11 ม.ค. 2021 เวลา 01:30 • ข่าว
แวดวงการบิน “อินโดนีเซีย” ติดอันดับความปลอดภัยต่ำ
14 ปีที่เครื่องบินตกถี่ ประวัติด่างพร้อยที่ไม่เคยจางหาย
ข่าวเหตุการณ์เครื่องบินโดยสารแบบโบอิ้ง 737 ของสายการบินศรีวิจายา (Sriwijaya Air) เที่ยวบิน SJ 182 ที่ทะยายขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือท่าอากาศยานนานาชาติซูการ์โน ฮัตตา กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียได้ไม่ถึง 5 นาที ก็ประสบอุบัติเหตุตกลงสู่น่านน้ำทะเลชวา ส่งผลให้ผู้โดยสารและลูกเรือ 62 คน สูญหาย นับเป็นโศกนาฎกรรมรับปีใหม่ที่เพิ่งผ่านพ้นไปเพียงไม่กี่วัน ซึ่งสาเหตุของเครื่องบินตกในครั้งนี้ยังคงต้องทำการพิสูจน์จากกล่องดำที่บันทึกข้อมูลการบินและทุกๆ อย่างเอาไว้ในนั้นเพื่อไขปริศนาของเหตุการณ์ในครั้งนี้
อินโดนีเซียนับเป็นประเทศที่มีผู้คนเดินทางโดยสารทางอากาศสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก รองจาก สหรัฐ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น มีผู้โดยสารที่ต้องฝากชีวิตไว้กับสายการบินต่างๆ ในประเทศแต่ละปีเกิน 100 ล้านคน เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะน้อยใหญ่ ที่ครอบคลุมพื้นที่อาณาบริเวณกว้างขวาง ดังนั้นการเดินทางโดยเครื่องบินจึงเป็นพาหนะที่สะดวกสบายที่สุด
แต่ที่ผ่านมาสายการบินของอินโดนีเซียมักประสบอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของสายการบินในประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ “แอร์ไลน์เรตติ้งส์.คอม” (airlineratings.com) เว็บไซต์ที่จัดอันดับความปลอดภัยของสายการบินทั่วโลก โดยใช้เกณฑ์ประเมินจากข้อมูลจาก IOSA หรือจากใบประกาศนียบัตรรับรองจากสมาคมความปลอดภัยของระบบข้อมูล (ISSA) และเกณฑ์จากแหล่งอื่นๆ รวมทั้งพิจารณาด้วยว่าสายการบินนั้นๆ ติดแบล็คลิสต์ห้ามบินของสหภาพยุโรป (อียู) และประเทศต้นทางของสายการบินนั้นๆ ได้มาตรฐานตรงตามเงื่อนไขขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) หรือไม่ ได้จัดอันดับให้หลายสายการบินของอินโดนีเซียเป็นสายการบินที่มีความปลอดภัยต่ำ อยู่ในกลุ่มรั้งท้ายสุดร่วมกับสายการบินของประเทศเนปาล และสุรินาเม โดยได้แค่ 1 ดาวจากเกณฑ์คะแนนที่ตั้งไว้ทั้งสิ้น 7 ดาว
สำหรับสายการบินของอินโดนีเซียที่ติดอันดับความปลอดภัยต่ำมีทั้ง
🔹️บาติค แอร์ (Batik Air)
🔹️ซิติี้ลิงค์ (Citilink)
🔹️คัลสตาร์ เอวิเอชั่น (KalStar Aviation)
🔹️ไลออน แอร์ (Lion Air)
🔹️นัม แอร์ (Nam Air)
🔹️ทรานสนูซา (TransNusa)
🔹️ตริกานา แอร์ (Trigana Air)
🔹️วิงส์ แอร์ (Wings Air)
🔹️เอ็กซ์เพรส แอร์ (Xpress Air)
1
🔹️และ ศรีวิจายา แอร์ (Sriwijaya Air) ที่เพิ่งประสบอุบัติเหตุไปสดๆ ร้อนๆ
แม้แต่สายการบินแห่งชาติของประเทศอย่าง การูดา อินโดนีเซีย (Garuda Indonesia) ยังได้เพียงแค่คะแนน 3 ดาว ต่ำกว่าทุกๆ สายการบินแห่งชาติของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนทั้งหมด
หากย้อนกลับไปดูสถิติอุบัติเหตุของสายการบินอินโดนีเซียแล้วจะพบว่า นับตั้งแต่ปี 2007 เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งอย่างน่าตกใจ และมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่องไม่มากก็น้อย โดยเริ่มตั้งแต่
