17 ม.ค. 2021 เวลา 13:25 • การศึกษา
ทรัพย์สินทางปัญญาคืออะไร
จากกระแสดราม่า! ที่บริษัทมาเลย์ยื่นจดเครื่องหมายการค้า ‘เสือร้องไห้’ เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเครื่องหมายการค้า เป็นทรัพย์สินทางปัญญาชนิดหนึ่ง ทำให้หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วมันคืออะไร และมีผลอย่างไร วันนี้เราจะพาท่านมาทำความรู้จักกับทรัพย์สินทางปัญญากันค่ะ
บางท่านอาจจะคุ้นเคยกับคำว่าทรัพย์สินมาบ้างแล้ว โดยทรัพย์สินแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สังหาริมทรัพย์ คือสินทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายได้ เช่น นาฬิกา รถยนต์ โต๊ะ โทรศัพท์ เป็นต้น และอสังหาริมทรัพย์ คือสินทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นต้น
👉 ส่วน ทรัพย์สินทางปัญญา หมายถึง ผลงานอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทรัพย์สินอีกชนิดหนึ่ง นอกเหนือจากสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ทรัพย์สินทางปัญญาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
📌ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม
📌ลิขสิทธิ์
หมายเหตุ : คนไทยส่วนใหญ่มักจะใช้คำว่า "ลิขสิทธิ์" แทนการเรียกทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องนักค่ะ
1
⛳ ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม
คือ ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่เกี่ยวกับสินค้าอุตสาหกรรม ความคิดสร้างสรรค์นี้จะเป็นความคิดในการพัฒนา หรือประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาใหม่ การออกแบบผลิตภัณฑ์ทางอุตสาหกรรม รวมไปถึงเครื่องหมายการค้าหรือยี่ห้อ ซื่อและถิ่นที่อยู่ทางการค้า ที่รวมถึงแหล่งกำเนิดสินค้าและการป้องกันการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมด้วย
ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม สามารถแบ่งออกได้ดังนี้
✔ สิทธิบัตร (Patent)
✔ เครื่องหมายการค้า (Trademark)
✔ แบบผังภูมิของวงจรรวม (Layout - Designs Of Integrated Circuit)
✔ ความลับทางการค้า (Trade Secrets)
✔ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication)
จะขออธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมในแต่ละหัวข้อ ดังต่อไปนี้
📌 สิทธิบัตร หมายถึง หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ (Invention) หรือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial Design) ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่
>> สิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention Patent)
>> สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design Patent)
>> อนุสิทธิบัตร (Petty Patent) ซึ่งผู้ทรงสิทธิบัตรมีสิทธิเด็ดขาด หรือ สิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาผลประโยชน์จากการประดิษฐ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น ภายในระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
📌 เครื่องหมายการค้า หมายถึง เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้า หรือบริการ ได้แก่
>> เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คือเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น เนสกาแฟ ทรีโอ บรีส โอโม่ เป็นต้น
>> เครื่องหมายบริการ (Service Mark) คือ เครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น เช่น เครื่องหมายของสายการบิน ธนาคาร โรงแรม เป็นต้น
>> เครื่องหมายรับรอง (Certification mark) คือเครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองสินค้าและบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของสินค้า หรือบริการนั้น เช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ TuvNord ISO 9000 เป็นต้น
>> เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) คือ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้โดยบริษัทหรือรัฐวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน เช่น ตราสิงห์ของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เป็นต้น
📌 แบบผังภูมิของวงจรรวม หมายถึง แผนผังหรือแบบที่ทำขึ้น เพื่อแสดงถึงการจัดวางและการเชื่อมต่อวงจรไฟฟ้า เช่น ตัวนำไฟฟ้า หรือตัวต้านทาน เป็นต้น
📌 ความลับทางการค้า หมายถึง ข้อมูลการค้าที่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และมีมูลค่าในเชิงพาณิชย์เนื่องจากข้อมูลนั้นเป็นความลับ และมีการดำเนินการตามความสมควรเพื่อรักษาข้อมูลนั้นไว้เป็นความลับ
📌 สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หมายถึง ชื่อ สัญลักษณ์ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เรียกหรือใช้แทน แทนแหล่งภูมิศาสตร์ และสามารถบ่งบอกว่าสินค้าที่เกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์นั้นเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ หรือคุณลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์นั้น เช่น ผัดหมี่โคราช ปลาจ่อมประโคนชัย ส้มบางมด เป็นต้น
⛳ ลิขสิทธิ์
ลิขสิทธิ์ หมายถึง สิทธิแต่เพียงผู้เดียวของผู้สร้างสรรค์ที่จะกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นตามประเภทลิขสิทธิ์ที่กฎหมายกำหนด รวมถึงให้ความคุ้มครองสิทธิของนักแสดงด้วย
ลิขสิทธิ์ สามารถแบ่งออกได้เป็นงานสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ ดังนี้
>> วรรณกรรม (หนังสือ จุลสาร โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ฯลฯ)
>> นาฏกรรม (ท่ารำ ท่านเต้น ฯลฯ)
>> ศิลปกรรม (จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สถาปัตยกรรม ภาพถ่าย ภาพประกอบ แผนที่ ศิลปประยุกต์ ฯลฯ)
>> ดนตรีกรรม (คำร้องที่แต่งเพื่อประกอบทำนอง ทำนองและคำร้อง ฯลฯ)
>> โสตทัศนวัสดุ (ดีวีดี)
>> ภาพยนตร์ (ดีวีดี)
>> สิ่งบันทึกเสียง (ซีดี)
>> งานแพร่เสียงแพร่ภาพ (รายการวิทยุ รายการโทรทัศน์) (ดีวีดี)
>> งานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
👉 อนึ่งสิ่งที่ยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ไม่ได้ ได้แก่
>> ความคิด ขั้นตอน กรรมวิธี ระบบ วิธีใช้หรือวิธีทำงาน แนวความคิด หลักการ การค้นพบ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์
>> ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่างๆที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร
>> รัฐธรรมนูญและกฎหมาย
>> ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือท้องถิ่น
>> คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานทางราชการ
>> คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆ ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานใดของรัฐหรือของท้องถิ่นที่จัดทำขึ้น
💦.....นอกจากนี้ ก็ยังมีสินทรัพย์ทางปัญญา ที่เรียกว่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ซึ่งในรายละเอียดค่อนข้างเยอะมาก ผู้เขียนจึงจะขอยกไปกล่าวต่อในบทความต่อๆไปนะคะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามนะคะ 🙏🙏😘😘

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา