14 ม.ค. 2021 เวลา 04:17 • การศึกษา
จะรู้ได้อย่างไรว่า...เลี้ยงปลาเท่านี้
ต้องใช้ต้นทุนค่าอาหารเท่าไหร่ ??
1
ต้องยอมรับว่าค่าอาหารเป็นต้นทุนหลัก ซึ่งน่าจะประมาณ 80% ของต้นทุนในการเลี้ยงปลา
ฉะนั้นสิ่งที่หลายคนอยากทราบก่อนเลี้ยง คือ ต้องใช้ต้นทุนค่าอาหารเท่าไหร่ในการเลี้ยงปลาจำนวนเท่านี้
ขอบคุณรูปจาก Pixabay
เราจะมาคำนวณต้นทุนค่าอาหารคร่าว ๆ จากอัตราการแลกเนื้อกัน
อัตราการแลกเนื้อ (Feed conversion ratio) หรือ FCR คือ ประสิทธิภาพในการเปลี่ยนอาหารมาเป็นน้ำหนักของสัตว์
คำนวณได้ดังนี้
FCR = ปริมาณอาหารที่กิน/น้ำหนักสัตว์ที่เพิ่มขึ้น
ตัวอย่างการคำนวณ FCR
เลี้ยงปลานิล 5,000 ตัว
อัตราการให้อาหาร 4% ของน้ำหนักตัวต่อวัน
น้ำหนักเริ่มต้นของปลา 15 กรัม
ระยะเวลาเลี้ยง 20 วัน
ปลามีน้ำหนักเฉลี่ย 23 กรัม
ปริมาณอาหารที่กิน = 5,000ตัว * (0.04*15) * 20
= 60,000 กรัม
หารด้วย 1,000 = 60 กิโลกรัม
น้ำหนักสัตว์ที่เพิ่มขึ้น = 5,000 ตัว * (23-15)
= 40,000 กรัม
หารด้วย 1,000 = 40 กิโลกรัม
🔸FCR = 60/40
= 1.5
🔸อัตราการเปลี่ยนอาหารเป็นน้ำหนัก คือ 1.5 : 1 หมายถึง สัตว์ต้องกินอาหาร 1.5 ก.ก. เพื่อเปลี่ยนเป็นเนื้อ 1 ก.ก.
🔸เพราะฉะนั้นถ้า FCR ยิ่งน้อยแปลว่ายิ่งดี
ส่วนใหญ่ FCR ของปลาจะอยู่ที่ 1 กว่า ๆ ซึ่งเราจะนำตัวเลขกลาง ๆ ที่ 1.5 เพื่อใช้ในการคำนวณต้นทุนค่าอาหารคร่าว ๆ
ตัวอย่าง 🌲
ต้องการเลี้ยงปลานิล 5,000 ตัว มีต้นทุนค่าอาหารเท่าไหร่ ถ้าน้ำหนักปลาเฉลี่ย 8ขีด/ตัว
FCR = ปริมาณอาหารที่กิน/น้ำหนักสัตว์ที่เพิ่มขึ้น
1.5 = A / (5,000 ตัว * 0.8 ก.ก.)
1.5 = A / 4000
A = 4000 * 1.5 = 6000
* เราไม่ได้นำน้ำหนักปลาก่อนเลี้ยงมาหักลบเพราะมีผลน้อย เราต้องการแค่น้ำหนักคร่าว ๆ
ปริมาณอาหารที่กิน = 6,000 ก.ก.
📍📍 คิดง่าย ๆ ปริมาณอาหารที่กิน คือ
1.5 * น้ำหนักปลาทั้งหมดที่คาดว่าจะได้ (ก.ก.)
----> 1.5*(5000*0.8)
อาหารโปรตีน 30%
ถ้าอาหารกระสอบละ 500 บาท (20ก.ก.)
= 25 บาท/ก.ก.
= 6000 * 25
= 150,000 บาท
เพราะฉะนั้นถ้าต้องการเลี้ยงปลานิล 5,000 ตัว จึงต้องเตรียมต้นทุนค่าอาหารไว้ประมาณ 150,000 บาท
โดยปลาจะกินอาหารประมาณ 4% ของน้ำหนักตัว ปริมาณอาหารช่วงแรก ๆ จึงจะน้อยและเพิ่มต่อวันมากขึ้นเรื่อย ๆ
📍แต่...อาหารแต่ละชนิดก็ให้สารอาหารที่ไม่เท่ากัน แล้วแต่คุณภาพและราคา
อาหารโปรตีน 40%
และถ้าเป็นปลานิลธรรมชาติที่ไม่ได้มีการแปลงเพศจะที่มีทั้งตัวผู้และตัวเมีย น้ำหนักปลาจะไม่ได้ตามนี้ เพราะ
ถ้าเป็นปลาตัวเมีย อาหารที่กินเข้าไปจะถูกนำไปสร้างไข่และออกลูกมากินอาหารด้วยเช่นกัน
และตัวผู้เองก็ต้องใช้อาหารส่วนหนึ่งไปในการสร้างน้ำเชื้อเพื่อผสมพันธุ์ ไม่ได้ถูกนำไปสร้างกล้ามเนื้อเต็มที่ น้ำหนักปลาที่ได้จึงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ตัวอย่าง 🌲🌲
ต้องการเลี้ยงปลาหมอ 5,000 ตัว มีต้นทุนค่าอาหารเท่าไหร่ ถ้าปลามีขนาดเฉลี่ย 4 ตัว/ก.ก.
น้ำหนักปลาเฉลี่ยตัวละ 250 กรัม
FCR = ปริมาณอาหารที่กิน/น้ำหนักสัตว์ที่เพิ่มขึ้น
1.5 = A / (5,000 ตัว * 0.25 ก.ก.)
1.5 = A / 1250
A = 1250 * 1.5 = 1875
ปริมาณอาหารที่กิน = 1,875 ก.ก.
📍หรือ 1.5 * (5,000*0.25)
อาหารเฉลี่ยกิโลกรัมละ 28 บาท
= 1875 * 28
= 56,250 บาท
ต้นทุนค่าอาหารในการเลี้ยงปลาหมอ 5,000 ตัว จึงประมาณ 56,250 บาท
(ปลาหมอเป็นปลากินเนื้อ ต้องการอาหารที่มีโปรตีนสูง ช่วงแรกต้องให้อาหารปลาโปรตีนสูง มีราคาแพง เมื่อปลาโตขึ้นจึงค่อยลดโปรตีนลง)
อาหารลูกปลาวัยอ่อน โปรตีน 42%
ทั้งนี้การคำนวณต้นทุนค่าอาหารโดยนำ FCR มาใช้ เป็นแค่การประเมินคร่าว ๆ เพราะปลาแต่ละประเภทและอาหารแต่ละชนิดให้อัตราแลกเนื้อที่ต่างกัน
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อต้นทุนอาหาร เช่น อัตรารอดของปลา, ขนาดปลาที่เริ่มเลี้ยง, เพศของปลา, คุณภาพของลูกพันธุ์, คุณภาพของอาหาร ฯลฯ
การลดต้นทุนค่าอาหารด้วยอาหารเสริมจากธรรมชาติ เช่น ปลาบด, ไส้ไก่/โครงไก่บด จะช่วยลดต้นทุนได้ แต่ต้องดูแลเรื่องสภาพน้ำ เพราะอาหารพวกนี้ทำให้น้ำเสียได้ง่าย ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อย
โครงไก่บด
ส่วนสภาพแวดล้อมก็มีผลต่อการเจริญเติบโตของปลา เช่น
🔸ปลาที่เลี้ยงในระบบน้ำไหลผ่าน หรือมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่เรื่อย ๆ ทำให้ปลากินอาหารได้ดีขึ้น โตเร็วขึ้น
🔸ช่วงหน้าฝนปลาจะกินอาหารน้อยลง
🔸ปลากินพืช เช่น ปลานิล ปลาสลิด ถ้าเลี้ยงในบ่อดิน นอกจากอาหารปลาแล้ว ปลายังกินพวกสารอินทรีย์ต่าง ๆ ในบ่อด้วย ทำให้ปลาโตเร็ว
📍วิธีสังเกตว่าควรให้อาหารแค่ไหน คือ เมื่อมีอาหารลอยน้ำ แปลว่าปลาอิ่มแล้ว ให้หยุดให้อาหาร เพราะจะทำให้น้ำเสีย
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจเลี้ยงปลานะคะ 🌿
ขอบคุณทุกคนที่แวะมาให้กำลังใจค่ะ ❤️
โฆษณา