26 พ.ย. 2020 เวลา 08:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รู้ไหม...‘ทุเรียน’ที่ดีที่สุดสำหรับคนจีนอยู่ที่ไหน?
2
เพราะระบบดิจิทัลที่เชื่อมโลกทั้งใบไว้ด้วยกัน อยู่ที่ว่าใครจะใช้สิ่งนี้เพื่ออะไร ถ้าเป็นเรื่องการค้าการลงทุน ความชาญฉลาดอาจอยู่ที่การให้ข้อมูล และนี่คือโอกาสทางการค้าที่ต้องเรียนรู้จากจีน
รู้ไหม...‘ทุเรียน’ที่ดีที่สุดสำหรับคนจีนอยู่ที่ไหน?
ลองนึกดูว่า ทำไม"จีน"ค้าขายทางออนไลน์ไปได้ทั่วโลก และส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการสร้างแพลตฟอร์มรองรับอย่างรอบด้าน ทั้งการโอนเงิน การส่งสินค้า และการทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก
เนื่องจากในยุคดิจิทัล ผู้บริโภคเดินเข้าไปซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าน้อยลง กลยุทธ์การค้าการลงทุนทางออนไลน์ จึงเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ต้องปรับตัว ยกตัวอย่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน บอกว่า คนจีนทั่วไปไม่ได้คิดว่า ทุเรียนที่ดีที่สุดอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ปราจีนบุรี ระยอง ฯลฯ หรือ อาหารทะเลที่ดีที่สุดอยู่ภาคใต้....
แล้วสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับพวกเขาอยู่ที่ไหน
ทุเรียนไทยที่ดีที่สุดต้องทำอย่างไร
3
“คุณรู้ไหมทุเรียนที่ดีที่สุดสำหรับคนจีนอยู่ที่ไหน” ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม นายกสมาคมดิจิทัลไทย โปรแกรมเมอร์ที่ทำงานกับอาลีบาบา กล่าว และสื่อมวลชนหลายสิบคนที่ร่วมอบรม "มองจีนยุคใหม่ ความท้าทายที่สื่อไทยควรรู้ ปีที่ 3 "(11-15 พฤศจิกายน 2563) พยายามตอบคำตอบ แต่ตอบไม่ถูกต้อง
1
ณัฐพร เฉลยว่า ทุเรียนที่ดีที่สุดสำหรับคนจีนอยู่ที่ภูเก็ต เพราะอะไรรู้ไหม
"เวลาคนภูเก็ตแกะทุเรียนขาย จะเรียงอย่างสวยงามแล้วห่อหุ้มด้วยพลาสติก มีต้นทุเรียนโชว์ให้เห็น รวมถึงมีคิวอาร์โค้ดที่สามารถสั่งทุเรียน ระบุวันเก็บทุเรียน วันที่ทุเรียนกินได้ และวันหมดอายุ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้คนจีนเข้าใจว่า นี่คือทุเรียนที่ดีที่สุดในประเทศไทย
ถ้าคนจีนคิดแบบนั้น ทำไมเราไม่ทำแบบนั้นทั้งประเทศ มีข้อมูลการขายทุเรียนเหมือนจังหวัดภูเก็ต ทำไมเวลาโปรโมทผลไม้ ต้องเดินสายประชาสัมพันธ์ให้เสียเงิน เราก็น่าจะทำแบบฟอร์มให้แม่ค้ากรอกข้อมูล ถ้าทำแบบง่ายๆ ก็แค่ปรินต์ข้อมูลออกมา แค่นี้ก็เปลี่ยนความคิดคนจีนได้แล้ว”
2
ปลาสดๆ ต้องแบบไหน
1
คนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม ไม่อาจรู้ได้เลยว่า ผลไม้ที่ดีที่สุดของเมืองไทยอยู่ในจังหวัดไหนของประเทศ ไม่ต่างจากอาหารทะเลที่ดีที่สุด
“ในสายตาคนจีน อาหารทะเลดีที่สุดอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพราะนักท่องเที่ยวจีนชอบกินปลาสดๆ ต้องโชว์ให้เห็นในตู้กระจกหน้าร้าน ถ้าสั่งให้ทำอาหารเมื่อใดค่อยหยิบออกมาจากตู้” ณัฐพร เล่าเพื่อให้เข้าใจวัฒนธรรมการกินอยู่แบบจีนๆ เพราะทุกสิ่งที่นักท่องเที่ยวเห็นจะถูกนำไปโพสต์ลงออนไลน์ กลายเป็นข้อมูลที่รู้กันทั่วโลก ไม่ต่างจากคนไทยเวลาไปเที่ยวแล้วเช็คอิน โพสต์ว่า แหล่งอาหารอร่อยอยู่ที่ไหน
2
โอกาสทางการค้าเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ณัฐพร พยายามชี้ให้เห็นว่า ถ้ามีข้อมูลสินค้าให้ผู้บริโภครู้ว่า ซื้อที่ไหน กินได้เมื่อไหร่ ก็จะทำให้พวกเขาตัดสินใจง่ายขึ้น ส่วนอีกปัญหาทางการค้า คือ คนไทยไม่มี Know-how ในการทำธุรกิจส่งออก
“เท่าที่ผมเจอปัญหา จีนเคยรับเงาะกระป๋องไทยไปขายในอเมริกา เวลาขนส่งจึงต้องโยนเงาะกระป๋อง ทำให้กระป๋องสังกะสีบุ ลูกค้าคนจีนจึงบอกให้คนไทยทำกระป๋องบรรจุขนาดเล็กลง แต่เจ้าของธุรกิจบอกว่า ทำไม่ได้เป็นแบรนด์ดิ้ง คนจีนจึงมาตั้งโรงงานทำสินค้าและส่งออกเอง เพิ่มมูลค่าสินค้าได้อีก และกระป๋องยังนำมารีไซเคิลได้ด้วย จากนั้นเปลี่ยนหีบห่อจากสังกะสีหนักๆ เป็นกล่องนม มีพื้นที่บรรจุเงาะได้มากขึ้น เวลาขนส่งแล้วถูกกระแทกกล่องก็ไม่บุ ค่าขนส่งน้ำหนักก็เบาลง เพราะคนไทยไม่มี Know-how การทำธุรกิจส่งออกหรือแปรรูป แม้จะทำได้ดี แต่ยังดีไม่ถึงที่สุด”
1
ตัวอย่างร้านขายของชำในจีน
นอกจากช่องโหว่งทางการค้าที่คนไทยไม่ค่อยคิดหรือคิดน้อย ณัฐพร ยังเล่าถึง ร้านขายของชำในจีนที่ปัจจุบันพัฒนาไปไกล เนื่องจากเชื่อมโยงด้วยระบบดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าทั้งผู้ผลิต และผู้จำหน่าย รวมถึงทำให้ผู้บริโภคสะดวกมากขึ้น
“ทำไมร้านแฟมิลีมาร์ชหรือเซเว่นอีเลฟเว่นไม่เป็นที่นิยมในจีน เพราะร้านขายของชำในเครือข่ายอาลีบาบา สามารถให้เช่าเครื่องสแกนบาร์โค้ดเครื่องหนึ่งและทำระบบให้ ราคาจึงสินค้าถูกกว่า มีสินค้ามากกว่า นอกจากนี้ยังมีการคืนแต้มที่ดีกว่า
1
ถ้าผู้บริโภคเข้าไปซื้อสินค้า แล้วไม่มีสินค้าในร้าน ก็สามารถจ่ายเงินแล้วเดินไปหยิบร้านข้างๆ ที่ใช้ระบบเดียวกัน โดยใช้แอพฯนำทางไปร้านนั้น ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นสู้ไม่ได้ เพราะทำระบบคลังสินค้าไว้ที่เดียวส่งไปทั่วประเทศ
2
แต่แนวคิดร้านขายของชำในเครืออาลีบาบา หรือที่เรียกว่าอาลีป็อป จะยืมสต็อกสินค้า ตัดสต็อกกันได้ ถ้าใครเอาระบบนี้มาใช้ในเมืองไทยก็จะเป็นต่อทางการค้า ซึ่งเครือข่ายอาลีบาบาทำมาตั้งแต่ปีคศ. 2010 ”
ส่วนอีกเรื่องที่ทำให้สินค้าออนไลน์จีนขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก คือ ค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่ถูกกว่า สืบเนื่องมาจากข้อตกลงที่ไทยจีนและสหประชาชาติทำไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2417 โดยประเทศไทยเซ็นสัญญาเป็นประเทศที่พัฒนาก่อน เมื่อปี พ.ศ. 2512 เนื่องจากตอนนั้นไทยพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน มีโทรศัพท์ ถนนหนทาง ก่อนจีน ทำให้จีนยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา ปัจจุบันไทยจึงต้องเสียภาษีมากกว่าจีน
1
“ข้อตกลงนั้น ทำให้ค่าขนส่งจากจีนมาไทยถูกกว่า เนื่องจากในสัญญาจีนเป็นประเทศด้อยพัฒนา ยกตัวอย่าง ถ้าค่าจัดส่งสินค้าจากจีนมาไทย 20 บาท การส่งสินค้าจากไทยไปจีนต้องเสียค่าขนส่ง 200 บาท
ถ้าไทยไม่อยากรับผิดชอบค่าขนส่งแบบนี้ ไทยต้องมีผู้นำแบบอเมริกา คือ ไปถอนตัวออกจากสหประชาชาติ จากประเทศกำลังพัฒนาเป็นประเทศยังไม่พัฒนา เราก็ไม่ต้องรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เพราะเราเสียเปรียบ แต่เรื่องนี้แก้ไขไม่ได้แล้ว”
โฆษณา