20 ธ.ค. 2020 เวลา 10:06 • สุขภาพ
สื่อต่างชาติมอง ระบบสาธารณะสุขที่ล้มของเพื่อนบ้าน
กำลังคุกคามความสำเร็จจัดการไวรัสของไทย
เชื่อว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 1 ปี ประเทศไทยถือเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลกที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ได้ดีที่สุด หากตัดอคติทางการเมืองออกไป จะพบว่าเมื่อสถานการณ์เข้าที่เข้าทาง คนไทยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เกือบจะปกติ 100% การเดินทางไปไหนมาไหนภายในประเทศ ไม่ได้ถูกจำกัดบริเวณ รวมทั้งการจัดกิจกรรมที่มีการวมตัวของผู้คนจำนวนมาก ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้น ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ ต่างก็เปิดให้บริการกับประชาชนโดยคำนึงถึงหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม และการสวมใส่หน้ากากอนามัย เรียกได้ว่าชีวิตค่อนข้างปลอดภัย เมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ของโลกที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส จนมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตนับแสนนับล้านคน
แต่สถานการณ์ได้กลับมาน่าวิตกกังวลอีกครั้ง เมื่อพบการติดเชื้อรายใหม่ของคนไทยที่ลักลอบเดินทางเข้าประเทศผ่านพรมแดนที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และเดินทางไปทั่วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำจนพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในจังหวัดนั่นจังหวัดนี้เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
กระทั่งล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ก็พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ใกล้กับศูนย์กลางไข่แดงของประเทศอย่างกรุงเทพมหานคร ที่ย่านมหาชัย จ.สมุทรสาคร แหล่งรวมแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านชาวเมียนมาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งทำให้ตัวเลขพุ่งพรวดขึ้นมาวันเดียวกว่า 500 คน และวันนี้ยังปรากฏการติดเชื้อในจังหวัดต่างๆ เพิ่มเติมทั้งชาวไทยแล้วคนต่างด้าวอีกด้วย
3
บรรยากาศการท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลายในช่วงไฮซีซั่นที่กำลังเริ่มต้นขึ้น แม้ว่าจะแทบไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาที่เชียงใหม่ตั้งแต่เดือนมีนาคม แต่ก็ยังมีชาวไทยที่ยังต้องการท่องเที่ยวในประเทศโดยใช้สิทธิ์การท่องเที่ยวจากแคมเปญต่างๆ ที่เข็นออกมาเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ชดเชยความสูญเสียอย่างน้อยก็บางส่วน โดยเฉพาะในเดือนนี้ที่จะเป็นช่วงเวลาที่ชาวกรุง และพื้นที่อื่นๆ จะเดินทางไปสัมผัสอากาศหนาวเย็นบนภาคเหนือ
2
แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดกำลังจะเกิดขึ้นระลอกใหม่ ทำให้โรงแรมและเกสต์เฮาส์ได้รับแจ้งยกเลิกแล้วเกือบ 2,000 ครั้ง และจากข้อมูลของสมาคมโรงแรมไทยระบุว่า ขณะนี้อัตราการเข้าพักที่โรงแรมในเชียงใหม่อยู่ที่ประมาณ 60% เมื่อเทียบกับ 90% ในปีที่แล้ว
1
ต่อให้ประชากรทั้งหมดในจังหวัดทางภาคเหนือทั้งเชียงใหม่และเชียงรายที่ได้รับการทดสอบ Covid-19 Positive ยังคงอยู่ในระดับต่ำซึ่งต่ำมากตามมาตรฐานสากลก็ตาม แต่ความวิตกกังวลนั้นมันไม่อาจจะหยุดยั้งได้ เพราะล่าสุดก็มีหญิงสูงวัยชาวจังหวัดอยุธยา ก็ติดเชื้อมาจากเชียงใหม่เหมือนกัน
จากกรณีที่มีคนไทยซึ่งทำงานในสถานบริการเริงรมณ์ (ซ่อง) ลักลอบข้ามแดนกลับเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เมียนมาที่เป็นประเทศซึ่งมีพรมแดนที่ยาวที่สุดและมีช่องทางลักลอบตามธรรมชาติมากมาย ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและหวาดกลัวต่อการติดเชื้อครั้งใหญ่อีกละลอก
