19 ม.ค. 2021 เวลา 13:31 • การศึกษา
ลิขสิทธิ์ VS สิทธิบัตร ต่างกันอย่างไร
เรารู้จักคำว่าลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรกันมาแล้วจากบทความก่อน แต่อาจยังแยกความแตกต่างไม่ออก สมมุติว่าถ้าเรามีงานออกแบบหรืองานประดิษฐ์อยู่ชิ้นหนึ่ง แล้วเราควรจะจดคุ้มครองเป็นลิขสิทธิ์หรือเป็นสิทธิบัตรดี วันนี้เรามีหลักการพิจารณา เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ว่าจะจดงานของท่านเป็นสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ดีค่ะ
1
🚩 ลิขสิทธิ์ ( Copyright )
คือ งานด้านความคิดสร้างสรรค์ในสาขาวรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม งานภาพยนต์ หรืองานอื่นใดในแผนกวิทยาศาสตร์
🚩 สิทธิบัตร (Patent )
คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) หรือ ผลิตภัณฑ์อรรถประโยชน์ (Utility Model) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด
⛳ ความแตกต่างของ ลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตร
👉 ลิขสิทธิ์เป็นกฎหมายที่มีไว้คุ้มครองงานสร้างสรรค์ที่มีลักษณะเป็นงานศิลปกรรม วรรณกรรม งานถ่ายภาพ งานแพร่ภาพกระจายเสียง หรืองานทางด้านศิลปะอื่นๆ ซึ่งมีระบุไว้ในพรบ.ลิขสิทธิ์ ซึ่งประกอบไปด้วย
1
>> งานวรรณกรรม (รวมไปถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์)
>> งานการแสดง
>> งานวิจิตรศิลป์ ศิลปกรรม ได้แก่ ภาพวาด ประติมากรรม งานพิมพ์ งานตกแต่งสถาปัตย์ ภาพถ่าย ภาพวาดเขียน แผนที่ ภาพร่าง งานประยุกตศิลป์ (งานประยุกตศิลป์ได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ 25 ปีหลังจากวันจัดสร้าง)
>> งานดนตรี
>> งานสิ่งบันทึกเสียง (เทป ซีดี)
>> งานโสตทัศนวัสดุ (วีซีดี ดีวีดี ที่มีภาพหรือมีทั้งภาพและเสียง)
>> งานภาพยนตร์
>> งานแพร่เสียงแพร่ภาพ
>> งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ
👉 สำหรับสิทธิบัตรนั้นมีไว้เพื่อคุ้มครองงานประดิษฐ์ งานออกแบบผลิตภัณฑ์ หรืองานวิจัย ซึ่งจะต้องมีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสามารถผลิตได้ในระบบอุตสาหกรรมด้วย
เพื่อให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้
ตัวอย่าง 1
หากเราแต่งหนังสือขึ้นมาสักเล่มหนึ่ง แล้วต้องการจดทะเบียนไม่ให้มีใครคัดลอกเนื้อหา หรือทำซ้ำลอกเลียนหนังสือของเรา อันนี้จะถือเป็นงานลิขสิทธิ์และต้องจดเป็นลิขสิทธิ์เพราะถือเป็นงานวรรณกรรม งานประพันธ์
** ดังนั้น หนังสือและงานประพันธ์ต่างๆ ถือเป็นงานลิขสิทธิ์
1
ตัวอย่าง 2
หากเรามีงานวิจัยหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ได้คิดค้นขึ้นมาได้และต้องการคุ้มครองงานของเรา เช่น สูตรสารเคมี, กรรมวิธีการผลิต กรรมวิธีการเก็บรักษา ตลอดจนกลไก หรือองค์ประกอบทางวิศวกรรม สามารถขอรับความคุ้มครองเป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์หรืออนุสิทธิบัตรได้
แต่ยังมีสิทธิบัตรอีกประเภทเรียกว่า สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะรูปร่างรูปทรง สีสัน ลวดลายภายนอกของผลิตภัณฑ์เท่านั้น โดยขอบเขตความคุ้มครองไม่รวมถึงกลไกการทำงานภายในแบบผลิตภัณฑ์นั้นๆ
** ดังนั้น งานประดิษฐ์และงานวิจัยต่างๆ ถือเป็นงานสิทธิบัตร
1
💥 นอกจากลิขสิทธิ์ และสิทธิบัตรแล้ว ก็ยังมีเครื่องหมายการค้าอีกหนึ่งรายการที่คนอาจจะค่อนข้างสับสน ในการเลือกจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา
🚩 เครื่องหมายการค้า (Trade mark)
หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้า หรือบริการ
ตัวอย่าง 3
ถ้าออกแบบโลโก้ หรือออกแบบแบรนด์ขึ้นมา เราจะสามารถจดเป็นสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ดี แต่จริงๆแล้วโลโก้หรือแบรนด์ ไม่สามารถจดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรได้เพราะจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าแยกต่างหาก
ถึงแม้ว่าโลโก้นั้นจะเป็นภาพวาดหรือลายกราฟิกซึ่งน่าจะได้รับการคุ้มครองตาม พรบ. ลิขสิทธิ์ แต่วัตถุประสงค์นั้นมีไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้า ดังนั้นก็ต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงจะได้รับความคุ้มครอง
1
** ดังนั้น โลโก้ต้องจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า
สรุปคือ
📌 ถ้าเป็นงานประพันธ์ วรรณกรรม ภาพวาด ภาพถ่าย งานแต่งเพลง หรืองานศิลปะอื่นๆ ให้จดเป็น ลิขสิทธิ์
📌 ถ้าเป็นงานประดิษฐ์ งานวิจัยหรืองานออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้จดเป็น สิทธิบัตร
📌 ถ้าเป็นงานออกแบบโลโก้และใช้เป็นเครื่องหมายการค้าหรือใช้เป็นแบรนด์ของเรา ให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
💥 อย่างไรก็ตามลิขสิทธิ์นั้นแตกต่างกับเรื่องสิทธิบัตรหรือเครื่องหมายการค้าอยู่เล็กน้อย คือ
📌 งานลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองทันทีเมื่อมีการสร้างขึ้นมา โดยไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียนก็ได้ แต่ถ้าเกิดว่าเราต้องการหลักฐานว่าเราเป็นผู้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาจริงเพื่อเอาไปใช้เป็นหลักฐานก็สามารถทำได้โดยการไปจดแจ้งลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
2
📌 ส่วนเครื่องหมายการค้ากับสิทธิบัตรนั้นจะต้องจดทะเบียนก่อนจึงจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย โดยยึดหลักที่ว่าใครจดทะเบียนก่อนก็ได้มีสิทธิ์ก่อน คนที่มาทีหลังก็จะไม่สามารถจดทะเบียนซ้ำได้
1
💦.....อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คิดว่าคุณผู้อ่านคงจะสามารถแยกความแตกต่างระหว่างลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าได้แล้วนะคะ และคงจะรู้แล้วว่า หากเรามีผลงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรจะจดเป็นอะไรดีแล้วอย่าลืมจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาของเรากันนะคะ จะได้ไม่ต้องมาปวดหัวภายหลังหากถูกละเมิดค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามนะคะ 🙏🙏😘😘

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา