9 ม.ค. 2021 เวลา 19:06 • ประวัติศาสตร์
You're FIRED! : ปธน.ทรัมป์สามารถสั่งยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์โดยไม่บอกใครได้รึเปล่า?
.
#สรุปสั้นเผื่อรีบแชร์ : ในทางทางทฤษฎีแล้ว ปธน.สหรัฐมีสิทธิ์เด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวในการสั่งยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติการการสั่งยิ่งนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญหรือแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย และที่ปรึกษาทางการทหารของทรัมป์มีสิทธิ์ในการตั้งคำถามคำสั่งดังกล่าวได้ในสถานการณ์ที่ไม่มีเหตุผลได้
.
ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด (commander in chief) แห่งสหรัฐอเมริกา #ประธานาธิบดีคือผู้เดียวที่มีสิทธิ์สั่งยิงอาวุธนิวเคลียร์นะครับไม่ใช่กองทัพสหรัฐ แถมตัวปธน.ยังมีชุดสั่งยิงหัวรบดังกล่าวตามติดตัวตลอด 24 ชม.ซะด้วย เพราะงั้น เคยคิดกันไหมครับว่าวันดีคืนดีทรัมป์จะบ้าจี้เปิดสงครามนิวเคลียร์ส่งท้ายก่อนลงจากตำแหน่งในเดือนมกราคมปี 2021 นี้? หรือ (ในโลกที่ dark comedy หน่อย ๆ) เฮียแกมีโอกาสสะดุดโดนปุ่ม 'เผลอ' สั่งยิงจรวดได้ไหม?
ถ้าจะให้ตอบสั้น ๆ: การสั่งยิงโดยลูกบ้านั้น #เป็นไปได้แต่เกิดขึ้นยากกว่าที่หลายคนคิดอย่างมาก และ #การแอบสั่งหรือเผลอสั่งยิงนั้นเป็นไปไม่ได้เลย
.
ขอเกริ่นด้วย #วิธีการสั่งยิงหัวรบ ก่อนละกัน สิ่งที่ปธน.สหรัฐต้องทำเป็นอย่างแรกก็คือการยืนยันตัวตนกับทางกองทัพว่าคนสั่งคือประธานาธิบดีตัวจริงด้วยรหัสลับเฉพาะตัวที่ตนต้องพกติดตัวตลอดเวลา เมื่อมีการยืนยันเรียบร้อยแล้วกองทัพสหรัฐจึงจะรับรายการเรื่องเป้าหมายและดำเนินการสั่งยิงเป็นทอด ๆ ลงไป โดยอาจจะเป็นการยิงด้วยหัวรบจากฐานทัพบนแผ่นดินอเมริกา ด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิด หรือเรือดำน้ำติดหัวรบตามแต่สถานการณ์ ด้วยระบบที่ถูกดีไซน์มารับมือสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็น การยิงสามารถเกิดขึ้นได้ภายในไม่ 15 นาทีหลังการสั่ง (ไม่รวมระยะเวลาเดินทางของจรวดไปยังเป้าหมาย) จากนั้นก็ตูม เกิดเป็นโกโก้ครันช์รสสงครามนิวเคลียร์
เพราะงั้น การยิงเมื่อถูกตัดสินใจแล้วจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ๆ สิ่งที่ทางสหรัฐฯจะใช้ควบคุมสถานการณ์ (และตัวปธน.) ได้จึงอยู่ที่ขั้นตอนการตัดสินใจก่อนยิงครับ
สังเกตได้ว่าสิ่งที่ท่านปธน.ทำคือการ #สั่ง ให้คนอื่นยิงนะครับไม่ใช่กดปุ่มยิงด้วยตัวเอง เพราะงั้นไม่มีปุ่มแดงลายหัวกะโหลกที่คนสามารถเผลอไปโดนแล้วทำโลก game over ได้นะเออ ชุดสั่งยิงนิวเคลียร์ในกระเป๋าอลูมีเนียมหุ้มหนัง (ชาวอเมริกันเรียกว่า the Football ตามชื่อแผนสงครามนิวเคลียร์ในยุคสงครามเย็น) ที่เป็นเงาตามตัวประธานาธิบดีทุกสมัยนั้นจึงเป็นเครื่องมือสื่อสารและชุดเอกสารหนาปึ้กหนัก 15 กิโล ไม่ใช่สวิตช์โลกแตก เป็นแผนการยิงรูปแบบต่าง ๆ พร้อมเป้าหมายเหมือนเมนูล้างโลกที่จะช่วยประธานธิบดีตัดสินใจและเริ่มขั้นตอนสั่งยิง เพราะต้องการการยืนยันตัวตนอย่างเป็นระบบเป็นอย่างแรก #การสั่งยิงโดยอุบัติเหตุหรือแอบสั่งโดยไม่บอกใครจึงเกิดขึ้นไม่ได้
.
