17 ม.ค. 2021 เวลา 12:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
‘เนื้อสัตว์ Stem Cell’ อาหารทางเลือกใหม่
2
หลังจากที่สิงคโปร์อนุญาตให้เนื้อสัตว์จากห้องทดลองของบริษัท Eat Just จากประเทศอเมริกาสามารถนำเข้ามาวางขายได้อย่างถูกกฎหมายเป็นประเทศแรก ทำให้กระแสการบริโภคเนื้อสัตว์สังเคราห์กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง
5
ที่ผ่านมามีหลายบริษัทจากประเทศหลายประเทศพยายามคิดค้นหาวิธีผลิตเนื้อสัตว์สังเคราะห์ให้สามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมเพื่อที่จะวางขายในตลาดได้ เพราะนอกจากจะถูกใจบรรดาคนรักสัตว์ (แต่ก็รักเนื้อสัตว์เช่นกัน) แล้ว เนื้อสัตว์สังเคราห์ยังได้รับการการันตีว่าสะอาด เพราะมีการควบคุมมาตรฐานในการผลิต ไม่ปนเปื้อนเชื้อโรคที่อยู่ในสัตว์ตามธรรมชาติ และยังไม่ปนเปื้อนฮอร์โมน ยาปฏิชีวนะต่างๆที่สัตว์เลี้ยงมักจะได้รับในปริมาณมากอีกด้วย
2
ซึ่งวิธีส่วนใหญ่ที่ใช้ในการทำเนื้อสังเคราะห์ของแต่ละบริษัท รวมถึง Eat Just นี้คือการใช้สเต็มเซลล์ (Stem cell) หลายๆคนคงคุ้นเคยกับคำว่า สเต็มเซลล์ เป็นอย่างดี ความเข้าใจโดยทั่วไปคือสามารถใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคได้ แต่คงมีไม่กี่คนทราบว่าสเต็มเซลล์สามารถนำมาใช้เป็นอาหารได้เช่นกัน
3
สเต็มเซลล์คืออะไร?
สเต็มเซลล์ หรือ เซลล์ต้นกำเนิด คือเซลล์ที่ยังไม่ได้ถูกกำหนดว่าจะเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์อะไร แบ่งออกใหญ่ๆได้ 2 ประเภท คือ สเต็มเซลล์จากตัวอ่อน (Embryonic Stem Cell) และ สเต็มเซลล์จากเซลล์ที่เจริญเต็มวัย (Adult Stem Cell)
สเต็มเซลล์จากตัวอ่อน (Embryonic Stem Cell) จะเกิดเมื่ออสุจิและไข่ปฏิสนธิกัน หลังจากนั้นเซลล์ไข่จะเกิดการแบ่งตัว ในระยะแรกเราเรียกเซลล์ไข่ทั้งใบว่า ‘ไซโกต (Zygote)’ ในแง่ของสเต็มเซลล์ ถือว่ามีศักยภาพในการเจริญเติบโตแบบ ‘Totipotent Stem Cell’ (Toti หมายความว่า ทั้งหมด) ดังนั้น Totipotent Stem Cell จึงหมายถึง สเต็มเซลล์ที่สามารถเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์อะไรก็ได้ทุกส่วนของร่างกาย หลังจากนั้นไซโกตจะแบ่งตัวเพิ่มขึ้นและพัฒนามากขึ้น จนเข้าวันที่ 4-5 ไซโกตจะเริ่มฝังตัวเข้ากับผนังมดลูกแต่ก็ยังคงแบ่งเซลล์ต่อจนใหญ่ขึ้นเรียกว่า ‘บลาสโตซิส (Blastocyst)’ บลาสโตซิสถือเป็นต้นกำเนิดของสเต็มเซลล์ที่สำคัญ จากรูปข้างบนจะเห็นว่าเซลล์วันที่ 5-7 นั้นใหญ่ขึ้นและมีเซลล์ที่แบ่งตัวรวมกันอยู่ข้างใน เราเรียกเซลล์เหล่านั้นว่า ‘Inner Cell Mass’
7
ภาพการแบ่งเซลล์หลังจากปฏิสนธิ [photo: https://www.safarivet.com/regenerative-medicine/stem-cell-therapy/types/embryonic-stem-cells/]
Inner Cell Mass
คือสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน หรือ Embryonic Stem Cell นั่นเอง ดังนั้นถึงมีข้อถกเถียงด้านจริยธรรมในการใช้สเต็มเซลล์จากตัวอ่อน เพราะการจะเอา Inner Cell Mass ออกมาอาจเป็นการทำลายเอ็มบริโอหรือตัวอ่อนซึ่งเปรียบเหมือนการฆ่าคนหนึ่งคน
Inner Cell Mass มีศักยภาพในการเจริญเติบโตแบบ ‘Pluripotent Stem Cell’ (Pluri หมายความว่า มากมาย) ดังนั้น Pluripotent Stem Cell จึงหมายถึงสเต็มเซลล์ที่สามารถเจริญเติบโตเป็นอวัยวะได้เกือบทุกส่วนของร่างกายยกเว้นรกและสายสะดือ Dr. Shinya Yamanaka นักวิทยาศาสตร์จากญี่ปุ่นค้นพบวิธีที่สามารถเปลี่ยนให้เซลล์ที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้วกลับมามีความสามารถเป็นสเต็มเซลล์ในระยะ Pluripotent นี้ได้อีกครั้ง เรียกว่า ‘Induced Pluripotent Stem Cell หรือ iPS’ ซึ่งการค้นพบนี้เขย่าวงการแพทย์และเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก ถือเป็นใบเบิกทางในการรักษาโรคโดยการใช้สเต็มเซลล์แบบไม่ผิดจริยธรรมและทำให้เขาได้รางวัลโนเบลในปี 2012
5
สเต็มเซลล์จากเซลล์ที่เจริญเต็มวัย (Adult Stem Cell)
1
คือสเต็มเซลล์ที่ได้จากร่างกายหลังคลอดออกมาจากท้องแม่แล้ว เซลล์เหล่านี้ถือว่ามีศักยภาพในการเจริญเติบโตแบบ ‘Multipotent Stem Cell’ (Multi หมายความว่า หลายสิ่ง) ดังนั้น Multipotent Stem Cell จึงหมายถึงสเต็มเซลล์ที่สามารถเติบโตไปเป็นเซลล์หลายประเภทแต่ว่าต้องคล้ายกันเท่านั้น เช่น สเต็มเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Hematopoietic Stem Cell) จะสามารถเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์เม็ดเลือดประเภทต่างๆได้ เช่น เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง เกร็ดเลือด หรือ สเต็มเซลล์ต้นกำเนิดระบบประสาท (Neural Stem Cell) ก็สามารถเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์ประสาทและเซลล์ค้ำจุนระบบประสาทได้ โดยที่สเต็มเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจะไม่กลายไปเป็นเซลล์ระบบประสาทและสเต็มเซลล์ต้นกำเนิดระบบประสาทก็จะไม่กลายเป็นเซลล์เม็ดเลือด
3
สเต็มเซลล์แบบ Multipotency อย่างเช่นสเต็มเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ปัจจุบันถูกนำมาใช้รักษาโรคที่เกี่ยวกับระบบเลือดและโรคทางพันธุกรรม เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูกฝ่อ และโรคธาลัสซีเมีย ด้วยวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด สามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคเหล่านี้ได้แต่ก็ต้องได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังปลูกถ่ายที่อาจอันตรายถึงชีวิต
3
พระเอกของการทำเนื้อสังเคราะห์ ก็คือ สเต็มเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ (Mesenchymal Stem Cell) ที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตแบบ Multipotent Stem Cell กล่าวคือจะสามารถเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์ไขมัน เซลล์กระดูก เซลล์กระดูกอ่อน และเซลล์กล้ามเนื้อได้ ซึ่งเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์นี้สามารถพบได้ทั้งในไขกระดูกสันหลัง สายสะดือจากรก ฟันน้ำนม ฟันคุด และเซลล์ไขมันในชั้นผิวหนัง
REUTERS/David Parry
วิธีการหลัก คือ คัดเลือกสเต็มเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์จากเซลล์ของสัตว์ที่นิยมรับประทานเนื้อ เช่น เซลล์จากขนไก่ หรือ เซลล์จากกล้ามเนื้อวัว เพื่อนำออกมาเลี้ยงด้วยอาหารที่ประกอบไปด้วยสารต่างๆที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและเหนี่ยวนำให้สเต็มเซลล์มีเซนไคม์พัฒนาไปเป็นเซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ไขมัน เซลล์กระดูกอ่อน แน่นอนว่าสิ่งที่ได้จากการทดลองก็จะเป็นชั้นเนื้อที่มีเซลล์เหล่านี้ปนๆกันอยู่ เมื่อเลี้ยงเซลล์ได้ในปริมาณที่เหมาะสมจึงนำชั้นเนื้อเหล่านั้นมาบดและคลุกด้วยเครื่องปรุงต่างๆแล้วจึงนำไปประกอบอาหารต่อ
7
ด้วยหลักการของเนื้อสเต็มเซลล์ทำให้ไม่ต้องฆ่าและทรมานสัตว์มากมาย เพราะวิธีการนำเซลล์ของสัตว์ออกมา ง่ายและไม่ทำให้สัตว์บาดเจ็บ รวมถึงยังลดปริมาณการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่เกิดจากฟาร์มเลี้ยงสัตว์ลงถึง 90% และช่วยลดปัญหามลพิษทางดินและน้ำที่เกิดจากฟาร์มปศุสัตว์ได้อย่างดี
3
อย่างไรก็ตาม เนื้อสังเคราะห์ที่ทำจากสเต็มเซลล์ยังมีราคาแพง อย่างของบริษัท Eat Just ที่จะวางขายในสิงคโปร์ภายใต้ยี่ห้อการค้า GOOD Meat มีราคาเทียบเท่ากับเนื้อไก่ระดับพรีเมี่ยม เนื่องจากผลิตได้จำกัดและมีต้นทุนการผลิตสูงเพราะรวมเงินค่าจ้างความรู้และทักษะของนักวิจัย ค่าเสียเวลา ค่าอุปกรณ์แล็บที่มีราคาสูงเอาไว้
5
ไม่แน่ว่าในอนาคตอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ถ้าความนิยมในการบริโภคเนื้อสเต็มเซลล์เพิ่มมากขึ้นจนทำให้ราคาเนื้อถูกลงและมีบริษัทผลิตเพิ่มมากขึ้น เนื้อสเต็มเซลล์อาจจะกลายเป็นขวัญใจของคนรักสัตว์และเป็นทางเลือกใหม่ของวงการอาหารโลกก็เป็นได้
3
References >>
โฆษณา