6 ม.ค. 2021 เวลา 00:00 • กีฬา
[ #ผู้แพ้กำลังกลับมา? ]
1
หนึ่งในดีลยอดแย่ของประวัติศาสตร์การซื้อผู้เล่นเชลซี ต้องมีชื่อ อันเดร เชฟเชนโก้ อยู่ในลิสต์ด้วยแน่นอน
หลายคนยังจำได้อย่างแม่นยำในซัมเมอร์ปี 2006 ดาวถล่มประตูยูเครเนี่ยนโยกมาด้วยค่าตัวแพงถึง 30 ล้านปอนด์ ถือเป็นตัวเลขสูงมากๆในเวลานั้น
เบื้องหลังสำคัญคือ โรมัน อบราโมวิช ซึ่งปรารถนา เชว่า มาร่วมทัพนานแล้ว ประทับใจในลีลาล่าตาข่ายกับเอซี มิลาน ทำทุกวิถีทางเพื่อกระชากมาให้ได้ แม้ต้องใช้งบประมาณสูงลิบก็ตาม
ความจริงในปี 2005 เจ้าของสโมสรเชลซีผู้มั่งคั่ง เคยยื่นข้อเสนอ 73 ล้านยูโร พร้อมส่ง เอร์นาน เครสโป ให้เอซี มิลานรับไว้พิจารณาด้วย แต่ทางมิลานใจแข็งไม่ยอมปล่อยง่ายๆ
ปีเตอร์ เคนย่อน ซีอีโอสิงห์น้ำเงินในเวลานั้น เดินเครื่องเต็มสูบเพื่อปิดดีล ตามที่ อบราโมวิช บัญชา แต่อุปสรรคเยอะเหลือเกิน
มีการคุยรายละเอียดกันแล้ว พร้อมมอบสัญญาระยะยาว 6 ปีเลย เชว่า ตัวสั่นด้วยความอยากมาอยู่แล้ว ประสบความสำเร็จทุกอย่างครบถ้วนกับปีศาจแดงดำ ไม่ว่าจะเป็นเซเรีย อา , โคปปา อิตาเลีย , ซูเปร์โคปปา อิตาเลียน่า , ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีกและยูฟ่า ซูเปอร์ คัพ
รวมถึงเกียรติยศส่วนตัวได้ครองบัลลงดอร์ในปี 2004 ไม่นับปลีกย่อยอีกมากมาย เรียกว่ามาสุดทาง ไม่มีอะไรน่าท้าทายอีกต่อไป
แต่มิลานยืนกระต่ายขาเดียว ขอเก็บไว้ใช้งานก่อนแล้วกัน จากนั้นจึงใจอ่อนปล่อยให้ในฤดูร้อน 2006
1
แม้จะมาช้าไป 1 ปี อบราโมวิชก็แฮปปี้สุดๆ เชื่อกันว่ากองหน้ารายนี้จะระเบิดประตูได้เป็นกระบุงโกย ต่อยอดความสำเร็จได้อีกแน่นอน
แฟนบอลสิงห์น้ำเงินเองก็ปลาบปลื้มยิ่งนัก เพราะนี่กองหน้าดีกรีบัลลงดอร์ ครบเครื่องหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องปักหลักเป็นกองหน้าตัวเป้าด้วยซ้ำ
ในขณะที่แทบทุกคนตื่นเต้นมีความสุขกับดีลอันลือลั่น โชเซ่ มูรินโญ่ กลับไม่คิดเช่นนั้น
ต่อให้ เชว่า มีผลงานเปรี้ยงปร้าง ตัวเลขทำประตูในเรตสูงกับมิลาน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเข้ากับแนวทางในเวลานั้น
นั่นคือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ มูรินโญ่ ไม่ค่อยพอใจมากนัก เท่าที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าฝีมือเจ๋งแค่ไหน นำเชลซีครองแชมป์พรีเมียร์ลีก 2 สมัยรวด ซึ่งเป็นเรื่องยากลำบากเหลือเกินที่จะสลายขั้วอำนาจของอาร์เซน่อลและแมนฯยูไนเต็ด
เขาควรได้รับความไว้วางใจหรือมีอำนาจ ในการจัดการบริหารผู้เล่นด้วยตัวเอง ไม่ใช่มีฝ่ายบริหารมาแทรกแซงล้วงลูกอย่างนี้
2
