25 ม.ค. 2021 เวลา 12:50 • การศึกษา
การยื่นภาษีของสามีและภรรยา แบบไหนดีกว่ากัน
ระหว่าง แยกยื่น VS รวมยื่น
ได้เวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากันแล้วนะคะ ซึ่งเราสามารถเริ่มยื่นได้ ตั้งแต่วันนี้จนถึง 8 เมษายน 2564 ด้วยวิธีการยื่นออนไลน์นะคะ และในการยื่นภาษีควรยื่นอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์กับครอบครัวเรามากที่สุด มาติดตามกันเลยค่ะ
สำหรับการยื่นภาษีนั้น หลายคนอาจจะรู้วิธีกันดีอยู่แล้ว แต่บทความนี้ จะเน้นมาที่ภาษีสำหรับคนมีคู่ ซึ่งมีคู่ในที่นี้ หมายถึงต้องจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นนะคะ 😉
โดยในการยื่นภาษีนั้น ทางสรรพากรให้สิทธิ์ท่านเลือกได้ว่า จะยื่นภาษีรวมกันหรือจะแยกกันก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกและความสบายใจไม่บังคับ เพียงแต่ว่าไม่ว่าจะยื่นแบบไหน ก็ขอให้แสดงรายการให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์เท่านั้นค่ะ
การแยกกันยื่นภาษีระหว่างสามีภรรยานั้นก็คือต่างคนต่างยื่นภาษีของตัวเอง เปรียบเสมือนหนึ่งว่าตัวเองเป็นคนโสดคนหนึ่ง
1
ส่วนการยื่นรวมกันนั้นมีให้เลือก 2 แบบ ได้แก่
📌 ให้ฝ่ายหนึ่งเป็นคนยื่นทุกอย่างทั้งรายได้ที่เป็นเงินเดือนและรายได้อื่น ๆ ส่วนอีกฝ่ายไม่ต้องยื่นเลย
📌 ให้ฝ่ายหนึ่งยื่นภาษีเฉพาะรายได้ที่เป็นเงินเดือน ส่วนรายได้อื่นให้นำไปรวมยื่นกับอีกฝ่าย
1
หลักการสำคัญคือ เลือกวิธียื่นที่ทำให้เราเสียภาษีน้อยที่สุด หากว่ายื่นรวมกันแล้วเสียภาษีน้อยกว่า ก็ให้ยื่นรวม หากว่าแยกกันยื่นแล้วภาษีที่จ่ายน้อยกว่าก็ให้แยกกันยื่น
แล้วทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแยกยื่นหรือรวมยื่นอันไหนที่เสียภาษีน้อยกว่า อันนี้ก็ต้องมาลองคำนวณดูก่อนจึงจะรู้ว่าแบบไหนเสียภาษีน้อยกว่ากันค่ะ
โดยเกณฑ์การพิจารณา มีดังนี้
⛳ ถ้ามีเงินได้อยู่ในฐานภาษีเดียวกัน – ให้แยกยื่น
หากว่าคิดคำนวณเงินได้สุทธิที่ต้องเสียภาษีแล้ว ทั้งสามีและภรรยามีเงินได้สุทธิที่จะต้องเสียภาษีอยู่ในฐานภาษีเดียวกัน ให้แยกกันยื่นภาษีจะดีกว่า เพราะการเสียภาษีเงินได้เป็นแบบอัตราก้าวหน้าเป็นขั้นบันได ยิ่งมีรายได้มากจะต้องเสียภาษีมากขึ้น การแยกกันยื่นจะทำให้ได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาททั้งคู่ จึงทำให้เสียภาษีน้อยกว่า
ตัวอย่าง
สามีมีเงินได้สุทธิ (หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว) 750,000 บาท ส่วนภรรยามีเงินได้สุทธิ 600,000 บาท ฐานภาษีสูงสุดของทั้งคู่เป็นฐานเดียวกันคือ 20% ถ้ายื่นรวมกันเท่ากับเงินได้สุทธิทั้งคู่เป็น 1,350,000 บาท ฐานภาษีสูงสุดที่จะต้องเสียอยู่ที่ 25% ทำให้ต้องเสียภาษีมากขึ้น
⛳ ถ้ามีเงินได้ไม่มากแต่มีค่าลดหย่อนมาก – ให้ยื่นรวมเงินได้ทุกประเภท
กรณีที่สามีหรือภรรยาฝ่ายหนึ่งมีรายได้ไม่มาก แต่มีค่าลดหย่อนมากกว่ารายได้ ทำให้เงินได้สุทธิเป็นติดลบจึงไม่ต้องเสียภาษี กรณีนี้จะทำให้ใช้ค่าลดหย่อนเพื่อประหยัดภาษีได้ไม่เต็มที่
ถ้ายื่นภาษีรวมกัน อีกฝ่ายที่มีเงินได้สุทธิที่จะต้องเสียภาษีจะได้ใช้ประโยชน์ค่าลดหย่อนของสามีหรือภรรยาได้มากกว่า
ตัวอย่าง
ภรรยาไม่ได้ทำงานประจำ แต่มีเงินได้เป็นค่าให้เช่าโรงเรือนปีละ 80,000 บาท โดยที่ตัวภรรยาสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 30% เท่ากับ 30,000 บาท และหักค่าลดหย่อนจากการเลี้ยงดูบิดามารดาคนละ 30,000 บาท รวมเป็นค่าลดหย่อน 60,000 บาท รวมหักค่าใช้จ่ายและลดหย่อนทั้งหมดเป็น 90,000 บาท
👉 ถ้าแยกยื่นภรรยาจะไม่ต้องเสียภาษี แต่จะเป็นการใช้ค่าลดหย่อนไม่คุ้มค่าในการประหยัดภาษี
👉 ถ้าเลือกยื่นภาษีรวมกับสามี ด้านสามีจะต้องนำทั้งรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนทั้งหมดของภรรยามารวมคำนวณด้วย ทำให้ประหยัดภาษีได้มากกว่า
⛳ มีเงินได้ที่เป็นเงินเดือนและเงินได้อื่น ๆ แต่เงินเดือนสูง – ให้แยกยื่นเฉพาะเงินเดือน
1
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ก็คือว่า หากเรามีเงินเดือนที่สูงมาก หลักจากคำนวณแล้วต้องจ่ายภาษีสูงสุดที่อัตรา 25% ถ้าเรานำรายได้อื่น ๆ เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย มารวมคำนวณด้วย รายได้อื่น ๆ ก็ต้องเสียภาษีที่อัตรา 25%
แต่ถ้าเรานำเฉพาะรายได้อื่น ๆ ไปแยกยื่นรวมกับอีกฝ่ายก็จะทำให้เสียภาษีน้อยลง โดยที่ต้องดูฐานภาษีของอีกฝ่ายด้วยว่าเสียอัตราสูงสุดอยู่ที่เท่าไหร่ หากเท่ากันที่ 25% ก็ไม่ต้องรวม ต่างคนต่างยื่น
แต่ถ้าอีกฝ่ายมีฐานภาษีที่ต่ำกว่า เช่น 10-15% ก็ให้นำรายได้อื่น ๆ นี้ไปรวมยื่นกับอีกฝ่ายจะทำให้ส่วนของรายได้เหล่านี้เสียภาษีที่ 10-15% ไปด้วย
จากตัวอย่างข้างต้นเป็นเพียงเกณฑ์กว้าง ๆ ที่ใช้คำนวณภาษีเท่านั้น ถ้าอยากให้ได้ตัวเลขชัวร์ๆ ก็ต้องลองคำนวณดูจริง ๆ ว่าระหว่างแยกยื่นจะเสียภาษีเท่าไหร่ และรวมยื่นต้องเสียภาษีเท่าไหร่ แล้วค่อยนำมาเปรียบเทียบว่าแบบไหนช่วยให้ประหยัดภาษีได้มากกว่ากัน
💦.....หากสามารถเสียสละเวลาเพื่อคำนวณนิดหน่อยแล้วเลือกวิธียื่นภาษีที่ประหยัดมากที่สุดได้ เราก็จะมีเงินเหลือใช้เหลือออมมากขึ้นสำหรับครอบครัวนะคะ 😉
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ช่องทางอื่นในการติดตาม เพจลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกกำลังใจและการติดตามนะคะ 🙏🙏😘😘

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา