27 พ.ย. 2020 เวลา 07:06 • การศึกษา
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าคนญี่ปุ่นมีลักษณะขัดแย้งในตัวเองหลายประการ เช่น ในด้านระเบียบวินัย แต่ละครัวเรือนจะมีวินัยในการทิ้งขยะอย่างมาก ไม่เพียงแต่ทิ้งขยะในสถานที่ที่กำหนดให้เท่านั้น แต่จะแยกประเภทของขยะที่เผาได้และเผาไม่ได้ออกจากกันด้วย
นอกจากนั้นยังทิ้งขยะตามเวลาที่กำหนด เช่น ขยะที่เผาได้ทิ้งในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ก่อนเวลา 9.00 น. ขยะที่เผาไม่ได้ทิ้งในวันเสาร์ก่อนเวลา 10.00 น. ซึ่งทุกครัวเรือนล้วนปฏิบัติตามกฎระเบียบเป็นอย่างดี ผู้คนจะบรรจุขยะลงในถุงขยะตามที่เทศบาลกำหนด แล้วมัดปากถุงให้เรียบร้อย วางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบรอให้รถขยะมาขนไป ดูแล้วน่าชื่นชมว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนมีระเบียบวินัยจริง ๆ
1
แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องน่าแปลกที่เรากลับพบว่า บนเกาะกลางถนนไฮเวย์ของญี่ปุ่น กลับมีเศษขยะทั้งกระป๋องน้ำอัดลม ถุงพลาสติกถูกขว้างทิ้งเกลื่อนกลาดไปหมด และมีจำนวนมากจนน่าตกใจ ทำให้ไม่แน่ใจว่าคนญี่ปุ่นมีระเบียบวินัยจริงหรือเปล่า ?
อีกเรื่องคือ ความซื่อสัตย์ เราสามารถก้าวขึ้นรถแท็กซี่ที่ญี่ปุ่นได้อย่างวางใจโดยไม่ต้องกลัวว่าจะมีการโกงมิเตอร์ ซื้อของได้อย่างสบายใจไม่ต้องกลัวการโกงตาชั่ง ทุกอย่างเป็นไปอย่างเที่ยงตรง
จากการสำรวจกลับพบว่าคนญี่ปุ่นกว่าครึ่งประเทศ โกงตั๋วรถไฟ และโกงเป็นประจำ บริษัทก่อสร้างเกือบทุกแห่งในญี่ปุ่น มีการให้สินบนเจ้าหน้าที่ในการประมูลราคา จึงยากที่จะสรุปได้ว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตจริงหรือ
ภาพของคนญี่ปุ่น จึงเป็นภาพที่ดูคลุมเครือ ไม่ชัดเจนสำหรับคนต่างชาติ เมื่อพิจารณาตามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น
การทำความเข้าใจในเรื่องนี้ เราต้องทราบก่อนว่ามีเหตุปัจจัยอะไรบ้าง ที่มีผลต่อพฤติกรรมทั้งด้านบวกและด้านลบของคนเรา เหตุปัจจัยดังกล่าวมีอยู่ 3 ประการคือ
1. ศีลธรรมประจำตน
คือความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่มีอยู่ในใจเป็นมโนธรรมประจำใจ ว่าสิ่งนี้ดีควรทำ สิ่งนี้ไม่ดีไม่ควรทำ ละอายใจ กลัวบาป จึงไม่ยอมทำความชั่วแม้ไม่มีคนเห็นก็ตาม แต่ตั้งใจทำความดีเพราะรักบุญ อยากได้บุญ ปัจจัยหลักที่น้อมนำใจคนให้เกิดมีศีลธรรมประจำตน คือ ความศรัทธาในศาสนา
2. ครอบครัว
ความกตัญญูต่อพ่อแม่ ความรักพ่อแม่ อยากให้ท่านชื่นใจ ดีใจ จึงตั้งใจทำดี ขยันเรียน ขยันทำงาน กลัวท่านเสียใจกลัวเสียชื่อเสียงวงศ์ตระกูล จึงไม่ยอมทำชั่ว มีครอบครัวเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งใจ
3. ค่านิยมของสังคม
ค่านิยมของผู้คนในสังคมหนึ่ง ๆ เป็นกรอบควบคุมความประพฤติของคนในสังคมนั้น ๆ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีการอยู่รวมเป็นหมู่ ต้องการการยอมรับจากผู้อื่น ผู้ที่ปฏิบัติตัวตรงตามค่านิยมของสังคมก็จะได้รับการยกย่องชื่นชม ส่วนผู้ที่ปฏิบัติตัวแตกต่างจากค่านิยมของสังคมก็จะถูกสังคมลงโทษ ทั้งโดยทางตรง เช่น การลงโทษตามกฎหมาย หรือโดยทางอ้อม เช่น สังคมไม่ยอมรับถูกประณามหยามเหยียด เป็นต้น
