31 ธ.ค. 2020 เวลา 09:00 • การศึกษา
3 วิธีแก้ปัญหาสำหรับนัก(ไม่กล้า)เขียน
#บทความ #นักเขียน #การเขียน #เทคนิคดี ๆ
อยากเป็นนักเขียนก็ต้องเขียน เรื่องนี้ใคร ๆ ก็รู้กันอยู่แก่ใจทั้งนั้น แต่สำหรับหลายคนแล้วมันก็ไม่เคยง่ายอย่างที่ว่ามาเลยสักนิด ผลที่ตามมาก็คือ “เอาไว้ก่อน” ตอนนี้ยังไม่อยากเขียน ตอนนี้ยังไม่กล้าเขียน ทำให้จนแล้วจนรอดก็ไม่มีงานอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน
เหตุมาจากความกลัวและความคิดที่ว่าตัวเองจะเขียนออกมาไม่ดี กลัวว่าสำนวนภาษาที่ใช้จะไม่สละสลวย กลัวว่าเมื่อเขียนไปข้อมูลจะผิดแล้วโดนตำหนิ หรือเขียนไปแล้วแต่ไปต่อไม่ได้ สุดท้ายจึงลงเอยด้วยการวางปากกาหรือถอนนิ้วออกจากคีย์บอร์ด
วันนี้ผมเลยเอา 3 วิธีง่าย ๆ มาฝากนัก(ไม่กล้า)เขียนหลาย ๆ คน ซึ่งผมก็เคยเป็นมาก่อนและก็เคยใช้วิธีเหล่านี้ได้ผลมาแล้ว
1. ไม่ให้อ่าน
จะให้สลัดความคิด ความกลัวที่ว่าถ้าเขียนไปแล้วจะมีคนอยากอ่านไหม เขียนไปแล้วเขาจะเข้าใจที่เราสื่อหรือเปล่า กลัวข้อมูลไม่แน่นพอ หรือภาษาของเรามันดีพอแล้วหรือยัง ฯลฯ คงจะทำไม่ได้ในทันที และถ้าเรายังติดอยู่กับความคิดเหล่านี้คงไม่ต้องได้เริ่มอะไรกันแล้ว ดังนั้นอย่าไปสนใจมันมากมาลองทำวิธีแบบนี้ดู
ให้เริ่มลงมือเขียนโดยนึกไว้เสมอว่างานชิ้นนี้จะไม่มีใครได้อ่านมัน เขียนเสมือนว่าเรากำลังเขียนงานสำหรับเราคนเดียว การทำแบบนี้จะช่วยให้เรากล้าตัดสินใจเขียนได้ง่ายขึ้น ดึงออกจากความคิดที่เอาคนอื่นเป็นที่ตั้ง
ทั้งยังช่วยให้เรากล้าใส่ความคิดเห็นหลาย ๆ อย่างลงไปด้วย จากนั้นจึงค่อยมานั่งดูเรื่องของสำนวน การวรรคตอน การเพิ่มหรือลดเบื้อหาที่ไม่จำเป็น เริ่มแบบนี้เราจะได้จับงานเป็นชิ้นเป็นอันมากกว่านั่งคิดเองเฉย ๆ
2. จาก 1 ไปถึง 100
อีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้เราไม่กล้าเขียนก็คือไม่รู้จะเขียนอะไร ไม่มีเรื่องอะไรน่าสนใจพอจะให้เขียน หรือแม้แต่เขียนออกมาแล้วเนื้อหามันไปต่อไม่ได้ ก่อนที่จะลงเอยในแบบเดิม ๆ ว่างั้นก็เอาไว้ก่อน ขอไปหาเรื่องใหม่หรือหาข้อมูลเพิ่มก่อน ซึ่งเอาจริง ๆ เราสามารถฝึกได้ง่าย ๆ โดยที่อาจจะไม่ต้องลงทุนไปหาข้อมูลเพิ่มเลยด้วยซ้ำ
ก่อนอื่นให้เราเริ่มจาก 1 ก่อน ลองเลือกคำขึ้นมา 1 คำ แล้วเริ่มเขียนขยายเนื้อหาจากคำนั้นออกมาให้ได้ 1 บรรทัด เช่น “ดอกไม้” เราอาจจะเขียนขยายออกไปถึงวิธีดูแลดอกไม้ เรื่องภาษาดอกไม้ หรือแม้แต่ดอกไม้ที่แฟนเก่าชอบซื้อให้ก็ได้เช่นกัน
 
แนะนำว่าให้เริ่มจากคำหรือเรื่องใกล้ตัว เรื่องที่ตัวเองชอบก่อน เพราะจะทำให้เราเขียนขยายออกมาได้ง่ายกว่า จากนั้นก็ให้ฝึกเปลี่ยนคำไปเรื่อย ๆ ขยายจาก 1 คำเป็น 1 บรรทัด จาก 1 คำเป็น 1 ย่อหน้า จาก 1 คำเป็น 1 หน้ากระดาษ ถ้าเจอเรื่องถูกใจอาจจะขยายไปได้เรื่อย ๆ เลย
3. จะเขียนแค่นี้
หลายครั้งเจอเหตุการณ์ที่ว่าพอเริ่มเขียนไปแล้วมันรู้สึกตัน รู้สึกเริ่มเบื่อก่อนที่จะเขียนจบ สิ่งที่ทำคือลุกไปพักทำอย่างอื่นแล้วก็ไม่ได้กลับมาเขียนต่ออีกเลย เป็นหนึ่งปัญหาที่ทำให้นักเขียนมือใหม่หลายคนทิ้งงานค้างไว้จำนวนมากและไม่อยากจะเขียนงานใหม่ ๆ ต่อ สาเหตุมันมาจากว่าเรามองไม่เห็นเป้าหมายหรือเส้นชัยของตัวหนังสือ
สิ่งที่ต้องทำคือการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน ในที่นี้คือการกำหนดจำนวนคำที่จะเขียน หากเขียนใน Word ด้านล่างก็จะมีตัวเลขบอกจำนวนคำที่พิมพ์บอกไว้อยู่ ให้เรากำหนดเลยว่าวันนี้จะเขียนกี่คำ 100, 300, 500, .... เพราะการเขียนก็เหมือนกับการวิ่งหากต้องวิ่งไปเรื่อย ๆ โดยไม่เห็นเส้นชัยมันก็ต้องท้อเป็นธรรมดา
จากนั้นให้หยุดเมื่อครบจำนวนที่กำหนดแม้อาจจะอยากเขียนต่อ ให้ความอยากนั้นเป็นแรงผลักดันในการเขียนรอบหน้า ช่วงแรกให้ลองฝึกแบบนี้จะได้ผลดีกว่านั่งเขียนไปเรื่อยเปื่อย
3 วิธีนี้เหมาะสำหรับให้คนที่กำลังเริ่มเขียนหรือคนที่ยังไม่กล้าเขียนงานของตัวเองออกมา ทุกอย่างมีขั้นมีตอนของมันเอง ฉะนั้นค่อย ๆ ฝึกไปสักพักเราจะเขียนได้คล่องขึ้นมาไม่รู้ตัว ขอแค่ว่าวันนี้อย่าพึ่งถอดใจวางมือออกจากปากกาหรือถอนนิ้วออกจากคีย์บอร์ดไปเสียก่อน
ไปกันต่อ...
5 เทคนิคเขียนบทความดีให้มีคนรออ่าน
โฆษณา