27 พ.ย. 2020 เวลา 03:50 • ธุรกิจ
Crisis Management ทักษะสำคัญ ของผู้บริหารยุคใหม่
“พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส” เป็นคำพูดติดปากของใครหลายคน
แต่ก่อนที่จะทำแบบนั้นได้ เราต้องเข้าใจกับ “ภาวะวิกฤติ” ให้ดีเสียก่อน
ภาวะวิกฤติ (Crisis) อธิบายง่ายๆ ก็คือ เหตุการณ์นอกเหนือการควบคุม ที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อบริษัท ไม่ว่าจะต่อชื่อเสียง หรือต่อการดำเนินงานของบริษัท
วิกฤติเหล่านี้ อาจมาในลักษณะที่เรารู้ล่วงหน้าว่าจะเกิด แต่ไม่รู้เวลาที่จะเกิดขึ้นชัดเจน อย่างเช่น เรารู้ว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทุกๆ 10-20 ปี แต่ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดวันที่เท่าไร เดือนไหน
ในกรณีนี้ อย่างน้อยที่สุดเราสามารถจะเตรียมการกลยุทธ์เอาไว้เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้บ้างในเบื้องต้น
แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นภาวะวิกฤติที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ และไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด กรณีนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย และต้องอาศัยความสามารถในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างรอบคอบและรวดเร็ว
แล้วเราจะรับมือกับวิกฤติที่เราไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างไร?
ลองมาดูเทคนิคการรับมือกับภาวะวิกฤติที่น่าสนใจกัน
1. วางแผนการแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ ไม่ด่วนตัดสินใจเกินไป และไม่ช้าเกินไป
“แผน” ในที่นี้คือ การกำหนดเป้าหมาย วิธีการ และผลลัพธ์ที่คาดหวังจากการแก้ปัญหาให้ชัดเจน
และการวางแผนนั้น ไม่ควรใช้เวลานานเกินไปเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นอาจลุกลาม แต่ก็ไม่ด่วนตัดสินใจเกินไปจนเกิดความผิดพลาดในการตัดสินใจ
2. กำหนดกลยุทธ์ในการสื่อสารที่ชัดเจน
เลือกใช้ช่องทางการสื่อสาร และการตอบโต้ให้ดี
สิ่งที่ควรระวังคือ การสื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เนื่องจากเราไม่สามารถทำให้ความคิดเห็นของแต่ละคนตรงกันได้ เพราะฉะนั้นเรื่องสำคัญคือเรียบเรียงถ้อยคำพูดที่ถูกเรียบเรียงเป็นอย่างดีในการสื่อสาร เพื่อให้แต่ละฝ่ายได้รับผลกระทบจากคำพูดน้อยที่สุด
3.การอัปเดตสถานการณ์ ให้พนักงานในองค์กรรับรู้ อย่างทั่วถึง
ผู้บริหารควรแจ้งให้พนักงานในองค์กรทราบถึงกระบวนการที่องค์กรกำลังใช้แก้ปัญหา และคอยอัปเดตสถานการณ์อยู่เสมอ เพื่อให้ทุกคนเกิดความเข้าใจ และไม่ตระหนกเมื่อองค์กรกำลังเผชิญกับวิกฤติ
4. การจัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจ เพื่อรับมือกับวิกฤติ
หาทีมงานมาคอยดูแลและรับมือสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้พนักงานทุกคนต้องคอยกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้นจนไม่ได้ทำงานในส่วนของตัวเองอย่างเต็มที่
ที่สำคัญคือ ทีมงานเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมา ต้องมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่มั่นคงและมีประสบการณ์เพียงพอจะรับมือกับวิกฤติที่เกิดขึ้นได้
ปิดท้ายด้วย สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือ “สติ”
1
หากเราจมอยู่กับภาวะตื่นตระหนก หรือ Panic มากจนเกินไป จะยิ่งทำให้ผลกระทบทางลบยิ่งลุกลามออกไปรวดเร็วและกว้างมากขึ้น
ฉะนั้น เมื่อเจอกับภาวะวิกฤติ ตั้งสติให้ดี แล้ววางแผนรับมือให้รอบคอบ
ก็คงช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับเรื่องไม่คาดฝัน และผ่านมันไปได้ในที่สุด..
โฆษณา