ปัจจัยแต่ละอย่างนี้จะมีน้ำหนักมากน้อยต่างกันไปในสังคมแต่ละแห่ง ในญี่ปุ่นนั้นปัจจัยประการแรกคือ ศีลธรรมประจำตน กล่าวได้ว่าอ่อนแรงลงไปมาก ทั้งที่แต่เดิมนั้นประเทศญี่ปุ่นมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาหลัก มีการศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาและนำไปประพฤติปฏิบัติโดยทั่วไป
แต่เมื่อถึงสมัยปฏิรูปเมจิประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทหารขึ้นมามีบทบาทอย่างมากในการปกครองประเทศ และต้องการเชิดชูพระเจ้าจักรพรรดิให้เป็นศูนย์กลางของความจงรักภักดีและความรักชาติ จึงมีการประกาศให้ศาสนาชินโตซึ่งถือว่าพระเจ้าจักรพรรดิเป็นเทพเจ้าให้เป็นศาสนาประจำชาติ
มีการทำลายพระพุทธศาสนาครั้งใหญ่โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในวัดถูกสั่งให้ยกเลิกการเรียนการสอน วัดหลายแห่งถูกยึด ห้ามเผยแผ่คำสอนของพระพุทธศาสนาในโรงเรียน เมื่อคนญี่ปุ่นหันมานับถือศาสนาชินโต
ซึ่งเป็นศาสนาที่ไม่ได้เน้นคำสอนเรื่องบุญบาป แต่เน้นเรื่องของพิธีกรรมเป็นส่วนใหญ่คล้าย ๆ ลัทธินับถือวิญญาณบรรพบุรุษและนับถือผีสางเทวดา คนญี่ปุ่นจึงค่อย ๆ ห่างเหินจากความเชื่อเรื่องบุญบาปไปทีละน้อย สภาพเช่นนี้ดำเนินไปเกือบร้อยปี
ต่อมาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้ศาสนาชินโตจะถูกยกเลิกจากการเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ไม่ได้มีการนำวิชาศีลธรรมกลับเข้ามาไว้ในหลักสูตรการศึกษาของคนญี่ปุ่นอีกเลย ทำให้คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่เชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ
ปัจจัยที่สองคือ เรื่องครอบครัว ความกตัญญูต่อพ่อแม่ถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของคนญี่ปุ่นในเกณฑ์ปานกลาง
ส่วนปัจจัยที่สามคือ ค่านิยมของสังคมนั้น ถือเป็นปัจจัยที่มีพลังมากที่สุดในสังคมญี่ปุ่น ตั้งแต่สมัยเอโดะ คนญี่ปุ่นทุกคนจะมีสังกัดที่แน่นอน ใครอยู่หมู่บ้านไหนก็ต้องสังกัดหมู่บ้านนั้น จะโยกย้ายตามใจชอบไม่ได้
ถ้าใครทำผิดจนถูกขับออกจากหมู่บ้าน ก็จะกลายเป็นคนไม่มีที่อยู่ เพราะจะเข้าไปอยู่หมู่บ้านอื่นก็ไม่มีใครเขารับ ต้องกลายเป็นคนเร่ร่อนพเนจร ทุกคนจึงต้องพยายามปฏิบัติตนให้อยู่ในกรอบของสังคม กระทั่งปัจจุบันค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นก็ยังมีพลังมาก เมื่อมีใครทำความผิดสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมแล้ว
ผู้ที่จะถูกสังคมลงโทษไม่ใช่มีแค่ผู้ทำความผิดเท่านั้น แต่หมายถึงสมาชิกทุกคนในครอบครัวของผู้ที่กระทำผิด ก็จะถูกสังคมลงโทษด้วย เช่น ถ้าพ่อแม่ทำผิด ลูกก็จะพลอยถูกรังเกียจไปด้วย ไม่มีใครอยากคบหา ถูกมองด้วยสายตาแปลก ๆ เรียกว่า ต้องย้ายบ้านหนีกันทีเดียว คนญี่ปุ่นทุกคนจึงต้องระมัดระวังตนเองให้อยู่ในกรอบของสังคม
