3 ม.ค. 2021 เวลา 11:06 • สุขภาพ
ไทยผลิตวัคซีนโควิค-19 ล็อตแรกได้แล้ว
พร้อมฉีด 26 ล้านโดสปลายพฤษภานี้
ดร.ทรงพล ดีจงกิจ แถลงความคืบหน้าการผลิตวัคซีน : แถลงข่าวสธ.
สรุปความคืบหน้าการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาโดยสยามไบโอไซเอนซ์
วันนี้งานแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุขนอกจากรายงานยอดผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ประเด็นสำคัญที่มีความคืบหน้าออกมาเพิ่มเติมซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีนั่นก็คือ...
ประเทศไทยโดยโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 จากบริษัทยาแอสตราเซเนกาที่ร่วมวิจัยกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเรียบร้อยแล้ว
ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้เผยว่าความร่วมมือดังกล่าวเกิดจากหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือ SCG ซึ่งมีความสัมพันธ์อันดีแต่เดิมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดทำให้ดีลดังกล่าวเกิดขึ้น
1. เริ่มจากที่แอสตราเซเนกาต้องการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับโรงงานที่สามารถผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ไม่ใช่แค่การแบ่งบรรจุเท่านั้นนอกจากนี้ยังต้องการกำลังการผลิตที่ต้องมากเพียงพอ
2. โรงงานผลิตของสยามไบโอไซเอนซ์มีขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนได้ราว 200 ล้านโดสต่อปี ซึ่งจุดสำคัญตรงนี้ทำให้แอสตราเซเนกาเลือกไทยเป็นแหล่งผลิตและกระจายวัคซีนไปยังภูมิภาคอาเซียนด้วย
3. การถ่ายทอดเทคโนโลยีดำเนินมาตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2563 โดยแรกเริ่มเป็นการเตรียมด้าน know how และการปรับปรุงสายการผลิตให้เหมาะสำหรับวัคซีนชนิดดังกล่าว ซึ่งต้องตรงตามมาตรฐานวัคซีนของแอสตราเซเนกาที่ผลิตจากที่อื่นๆทั่วโลก
4. ณ ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนทดสอบการผลิตซึ่งต้องทำทั้งหมด 5 ล็อตเพื่อยืนยันถึงมาตรฐานที่มากพอของตัวโรงงานผลิต วัคซีนที่ได้แต่ละรอบต้องไม่แตกต่างไปจากเดิมโดยข้อมูลดังกล่าวจะต้องใช้ยื่นต่อองค์การอาหารและยาของไทยเพื่ออนุมัติต่อไป
5. การผลิตแต่ละล็อตจะกินระยะเวลา 120 วัน แบ่งคร่าวๆเป็นการผลิตตามขั้นตอน 60 วันและอีก 60 วันจะเป็นการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพโดยแอสตราเซเนกาก็จะเข้ามาดูในจุดนี้ด้วย
6. การผลิตวัคซีนแต่ละล็อตจะใช้วิธีการผลิตห่างกัน 14 วัน โดยที่ล็อตแรกได้เริ่มผลิตแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมาซึ่งล่าสุดอยู่ในกระบวนการผลิตล็อตที่สอง คาดว่าจะเร่งการผลิตได้เต็มขีดความสามารถ 3.5-4 ล้านโดสต่อล็อตภายในปลายมกราคมนี้
7. การผลิตทั้ง 5 ล็อตคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนเมษายนและข้อมูลการผลิตแต่ละล็อตจะถูกส่งให้ อย.พิจารณาและทำการอนุมัติเพื่อนำไปใช้เป็นลำดับถัดไป
8. ปลายพฤษภาคม 2564 คาดว่าจะมีกำลังการผลิตทั้งหมดได้รวม 26 ล้านโดสและจะทยอยกระจายไปตามระบบลูกโซ่ความเย็นขององค์การเภสัชกรรมซึ่งรองรับอุณหภูมิ 2-8 ํC ที่วัคซีนดังกล่าวต้องการได้
9. การฉีดวัคซีนจะมีการออกแบบลำดับในการได้รับวัคซีน เช่น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ โรคเรื้อรัง ซึ่งก็ขึ้นกับจำนวนวัคซีนที่จะค่อยๆออกมาด้วย
ส่วนในกรณีของชาวต่างชาติจะไม่ได้รับสิทธิวัคซีนฟรี แต่จะสามารถเข้ารับวัคซีนของบริษัทอื่นๆที่เตรียมเข้ามาให้บริการในโรงพยาบาลต่างๆได้ โดยที่ต้องรอการอนุมัติวัคซีนเหล่านี้จากอย.ไทยก่อน เช่น วีคซีนของไฟเซอร์และโมเดอนา
10. เร็วๆนี้จะมีการทำระบบลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีน โดยการแจกจ่ายจะทำผ่านโรงพยาบาลตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศรวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งจะมีการติดตามการรับวัคซีนในประชาชนทั้งในแง่ความปลอดภัยและประสิทธิภาพหลังการได้รับวัคซีนต่อไป
ทั้งนี้วัคซีนของแอสตราเซเนกาที่พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้รับการอนุมัติให้ใช้ในสหราชอาณาจักรช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพที่ดีและมีราคาค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับวัคซีนของบริษัทอื่นๆ
References:
งานแถลงข่าวประจำวันสถานการณ์โควิด-19 โดยกระทรวงสาธารณสุข
โฆษณา