์จแบตเตอรี่ ที่ใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง แนวคิดของวิธี Battery Swapping หรือ การแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ การสลับแบตเตอรี่ คือ การที่เราถอดเอาแบตเตอรี่ที่พลังงานหมดแล้วออกจากรถ แล้วใส่แบตเตอรี่ลูกใหม่ที่พลังงานเต็มเข้ามาแทน ส่วนแบตเตอรี่ลูกที่หมดพลังงาน ก็จะถูกนำไปชาร์จในสถานีจนแบตเตอรี่เต็ม แล้วเก็บไว้รอเปลี่ยนให้กับรถคันต่อๆ ไปจึงเกิดขึ้น โดยหวังเพิ่มการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้าได้ 100,000 คันต่อปี
แต่การจะให้ประชาชนทั่วไปมาใช้เลยทันทีก็อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับตลาด การเริ่มต้นจึงอาจเห็นกลุ่มพี่วิน จักรยานยนต์รับจ้างนำร่องไปก่อน รวมทั้งส่งเสริมกิจการให้บริการเช่าแบตเตอรี่ และสถานีอัดประจุแบบ SWAP ซึ่งจะช่วยให้ราคาจักรยานยนต์ถูกลงกว่า 50%
1
3. โครงการจัดหารถโดยสารของ ขสมก. ซึ่งอยู่ในระหว่างการจัดการจัดทำแผนฟื้นฟู เราจึงอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ได้ยกเซ็ต เพราะรถเมล์ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ก็ถึงแก่เวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะรถเมล์ร้อนครีมแดง ที่อายุปัจจุบันก็ปาเข้าไปจนครบ 30 ปีแล้ว เก่าพอๆ กับโชเฟอร์ที่ขับมันเลยทีเดียว ซึ่งรูปแบบการจัดหาก็คาดว่าอาจเป็นการเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้ามาให้บริการเพื่อลดต้นทุนการซ่อมบำรุง
แต่เมื่อจะใช้ทั้งทีก็มีการกำหนดให้ดำเนินการเช่าจากผู้ผลิตในประเทศก่อน พร้อมให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบรถเมล์ไฟฟ้า
4. โครงการส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยสนับสนุนให้หน่วยงานราชการเช่าหรือเช่าซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ทุกภาคส่วนในการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า โดยปรับปรุงคุณสมบัติในบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ และกำหนดให้ส่วนราชการจัดพื้นที่สำหรับจอดรถยนต์ไฟฟ้า และสนับสนุนค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุ และกำหนดให้ราคากับความคุ้มค่าในการจัดซื้อหรือเช่ายานยนต์
หนึ่งสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นปัญหาที่ทำให้ยังไม่กล้าใช้รถอีวี เพราะไม่มีสถานีชาร์จ ในแผนนี้ก็มีโครงการสนับสนุนตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ด้วยการปรับปรุงกฎระเบียบการลงทุนสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า พร้อมเร่งวางโครงข่าย "Smart Grid" ที่จะรองรับสร้างสถานีอัดประจุทุกระยะ 70 กิโลเมตรทั่วประเทศ พร้อมกำหนดค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า อัตราคงที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย รวมถึงเตรียมความพร้อมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ สถานีชาร์จไฟและการบริหาร จัดการซากแบตเตอรี่และรถยนต์ที่หมดอายุ
ข้ามฟากไปที่ผู้ให้บริการปั๊มน้ำมัน ที่มีผลโดยตรงต่อการชี้ทิศทางของตลาดรถยนต์ที่ใช้พลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่าง “ปตท.” ก็มีแผนพลังงานใหม่ที่กำหนดเป้าหมายการขยายธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับรถยนต์อีวี โดยจะร่วมมือพันธมิตรเพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ และจะลงทุนกับสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ได้จำนวน 100 แห่งภายในปี 2564
แม้จะยังไม่เห็นแอ็คชั่นใหญ่ๆ จากภาครัฐ แต่ทีท่าก็มีแนวโน้มจะมุ่งไป "อีวี" โดยมุมมองของภาคเอกชนที่สะท้อนถึงมาตรการเหล่านี้จากค่าย “เอ็มจี” ที่มองว่า รัฐควรพิจารณาเกณฑ์การให้ส่วนลดไปตามเทคโนโลยีของรถยนต์ด้วย เพื่อให้แตกต่างระหว่างรถยนต์ในแต่ละประเภท รถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ก็ควรจะต้องได้รับการส่งเสริมมากที่สุด เพราะหากยังนโยบายการส่งเสริมไม่ชัดเจนตลาดอาจสะดุดได้
1
โดยตัวผู้บริหารเอ็มจีเองก็เคยออกมาประกาศยืนยันว่า จะเดินหน้านำรถยนต์ไฟฟ้า 100% ออกสู่ตลาดประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า เอ็มจี อีพี เข้าสู่ตลาดอีก 1 รุ่น เหมือนกับปีที่ผ่านมาได้เปิดตัว เอ็มจี แซดเอส อีวี และเอสยูวี ปลั๊ก-อิน ไฮบริด อย่างเอ็มจี เอชเอส พีเอชอีวี เชื่อว่าปีนี้จะมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไม่น้อยกว่า 2,000 คัน จากปีก่อนที่มียอดขายอยู่ราว 1,200 คัน
ส่วนค่ายอื่นๆ ก็เริ่มมีการขยับตัวกันบ้างแล้ว แต่ล้วนรอดูท่าทีของภาครัฐที่จะออกมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจนว่า “เอาแน่”
แล้วคุณละมองประเทศไทยจะไปถึงศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกเกิดได้หรือไม่?
โฆษณา