5 ม.ค. 2021 เวลา 13:22 • ไอที & แก็ดเจ็ต
หูฟังหลักร้อย คุณภาพเสียงหลักพัน
.
เนื่องด้วยโควิดเจ้าปัญหามาทำให้ทุกอย่างวุ่นวายขึ้น หลาย ๆ คนอาจจะมีความเครียดเนื่องจากงานที่ได้รับผลกระทบ บ้างอาจจะมีงานที่ยุ่งขึ้น หรือบางคนอาจจะเครียดเพราะออกไปไหนไม่ได้
ดังนั้นวันนี้ IT Girl อยากให้ลองหาหูฟังคู่ใจสักตัวหนึ่ง และใช้เวลาไปกับการฟังเพลงที่ชื่นชอบเพื่อผ่อนคลายความเครียด
.
.
.
1
เมื่อได้หูฟังแล้ว IT Girl จะขอนำเสนอวิธีการปรับแต่ง EQ บนมือถือเพื่อยกระดับเสียงเพลงให้ฟังแล้วรู้สึกสบายหูขึ้น ให้เสียงใกล้เคียงกับหูฟังดี ๆ คู่หนึ่ง
สำหรับใครยังไม่เคยลองทำ อยากให้ลองทำดู แล้วโลกการฟังเพลงของคุณจะเปลี่ยนไป (อาจถึงขั้นกลับไปฟังแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไปเลยก็ได้) หรือใครที่เคยปรับแล้วแต่ยังงง ๆ ไม่เข้าใจ ยังไม่ได้เสียงที่ถูกใจ บทความนี้จะขอนำเสนอแนวทางการปรับแต่งเสียงเพลงบนมือถือของเพื่อน ๆ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการฟังเพลงให้มากยิ่งขึ้น
จะเป็นอย่างไรนั้น เราไปชมกันเลย
.
.
.
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับเจ้า Equalizer กันก่อน
ที่มา: https://millionheadpro.com/
หากดูความหมาย Equalizer จะแปลว่าการทำให้เท่ากัน
การใช้งานของมันก็ตรงตามความหมายเลย
Equalizer เรียกสั้น ๆ ว่า EQ คือการ balance ย่านความถี่ต่าง ๆ ของเสียงให้เท่ากัน เพื่อให้เสียงที่ออกมาจากลำโพงในแต่ละย่านความถี่นั้นเที่ยงตรงและถูกต้องมากที่สุด นิยมใช้ในเครื่องเสียงระดับมืออาชีพ เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น เสียงไมค์หอน แก้ Acoustic room หรือใช้ตัดย่านเสียงที่ไม่ต้องการออกไป เพื่อให้เสียงสมดุลในทุกย่าน และออกมาเป็นธรรมชาติที่สุด
แต่ในยุคหลัง ๆ เจ้า EQ เป็นที่นิยมมากขึ้นในการฟังเพลงทั่วไป เพื่อเพิ่มสีสันในการฟังเพลง มีการนำเจ้า EQ มาใส่บนโทรศัพท์มือถือ โดยบนโทรศัพท์มือถือนั้นจะเรียกว่า graphic EQ
การใช้งานก็ง่ายมาก ตัวเลขที่แสดงในแนวนอนคือความถี่เสียง(Hz) โดยทางซ้ายสุดจะเป็นเสียงย่านความถี่ต่ำ ขวาสุดเป็นเสียงย่านความถี่สูง การปรับก็คือปรับความดังของเสียง(dB) ในย่านความถี่ต่าง ๆ นั่นเอง
ที่มา: https://www.jihosoft.com/android-tips/equalizer-bass-booster-apps.html
วิธีการเข้า สำหรับผู้ใช้ Samsung
ให้ไปที่ Settings -> Sounds and vibration -> Sound quality and effects
เมื่อเข้าไปถึง ให้กดตรง Equalizer แล้วเลือกเป็น custom ก็จะมีแผงตัวเลื่อนหลาย ๆ อันให้เลื่อนได้ เพียงเท่านี้เราก็สามารถปรับ EQ เองได้แล้ว
เกร็ดความรู้
เมื่อเรามองไปบนแผง EQ จะเห็นได้ว่า ย่านที่สามารถปรับได้บนตัว EQ นั้นจะเริ่มต้นที่ประมาณ 20Hz ถึง 20kHz เนื่องจากหูของคนเรานั้นไม่สามารถได้ยินทุกความถี่ได้ ตามทฤษฏี หูของมนุษย์นั้นสามารถได้ยินเสียงได้ตั้งแต่ 20 - 20,000 Hz ยิ่งถ้าเราแก่ตัวลง หูของเราจะยิ่งได้ยินเสียงสูง ๆ ได้น้อยลง เหลือเพียงราว ๆ 15 - 16 kHz เท่านั้น เพราะฉะนั้น ถึงมีให้ปรับย่านที่เกินกว่านี้ หากปรับไปเราก็ไม่ได้ยินอยู่ดีนั่นเอง
.
.
.
ในวันนี้ IT Girl ก็มีเทคนิคในการเล่น EQ มาแนะนำอยู่ 3 ข้อ
คำเตือน: การปรับ EQ ไม่มีถูกผิด แต่เป็นการปรับแนวเสียงให้เข้ากับจริตผู้ฟังมากที่สุด
.
.
1
1. ต้องรู้ว่าเสียงแต่ละเสียงอยู่ย่านความถี่ไหนบ้าง
หากแบ่งโดยละเอียด จะแบ่งได้ดังนี้
- Sub Bass: 20 – 60 Hz
การปรับย่านนี้จะให้ความรู้สึกมากกว่าที่จะได้ยิน เนื่องจากเป็นย่านที่ควบคุมความกระหึ่ม ความรู้สึกของการสั่นสะเทือน โดยส่วนใหญ่เสียงที่ย่านนี้ถูกผลิตออกมาจากลำโพง subwoofer การ boost เสียงในย่านนี้ จะทำให้เพลงดูมีพลัง แต่ถ้าลดมากเกินไปก็จะทำให้เพลงขาดพลัง
- Bass: 60 - 250 Hz
เป็นย่านที่ส่งผลต่อความแน่นของเพลง เป็นความถี่ระดับพื้นฐาน (Fundamental) ของกีตาร์เบส และ เครื่องดนตรีประเภทให้จังหวะ เช่น Kick-drum ย่านความถี่นี้จะควบคุมความเต็มแน่นของเสียงนั้น ๆ
- Low Midrange: 250 - 500 Hz
เป็นย่านความถี่เสียงควบคุมความคมของเสียงเบส การ boost ย่านความถี่ช่วง 300 Hz จะช่วยให้เครื่องดนตรีที่ผลิตเสียงความถี่ต่ำมีโทนเสียงที่ชัดเจนขึ้น
แต่หาก boost ในช่วง 500 Hz มากเกินไปจะทำให้เสียงดูอู้ เครื่องดนตรีประเภทให้เสียงย่านความถี่กลาง (Mid-range) เช่น กีตาร์, เสียงร้อง และ คีย์บอร์ด จึงนิยม cut ย่านความถี่ในช่วงนี้ลง เพื่อทำให้เสียงไม่อู้จนเกินไป
1
- Midrange: 500 Hz - 2 kHz
เป็นย่านที่ใช้กำหนดความโดดเด่น ความชัดเจน ของเครื่องดนตรีต่าง ๆ ย่านความถี่นี้สำคัญสำหรับเสียงพูด
การปรับเพิ่มระดับเสียงในย่านนี้มากเกินไป อาจจะทำให้หูล้าได้ เมื่อฟังไปนาน ๆ
- Upper Midrange: 2 - 4 kHz
เป็นย่านที่หูคนเราสามารถตอบสนองได้ดีมาก ทำให้การ boost หรือ cut ความถี่ในช่วงนี้เพียงนิดเดียวก็ส่งผลต่อเสียงเป็นอย่างมาก โดยปกติแล้วเสียงในย่านนี้จะเป็นเสียง Attack ของเครื่องดนตรีเช่นกลองเป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นย่านที่ส่งผลต่อความโดนเด่น ความคมของเสียงร้องอีกด้วย
การปรับเพิ่มระดับเสียงในช่วง 3 kHz มากเกินไปจะทำให้หูล้าได้เช่นกัน
2
- Presence: 4 - 6 kHz
เป็นย่านที่ส่งผลโดยตรงต่อความคมชัดของเสียงโดยรวม นอกจากนี้ยังควบคุมความรู้สึกเรื่องระยะทาง ความใกล้-ไกลของเสียงต่าง ๆ
การ boost เสียงในย่านนี้จะทำให้เสียงดูหยาบ กระด้าง ขณะเดียวกันถ้า cut มากเกินไปก็จะทำให้รู้สึกเหมือนเครื่องดนตรีต่าง ๆ อยู่ห่างออกไป
- Brilliance: 6 - 20 kHz
ย่านนี้จะสัมพันธ์กับ ความใส ความชัดเจน เสียงฉ่า(Sizzle) และ Air ของงานมิกซ์
การ boost ในช่วง 12 kHz ขึ้นจะทำให้เสียงดู Hi-Fi ขึ้น แต่ก็ควรระวัง เพราะการ boost ที่มากเกินไปในย่านนี้อาจะทำอันตรายต่อหู
และนี่ก็เป็นทฤษฎีโดยละเอียด ถ้าเพื่อน ๆ จำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะ IT Girl มีสรุปง่าย ๆ โดยอ้างอิงตามโทรศัพท์มือถือของเพื่อน ๆ ว่าแต่ละความถี่นั้นปรับเสียงอะไร ดังนี้
63 เสียง Kick-drum (กลองเบส)
125 เสียงก้องของกลอง
250 เสียงกีตาร์เบส
500 เสียงก้องกังวาน + เสียงร้องต่ำ
1k เสียงร้องคนปกติ
2k เครื่องดนตรีเสียงแหลม เช่น ไวโอลิน เครื่องดนตรีในวงออร์เคสตร้าส่วนมาก
4k ความใกล้ไกลของเสียง
8k เสียง hiss
16k เสียงสังเคราะห์
ไม่ว่าช่องไหน อย่าปรับแบบสุดโต่ง การปรับควรประมาน 3-6 dB เตือนแล้วนะ!
