6 ธ.ค. 2020 เวลา 05:14 • สิ่งแวดล้อม
ประเด็นเรื่องภาพถ่ายการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ดูสวยงามบนพื้นที่รอบอ่าวฮาลอง (ฮาลองเบย์) ประเทศเวียดนาม กลับมาเป็นที่ถกเถียงอีกครั้ง เพราะหลายเพจมีการนำภาพสวยงามๆ ไปนำเสนอแล้วมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยในเชิงเหยียดว่า เวียดนามพัฒนาไปไกลแล้ว ไทยทำไม่ได้แน่นอน
ในมุมมองของผู้เขียนที่อยากจะนำเสนอเปรียบเทียบช่วงเวลาของการพัฒนาพื้นที่ริมอ่าวฮาลองตลอด 18 ปี (ค.ศ. 2001 - 2019) โดยเป็นภาพถ่ายดาวเทียมที่เห็นได้ชัดว่ามีการถมที่ลงไปจรแม้แต่เกาะที่เคยอยู่ห่างจากฝั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินไปเสียแล้ว เพื่อจะให้เห็นว่ามันเกิดอะไรกับพื้นที่ตรงนั้นบ้าง แล้วผลประโยชน์จริงๆ ใครได้ใครเสีย?
1
ทำความรู้จักอ่าวฮาลองก่อน จริงๆ ภาษาเวียดนามออกเสียงว่า "หะล็อง" แปลว่าอ่าวแห่งมังกรผู้ดำดิ่ง เป็นอ่าวแห่งหนึ่งในพื้นที่ของอ่าวตังเกี๋ยทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ใกล้ชายแดนติดต่อกับประเทศจีน มีพื้นที่ทั้งหมด 1,500 ตารางกิโลเมตร หรือ 937,500 ไร่ และมีชายฝั่งยาว 120 กิโลเมตร อยู่ห่างจากกรุงฮานอยไปทางตะวันออก 170 กิโลเมตร
ลักษณะทางภูมิประเทศของอ่าวฮาลอง มีเกาะหินปูนจำนวน 1,969 เกาะโผล่พ้นขึ้นมาจากผิวทะเล บนยอดของแต่ละเกาะมีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น และด้วยภูมิทัศน์ที่สวยงามอ่าวฮาลองจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 18 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ที่จังหวัดภูเก็ต และได้รับเงินสนุบสนุนจากยูเนสโกมาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเวียดนามที่ใครไปก็ต้องไปเยือน
การที่พยายามจะพัฒนาให้อ่าวฮาลองเป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกของนักท่องเที่ยว ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดกว๋างนิญ ทุ่มงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่รอบอ่าว โดยสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ขึ้นมา ทั้งถนนหนทาง พื้นที่สาธารณะ แม้จะต้องถมทะเลนับพันๆ ไร่ ถางพื้นที่ป่าชายเลนและป่าโกงกางถึง 2,509 เฮกตาร์หรือ 11% ของป่าชายเลนทั้งหมดในจังหวัดกว๋างนิญ ที่คอยป้องกันแนวชายฝั่ง และอนุบาลสัตว์น้ำในอ่าวก็ตาม
1
ภาพความสวยงามของอาคารบ้านเรือนสมัยใหม่ ถนนหนทางที่เกิดจากการถมทะเลนั้น รัฐบาลเวียดนามได้ให้บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มบริษัทรายใหญ่ที่สุดของประเทศนามว่า VINHOMES ในเครือ VINGROUP ซึ่งเป็นเอกชนที่มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ เข้ามาทำโครงการหมู่บ้านจัดสรรระดับหรูหรา เพื่อขายให้กับเศรษฐีทั้งชาวเวียดนาม และชาวจีน
อาคารที่ถูกออกแบบมาจึงมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศษที่สื่อถึงความอู่ฟู่ร่ำรวย พร้อมกับสวนสวยๆ และถนนใหญ่หลายเลนที่ตัดผ่านบนชายฝั่งเทียมที่เกิดขึ้นมาจากการถามอ่าว
1
นอกจากนี้ยังมีรีสอร์ทหรู โรงแรมห้าดาว สวนสนุก อาคารศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า รวมทั้งการนำทรายมาทำชายหาดเทียมหน้าโครงการ ซึ่งเดิมทีพื้นที่ของอ่าวเป็นดินเลนตามธรรมชาติ และทรายสีดำที่เกิดจากตะกอนทับถมบริเวณปากอ่าว นั่นคือการสร้างระบบนิเวศน์ที่ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ
แน่นอนว่าความสวยงามนี้มันคงไม่ได้มาโดยไม่มีการสูญเสียอะไรไป เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับอ่าวฮาลองคือ มลพิษทางน้ำและขยะ ที่กำลังโจมตีอ่าวมรดกโลก เนื่องจากอาคารที่พักอาศัยเหล่านี้สร้างท่อระบายน้ำเสียที่ผ่านการใช้งานในครัวเรือน ปล่อยท่อต่อตรงลงสู่อ่าว ซึ่งงานวิจัยจาก IUCN แสดงให้เห็นว่าน้ำเสียประมาณ 502 ลูกบาศก์เมตรถูกปล่อยล่งสู่อ่าวฮาลองทุกวัน ยังไม่รวมน้ำเสียจากเรือบริการนักท่องเที่ยวที่ก็ปล่อยทิ้งลงทะเลดื้อๆ โดยไม่มีการจัดการให้ดีก่อน
ที่สำคัญคือแนวสิ่งปลูกสร้างที่ลุกล้ำลงไปในทะเล ไปรบกวนระบบการหมุนเวียนของกระแสน้ำภายในอ่าว ทำให้ขยะพลาสติกเพิ่มจำนวนขึ้นตามชายฝั่ง ซึ่งขยะเหล่านี้ถูกทิ้งมาจากอาคารบ้านเรือน และนักท่องเที่ยวบนเรือที่ลอยลำในอ่าวมากกว่า 50 ลำ
1
ผู้เขียนไม่อาจทราบได้ว่าเวียดนามมีการจัดทำ EIA หรือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในกรณีที่มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่หรือไม่ เพราะหากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สำคัญทางธรรมชาติที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ก็มีความน่ากังวลอยู่พอสมควรในเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อมจากสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์
ความสวยงามในสายตาของมนุษย์ที่ถูกสร้างเสริมปรุงแต่งขึ้นมา อาจทำให้คนภายนอกโดยเฉพาะคนไทยมองว่าสวยงาม ดูดี ดูพัฒนาแล้ว แต่ถ้าหากว่าลองมีโครงการแบบนี้มาสร้างในประเทศไทย บนพื้นที่ป่าชายเลนหรืออ่าวสำคัญๆ คิดว่าเราจะยอมให้สร้างได้จริงหรือ?
ถ้าจู่ๆ เสม็ดนางชี อ่าวพังงาที่สวยงาม มีการให้เอกชนมาถางป่าโกงกาง ถมที่ป่าพรุเพื่อสร้างโรงแรม รีสอร์ต หรือบ้านพักหรูหรา และกลายเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลขึ้นมา คิดว่าอยากให้มีแบบนี้หรือไม่
1
ในยุคที่ทั่วโลกเน้นการพัฒนาธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อรักษาระบบนิเวศน์ให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน ประเทศไทยอยากเดินไปในเส้นทางที่ยั่งยืน และส่งเสริมการพัฒนาเอกลักษณ์ชุมชนและการท่องเที่ยวให้สมดุลกับธรรมชาติ อย่างที่ไทยก็พยายามทำมาตลอด หรือพอเห็นเพื่อนบ้านสร้างนั้นสร้างนี่ ก็อยากจะสร้างๆ ถมๆ แล้วสวยด้วยกลุ่มทุนอย่างเดียว ก็ลองพิจารณาดู
2
สุดท้ายนี้ผู้เขียนไม่ได้ปิดกั้นการพัฒนา แต่การพัฒนาในลักษณะนี้มันทำได้ในพื้นที่อื่นๆ หรือเอาเข้าจริงแล้ว เรามีพื้นที่ราบให้พัฒนาเมืองและคุณภาพชีวิตอยู่มากมาย ไม่ได้มีที่ราบน้อยนิดแบบเวียดนาม และพื้นที่อุตสาหกรรมของประเทศไทยก็สามารถบริหารจัดการเรื่องมลพิษได้ในเกณฑ์ที่ดีในระดับมาตรฐานหรือสูงกว่าอยู่แล้ว ซึ่งมันคือจุดแข็งของประเทศที่เราสามารถทำให้พื้นที่ทางทะเลที่เป็นที่ท่องเที่ยวซึ่งตั้งอยู่ใกล้ท่าเรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ หรือนิคมอุตสาหกรรมระดับประเทศ ให้ยังคงสวยงามและธรรมชาติสมบูรณ์อยู่ได้ นั่นคือสิ่งที่เราจะต้องรักษาและพัฒนาต่อไป
1
โฆษณา