1
เบอร์ทิล ลินท์เนอร์ ผู้สื่อข่าวชาวสวีเดนซึ่งเชี่ยวชาญระดับโลกเรื่องเมียนมาและปัจจุบันพำนักอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เขียนบทความลงใน Asia Times เรื่อง "ความล้มเหลวเรื่องโควิดของพม่าคุกคามความสำเร็จของไทย" ที่ตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์การระบาดละลอกใหม่นี้
2
มันคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังมีปัญหาในเรื่องการด้อยพัฒนาของระบบสาธารณะสุขอย่างรุนแรง ไม่เคยได้รับการพัฒนามายาวนาน ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกสำหรับประชาชนที่ถูกละเลยในเรื่องคุณภาพนับตั้งแต่ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของทหารเมื่อปี พ.ศ. 2505
1
ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม สูงถึง 104,487 ราย เสียชีวิต 2,201 รายเทียบกับผู้ติดเชื้อในประเทศไทยที่ 4,180 ราย เสียชีวิต 60 ราย
1
แต่เมื่อดูสถิติอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานด้านสุขภาพของเมียนมาร์ได้เผยให้เห็นภาพที่น่ากลัวยิ่งขึ้น
พื้นที่รอบเขตอดีตเมืองหลวงอย่างนครย่างกุ้งมีผู้ติดเชื้อ 73,521 ราย เสียชีวิต 1,936 ราย ตามมาด้วยผู้ติดเชื้อ 8,390 ราย เสียชีวิต 58 ราย ในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ ส่วนเมืองพะโคทางภาคกลางก็มีผู้ติดเชื้อ 6,108 ราย เสียชีวิต 11 ราย
2
ตัวเลขสถิติที่เห็นนี้ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่า การติดตามและการทดสอบเพื่อหาเชื้อในประเทศเมียนมายังอยู่ในวงจำกัด เพียงแค่พื้นที่ใกล้กับเมืองใหญ่ๆ ส่วนพื้นที่อื่นๆ อาจจะยังไม่ได้รับการทดสอบเลยก็เป็นได้ รวมทั้งรัฐที่อยู่ตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศไทย ที่มีความขัดแย้งทางด้านกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลกลาง อาจเข้าไม่ถึงการทดสอบเลยด้วยซ้ำนับตั้งแต่เกิดการระบาดขึ้น
2
เมื่อส่องดูตัวเลขในรัฐฉานของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยใหญ่ ทางตอนเหนือของเมียนมาที่ติดกับจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ตัวเลขอย่างเป็นทางการในรัฐฉานที่มีพื้นที่ 155,801 ตารางกิโลเมตรและมีประชากร 5.8 ล้านคน พบว่ามีผู้ติดเชื้อเพียง 562 ราย เสียชีวิต 2 ราย
รัฐคายาห์ซึ่งเป็นพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยอีกแห่งหนึ่งมีผู้ติดเชื้อเพียง 24 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
2
รัฐคะฉิ่นมีผู้ติดเชื้อ 334 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต
รัฐชินพบผู้ติดเชื้อ 139 ราย เสียชีวิต 1 ราย
รัฐฉานซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดท่าขี้เหล็ก ฝั่งตรงข้ามกับ อ.แม่สาย มีผู้ติดเชื้อ 116 รายและไม่มีผู้เสียชีวิตที่บันทึกไว้ แต่ถึงกระนั้นผู้ที่แอบข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศไทยเกือบทั้งหมดก็มีผลการทดสอบเป็นบวก บางคนเดินทางไปจังหวัดอื่นๆ ในภาคกลางทั้ง กรุงเทพฯ พิจิตร ราชบุรี และสิงห์บุรี ซึ่งสุดท้ายทดสอบล้วนแล้วแต่มีผลบวกทั้งนั่น
อย่างที่ทราบกันดีคือ แนวพรมแดนระหว่างประเทศไทยและเมียนมามีความยาวมากกว่า 2000 กิโลเมตร และเป็นพื้นที่ป่าทึบมีภูเขาสูง ซึ่งยากต่อการตรวจสอบในทุกๆ ตารางนิ้ว
และมันก็เป็นพื้นที่ลักลอบของเครือข่ายค้าของเถื่อน ยาเสพติด และการค้ามนุษย์ หรือแม้แต่การลักลอบเข้าออกราชอาณาจักรของคนไทยที่ติดค้างในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ที่ต้องการกลับบ้านเพื่อผู้ลี้ภัยจากไวรัสโดยไม่แยแสว่าการเข้าออกพรมแดนอย่างไม่ถูกต้องจะเป็นผลเสียต่อภาพรวมทั้งประเทศ
