15 ม.ค. 2021 เวลา 05:00 • กีฬา
[ TURN BACK TIME : ย้อนอดีตนักเตะดัง ]
ประสิทธิ์ ผดุงโชค 'จากพนักงานขายนมโรงเรียน สู่ทีมชาติไทย'
นี่คือเนื้อหาที่จะพาคุณย้อนอดีตของนักเตะดังใน ไทยลีก แน่นอนว่าแต่ละรายนั้นมีเรื่องราวแตกต่างกันออกไป ว่าแล้ววันนี้ 'Cheerball' ขอนำทุกท่านไประลึกวันวานของผู้รักษาประตูที่ต่อสู้และฝ่าฟันอย่างโชกชุ่มอุดมความครื้นเครง จากอดีตนักปิงปอง, ศูนย์หน้าดาวซัลโวแห่งฟุตบอลเดินสาย, กิน-เที่ยวจนเรียนไม่จบ, เซลขายนมโรงเรียน แต่กลับถึงก้าวสู่การติดทีมชาติไทย ทั้งหมดนี้คือชีวิตของ...ประสิทธิ์ ผดุงโชค!!
1. ปิงปองยืนหนึ่ง
ณ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ใครเล่าจะคิดว่าเด็กน้อยคนหนึ่งที่แทบไม่รู้จักกับฟุตบอลเลย แต่สุดท้ายโชคชะตาทำให้เด็กคนนั้นก้าวขึ้นมาเป็นผู้รักษาประตูมือหนึ่งของ โปลิศ เทโร เอฟซี
"จริงๆ แล้วผมชอบเล่นตะกร้อกับปิงปองครับ"
มือกาวชาวตะวันออกเฉียงเหนือเปิดประโยคแรก
"ผมเป็นตัวแทนของโรงเรียน (ปิงปอง) ตั้งแต่อายุ 12 น่าจะประถมศึกษาปีที่ 6 เล่นจนก้าวไปติดตัวจังหวัดชัยภูมิเลยนะ กับฟุตบอลนี่ห่างไกลเลย จะมีก็แค่ลงไปก๊อกๆ แก๊กๆ ตามประสาเด็กๆ แต่ก็ไม่จริงจังอะไร"
ความฉกาจในกีฬาปิงปองของ ประสิทธิ์ นั้นไม่ธรรมดาเลยทีเดียว เพราะการติดเยาวชนชัยภูมิ ตั้งแต่เด็กนั่นบ่งบอกถึงทักษะอันเอกอุที่มีอยู่ในตัว
"ถ้าจำไม่ผิด ตอนที่เป็นตัวแทนจังหวัด ผมไปแข่งกีฬาระดับภาคที่ยโสธรหรืออุบลราชธานีนี่แหละ ไปแข่งได้เหรียญทองแดงมา ดีใจนะที่ทำได้ เพราะเราก็ไม่ได้เก่งอะไรมาก แต่มาถึงจุดนี้ได้ยังไงก็ไม่รู้" เขาพูดพร้อมรอยยิ้ม
ฟุตบอลคือกีฬาที่ไม่อยู่ในหัวของเขาเลย เพราะนอกจากจะโดดเด่นเรื่องปิงปอง เจ้าตัวยังมีพรสวรรค์อีกหนึ่งชนิดกับ 'ตะกร้อ' ที่ทำได้ดีไม่แพ้กัน
"พอขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ก็เริ่มเตะตะกร้อ แล้วก็เหมือนกับปิงปอง ที่ติดตัวโรงเรียนก่อน จากนั้นก็ไปคัดจนได้เป็นตัวแทนจังหวัด"
"ตำแหน่งของผมในตะกร้อคือตัวเสิร์ฟ ก็สนุกดีนะ มีความสุขที่ได้เล่นกีฬา"
แม้ว่าจะได้สิทธิ์เป็นตัวแทนจัดหวัดทั้งสองนิดกีฬา แต่สุดท้ายเลือกได้เพียง 1 เดียว ซึ่งเขาก็เลือก ปิงปอง เพราะว่า "มันเป็นกีฬาเล่นคนเดียว เราใช้ความคิดความสามารถเฉพาะตัวของเราคนเดียว ผมก็เลยเลือกเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระคนอื่น" ประสิทธิ์ ตอบแบบขำๆ
