7 ม.ค. 2021 เวลา 12:13 • หุ้น & เศรษฐกิจ
IPO คืออะไร
หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า IPO หรือ Initial Public Offering แล้ว IPO คืออะไร และราคา IPO กับราคาพาร์ เหมือนกันไหม ใครสงสัย สนใจ มาอ่านจากโพสนี้กัน...
IPO = Initial public offering หุ้นที่ขายให้กับประชาชนทั่วไปในครั้งแรก ก่อนที่จะมีการเข้าซื้อขายกันในตลาดหลักทรัพย์ มาเข้าใจเรื่องนี้จากเรื่องราวของบริษัทมานีกัน
บริษัทมานี จำกัด ทำธุรกิจร้านส้มตำ เป็นบริษัทที่มีทั้งหมด 100,000 หุ้น หุ้นละ 100 บ. มีทุนจดทะเบียน 10,000,000 บ. มีมานีเป็นเจ้าของกิจการคนเดียว 100% ต่อมาบริษัทมานีอยากได้ทุนเพิ่ม เพื่อมาขยายสาขาร้านส้มตำ เพื่อจะเปิดสาขาทั่ว AEC
ซึ่งทางที่จะได้เงินเพื่อมาขยายกิจการ ก็เหมือนทั่วไปคือ
อย่างแรก ก็ไปกู้ยืมมา อาจกู้ยืมจากสถาบันการเงิน กู้จากคนรู้จัก ซึ่งมานีก็จะอยู่ในฐานะของลูกหนี้ ซึ่งก็จะมีภาระดอกเบี้ย และเงินต้นที่จะต้องชำระคืนตามกำหนด
อย่างที่ 2 คือ ขายหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งเป็นการหาคนมาช่วยออกเงินเพื่อมาขยายกิจการ คนที่จ่ายเงินเข้ามาก็จะมาอยู่ในฐานะของเจ้าของร่วม อารมณ์เหมือนเวลาเราหุ้นกับเพื่อนทำร้านอาหาร เพื่อนหรือหุ้นส่วนเราก็จะได้ผลตอบแทนจากส่วนแบ่งกำไร ซึ่ง IPO เป็นรูปแบบหนึ่งของหุ้นเพิ่มทุนที่เราได้เห็นกันเรื่อยๆ ของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพียงแต่มันเป็นหุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขายแก่บุคคลทั่วไปในครั้งแรก
มานีตัดสินใจเลือกเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน เพื่อให้คนอื่นๆ มาช่วยกันใส่เงินเข้ามา และมาเป็นเจ้าของร่วมในบริษัทมานีตามสัดส่วนเงินที่ใส่เงินเข้า โดยเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 20,00,000 บ. หุ้นละ 100 บ. ซึ่จะมีหุ้นทั้งหมดกลายเป็น 200,000 หุ้น
บริษัทมานีก็นำหุ้นที่เพิ่มขึ้นมา 100,000 หุ้น ไปเสนอขายให้เพื่อนๆ และคนรู้จัก ว่าใครสนใจซื้อบ้าง ซึ่งมีมานะ ชูใจ ปิติ ปรีดี มาซื้อหุ้นของบริษัทมานีคนละ 25,000 หุ้น บริษัทมานีก็จะได้เงินเข้ามาในบริษัท อีก 10,000,000 บ. เพื่อนำไปขยายกิจการ โดยไม่ต้องมาเสียดอกเบี้ย แต่จะเห็นว่าสัดส่วนการเป็นเจ้าของของมานีก็ลดลงไปเป็น 50% เพราะจะมีมานะเป็นเจ้าของ 12.5% และชูใจ ปิติ ปรีดี เป็นเจ้าของอีกคนละ 12.5%
ซึ่งถ้าบริษัทมานีใหญ่พอ และเข้าเกณฑ์ของ ก.ล.ต บริษัมมานีก็สามารถเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งแรกนี้แก่ประชาชนทั่วไปได้ (ไม่ใช้ขายให้กับแค่คนที่รู้จักกันเท่านั้น) หรือที่เราเรียก IPO ได้ ซึ่งบริษัทมานีก็จะเปลี่ยนจากบริษัทมานีจำกัด เป็นบริษัทมหาชนแทน
ในการทำ IPO นั้น ก็มีจะบุคคลต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ที่ปรึกษากฏหมาย ผู้ตรวจสอบบัญชี สำนักงาน ก.ล.ต รวมถึงตลาดหลักทรัพย์
หลังจากบริษัทเสนอขายหุ้น IPO ให้กับบุคคลทั่วไปแล้ว ก็จะมีการจดทะเบียนเพื่อให้มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือความเป็นเจ้าของได้
อย่างเช่น หุ้น CRC บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับแบรนด์ “เซ็นทรัล” ซึ่งเปิดเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) 29 ม.ค. – 3 ก.พ. 63 และเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 20 ก.พ. 63 หรืออย่างหุ้น STGT บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ ขายหุ้น IPO ในวันที่ 23 – 25 มิถุนายน 2563 และเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อ 2 ก.ค. 63
แล้วราคาพาร์ คือ ราคา IPO หรือเปล่า??
ราคาพาร์ คือ มูลค่าเริ่มต้นของกิจการ โดยไปจดทะเบียนกับรัฐว่า มีทุนจดทะเบียนเท่าไหร่ และจะมีกี่หุ้นดังนั้นราคาพาร์ จะคิดมาจาก ทุนจดทะเบียน/ จำนวนหุ้น เช่น บริษัทชูใจ ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บ. มี 100,000 หุ้น ราคาพาร์ = 1,000,000 บ./ 100,000 หุ้น = 10 บ.
ส่วน IPO หรือ initial public offering คือ การเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ดังนั้นราคาพาร์ ก็ไม่ใช่ราคา IPO อยู่ดี เพราะราคาพาร์ คือ มูลค่าเริ่มต้นของบริษัท แต่การนำมาเสนอขายให้ประชาชนโดยทั่วไป จะขายหุ้นละเท่าไหร่ นั้น เขาจะมีการประเมินมูลค่ากิจการในลักษณะต่างๆ และคิดออกมาควรจะขายหุ้นละเท่าไหร่ และส่วนที่ขายได้เกินราคาพาร์ ก็จะถูกบันทึกในงบการเงิน ส่วนงบดุล ใน “ส่วนเกินมูลค่าหุ้น” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของส่วนผู้ถือหุ้น
ใครสนใจว่ามีหุ้น IPO อะไรบ้าง ข้อมูลของบริษัทที่จะเข้ามาระดมทุนเหล่านี้เป็นอย่างไร เราสามารถหาได้จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ จาก link นี้ https://www.set.or.th/th/company/ipo/upcoming_ipo_set.html
#IPO
#ราคาพาร์
#หุ้น
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
โฆษณา