มันเข้าข่าย คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ แต่ในฐานะลูกจ้างรับเงินจากเจ้าของ ได้แต่กล้ำกลืนฝืนไป พูดอะไรมากเกินก็จะเป็นภัยกับตัวเอง
เคยบอก อบราโมวิช ไปแล้วว่า เชว่า ไม่เหมาะกับตำแหน่งหน้าเป้าของเชลซี แต่ไม่ได้ช่วยให้ท่านประธานใหญ่เปลี่ยนใจเลย
ส่วน เชฟเชนโก้ เปิดตัวอย่างอลังการ โดยที่หารู้ไม่ว่าวิบากรรมกำลังจะเกิดขึ้น
ฤดูกาลแรกของ อังเดร เชฟเชนโก้ ที่เดอะ บริดจ์เต็มไปด้วยความยากลำบากสำหรับการปรับตัว
สมัยอยู่เอซี มิลาน ปัจจัยที่สนับสนุนให้ประสบความสำเร็จ มาจากแท็คติกของ คาร์โล อันเชล็อตติ ที่พร้อมช่วยผลักดันอย่างเต็มสูบ
ส่วนใหญ่แล้วสูตรการเล่นคือ 4-4-2 บทบาทของ เชว่า ไม่ใช่ยืนปักหลักในกรอบเขตโทษ แต่ถอยต่ำลงมาหรือบางทีถ่างออกด้านข้าง มีอิสระพอสมควร ไม่ได้ถูกบีบให้ต้องประจำการส่วนใดส่วนหนึ่ง
พอมาสวมยูนิฟอร์มเชลซี ไม่ใช่อย่างนั้น ด้วยระบบการเล่นแบบฉบับ มูรินโญ่ คือมีกองหน้าตัวเป้าอยู่ในพื้นที่อันตรายของฝ่ายตรงข้าม ส่งผลให้ เชว่า โดนจำกัดทั้งเรื่องของพื้นที่และอิสระ
นอกจากนี้ มูรินโญ่ เองก็ไม่ได้ให้ความสนใจ เชว่า มากนัก พร้อมทั้งประกาศเลยว่าลูกทีมต้องเล่นตามคำสั่ง ไม่อย่างนั้นก็คงร่วมงานกันลำบาก
แน่นอน โรมัน อบราโมวิช ผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังดีล เชว่า ก็หงุดหงิดตามไปด้วย ปฏิกิริยาของ มูรินโญ่ ดูไม่ค่อยให้ความร่วมมือ อีกทั้งไม่ได้ต้องการสนับสนุนกองหน้ารายนี้เลย
เอาเข้าจริงเมื่อคุณเป็นเจ้าของทีม เป็นคนจ่ายเงิน แล้วต้องเจอกับเรื่องแบบนี้มันเหมือนถูกหักหน้านั่นแหล่ะ
ซีซั่น 2006/07 จบลงพร้อมกับความผิดหวังของเชลซี เสียตำแหน่งแชมป์ให้แมนฯยูไนเต็ดที่ยกระดับขึ้นมาท้าทาย
ที่น่าผิดหวังไม่แพ้กันคือ เชว่า ยิงในพรีเมียร์ลีกได้แค่ 4 ประตูเท่านั้น จาก 30 เกมที่ลงโม่แข้ง สะท้อนเลยว่าต่ำมาตรฐานสุด
แม้รวมทุกรายการยอดจะอยู่ที่ 14 ประตู 10 แอสซิสต์ ก็ยังไม่ใช่เป้าหมายที่วางเอาไว้อยู่ดี
พอซีซั่นถัดมาแม้ มูรินโญ่ จะแตกหักกับ อบราโมวิช จนโดนปลดกลางอากาศในเดือนกันยายน 2007 แต่นั่นไม่ช่วยให้ เชว่า ฟอร์มดีขึ้นมาเลย ภายใต้การคุมทัพของ อัฟราม แกรนท์
แม้กุนซือชาวยิวจะพยายามให้ดาวยิงทีมชาติยูเครนลงเล่นต่อเนื่อง ปรับหมากต่างๆเพื่อเอื้อให้ฟอร์มดีขึ้น แต่คล้ายว่าความมั่นใจที่สูญหาย ไม่ย้อนกลับคืนอีก
ไหนจะมีปัญหาอาการบาดเจ็บรุมเร้าเล่นงาน เลยได้ลงเล่นกระปริดกระปรอย ในพรีเมียร์ลีกยิงแค่ 5 ประตู รายการอื่นอีก 3 ยอดทั้งหมดจึงเพียง 8 ตุงเท่านั้นเอง บวกกับแอสซิสต์ 1 ครั้ง ซึ่งถือว่าน้อยมากๆ
1