2. แรกเริ่มโลกลูกหนัง
การเข้าโรงเรียนมัธยมทำให้สังคมของเด็กกว้างขึ้น แน่นอนว่า 'ฟุตบอล' ย่อมเป็นกีฬาอันดับหนึ่งของลูกผู้ชายชาวสยาม นั่นเป็นเหตุให้ ประสิทธิ์ ได้สัมผัสกับเสน่ห์ของพลาสติกกลมๆ ที่คนทั้งประเทศชื่นชม
"ตอนแรกก็ไม่ได้ชอบฟุตบอลหรอก แต่พอช่วงมัธยมต้น (โรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล โรงเรียนชายประจำจังหวัด) ไปเล่นกับเพื่อนๆ ตอนพักเที่ยง เตะบอลพลาสติกกัน เรียกว่าว่างเป็นเตะทุกครั้ง"
จากตอนแรกที่เฉยๆ กับฟุตบอล จนกระทั่งได้เตะมันทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน มันเลยกลายเป็นความหลงใหล
"เอาจริงๆ ผมกับฟุตบอลนี่เป็นเรื่องบังเอิญมาก เพราะตอนอยู่มัธยม 3 เขามีเปิดให้คัดฟุตบอล ปีนั้นก็เล่นกีฬาสี แล้วคนมันไม่ครบ เพื่อนก็ให้ไปช่วยเล่น ตำแหน่งของผมตอนนั้นคือเซนเตอร์ฮาล์ฟ นั่นแหละทัวร์นาเมนต์แรกในชีวิต"
ปรากฏว่ากีฬาสีครั้งนั้นเขาทำผลงานได้น่าทึ่ง เป็นเหตุให้ถูกชักชวนให้ไปคัดตัวโรงเรียนซะอย่างนั้น
"ผมถูกอาจารย์ให้ลองมาคัดตัวโรงเรียน ไอ้เราก็ไม่กล้าหรอก เพราะเพิ่งจะเริ่มเตะ แถมเบสิกก็ไม่มี ไปก็กลัวจะอายเขา แต่สุดท้ายติดแบบงงๆ มารู้ทีหลังว่าเหตุผลที่ได้รับเลือกเพราะวิ่งเร็วและแข็งแรง"
และแล้วโรงเรียนชัยภูมิภักดีชุมพล ก็บรรจุ ประสิทธิ์ ผดุงโชค ในตำแหน่งเซนเตอร์ฮาล์ฟของรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี
ผลงานของการเป็นตัวโรงเรียนนั้นไม่เบาเช่นกัน เมื่อทีมของเขาสามารถคว้าแชมป์สหวิทยาเขต ซึ่งเป็นการได้อันดับหนึ่งของโรงเรียนทุกอำเภอในจังหวัดชัยภูมิ
ประสิทธิ์ กล่าวด้วยความครื้นเครงว่า "ทั้งรายการ ผมเป็นตัวสำรอง ไม่ได้ลงเลย แต่ก็ดีใจกับเพื่อนๆ นะ อีกอย่างมันทำให้เรานึกในใจว่าจะต้องเก่งกว่านี้ให้ได้"
3. นักเตะเดินสาย
ด้วยความที่หลงรักฟุตบอลเข้าให้แล้ว ประสิทธิ์ จึงแทบไม่แตะไม้ 'บัตเตอร์ฟลาย' และโต๊ะปิงปองอีกเลย รวมถึงสนามตะกร้อที่เจ้าตัวแทบจะโบกมือลาอย่างถาวร
เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เขาเลือกทางเดินสายอาชีพ ซึ่งที่นั่นเหมือนว่าชีวิตของตัวเองชักจะผิดเพี้ยนเสียแล้ว
"พอจบ มัธยม 3 ผมไปต่อ ปวช. (ประกาศนียบัตรวิชาชีพ) แต่ก็เริ่มเกเรแล้วนะ ติดเพื่อน ไม่ค่อยไปเรียน โดดประจำ เล่นเกม สุดท้ายก็เรียนไม่จบ เลยออกมาพัก คุณพ่อกับคุณแม่ก็บ่นหนักเลย ทว่าตอนนั้นมันรู้สึกสนุกอยู่ ไม่คิดอะไรมาก ชีวิตวัยรุ่นก็แบบนี้แหละ"
การที่พักเรื่องเรียนนี้เอง กลายเป็นอีกหนึ่งจุดหักเหของชีวิตเขาเอง
"ช่วงที่ไม่ได้เรียน ตอนนั้นอายุ 16 ปี ผมนอนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมขาดไม่ได้คือฟุตบอล ก็เริ่มมีคนมาชวนเตะเดินสายแล้ว ด้วยความที่ว่าง มันเลยชอบ เพราะแข่งจบก็ได้เงิน ประมาณ 500-1000 บาท ถือว่าเยอะนะสมัยนั้น"
ฝีเท้าของเขาเริ่มพัฒนามากขึ้นจากความที่เล่นทุกวัน จนกระทั่งเข้าเรียนอีกหน แต่ก็อีหรอบเดิม ประสิทธิ์ ต้องออกกลางคัน เพราะว่ามัวแต่เอาเวลาไปเที่ยวเตร่และเล่นฟุตบอลเดินสาย
"ผมกลับมาเรียนต่อตอนอายุ 17 แต่ก็ไม่จบ ก็ออกอีกเหมือนเดิม ตอนนั้นเริ่มรู้สึกผิดแล้ว ไม่สนุกแล้ว เพราะแม้ว่าคุณพ่อกับคุณแม่จะไม่บ่น แต่เราก็เข้าใจว่าแกคิดยังไง ผมเลยตั้งใจจะกลับใจ"
การตัดสินใจครั้งนั้นของเขาทำให้เจ้าตัวต้องเปลี่ยนตำแหน่งในสนามอีกหน
"ผมไปเรียน กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) เพื่อเอาวุฒิมัธยม 6 ซึ่งที่นั่นผมก็มีโอกาสเล่นฟุตบอลให้ กศน. ด้วย ตอนซ้อมโค้ชเขาเห็นว่าผมโหม่งดี เลยจับให้ไปเล่นเป็นกองหน้าซะเลย"
4. คนสู้ชีวิตและจุดเปลี่ยน
เส้นทางของนักฟุตบอลหลายๆ คนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ประสิทธิ์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น ฐานะทางบ้านของเขาไม่ได้ร่ำรวยมากนัก คุณพ่อมีอาชีพเป็นพนักงานประจำอยู่ที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีชัยภูมิ ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้านทำกับข้าวให้นักเรียนอยู่ที่เดียวกันนั่นเอง ซึ่งสมัยเด็กๆ เจ้าตัวได้เงินไปโรงเรียนเพียง 2 บาท เท่านั้น
พอเรียนจบจาก กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) เขาเริ่มคิดจริงจังกับฟุตบอลมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีรุ่นพี่เชื้อเชิญไปคัดตัวกับมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร เพราะที่นั่นส่งทีมเข้าแข่งขันฟุตบอลประเภท ค.
