7 ม.ค. 2021 เวลา 12:20 • ประวัติศาสตร์
กว่าจะมาเป็น “วันหยุด Holiday “ แบบปัจจุบัน ประเทศไทยมีวิวัฒนาการเรื่อง”วันหยุด” ตั้งแต่โบราณ เป็นมาอย่างไร วันนี้ผมจะเล่าให้ฟังครับ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และ จอมพล ป.
หลักฐานที่เกี่ยวกับวันสำคัญหรือวันหยุดของชุมชนโบราณบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่เก่าที่สุดเท่าที่สามารถค้นพบได้ตอนนี้ ปรากฎอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชครับ
ดังเนื้อความในด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๓-๒๒ มีการกล่าวถึงพิธีทอดกฐินในช่วงออกพรรษาของพ่อขุนรามคำแหงและมีความน่าเชื่อตรงที่ว่า วันสำคัญ หรือ วันหยุดในยุคแรกเริ่มของสังคมโบราณแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี่ก็น่าที่จะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในการทำมาหากินเป็นหลัก
หลักฐานในยุคต่อมาซึ่งสันนิษฐานว่าได้ถูกตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ปรากฏอยู่ในมาตราที่ ๑๔๕ ของกฎมณเฑียรบาล ส่วนมากจะเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของพืชผลทางการเกษตร หรือจะพูดอีกนัยยะหนึ่งก็คือพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน
นอกจากหลักฐานในกฎมณเฑียรบาลแล้ว ยังปรากฎในเอกสารชิ้นอื่น ๆ อีก เช่น โคลงทวาทศมาส วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้นซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับกฎมณเฑียรบาล บทที่๕๕-๖๖ ของกาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมธิเบศรในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมัยอยุธยาตอนปลายและคำให้การชาวกรุงเก่าซึ่งเป็นเอกสารที่ทางราชสำนักราชวงศ์คองบองของพม่าได้จดตามคำบอกของกลุ่มผู้ดีกรุงเก่าที่ถูกกวาดต้อนไปกรุงอังวะ
กฎมณเฑียรบาล บทที่๕๕-๖๖
ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เอกสารที่จดบันทึกเกี่ยวกับพิธีกรรมคือ โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลากรมพระยาบำราบปรปักษ์ ซึ่งพระองค์น่าที่จะพระนิพนธ์เอกสารชิ้นนี้หลังจากการเสด็จประพาสชวาในตอนต้นรัชกาลที่ ๕ และพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
1
เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมที่กล่าวมาข้างต้นมุ่งเน้นเกี่ยวกับระเบียบพิธีและบรรยากาศในงานเท่านั้น แต่ก็ไม่ค่อยที่จะระบุวันที่แน่นอนของการประกอบพิธีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ ยกเว้นแต่พิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ดังนั้นจึงทำให้เชื่อว่า วันประกอบพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนตายตัวแต่ขึ้นอยู่กับฤกษ์มงคล
พัฒนาการของวันสำคัญจากหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้นในหลักศิลาจารึกสมัยสุโขทัย เอกสารสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์จะพบว่า พิธีกรรมที่ประกอบได้มีการเปลี่ยนแปลงด้วยปัจจัยหลายประการครับ
๑.เนื่องจากพิธีกรรมส่วนใหญ่ที่ประกอบในแต่ละเดือนเกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน ดังนั้นเมื่อพิธีกรรมนั้นไม่มีความจำเป็นต่อการทำมาหากิน จึงทำให้บางพระราชพิธีแทบจะไม่มีความจำเป็น เช่น พระราชพิธีไล่น้ำซึ่งในสมัยรัตนโกสินทร์ประกอบพระราชพิธีนี้เพียงสองครั้งเท่านั้น คือ ครั้งแรกในปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๒๘ แผ่นดินรัชกาลที่ ๑ และครั้งที่ ๒ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๗๔ แผ่นดินรัชกาลที่ ๓
สาเหตุดั้งเดิมของการประกอบพระราชพิธีไล่น้ำ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ชาวนาต้องทำการเก็บเกี่ยว ดังนั้นถ้าน้ำยังไม่ลดก็มีผลต่อพืชผลทางการเกษตร และอาจจะเป็นเพราะกรุงรัตนโกสินทร์อยู่ใกล้ทะเลมากกว่าอยุธยาจึงทำให้น้ำที่เอ่อท่วมไหลลงสู่ทะเลเร็วกว่าหากแต่ชาวบ้านที่อยู่กรุงศรีอยุธยาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จะประกอบพิธีนี้หรือไม่นั้น ไม่ปรากฎหลักฐานครับ
1
๒. สภาพรัฐอันศักดิ์สิทธิ์ตามแนวคิดเทวราชได้คลี่คลายตัวมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ประกอบกับการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ เพราะฉะนั้นจึงทำให้พระราชพิธีบางอย่างได้งดไป เช่น พระราชพิธีตุลาภาร