งั้น #สถานการณ์แบบไหน ที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะมีโอกาสตัดสินใจเรื่องการยิงได้ล่ะ? จุดนี้ขึ้นอยู่กับความเร่งด่วนและระดับความเสี่ยงของสถานการณ์ครับ
สถานการณ์แบบแรกเลยคือ #ทั้งเร่งทั้งเสี่ยง อันนี้ประธานธิบดีมีอำนาจสูงสุดทันที
เป็นเหตุการณ์โคตะระฉุกเฉินที่มีเวลาคิดน้อยมาก ๆ เช่น มีการตรวจพบหัวรบจากเกาหลีเหนือถูกยิงมายังลอสแองเจลิส เป็นการ #ตอบโต้เมื่ออเมริกากำลังจะถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เคสนี้ประธานาธิบดีต้องทำหน้าที่ในฐานะบุคคลผู้เดียวในสหรัฐฯที่สั่งการเรื่องนี้ได้ หลังรับข้อแสนอแนะจากคณะเสนาธิการ ประธานาธิบดีคนนั้นจะเป็นผู้เลือกว่าจะยิงหัวรบหรือไม่ ยิงเมื่อไหร่ ยิงเยอะแค่ไหน และยิงที่ไหน โดยเมื่อการตัดสินใจนั่นเรียบร้อยแล้ว #กองทัพสหรัฐจะทำตามตัวเลือกของประธานาธิบดีโดยไม่มีคำถามเลย
.
สถานการณ์ต่อมาที่เป็นไปได้คือ #เสี่ยงแต่ไม่เร่ง เคสนี้มักจะมีโอกาสหว่านล้อมปนกดดันทรัมป์ก่อนต้องยิง
อันนี้จะครอบคลุมขอบเขตเวลาที่ไม่เร่งรีบเท่าแบบแรกอย่างเช่น #การชิงจู่โจมด้วยอาวุธนิวเคลียร์ก่อน (pre-emptive nuclear strike) สถานการณ์ที่มีนิวเคลียร์เป็นตัวเลือกนั้นมักจะเกิดขึ้นยากมาก ๆ ตัวปธน.และทีมเสนาธิการต้องเฝ้าดู ประชุม และไตร่ตรองกันอย่างละเอียดเป็นเวลานานหลายอาทิตย์ เดือน หรือแม้แต่ปีเลยกว่าจะมีอะไรที่เข้าข่าย เช่น หากจีนเริ่มยกพลเข้าไต้หวันหลังมีการเคลื่อนย้ายกองพลอยู่หลายอาทิตย์ อเมริกาจะยอมทิ้งบอมบ์ก่อนรึเปล่า? แม้ปธน.จะยังมีอำนาจสั่งยิงแต่เพียงผู้เดียวเหมือนเดิม แต่บรรดาคนรอบตัวจะมีโอกาสชี้ทางกันลูกบ้าได้ ไม่ใช่อยู่ ๆ จะยิงก็ยิง เพราะงั้น #ทีมเสนาธิการจะมีเวลากดดันและหว่านล้อมประธานาธิบดีก่อนจะถึงเวลาต้องสั่งยิง
.
ในสถานการณ์สุดท้าย คือ #ไม่เสี่ยงแต่โดนเร่ง แบบนี้เป็นไปได้ที่จะมีการต่อต้านโดยนายพลด้วยเหตุผลทางกฏหมาย แต่เอาจริง ๆ คือไม่มีใครรู้เพราะไม่เคยเกิดขึ้น
อันนี้เคสที่คนน่าจะกลัวทรัมป์ทำที่สุด เช่น วันดีคืนดี เสนาธิการร่วมของกองทัพโดนปลุกกลางดึกว่าประธานาธิบดีจะสั่งทิ้งบอมบ์เกาหลีเหนือหลังคิมจองอุนด่าออกทีวี เป็นเคสที่บริบทกับการตัดสินใจส่วนบุคคลสำคัญที่สุด เพราะทหารของสหรัฐฯนั้นมีหน้าที่ต้องทำตามคำสั่งของ ผบ.สูงสุด (ปธน.) แต่ก็สามารถติดคุกตลอดชีวิตได้หากทำตามคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย (unlawful order) การต่อต้านนี้ไม่ใช่แบบที่ทหารคนนึงจะไม่ยอมกดยิงจรวดในนาทีสุดท้ายนะ อันนี้คือผิด 100% มันต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำจากผู้บังคับบัญชาที่คุยกับทรัมป์เลย หากเสนาธิการที่ปรึกษาผู้รับคำสั่งเห็นว่าการยิงนี้ไม่ชอบด้วยกฏหมาย #เขามีหน้าที่จะต้องปฏิเสธ แต่ก็นะ เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นเลยและคำว่า "ไม่ชอบด้วยกฏหมาย" มันถูกตั้งมาหลวม ๆ อย่างตั้งใจ #ไม่มีใครรู้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังการปฏิเสธและถ้าทรัมป์ยืนยันจะยิงต้องทำยังไง เพราะต่อให้ปลดนายพลคนนั้นแบบฟ้าผ่า คนที่มาแทนก็ยังถูกผูกด้วยกรอบกฏหมายเดียวกันอยู่ดีและอาจจะปฏิเสธได้เหมือนเดิม
.
.
สรุปแล้ว โดยกฏหมาย ทรัมป์สามารถสั่งยิงหัวรบนิวเคลียร์ได้นะ แต่มันเกิดขึ้นยากกว่าที่เราคิดมาก ๆ เพราะระบบของกองทัพกับบริบทของตัวสถานการณ์เอง อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าห่วงที่สุดน่าจะเป็นในเรื่องคุณภาพของการตัดสินใจและความเอนเอียงที่จะยิงในสถานการณ์ความเสี่ยงสูงมากกว่า (ซึ่งก็หวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ก่อนการถ่ายโอนอำนาจในวันที่ 20 ม.ค. 2021) สุดท้าย มันก็เป็นเรื่องที่คนกังวลกันน่ะแหละ เป็นไปได้เหมือนกันที่กฏหมายเรื่องการยิงหัวรบของประธานธิบดีจะถูกนำมาแก้ใหม่ในอนาคตให้รัดกุมมากขึ้น ซึ่งเราก็ต้องรอดูต่อไป
ขอบคุณครับ สำหรับใครที่ชอบเรื่องนี้ อ่านบทความอื่นของเราได้ตามลิงค์นี้นะครับ
.
.
ติดตามเพจเราได้ที่
Nerd With Me ประวัติศาสตร์ไม่มีใครถาม
.
อ้างอิง
Can the president launch a nuclear strike on his own? by PBS NewsHour
What Donald Trump Would Have to Do to Launch Nuclear Weapons by Time Magazine
Defense Primer: Command and Control of Nuclear Forces by Federation of American Scientists (FAS)
Can US generals say 'no' to Trump if he orders a nuclear strike? By BBC News
Does Donald Trump have a nuclear button? by BBC News
Trump can't start a nuclear war by himself, but there's not much stopping him by Vox
The Real Story of the "Football" That Follows the President Everywhere by Smithsonian Magazine
โฆษณา