19 ธ.ค. 2020 เวลา 07:16 • ครอบครัว & เด็ก
หัวใจของ Computational Thinking เสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้เด็กทุกวัย (ตอนที่ 1)
หัวใจของ Computational Thinking เสริมประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้เด็กทุกวัย
เราได้พูดถึงเรื่องของ Computational Thinking (CT) แบบภาพรวมกันไปเมื่อบทความก่อนหน้านี้แล้ว (https://link.beyondcodeacademy.com/post-computational-f5d63) คราวนี้จะขอลงลึกถึงองค์ประกอบขั้นพื้นฐานในการสร้างฐานทักษะของ Computational Thinking หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า CT กันแบบละเอียด เพราะเชื่อเลยว่าการทำความเข้าใจกับวิธีปฏิบัติ ไปจนถึงผลลัพธ์ของการสร้างทักษะแบบ CT ผ่านการเรียน coding นั้นมีประโยชน์ต่อตัวผู้เรียนและพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างมาก และหากจะพูดถึงองค์ประกอบของ CT นั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Jeannette Wing ถือเป็นบุคคลที่ทำกระแสความสนใจในเรื่องของ CT และคอนเซ็ปต์ในการเรียนรู้ผ่านการ coding, programming และ algorithmic thinking กลับมามีบทบาทที่สำคัญอีกครั้ง จนปัจจุบันถือว่า CT นั้นเป็นทักษะขั้นพื้นฐานสำหรับคนรุ่นใหม่ในการดำเนินชีวิตเลยทีเดียว ซึ่งหลายงานวิจัยและหลายหลักสูตรของ CT นั้นมักจะอ้างอิงถึงวิธีการคิดของ Jeannette Wing ในการสร้างหลักสูตรสำคัญๆ อีกด้วย
ดังนั้นเราลองมาดูองค์ประกอบหลักในการสร้างทักษะการคิดแบบ Computation Thinking (CT) ซึ่งมีทั้งหมด 4 องค์ประกอบด้วยกัน คือ
1.Decomposition
2.Pattern Recognition
3.Abstraction
4.Algorithm
โดยในบทความนี้จะขออธิบายแบบเจาะลึกถึงขั้นตอนของ Decomposition และ Pattern Recognition ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจก่อนที่จะเริ่มเตรียมความพร้อมในการสร้างทักษะชีวิต ให้กับลูกรักเผชิญกับโลกยุคใหม่อย่างอย่างแข็งแกร่งทั้งทางด้านสติปัญญาและด้านจิตใจอีกด้วย
 
1.Decomposition เป็นกระบวนการในการแตกปัญหาที่สลับซับซ้อนออกมาเป็นข้อย่อย ซึ่งบอกเลยว่านำมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ไม่ยากเลย ลองนึกถึงวันที่ตัวเราเองเผชิญกับปัญหาใหญ่จนกังวลว่าจะแบกรับและจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร ซึ่งหากเราได้เรียนรู้วิธีการ decomposition ก็จะสามารถจัดการกับปัญหาที่ยากซับซ้อน และยังช่วยลดความสับสนลงได้ โดยเริ่มต้นด้วยการแบ่งปัญหาใหญ่ๆ หรือปัญหายากๆ เหล่านั้นให้เล็กลง เพราะพอปัญหาเหล่านั้นเล็กลงแล้ว เราจะมองได้ทะลุปรุโปร่งและค่อยๆ จัดการแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การที่จะสร้างทักษะนี้ให้ได้ผล ควรให้โจทย์ที่มีความท้าทาย ไม่ง่ายจนเกินไป ที่สำคัญโจทย์ปัญหาจะต้องชัดเจน เพราะจะทำให้ผู้เรียนเข้าใจว่าผลลัพธ์ที่ต้องการคืออะไร บอกได้เลยว่าขั้นตอนของการ decomposition ถือว่าเป็น life skills ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คนในยุคปัจจุบันควรมีติดตัว
ตัวอย่างในชีวิตประจำวัน อย่างที่บอกว่า decomposition นั้นถือเป็น life skills อย่างหนึ่งเลย แต่ถ้ายังนึกไม่ออกลองนึกถึงปัญหาอย่างง่ายๆ เช่น การเรียนรู้ decomposition ผ่านการแปรงฟัน ก่อนที่เด็กๆ จะเริ่มแปรงฟัน ลองจำลองโจทย์ให้คิดแบบนี้ดู
· ควรใช้แปรงสีฟันแบบไหน (แปรงเล็กสำหรับเด็ก แปรงใหญ่สำหรับผู้ใหญ่ แปรงสำหรับคนที่จัดฟัน)
· ควรจะแปรงฟันนานแค่ไหน (ฟันปกติ ฟันผุ จัดฟัน ใช้เวลาเท่ากันไหม)
· ควรออกแรงแปรงฟันขนาดไหน (แปรงเบาๆ หรือแปรงแรงๆ แบบไหนดีต่อฟัน)
· จะใช้ยาสีฟันอะไรดี? (ยาสีฟันสำหรับเด็ก ยาสีฟันเพิ่มฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ ยาสีฟันสูตรเกลือ)
2.Pattern Recognition
วิธีนี้ถือเป็นการเชื่อมโยงระหว่างข้อมูลที่เคยมี หรือใช้ประสบการณ์ที่เคยเรียนรู้มาก่อน แล้วนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยปกติรูปแบบของ pattern recognition นั้นจะเป็นการระบุความคล้ายคลึงกันและแนวโน้มที่คล้ายกันของปัญหา ซึ่งเราจะใช้ความรู้ที่เคยมีมาเหล่านี้เข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหา วิธีนี้ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การประยุกต์ใช้ความสามารถ ส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้ผ่านความพยายาม และความอดทน ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ หากเด็กๆ มีโอกาสสร้างทักษะ pattern recognition โดยผ่านการเรียน coding ซึ่งทำงานเป็นทีม จะทำให้เด็กแต่ละคนได้แชร์ประสบการณ์และปัญหาที่ตนเองเคยมีประสบการณ์มา เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาหรือแก้โจทย์ที่ได้รับโดยใช้เทคนิคนี้อีกด้วย ได้ทั้งความสนุก ความกล้าแสดงออก การทำงานร่วมกันกับผู้อื่น รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจได้อย่างดีเลยทีเดียว ถือว่า pattern recognition นั้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างแนวทางสำหรับการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยประหยัดเวลาในการลองผิดลองถูกได้อีกด้วย
ตัวอย่างในชีวิตประจำวัน พวกเราประยุกต์ใช้ Pattern Recognition กันในชีวิตประจำวันอย่างมากมายแบบไม่รู้ตัว ลองนึกถึงการต่อประกอบเฟอร์นิเจอร์ IKEA ที่มักมีรูปแบบพื้นฐานในการเริ่มต้นที่คล้ายคลึงกัน ทำให้เราสามารถเริ่มต้นประกอบเฟอร์นิเจอร์ชิ้นถัดๆ ไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก เช่นเดียวกับการต่อ LEGO หรือแม้แต่หุ่นยนต์โมเดลของลูกรัก ซึ่งถึงแม้การเริ่มต้นครั้งแรกจะยากหน่อย แต่พอทำบ่อยๆ ก็เริ่มมีประสบการณ์ และรู้ว่าควรจะประกอบแบบไหนและเริ่มอย่างไร
Reference:
โฆษณา