๓. ความเสื่อมของศาสนาพราหมณ์จึงทำให้กลุ่มผู้มีความรู้ในราชสำนักเริ่มที่จะไม่เข้าใจแบบแผนในพระราชพิธี ประกอบกับในสมัยรัตนโกสินทร์พุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนักเป็นอย่างมาก อีกทั้งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงผนวชอยู่เป็นระยะเวลานาน ดังนั้นจึงโปรดให้มีการเพิ่มพิธีฝ่ายสงฆ์เข้ามาในพระราชพิธีที่มีมาแต่ก่อนเป็นจำนวนมาก และเพิ่มพระราชพิธีในวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า เช่น วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา อาสาฬหบูชา เป็นต้น
รัชกาลที่ 4 และต่างชาติ
๔. การหลั่งไหลของขนบธรรมเนียมจากโลกภายนอก เช่น จีน แขก และตะวันตก โดยเฉพาะในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ขนบพิธีกรรมของกลุ่มคนเหล่านี้มีผลต่อสังคม
- เนื่องจากราชสำนักพยายามที่จะทำให้เกิดความเป็นสากลขึ้นในสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจึงมีการนำขนบธรรมเนียมของราชสำนักตะวันตกมาปรับใช้ภายในราชสำนัก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธี ฉัตรมงคล ซึ่งพระราชพิธิในลักษณะเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนหน้ารัชกาลที่ ๔
- เนื่องจากประชากรต่างชาติ เช่น จีน แขก ตะวันตก ได้เข้ามาอาศัยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นระยะเวลานานแล้ว ซึ่งประชากรเหล่านี้ล้วนมีพิธีกรรมในวันสำคัญตามลัทธิธรรมเนียมของตน แต่ก็จำกัดในบริเวณพื้นที่ที่กลุ่มชนชาตินั้นๆ อาศัยอยู่ ต่อมาเมื่อกลุ่มชาวจีนและชาวตะวันตกมีบทบาทในสังคมมากขึ้น ประกอบกับการแต่งงานกับชนพื้นเมือง ผลจึงทำให้พิธีกรรมที่ประกอบขึ้นเนื่องในวันสำคัญ เช่น วันตรุษจีน วันคริสต์มาส เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากยิ่งขึ้น รวมถึงการกำหนดให้วันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันที่คริสตศาสนิกชนไปประกอบพิธีกรรม
ในโบสถ์เป็นวันหยุดราชการ
๕. การเปลี่ยนแนวคิดจากรัฐในจารีต มาเป็นแนวคิดรัฐสมัยใหม่ แนวคิดนี้เริ่มเกิดขึ้นในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แต่ในประเทศไทยจะเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ และเห็นชัดเจนคือ ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดังนั้นรัฐในยุคใหม่จึงมีการสร้างวันสำคัญขึ้นเพื่อสร้างสำนึกของความเป็นชาติให้ประชาชน จึงทำให้เกิดวันที่ระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญของรัฐสมัยใหม่ เช่น วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ
อีกทั้งแนวคิดที่ให้ความสำคัญแก่พลเมืองทุกชนชั้นอย่างเท่าเทียมกัน จึงทำให้เกิดวันสำคัญของกลุ่มอาชีพและพลเมืองวัยต่างๆ เช่น วันครู วันเด็กแห่งชาติ เป็นต้น จนกระทั่งวันสำคัญพัฒนามาเป็นวันหยุดสังคมไทยแต่เดิมไม่มีระบบวันหยุด
เหมือนกับในปัจจุบันที่มีวันหยุดตายตัว แต่จากแนวความคิดที่ว่าวันประกอบพิธีกรรมคือวันสำคัญ ทุกคนในสังคมจะต้องมาร่วมพิธีและหลังจากพิธีกรรมเสร็จสิ้นแล้วมีงานรื่นเริงต่อ
จึงทำให้มีการหยุดงานเนื่องจากระบบราชการในช่วงรัชกาลที่ ๕ ที่มีจัดการปกครองแบบใหม่ จึงปรับระบบวันราชการตามแบบสากลขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีพระราชพิธีข้าราชการก็ต้องหยุดเพื่อเข้างานพระราชพิธี แต่ปัญหาคือข้าราชกลุ่มใดบ้างที่จะต้องเข้าในพระราชพิธีและเข้าใจว่าแบบแผนวันหยุดยังไม่แน่นอน ดังจะเห็นได้จากประกาศกำหนดวันหยุดราชการนักขัตฤกษ์ประจำปี ประกาศเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๖ ที่กล่าวว่า "การที่เคยหยุดกันมาก็แตกต่างไปตามหมู่กระทรวง"
และจากประกาศฉบับนี้จึงทำให้วันหยุดของสังคมเป็นเริ่มเป็นแบบแผนขึ้น โดยมีประกาศกำหนดวันหยุด เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๗ ซึ่งเป็นวันหยุดของข้าราชการฝ่ายตุลาการกล่าวว่า "ควรให้มีเวลาพักผ่อนร่างกาย"