"ผมไปกับเพื่อนสองคน เพื่อสมัครเรียนที่กำแพงเพชร เพราะอยากเล่นถ้วย ค. นั่งรถจากชัยภูมิไปก็น่าจะใช้เวลาราวๆ 7 ชั่วโมงครึ่ง ไม่ได้บอกที่บ้านด้วย มาบอกอีกทีก็ตอนที่ทางนั้นเขารับแล้ว"
จากเด็กเกเรที่เที่ยวเล่นไปวันๆ ฟุตบอลเป็นสิ่งเดียวที่ยึดเหนี่ยว การย้ายไปเรียนต่อต่างจังหวัดจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง
"ที่ผมไปเรียนที่กำแพงเพชร ผมไม่ได้อยากเที่ยว แต่ผมไปเล่นฟุตบอลจริงๆ" เขาพูดพร้อมสายตาที่มุ่งมั่น
อย่างไรก็ตาม ความฝันที่จะเล่นถ้วย ค. มีอันต้องจบเห่ ด้วยเหตุที่ ราชภัฏกำแพงเพชร ไม่ส่งทีมเข้าแข่งขัน ส่งผลให้ปีแรกของ ประสิทธิ์ ทำได้แค่ซ้อมฟุตบอลเพียงอย่างเดียว
ทว่าการผลจากการซ้อมนี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนให้เขามีวันนี้
"อยู่ที่นั่น (ราชภัฏกำแพงเพชร) เราต้องศึกษาหลายๆ อย่าง กับฟุตบอล ผมก็ต้องลองเล่นทุกตำแหน่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือผู้รักษาประตู"
ประสิทธิ์ ในวัย 19 ปี เองก็ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าเขาจะก้าวขึ้นมาเป็นนายทวารฝีมือดีที่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมอาชีพโดยทั่วกัน
5. เหตุผกผันและนมโรงเรียน
ชีวิตของ ประสิทธิ์ ในกำแพงเพชร นั้นกำลังไปได้สวย แม้ว่าจะไม่ได้เล่นถ้วย ค. ตามที่หวัง แต่ฝีมือการเป็นผู้รักษาประตูของเขาก็โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ ทว่ามันสวนทางกับผลการเรียนที่ไม่เป็นไปดังหวัง
แถมบางครั้งด้วยความคึกคะนอง พี่แกเคยควบมอเตอร์ไซค์ ฮอนด้า เวฟ 100 ขับจากกำแพงเพชร กลับไป ชัยภูมิ โดยใช้เวลาทั้งหมด 10 ชั่วโมง เพื่อมาแข่งฟุตบอลเดินสาย ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า 'เมื่อย' ก้นสุดๆ เลยทีเดียว
"เรียนถึงปี 3 อายุประมาณ 21 แล้วมั้ง ใกล้จะไปฝึกสอนด้วย ปรากฏว่าติด F เราก็ไม่ได้ไปแก้ เพราะมัวแต่แข่งกีฬา ถึงแม้จะได้โควต้า ทว่าเราต้องทำเกรดให้ถึง แต่ผมทำไม่ถึง ก็เลยโดนรีไทร์"
ด้วยเหตุผลนี้เอง เขาต้องกลับมาใช้ชีวิตที่ชัยภูมิอีกครั้ง
"ตอนกลับมาอยู่บ้าน (ชัยภูมิ) วันๆ ก็ไปเตะบอล ไปกินเหล้า ไปเที่ยว ขอตังค์พ่อกับแม่ใช้ เริ่มไปกันใหญ่ละทีนี้"
"นานวันเข้าที่บ้านเริ่มหมดความอดทน ก็เลยให้ไปหางานทำ ตอนนั้นผมอายุ 24 พอดีว่ามีเพื่อนทำงานอยู่บริษัท มอมิลค์ นมโรงเรียน ก็ไปลองสมัคร พอไปสมัครเขาก็บอกว่าทดลองงานก่อนไหม แล้วเขาก็รับเราเข้าทำงาน"
หน้าที่ของ ประสิทธิ์ คือฝ่ายขาย พ่วงด้วยรับหน้าที่การตลาดไปขายนมตาม อบจ. (องค์การบหริหารส่วนจังหวัด) ก็คือเอาใบเสนอราคาไปแข่งกับบริษัทอื่นนั่นเอง ทว่าการเล่นฟุตบอลของเขาก็ไม่ได้หายไปไหน หากแต่ยังคงแข่งทัวร์นาเมนต์เดินสายอยู่เช่นเดิม
อย่างไรก็ตาม ทักษะผู้รักษาประตูที่ฝึกฝนมาจากกำแพงเพชรนั้นแทบจะไม่ได้ใช้เลย เพราะเจ้าตัวต้องกลับมาเล่นเซนเตอร์ฮาล์ฟอีกครั้งในบ้านเกิด แถมหลายๆ ครั้งก็ต้องรับบทศูนย์หน้าจำเป็นอีกต่างหาก
6. ความบังเอิญกับจุดเริ่มต้น 4,000 บาท
หลังจากทำงานเป็นเซลแมนขายนมโรงเรียนอยู่ประมาณ 8 เดือน ควบคู่ไปกับการตระเวนแข่งฟุตบอลตามทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ในที่สุดโชคชะตาก็นำพาทางแห่งความสำเร็จเข้ามาหา
"มีอยู่วันหนึ่ง ผมไปแข่งฟุตบอลเดินสายช่วงกลางคืน มันเป็นรายการของงานบุญประเพณีของที่ชัยภูมิ ปรากฏว่าพี่ แมน จันทนาม ซึ่งตอนนั้นเป็นเฮดโค้ชของ นครราชสีมา เอฟซี มาเห็นเราเข้า ก็เลยให้ผู้ช่วยมาถามว่าสนใจไปทดสอบฝีเท้าหรือเปล่า"
"ปกติแล้วทีมที่ผมเล่นวันนั้นน่ะ ผมเล่นเป็นกองหน้า แต่เผอิญว่าผู้รักษาประตูไม่มา ผมเลยต้องเป็นแทน แล้วประจวบเหมาะกับพี่แมนมาดูพอดี เขาเห็นว่าหน่วยก้านได้เลยลองชวนดู"
แม้จะถูกทาบทามจากทีมใหญ่แห่งแดนอีสาน ทว่าด้วยความหวั่นในใจทำให้ ประสิทธิ์ ลังเลที่จะตัดสินใจ
"ทีแรกก็คิดนานเลยล่ะ เพราะนี่คือทีมใหญ่ของภาคเลย แต่พี่แมนก็ให้คนโทรมาตามอีกครั้ง อีกอย่างการไปทดสอบ มันใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ผมเองก็ต้องทำงานด้วย"
แต่สุดท้ายด้วยหัวใจเรียกร้อง เขาขอลางานครึ่งวันในช่วงบ่ายเพื่อขับรถจากชัยภูมิ มุ่งหน้านครราชสีมา เพื่อทำการคัดตัวนักกีฬา ซึ่งระยะทางไป-กลับนั้นกินเวลากว่า 4 ชั่วโมง
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ประสิทธิ์ คัดติดในตำแหน่งผู้รักษาประตู แม้ว่าจะได้เงินเดือนน้อยกว่าตอนที่ทำงานเก่า แถมยังไม่ได้อยู่บ้าน แต่เจ้าตัวก็มุ่งมั่นที่จะเดินทางสายอาชีพให้ได้
"ตอนเป็นเซลแมนผมได้เงินเดือน 4,500 บาท ถ้าเล่นให้ นครราชสีมา จะได้ 4,000 แต่ผมก็ยอม เพราะอยากจะเล่นอาชีพ อีกทั้งช่วงนั้นฟุตบอลก็เริ่มบูม มันอาจจะต่อยอดได้ในอนาคต"
"ตั้งเป้าไว้ภายใน 1 ปี ถ้ามันไม่โอเค มันใช้เงินเยอะหรือฟุ่มเฟือย เราก็กลับมาทำงานที่บ้านเรา ที่นมโรงเรียน เขาก็รอรับอยู่ ถามว่ากังวลไหม ก็มีนะ แต่ผมใช้ความมุ่งมั่นเป็นแรงผลักดันตัวเอง"
ในที่สุด ประสิทธิ์ ก็ได้เป็นหนึ่งในขุนพลสวาทแคทชุดสู้ศึก ลีกภูมิภาค ดิวิชั่น 2 ในปี 2008
7. มุ่งมั่น-ศรัทธา-ปลายทางแห่งชัยชนะ
ขวบปีแรกในฐานะนักฟุตบอลอาชีพ เขาและนายทวาร นครราชสีมา อีก 2 คน สลับหมุนเวียนกันลงสนาม เนื่องจากเวลานั้นผู้เล่นหลายๆ คนไม่ได้เป็นพ่อค้าแข้งอย่างเต็มตัว
ประสิทธิ์ ยังคงทำหน้าที่ของตนเองอย่างเคร่งครัด กระทั่งความพยายามสำเร็จจนได้กลายเป็นมือหนึ่งของทีมและลงสนามไป 29 จากเกม (รอบแชมเปี้ยนส์ลีก 10 จาก 11 นัด) แถมยังพาทีมเลื่อนชั้นจาก ดิวิชั่น 2 ขึ้นสู่ ดิวิชั่น 1 ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในปี 2011
อย่างไรก็ตาม นครราชสีมา ทำการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทีมเพื่อสู้ศึก ดิวิชั่น 1 (2012) ทำให้มีผู้เล่นมากหน้าหลายตาตบเท้าเข้าสู่สโมสร แน่นอนว่าตำแหน่งนายทวารก็เป็นหนึ่งในนั้น
"พอขึ้นชั้น ผมก็เล่นบ้างไม่เล่นบ้าง เพราะมีคนมาใหม่ เขาเปลี่ยนมือหนึ่งมาเป็นพี่ณรงค์ วิเศษศรี (การท่าเรือ) ซึ่งมีดีกรีมากกว่าเรา อีกทั้งยังเล่น ไทยลีก มาแล้ว"
เป็นคนอื่นอาจจะท้อและมีงอแง แต่ไม่ใช่กับ ประสิทธิ์ เขายังมุ่งมั่นฝึกซ้อมและทำหน้าที่ของตัวเองอย่างหนักหน่วง
"ถามว่าท้อไหม ทั้งๆ ที่เราอยู่กับทีมมาตลอดแล้วจู่ๆ ก็ถูกลดบทบาท ตอบได้เลยว่าไม่ท้อสักนิด เพราะเรามาตรงนี้ยังไงก็เกินกับที่ต้องการแล้ว ผมมีหน้าที่ซ้อมก็ต้องพยายามทำให้เต็มที่ที่สุด"
หลังจากสนับติดก้นอยู่เกือบหนึ่งซีซั่น ความพยายามของเขาสำฤทธิ์ผลในปีถัดมา (2013) แม้จะไม่ใช่ขาประจำในฐานะผู้รักษาประตูมือหนึ่งอย่างถาวร แต่อย่างน้อยการได้สัมผัสเกมบ่อยๆ ย่อมทำให้มั่นใจขึ้นบ้าง
ฤดูกาล 2014 ทุกอย่างไปได้สวย แต่แล้วด้วยฟอร์มการป้องกันของ ประสิทธิ์ ไปเตะตาแมวมอง บีอีซี เทโรศาสน เข้าอย่างจัง เป็นเหตุให้ชีวิตของเจ้าตัวต้องเดินทางอีกครั้ง
"ทาง บีอีซี ติดต่อเข้ามา ผมก็ให้ผู้จัดการทีมเป็นคนตัดสินใจ ซึ่งสุดท้ายเขาก็ตกลงให้เราย้าย ผมก็ดีใจ เพราะนี่คือหนึ่งในทีมยักษ์ใหญ่ของประเทศ จะได้เล่นหรือเปล่าไม่รู้หรอก ขอแค่ได้อยู่กับสโมสรระดับนี้ก็พอ"
ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ประสิทธิ์ ย้ายไปอยู่กับมังกรไฟ แต่นายทวารโนเนมที่เพิ่งย้ายมาจาก ดิวิชั่น 1 คงต้องสู้ต่อไป เขาเลยอดทนกับการนั่งบนม้านั่งสำรองอีกแล้ว
"ปีแรก (2014) ผมเล่นนัดเดียว ไปเยือน บุรีรัมย์ เพราะเอ้ (ทศพร ศรีเรือง) ติดโทษแบน ผลปรากฏว่าเสมอ 1-1 ซึ่งเกมนั้นผมภูมิใจนะที่เซฟจนสามารถช่วยทีมเก็บคะแนนกลับมาจากถิ่นเขา"
เหมือนทางสว่างจะเจิดจ้า ทว่าสุดท้าย ประสิทธิ์ ที่วัยใกล้จะ 30 ก็ยังต้องรับบทเดิม แถมหนักกว่าเก่า เพราะว่าปี 2015 เขาไม่ได้ลงเลยสักนัด เท่านั้นไม่พอ ยังมีชื่อเป็นตัวสำรองเพียง 2-3 เกม เท่านั้น
"ไม่ท้อหรอกนะ เราก็ซ้อมอยู่อย่างนี้แหละ มีหน้าที่ซ้อมก็ซ้อม มันเหมือนกับเราทำงาน คิดเหมือนว่าอยู่บริษัทและเราก็ทำงาน ถ้าทำหนาที่ของตัวเองดี เดี๋ยวทุกอย่างจะตามมาเอง"
นี่คือคำพูดของนักเตะที่ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ
"เมื่อก่อนผมยอมรับนะว่าเป็นคนดื่มเที่ยว แต่เพราะเราอยากรักษาสุขภาพร่างกายมากกว่า ถ้ามาเล่นอาชีพแล้วสภาพร่างกายถ้ามันไม่เต็มร้อย น่าจะไม่ไหว อย่างฟุตบอลเดินสาย เรารู้อยู่ เรากินเราเที่ยว เลยนอนดึก เราไปเล่นได้ แต่ถ้ามืออาชีพมันก็เป็นอีกเเบบนึง"
ซีซั่น 2016 ดูท่าทางคงไม่ใช่ปีที่ดีของเขาแน่ เพราะนายด่านดาวรุ่งอย่าง สมพร ยศ นั้นโชว์ฟอร์มได้เด็ดดวงเหลือเกินในศึก ยู-23 ชิงแชมป์เอเชีย ใครๆ ต่างก็ยกย่องว่านี่คือผู้รักษาประตูแห่งอนาคตของทีมชาติไทย
ทว่าท้ายที่สุด ประสิทธิ์ กลับมาแรงแซงโค้งอย่างเหลือเชื่อ
สิ่งที่รอคอย เมื่อได้มาย่อมหอมหวน ในที่สุดโอกาสของ ประสิทธิ์ ก็มาถึง แต่การได้มาซึ่งคำว่าผู้รักษาประตูมือหนึ่งของ บีอีซี เทโรศาสน นั้นถือเป็นเรื่องบังเอิญไม่น้อย
"ปีนั้น บีอีซี เปลี่ยนโค้ชเป็น บรังโก (สมิลยานิช) แล้วช่วงปรี-ซีซั่นมีทัวร์นาเมนต์ ลีโอ คัพ ปรากฏว่าทำผลงานได้ดี เลยกลายเป็นว่าเข้าตาโค้ช เลยได้กลายเป็นมือหนึ่งในปีนั้น"
ช่วงชีวิตของเขาช่างมีความคล้ายคลึง ครั้งหนึ่งก่อนจะเล่นฟุตบอลอาชีพก็โค้ชจาก นครราชสีมา เห็นแวว แต่ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานกว่าจะได้เล่น พอย้ายทีม ก็แทบไม่ได้ลงเลยอยู่ 2 ปี แต่ก็เพราะโค้ชต่างชาติได้สัมผัส ประสิทธิ์ จึงได้โอกาสนั้นและเจ้าตัวก็ไม่ทำให้มันหลุดมือไป
"มีสิ่งหนึ่งที่ผมคิดอยู่เสมอ โอกาสน่ะมีอยู่ตลอดเวลา แต่มันจะมาหาเราเมื่อไหร่ไม่รู้หรอก ดังนั้นเราจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับโอกาส"
8 ก้าวสู่มือหนึ่งกิเลนผยองและทีมชาติไทย
 
ปี 2017 เป็นอีกฤดูกาลหนึ่งที่ชีวิตของ ประสิทธิ์ ต้องเดินทางอีกครั้ง แต่หนนี้เขาได้ย้ายเข้าสังกัดใหม่อย่าง เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด หนึ่งในสโมสรใหญ่ของเมืองไทย เพื่อไปเป็นมือสองต่อจาก กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์
แน่นอนว่าด้วยวัย 35 ปี ย่อมอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของอาชีพค้าแข้ง ดังนั้นการเข้าสู่รังกิเลนผยองน่าจะเป็นปลายทางของ ประสิทธิ์ แล้วล่ะ
แต่แล้วกลายเป็นว่าโชคชะตาส่งให้ ประสิทธิ์ แจ้งเกิดได้อย่างเหลือเชื่อ เพราะการได้เล่นแทน กวินทร์ ที่ได้รับบาดเจ็บ (ก่อนที่ภายหลังจะย้ายไป โอเอช ลูเวิน) ทำให้เขาได้โชว์ฟอร์มอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งถูกเรียกติดทีมชาติไทย เป็นหนแรกในชีวิต
แม้ว่าสุดท้ายเจ้าตัวจะไม่ได้ลงเฝ้าเสาในนามทีมชาติ แต่การถูกเรียกติดทีมนั้นถือเป็นเกียรติยศอย่างยิ่งใหญ่สำหรับเขา เพราะตนเองไม่เคยคิดเหมือนกันว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้
ทุกวันนี้ในวัย 38 ปี ประสิทธิ์ ยังคงเป็นผู้รักษาประตูที่มีผลงานยอดเยี่ยม มาตรฐานของเขาไม่ตกลงเลย และการที่ โปลิศ เทโร เอฟซี มีหมอนี่ยืนตระหง่านระหว่างเสานั่นทำให้กองหลังรู้สึกอุ่นใจได้เสมอ
ก่อนการสนทนาจะจบลง เขาทิ้งข้อคิดดีๆ ถึงเยาวชนรุ่นใหม่ไว้ว่า "อย่างแรกเราต้องรู้ เราอยากเป็นแบบใคร เรามีไอดอลคือใคร เขาทำอย่างไรถึงได้มาจุดๆ นี้ ผมบอกได้เลยว่าการมาอยู่จุดๆ นี้ก็เพราะการฝึกซ้อม, ขยันและอดทน"
"มันต้องอดทนทุกอย่าง คำว่าอดทน ก็คือทุกอย่างไม่ว่าในสนามนอกสนาม ถ้าเรามีตรงนี้ได้เราก็จะประสบผลสำเร็จ"
เรื่องราวของเขาสอนให้เรารู้อย่างหนึ่งว่า...ชีวิตไม่ได้ง่ายเลย
แต่ถ้าเรามุ่งมั่นและอดทน ความสำเร็จจะรออยู่ที่ปลายทาง
.
ทุกท่านสามารถติดตามอ่านบทความย้อนหลังได้ที่ ..
.
และเพิ่มเพื่อนไลน์แอด "เพื่อเด้งเตือน" ให้คุณได้อ่านก่อนใคร กดที่ลิงค์นี้ครับ
ขอบคุณครับ
โฆษณา