🔹️ปี 2007 : สายการบิน Adam Air เที่ยวบินที่ 574 จากเมืองสุราบายา เกาะชวาวา - มานาโด้ เกาะสุลาเวสี ตกลงสู่ทะเล มีผู้เสียชีวิตยกลำ 102
🔹️ปี 2007 : สายการบิน Garuda Indonesia พร้อมผู้โดยสาร 140 คนไถลออกนอกรันเวย์ที่เมืองยอกยอกาตาร์ และเกิดเพลิงไหม้ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 21 คน
🔹️ปี 2013 : สายการบิน Lion Air เครื่องโบอิ้ง 737 ลงจอดที่รันเวย์และตกลงไปในทะเลใกล้เกาะบาหลี ทำให้ผู้โดยสารต้องว่ายน้ำหนีตาย
🔹️ปี 2013 : สายการบิน Lion Air เครื่องโบอิ้ง 737 ชนกับวัวตัวหนึ่งขณะลงจอดที่สนามบินในเมืองโกรอนตาโล
🔹️ปี 2014 : สายการบิน Air Asia Indonesia เที่ยวบิน 8501 ตกลงในช่องแคบคาริมาตาขณะกำลังบินจากเมืองสุราบายา ไปยังประเทศสิงคโปร์ ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งลำรวม 162 คน
🔹️ปี 2014 สายการบิน Lion Air เที่ยวบิน 538 จากกรุงจาการ์ตา ตกและตัวเครื่องแยกออกจากกัน ขณะแล่นลงจอดที่เมืองโซโล ซิตี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 25 คน
🔹️ปี 2018 : สายการบิน Lion Air เครื่องโบอิ้ง 737 Max 8 เที่ยวบินที่ JT610 จากกรุงจาการ์ตา - เมืองปังกัล ปีนัง ประสบอุบัติเหตุตกหลังจากทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าได้เพียง 13 นาที ผู้โดยสารและลูกเรือ 178 คนเสียชีวิตทั้งหมด นับเป็นอุบัติเหตุทางเครื่องบินที่มีผู้เสียทีชีวิตมากที่สุดของเอเชีย
ยังไม่รวมข่าวเสียๆ หายๆ ของแวดวงการบินอินโดนีเซียที่เคยตรวจพบในปี 2011 และ 2012 มีหลายครั้งที่นักบินถูกตรวจพบว่ามีเมธแอมเฟตามีน (ยาไอซ์) ในครอบครอง โดยมีครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ชั่วโมงก่อนขึ้นบิน
ซึ่งความไม่ปลอดภัยของสายการบินอินโดนีเซีย ทำให้ทั้งสหภาพยุโรป และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ได้ประกาศห้ามสายการบินของอินโดนีเซียบินเข้ายุโรปมาตั้งแต่ปี 2007 โดยมีสายการบินของอินโดนีเซียถึง 62 สายการบินหรือ 92% ถูกขึ้นบัญชีดำเนื่องจากยังไม่ผ่านมาตรฐาน
1
จนกระทั้งวันที่ 16 มิถุนายน ปี 2016 อียูได้ประกาศปลดการแบนสายการบินของอินโดนีเซียทั้งหมด แต่ก็มาเกิดเหตุเครื่องบินตกในปี 2018 และในปีนี้ตามมาอีกรอบ
ปัญหาหลักๆ ที่มักจะเกิดอุบัติเหตุกับสายการบินของอินโดนีเซียก็มาจาก ปัญหาด้านเทคนิคในการซ่อมบำรุง บ่อยครั้งที่ช่างซ่อมบำรุงไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ หรือมีการปรับแก้อุปกรณ์อย่างไม่ถูกต้องจนเป็นเหตุที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมตามมา รวมทั้งอายุเครื่องบินที่เก่าจากการใช้งานมานานหลายสิบปี โดยเฉพาะกับสายการบินเล็กๆ ในประเทศที่เครื่องบินบางลำเป็นเครื่องมือสองที่อายุการใช้งานมากกว่า 25 – 30 ปีก็ยังมี เหมือนกับ เครื่องบินของศรีวีจายา แอร์ ที่ประสบอุบัติเหตุครั้งนี้ ก็ใช้การมานานถึง 26 ปี
อย่างไรก็ตามสายการบินอินโดนีเซียที่แม้ว่าจะพยายามปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ยังมีชื่อเสียงด้านความไม่ปลอดภัยมาจนทุกวันนี้ ซึ่งก็เกิดขึ้นกับเหตุการณ์ล่าสุดของศรีวิจายา แอร์ ที่ก็ยังคงสะท้อนภาพปัญหาของแวดวงการบินของดินแดนอิเหนาไม่เสื่อมคลาย
โฆษณา