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าวันหยุดเป็นวันพักผ่อนของส่วนบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมแต่ประการใดแต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดวันหยุดราชการก็ยังมีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ของบ้านเมือง ซึ่งจะเห็นชัดว่าในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๓ วันหยุดที่เคยมีประกาศ ในสมัยรัชกาลที่ ๖ บางวันได้ถูกตัดไป และบางวันที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ถูกเพิ่มเติมเข้ามา
หลังจากสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้นมา วันหยุดของทางราชการได้ถูกเพิ่มเติมอยู่เสมอจนถึงทุกวันนี้ แต่ถ้าพิจารณาถึงวันสำคัญที่เป็นวันหยุดราชการจะพบว่า วันหยุดราชการเหล่านี้มักจะเกี่ยวข้องกับสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้นครับ ในประเทศไทยกำหนดให้วันที่ ๑ มกราคมเป็นวันขึ้นใหม่ตามแบบสากลมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๓ ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
1
จอมพล ป. พิบูลสงคราม
แต่เดิมคนโบราณนับวันเดือนปีตามจันทรคติ คือถือตามการโคจรของพระจันทร์รอบดวงอาทิตย์ ๑ รอบ ใช้เวลา ๓๕๔ วันเศษ นับเป็น ๑ ปี และถือเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้ายเป็นวันแรกของปี
ต่อมาเมื่อมีการนับปีเป็นจุลศักราช จึงถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นวันแรกของปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีพระราชดำริว่าการนับวันเดือนปีตามแบบจันทรคติ ทำให้เกิดความสับสนเมื่อต้องติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่นับวันเดือนปีตามแบบสุริยคติที่ถือเอาการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ๑ รอบ ใช้เวลา ๓๖๕ วัน นับเป็น ๑ ปี จึงมีพระราชประสงค์ให้เปลี่ยนวิธีนับวันเดือนปีและเรียกชื่อเดือนเสียใหม่ทั้งหมด
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ผู้ทรงคิดประดิษฐ์ชื่อเดือนแบบใหม่
โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการคิดตั้งชื่อเดือนเสียใหม่ตามหลักโหราศาสตร์แทนการเรียกตามลำดับ เช่น เดือนอ้าย เดือนยี่ ฯลฯ โดยใช้วิธีนำชื่อราศีตามคติพราหมณ์ทั้ง ๑๒ ราศีได้แก่ ราศีเมษ ราศีพฤษภ ราศีมิถุน ราศีกรกฎ ราศีสิงห ราศีกันย ราศีตุลย์ ราศีพฤศจิก ราศีธนู ราศีมกร ราศีกุมภ และราศีมีน
โดยมีคำมาต่อท้ายด้วยคำว่า "อายน" สำหรับเดือนที่มี ๓๐ วัน และ "อาคม" สำหรับเดือนที่มี ๓๑ วัน ทั้งสองคำมีหมายความอย่างเดียวกันคือ "การมาถึง" และมีพิเศษอยู่เดือนหนึ่งที่มี ๒๘ วัน ให้ใช้ "อาพันธ์" หมายถึง "ผูก" คือเดือนกุมภาพันธ์ ชื่อเดือนที่ใช้กันในปัจจุบันจึงมีเหตุที่มาเช่นนี้ครับ
ต่อมา จ.ศ. ๑๒๕๐ (พ.ศ. ๒๔๓๑) จึงมีพระบรมราชโองการ "ประกาศให้ใช้วันอย่างใหม่"เริ่มใช้ในปีฉลู จ.ศ. ๑๒๕๑ (พ.ศ.๒๔๓๒) เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระชนมายุครบสามรอบปีนักษัตร ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ให้นับวันเดือนปีตามสุริยคติ ปีหนึ่งมี ๓๖๕ วัน หนึ่งปีมี ๑๒ เดือน เรียกชื่อเดือนอย่างใหม่ดังที่ใช้ในปัจจุบัน
มีเดือนเมษายนเป็นเดือนแรกของปีโดยถือเอาวันที่ ๑ เดือนเมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ (วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน๕ ปี จ.ศ. ๑๒๕ด (พ.ศ. ๒๔๓๒) ตรงกับวันที่ 1 April ตามสุริยคติในปฏิทินแบบสากลพอดี) และกำหนดศักราชขึ้นใหม่ เรียกว่า "รัตนโกสินทร์ศก" นับจากปีที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๕) เป็นปีแรก (ร.ศ.๑) และให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๐๘ (พ.ศ. ๒๔๓๒) เป็นต้นไป
แต่การนับปีรัตนโกสินทร์ศกใช้ได้อยู่เพียง ๒๒ ปี ก็ยกเลิกไปในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ เป็นต้นมา ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นับปีตาม "พุทธศักราช" แต่เพียงอย่างเดียว
ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ รัฐบาลในสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดจัดงานรื่นเริงในวันขึ้นปีใหม่ในกรุงเทพฯ ที่ท้องสนามหลวงเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๗ ในงานมีการทำบุญตักบาตร อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ มาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการบูชาที่ปะรำ พิธีท้องสนามหลวง นิมนต์พระสงฆ์มาประพรมพระพุทธมนต์ และมีพราหมณ์ทำพิธีบายศรีเวียนเทียน