3
ไม่เพียงแต่รัฐฉานของเมียนมาเท่านั้นที่คุกคามการกักกันโควิด -19 ทางภาคเหนือของไทย ในพื้นที่ภาคใต้กองทัพเรือไทยได้เพิ่มการลาดตระเวนในน่านน้ำแคบ ๆ ที่กั้นระหว่างจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดระนองออกจากเมียนมา
ส่วนทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขงซึ่งเป็นพรมแดนที่ติดกับประเทศลาว ก็ยังเป็นจุดเสี่ยงต่อภัยความมั่นคงที่เกิดการลักลอบข้ามลำน้ำโขงเข้ามาในประเทศไทยของทั้งชาวลาว และเวียดนาม
นอกจากนี้ทางการไทยยังกังวลเกี่ยวกับการระบาดในประเทศกัมพูชาซึ่งเป็นพรมแดนที่มีรูพรุนอย่างมากกับประเทศไทยอีกด้วย
ทั้งหมดนี้เป็นเส้นทางคนหนุ่มสาวชาวต่างด้าวส่วนใหญ่ลักลอบเดินทางเข้ามาในเมืองไทยเพื่อหางานทำ และการแพร่ระบาดของไวรัสที่รุนแรงในประเทศเพื่อนบ้านส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผู้คนไม่มีงานทำเมื่ออยู่ในประเทศตัวเอง ทำให้เกิดคลื่นผู้ลี้ภัยด้านสุขภาพหนีมาตายเอาดาบหน้าในไทย
นับตั้งแต่การเลือกตั้งระดับชาติของเมียนมาในเดือนพฤศจิกายน พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของ นางอองซาน ซูจี ที่ได้รับชัยชนะอย่างสบายๆ ได้ให้คำมั่นว่าจะจัดการกับวิกฤติด้านสุขภาพในประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ในประเทศที่ยังคงยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนั้นจะทำได้อย่างไร?
รายงานในเดือนธันวาคมจากสถาบัน Brookings Institution ในสหรัฐอเมริการะบุถึงจุดอ่อนที่ชัดเจนหลายประการของระบบสาธารณะสุขในเมียนมาได้แก่ ความสามารถในการทดสอบหาเชื้อที่ไม่เพียงพอ ระบบสุขภาพที่ไม่ได้เตรียมพร้อม ปัญหาด้านรายได้และการขาดแคลนอาหารที่เกิดจากวิกฤตความไม่สงบภายในประเทศ ซึ่งรวมถึงสงครามกลางเมืองที่นองเลือดในพื้นที่ชายแดนหลายแห่ง
1
เมียนมาร์มีความพร้อมรับมือวิกฤติด้านสาธารณะสุขน้อยที่สุดในภูมิภาค ซึ่งก่อนหน้าที่โควิด -19 จะเริ่มแพร่ระบาดเมียนมาร์มีแพทย์เพียง 6.7 คนต่อประชากร 10,000 คนในปี 2561 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 15.6 คน และมีเตียงในโรงพยาบาลเพียง 10.4 เตียงต่อประชากร 10,000 คน
1
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดแล้วในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 เมียนมามีเตียงผู้ป่วยหนักเพียง 0.71 เตียง และเครื่องช่วยหายใจ 0.46 เครื่องต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งถือว่าต่ำมากอย่างน่าใจหาย รัฐบาลเมียนมาได้พยายามสร้างโรงพยาบาลชั่วคราว ศูนย์กักกัน และคลินิก รวมทั้งจัดหาเครื่องช่วยหายใจพร้อมจัดหาเงินทุนสำหรับห้องผู้ป่วยหนัก “แต่ความพยายามเหล่านี้ถูกทำลายลง เพราะการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์”
1
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้มันกำลังสร้างภาระอย่างมากต่อการรับมือของประเทศไทย เพราะความไม่เพียงพอของประเทศเพื่อนบ้านที่ยังล้าหลังกว่าหลายทศวรรษในการพัฒนาสังคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพ ซึ่งกำลังทำลายระบบการป้องกันการแพร่ระบาดตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา
1
นี่ไม่ใช่การกล่าวโทษหรือกล่าวหา แต่มันคือความจริงที่เราต้องพบเจอ สิ่งที่เราทำได้ก็คือ เร่งทดสอบเชื้อให้มากและครอบคลุมที่สุด รวมทั้งการป้องกันตัวเองอย่างที่เราเคยทำมาตลอด ซึ่งทำให้รอดพ้นจากการติดเชื้อเป็นวงกว้างมาได้ เพราะไม่ว่าจะอย่างไร เราก็ไม่สามารถยกประเทศหนีไปไหนได้ และเรายังต้องอยู่กับไวรัสนี้ไปอีกนานจนกว่ามันจะกลายเป็นแค่โรคธรรมดาๆ เหมือนกับทุกโรคที่เคยผ่านมาแล้วนั่นเอง
1
โฆษณา