.
ถ้าเพื่อน ๆ ยังไม่รู้จะปรับอะไรอย่างไร IT Girl ก็มีแนวทางการปรับเบื้องต้นสำหรับมือใหม่ให้ 2 วิธี ดังนี้
- สำหรับใครที่ชอบฟัง rhythm section อย่างพวกกลอง เบสให้มีความตึ้บ ให้ปรับแบบ v-shaped นั่นคือ boost ย่านความถี่ต่ำ และความถี่สูง และลดย่านเสียงกลางลงเล็กน้อย
- สำหรับใครที่ชอบฟังเสียงร้องเด่น ๆ ให้ boost ย่านเสียงกลาง และลดย่าน bass กับเสียงสูงลงเล็กน้อย เพื่อให้เสียงร้องลอยเด่นกว่าดนตรี
.
สำหรับเพื่อน ๆ ที่ใช้ iPhone จะไม่สามารถปรับ EQ ตรง ๆ ได้
แต่จะมีเป็นตัวเลือกให้เลือกว่าจะปรับเป็นแบบไหน ได้แก่
Balanced Tone -> boost ทุกย่านความถี่
Vocal Range -> boost เฉพาะย่านความถี่กลาง
Brightness -> boost เฉพาะย่านความถี่สูง
วิธีการเข้า สำหรับผู้ใช้ iPhone
ให้ไปที่ Settings -> Accessibility -> HEARING -> Audio/Visual -> Headphone Accommodations แล้วกด On
.
.
2. ปรับตามแนวเพลง เช่น jazz pop rock acoustic
คือเลือกใช้ preset ที่มีมาให้ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทาง Apple ก็มีมาให้เลือกอยู่หลายแนวทีเดียว แทบจะครอบคลุมทุกแนวเพลงบนโลกเลย
วิธีการเข้า สำหรับผู้ใช้ iPhone
ให้ไปที่ Settings -> Music -> PLAYBACK -> EQ
จากนั้นก็เลือกแนวเพลงได้ตามใจชอบ
ทาง Samsung ก็มีเช่นกัน แต่จะน้อยกว่า iPhone เนื่องจาก Samsung เป็นสายปรับ EQ
.
.
3. ปรับตามหูฟัง
คือปรับ EQ เพื่อเติมเต็มย่านเสียงที่หูฟังเราหายไป เช่น เสียงแหลมจม เสียงเบสจม หรือเสียงนักร้องไม่เด่น
ที่มา: www.soundguys.com
โดยในโทรศัพท์ Samsung และ iPhone จะมีฟังก์ชันให้ test หูฟังของเราได้ และระบบจะปรับเสียงให้
วิธีทำ สำหรับผู้ใช้ Samsung
ให้ไปที่ Sound quality and effects -> Adapt sound -> start
ก็จะมีเสียงมาให้ฟังทดสอบ แล้วระบบก็จะ adapt เสียงให้ เป็นการเติมเต็มเสียงในย่านความถี่ที่หูฟังเราขาดหายไป
เสร็จแล้วจะมีกราฟให้ดูว่าเสียงที่ปรับแล้ว (สีฟ้าเข้ม) กับยังไม่ปรับ (สีฟ้าอ่อน) นั้นเป็นอย่างไร
.
วิธีทำ สำหรับผู้ใช้ iPhone
จากหน้า Headphone Audio -> Custom Audio Setup
ก็จะมีเสียงมาให้ฟังทดสอบเช่นกัน เสร็จแล้วระบบก็ adapt เสียงให้เช่นเดียวกับ Samsung
เพียงเท่านี้เราก็จะได้ฟังเสียงแจ๋ว ๆ ใกล้เคียงหูฟังแพง ๆ ได้แล้ว
สุดท้าย อยากย้ำอีกครั้งว่า การปรับ EQ ไม่มีถูกผิดแต่อย่างใด เป็นเพียงการปรับแนวเสียงให้เข้ากับจริตผู้ฟังมากที่สุด
เพื่อน ๆ ลองไปปรับเองแล้วเป็นอย่างไร ชอบสไตล์ไหน มาแชร์กันได้น้า :)
ถ้าชอบ อย่าลืม กดไลค์ กดแชร์ กดติดตาม
ในตอนหน้าจะพูดถึงประเภทของหูฟัง และวิธีการเลือกซื้อนะคะ
แล้วเจอกันใหม่ในตอนหน้า
รักคนอ่าน เพราะคนอ่านน่ารัก <3
เพจเฟซบุ๊ค IT Girl
โฆษณา