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๘๒ คณะรัฐมนตรีในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงได้พิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นประธานกรรมการ จัดการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ ซึ่งคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่ จากวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันที่ ๑ มกราคมและในประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้วันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๓
พร้อมทั้งได้กล่าวถึงเหตุผลและข้อดีที่ต้องเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นแบบสากลนิยมเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกว่า การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ให้ตรงกับวันที่ ๑ มกราคมนี้ ไม่เป็นการขัดต่อหลักพุทธศาสนาและถูกต้องตามหลักวิชาที่ใช้มาแต่โบราณกาลเป็นการคำนวณโดยวิทยาการทางดาราศาสตร์และวันที่ ๑ มกราคม ถือว่าใกล้เคียงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย ซึ่งเป็นวันปีใหม่ในสมัยโบราณ สอดคล้องกับจารีตประเพณีโบราณของไทย ที่ใช้ฤดูหนาวเริ่มต้นปีเช่นเดียวกัน
ประเทศไทยจึงได้เปลี่ยนมาใช้วันที่ ๑ มกราคม มาเป็นวันขึ้นปีใหม่ มาตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ นับเป็นปีใหม่แบบสากลปีแรกของไทย ส่งผลให้ ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ มีจำนวนเดือนเพียง ๙ เดือน คือนับตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน-๓๑ ธันวาคม เท่านั้น
ปัจจุบันทางราชการได้ประกาศให้วันที่ ๓๑ ธันวาคม เป็นวันสิ้นปีเก่า และวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ ทั้ง ๒ วันเป็นวันหยุดราชการเมื่อถึงเทศกาลปีใหม่ ตามธรรมเนียมก็มักไปทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อความเป็นสิริมคลตามความเชื่อในพุทธศาสนามีการมอบของขวัญแค่ญาติผู้ใหญ่ และผู้อาวุโสที่เคารพนับถือ จัดงานรื่นเริง ร่วมกินเลี้ยงกันในหมู่ญาติสนิทมิตรสหาย และการส่งบัตรอวยพรเนื่องในวันขึ้นปีใหม่
❤️กดไลค์ กดแชร์ ติดตามเป็นกำลังใจ❤️
🙏ขอบพระคุณครับ🙏
อ้างอิง:
- คำให้การชาวกรุงก่า คำให้การขุนหลวงหาวัดและพระราชพงศาวดารกรุงก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์.กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, ๒๕๑๕. ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ (ชำะ) ทวาทศมาสโคลงดั้น. กรุงเทพๆ :ศิริมิตรการพิมพ์, ๒๕ด๖.
บำราบปรปักษ์,สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ เจ้าฟ้าๆ.
- โคลงทวาทศมาส. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๔๙๙. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงนงเยาว์ ธรรมาธิกรณาธิบดี.
- ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ ๑. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๒๙.
ปรานี วงษ์เทศ. ประเพณี ๑๒ เดือนในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคน. กรุงเทพฯ : มติชน,๒๕๔๘.
- พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. กรุงเทพฯ : ผ่านฟ้าพิทยา, ๒๕๐๙.
- วินัย พงศ์ศรีเพียร. วันวาร กาลเวลา แลนานาศักราช. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์, ๒๕๕๒.
- ศิลปากร, กรม. จารึกในประเทศไทย เล่ม ๓-๔. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๙.
- จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร , ๒๕๒๘
- เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ พร้อมด้วยพระประวัติและ
พระนิพนธ์บทร้อยกรอง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕o๕.
- ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ เล่ม ๑-๒ กรุงเทพฯ : คลังวิทยา,๒๕๑๕.
- อดิน รพีพัฒน์, ม.รว. วัฒนธรรมคือความหมาย. กรุงเทพฯ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, ๒๕๕๑.
- วันสำคัญทางประเพณี วัฒนธรรมและศาสนา . กรุงเทพมหานคร : สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว , ๒๕๕๘
โฆษณา