นอกจากผิดหวังสุดๆในเกมนัดชิงยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีกฤดูกาล 2007/08 แล้ว เขายังไม่ได้รับไว้เนื้อเชื่อใจจาก หลุยส์ เฟลิเป้ สโคลารี่ เจ้านายคนใหม่ จนต้องระเห็จกลับมิลานในแบบยืมตัว
เสื้อสีเดิมก็จริง แต่ฟอร์มไม่เหมือนเดิมแล้ว เชว่า ผู้เคยเป็นขวัญใจรอสโซ่เนรี่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง แทบไม่เหลือความเฉียบคมอีกต่อไป
เขากลับเชลซีมาช่วงสั้นๆ ก่อนย้ายสู่ยูเครนไปร่วมงานกับดินาโม เคียฟ ยักษ์ใหญ่ในบ้านเกิดก่อนแขวนสตั๊ดในปี 2012 ด้วยวัย 36 ปีกำลังดี
ภายหลัง มูรินโญ่ เปิดใจเกี่ยวกับการได้ร่วมงานกับ เชว่า ไว้ว่า
"เขาเหมือนเจ้าชายที่มิลาน แต่ที่เชลซีมันแตกต่างออกไป ที่นั่นไม่มีเจ้าชายอะไรทั้งสิ้น"
1
"ทุกคนต้องทำงานร่วมกันและพิสูจน์ให้เห็นว่าดีพอสมควรได้ลงเล่น บางทีผมคิดว่าเขาน่าจะสูญเสียความมั่นใจตนเอง บางทีการก้าวเดินย่อมเกิดความผิดพลาดได้"
"เขาไม่ใช่ตัวเลือกแรกของผม แต่เป็นได้แค่อันดับสอง"
ไม่ผิดนักหรอกหากเราจะบอกว่า เชฟเชนโก้ เอาชื่อเสียงกระหึ่มมาทิ้งไว้ที่เชลซี ก่อนจะถูกดินกลบฝัง ไม่ได้กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกเลย
ในปี 1016 อันเดร เชฟเชนโก้ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกุนซือทีมชาติยูเครน ท่ามกลางความสงสัยของใครต่อใคร เพราะไม่เคยมีประสบการณ์งานโค้ชมาก่อน
1
จึงคิดกันไปว่าเพราะชื่อเสียงเมื่อครั้งเป็นนักเตะ จัดอยู่ในโหมดตำนานย่อมได้รับเกียรติเป็นธรรมดา ซึ่งดูแล้วน่าจะรอดยาก
อย่างไรก็ดีผลงานของ เชว่า ในบทบาทกุนซือไม่เลวเลยทีเดียว เขาได้ขยายสัญญาอีก 2 ปี โดยมาสเตอร์พีซคือนำยูเครนผ่านไปเล่นในศึกยูโร 2020 รอบสุดท้ายได้สำเร็จ
1
40 นัดซึ่งทำหน้าที่ ชนะ 21 เปอร์เซนต์เกินครึ่ง เสมออีก 9 และแพ้ไป 11 ด้วยกัน เป็นตัวเลขที่ไม่ได้ขี้เหร่เลย
ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์ของเขากับ โรมัน อบราโมวิช ก็ยังแนบแน่น ไม่มีอะไรขัดแย้งเลยสักนิด
แล้วช่วงนี้ที่ฟอร์มของเชลซีกำลังเป๋ไปเป๋มา แฟร้งค์ แลมพาร์ด ทำท่าจะรับมือไม่ไหว ชื่อของ เชว่า ที่จะมาเสียบแทนจึงเริ่มพูดถึงมากขึ้น
แม้จะเพิ่งทำงานได้ไม่นาน ชื่อชั้นเทียบอีกหลายคนไม่ได้ ทว่าได้เปรียบตรงเป็นอดีตนักเตะนี่แหล่ะ
ถ้าการกลับมาของ เชว่า เกิดขึ้นจริง เขาคงฝันอยากดวลกับ โชเซ่ มูรินโญ่ ด้วย
เมื่อพิสูจน์ในฐานะนักเตะไม่ได้ คงอยากแก้ตัวด้วยบทบาทผู้จัดการทีมบ้างก็ยังดี
มันอาจน่าจดจำมากกว่าก็ได้
.
ทุกท่านสามารถติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ ..
.
และเพิ่มเพื่อนไลน์แอด "เพื่อเด้งเตือน" ให้คุณได้อ่านก่อนใคร กดที่ลิงค์นี้ครับ
ขอบคุณครับ
โฆษณา