นี่คือที่มาของลักษณะที่ขัดแย้งกันเองในตัวของคนญี่ปุ่น เช่น กรณีของความมีระเบียบวินัย การที่เขาทิ้งขยะเป็นที่เป็นเวลาขณะอยู่ที่บ้าน ก็เพราะกลัวว่าถ้าไม่ทำเช่นนั้นเพื่อนบ้านจะต่อว่าเอาได้ ตัวเองก็จะร้อนใจ แต่เมื่ออยู่ในรถกลับทิ้งขยะลงบนถนนก็เพราะคิดว่าไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น จึงไม่เป็นไร
1
หรือในการข้ามถนนถ้าสัญญาณไฟยังเป็นสีเขียวอยู่ เขาก็จะไม่ข้าม แม้ว่าถนนจะว่าง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกลัวคนอื่นจะว่าเอา แต่ถ้ามีใครสักคนสองคนเดินข้ามนำไปก่อน คนที่เหลือก็พร้อมจะเดินตามไปเป็นพรวนเหมือนถูกสะกดจิต เพราะเห็นว่าใคร ๆ เขาก็ข้ามกัน
ในกรณีของ ความซื่อสัตย์... ในการค้าขายคนญี่ปุ่นจะไม่คดโกง เพราะกลัวว่า ถ้าถูกจับได้จะเดือดร้อนเสื่อมเสียชื่อเสียงทั้งวงศ์ตระกูล แต่การโกงตั๋วรถไฟนั้นเขาคิดว่า ทำ ได้ไม่เป็นไร เพราะระบบตัวรถไฟของญี่ปุ่นมีวิธีโกงที่ไม่มีใครจับได้
การที่ทำหรือไม่ทำอะไรเพราะกลัวคนว่าเช่นนี้ไม่ได้เกิดจากศีลธรรมประจำใจที่แท้จริง แต่ถูกสังคมบีบบังคับให้ทำ คนญี่ปุ่นจึงมีความเครียดสูง และแน่นอนว่า เมื่อใดที่สังคมมีค่านิยมที่ผิด นับว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมากเพราะจะพากันเฮละโลไปทางที่ผิดกันหมด เช่น ค่านิยมการรุกรานประเทศเพื่อนบ้านในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้น ถ้าศีลธรรมประจำใจของคนญี่ปุ่นไม่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นโดยเร็วแล้ว จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต
สำหรับประเทศไทย เรามีปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนประพฤติดีอยู่ครบถ้วนทั้ง 3 ประการ แต่มีอย่างกระพร่องกระแพร่งไม่ค่อยสมบูรณ์ จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราชาวไทยทุกคนจะต้องช่วยกันเสริมสร้างให้สมบูรณ์ขึ้น เพื่อให้สังคมไทยของเราเป็นสังคมที่น่าอยู่ เป็นสังคมตัวอย่างของชาวโลก ซึ่งไม่ใช่สิ่งเหลือวิสัยเลย
หากเราช่วยกันทำจริงจังโลกของเราทุกวันนี้ ดูเล็กลงไปทุกที ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร และกระแสโลกาภิวัตน์ แต่เรากลับพบว่า การพัฒนาทางวัตถุเริ่มมาถึงทางตัน
ถึงแม้ว่าโลกจะมีมหาอำนาจทางการทหาร มหาอำนาจทางเทคโนโลยี และมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่อำนาจเหล่านั้นก็ไม่อาจสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นได้ คงมีเพียงอำนาจเดียว คือ อำนาจทางศีลธรรมเท่านั้นที่สามารถบันดาลให้ทุก ๆ ชีวิตบนโลกใบนี้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้
ชาวโลกกำลังรอคอยมหาอำนาจทางศีลธรรม และประเทศไทยเราก็มีศักยภาพสูงสุดในการเป็นผู้นำทางศีลธรรม ด้วยพื้นฐานจิตใจที่ดีงามของเราชาวไทย และด้วยภูมิปัญญาที่มีอยู่อย่างพร้อมมูล จากคำสอนในพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อยู่คู่กับชนชาติไทยมาอย่างยาวนาน
เจริญพร
โฆษณา