16 ธ.ค. 2020 เวลา 02:34 • สุขภาพ
Healing environment Hospital
บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อจุดประกายความคิด หลังจากที่กระผมได้ เข้าประชุมวิชาการเรื่องการจัดสภาพแวดล้อมในสถานพยาบาลเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่อบอุ่นเหมือนบ้านและเพื่อการเยียวยารักษาคนป่วยเมื่อปี2554 คิดว่าแนวคิดนี้ยังใช้ได้อยู่แม้จนปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า
หากจะตั้งคำถามว่าสถานที่ที่ประชาชนทั่วไปไม่อยากไปมากที่สุดคือที่ใด คำตอบอันดับต้นๆนั้นคือ โรงพยาบาล ในทัศนคติของผู้คนทั่วไปที่จะต้องไปโรงพยาบาล ก็คงหนีไม่พ้นความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ โรคร้าย ฯลฯ หรือเรื่องดีหน่อยก็ไปคลอดลูก ส่วนที่เหลือก็คือผู้คนที่เป็นครอบครัว ญาติ เพื่อน ของผู้ป่วยที่แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วย ซึ่งรูปแบบการให้บริการในสถานพยาบาลในแบบดั้งเดิมก็เป็นไปเพียงเพื่อการบำบัดรักษาเท่านั้น
การรักษาโรคนั้น มันมีทั้งคนและโรค เราจะรักษาแต่โรคให้หายโดยไม่สนใจคนนั้นไม่ได้ การจัดสภาพแวดล้อมในสถานพยาบาลเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่อบอุ่นเหมือนบ้านและเพื่อการเยียวยานั้นเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในการรักษาคน โดยจะต้องจัดให้ผู้คนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สบาย ผ่อนคลาย และมีบรรยากาศที่อบอุ่นคุ้นเคยเหมือนอยู่บ้านของตัวเอง ซึ่ง Jain Malkin สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบสถานพยาบาลเคยกล่าวไว้ว่า
“คุณภาพของสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการเร่งหรือหน่วงเหนี่ยวการเยียวยาได้อย่างไม่ต้องสงสัย (There is no doubt that the quality of the environment can enhance or retard healing)”.
ดังนั้นการจัดการกับสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลที่มีคุณภาพและให้มีบรรยากาศที่อบอุ่นเหมือนบ้านจึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา
"การเยียวยา" (Healing) หมายถึงการจัดการสุขภาพแบบองค์รวม โดยการสร้างความกลมกลืนของกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า "การบำบัด" (Therapy) ซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า "การรักษา" (curing) คือความพยายามแก้ไข (Remediation) ปัญหาสุขภาพตามการวินิจฉัย (Diagnosis) ดังนั้น การเยียวยาจึงมีมิติที่ลึกซึ้งกว่าการบำบัดรักษา และผลของการเยียวยาที่เห็นได้ชัดคือการลดความเครียดและผ่อนคลายความวิตกกังวลของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
การจะทำให้โรงพยาบาลอบอุ่นเหมือนบ้านนั้น น่าจะมีอยู่วิธีเดียวคือ การเอาผู้คนและบรรยากาศของบ้านผู้ป่วยมาจำลองไว้ที่โรงพยาบาล ซึ่งหากจะจัดให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ก็จะเกิดความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ดังนี้
Patient: ผู้ป่วย
Facilities: ข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ บรรยากาศรอบข้าง
People: ผู้คนที่เกี่ยวข้อง ญาติ เพื่อน แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่
Medicine: กระบวนการรักษา วิธีการและยา
จากงานวิจัยของ Samueli Institute มีการจำลองรูปแบบของปัจจัยที่มีผลกระทบจากสภาพแวดล้อมจากภายในจิตใจออกไปสู่ปัจจัยที่มีผลกระทบจากสภาพแวดล้อมจากภายนอก โดยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมิติจิตใจที่หากถูกปรับสภาพแวดล้อมจากภายในจิตใจแล้ว การแสดงออกต่อผู้ป่วยที่มีความรัก ความเอื้อเฟื้อ เอื้ออาทรต่อกัน ก็จะดูเป็นธรรมชาติที่กระทำออกมาจากความรู้สึกส่วนลึกภายในใจ ซึ่งก็จะทำให้เกิดความอบอุ่นเหมือนผู้ป่วยได้พักอยู่ที่บ้านของตัวเอง ผู้ป่วยสามารถเลือก-กำหนด-ควบคุมกิจกรรมรอบตัวเองได้เหมือนอยู่ที่บ้านตัวเอง ญาติหรือเพื่อนสนิทก็สามารถมาเยี่ยมและพักค้างกับผู้ป่วยได้ ความกังวล ความเครียดก็จะลดลง การฟื้นฟูจากสภาวะผู้ป่วยก็จะเร็วขึ้นด้วย
สภาพแวดล้อม (Environment) เพื่อการเยียวยาประกอบด้วย
1.สภาพแวดล้อมทางกายภาพ
2.สภาพแวดล้อมสังคม
3.สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
4.สภาพแวดล้อมภายในจิตใน
วิธีการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการเยียวยามีหลักการดังนี้
1.สร้างจุดเบี่ยงเบนความสนใจ
2.กำจัดสิ่งกระตุ้นให้เกิดความเครียด
3.การให้ความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่กับคนไข้
4.มองหาช่องทางการบำบัดรักษาเพิ่มเติม
5.เลือกโภชนาการที่เหมาะสม
6.รักษาบรรยากาศให้อบอุ่นด้วยความรัก
7.ห้องพักเดียวตลอดการรักษา
ต้องเป็นการบูรณาการและสร้างความสมดุลระหว่าง ความปลอดภัย ความเชื่อ วัฒนธรรม สังคมความเป็นอยู่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ภูมิสถาปัตย์(การตกแต่งแสง สี เสียง อุณหภูมิ ภาพศิลปะ และธรรมชาติที่งดงาม) และ สุดท้ายคือ ความพอเพียง
ถ้าทำได้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสภาพทางกาย จิตใจได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ลดความกังวล ความท้อแท้ ความเจ็บปวดของผู้ป่วยและญาติ ลดหรือป้องกันการติดเชื้อ การเกิดอันตรายทางร่างกาย สร้างความพึงพอใจ ประทับใจในบรรยากาศและสถานที่สิ่งแวดล้อม ลดความเครียด สร้างความสุขในการทำงาน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่บุคลากรในโรงพยาบาล
สุดท้ายนี้ ขอให้ตอบตัวเองให้ได้ว่า อะไรคือบรรยากาศที่เอื้อต่อการเยียวยา....สำหรับคุณ?
โฆษณา