14 ม.ค. 2021 เวลา 05:08 • ประวัติศาสตร์
“นินเทนโด (Nintendo)” บริษัทเกมผู้สร้างประวัติศาสตร์วงการเกม” ตอนที่ 1
กำเนิดบริษัทเกมผู้ยิ่งใหญ่
“นินเทนโด (Nintendo)” ชื่อนี้ไม่มีเกมเมอร์คนไหนที่ไม่รู้จัก
นี่คือบริษัทเกมผู้ยิ่งใหญ่ ผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้แก่วงการเกมมากมาย
ซีรีส์ชุดนี้จะบอกเล่าเรื่องของบริษัทในตำนานนี้
หากย้อนประวัติของนินเทนโด ต้องย้อนไปถึงปีค.ศ.1889 (พ.ศ.2432) ที่เกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ได้มีศิลปินและช่างทำบล็อกไม้ชื่อ “ฟุซาจิโร ยามาอุจิ (Fusajiro Yamauchi)”
ฟุซาจิโร ยามาอุจิ (Fusajiro Yamauchi)
ในเวลานั้น บริษัทแห่งใหม่ของฟุซาจิโรได้ผลิตไพ่สีสวยที่เรียกว่า “ฮานาฟุดะ (Hanafuda)”
ฮานาฟุดะทำมาจากเปลือกไม้ ส่วนหมึกที่นำมาใช้ระบาย ตกแต่ง ก็ทำมาจากกลีบดอกไม้และผลเบอร์รี
ในเวลานั้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้สั่งห้ามครอบครองไพ่ทุกชนิด เนื่องจากการพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และไพ่จำนวนมากก็เป็นไพ่ที่ใช้ในการเล่นพนัน
หากแต่เมื่อเวลาผ่านไป รัฐบาลก็ยอมให้นินเทนโดขายฮานาฟุดะได้ เนื่องจากฮานาฟุดะไม่มีตัวเลขและยังมีสีสันสวยงาม
ฮานาฟุดะ (Hanafuda)
ฮานาฟุดะขายดีในญี่ปุ่น แต่ก็แค่นั้น ไม่สามารถส่งออกไปตีตลาดต่างประเทศ
นินเทนโดจึงเป็นเพียงบริษัทขนาดกลาง ผลิตไพ่ขาย หากอยากจะเติบโต ก็ต้องหาทิศทางใหม่
ค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) ภายหลังจากดำรงตำแหน่งประธานนินเทนโดเป็นเวลานานกว่า 40 ปี ฟุซาจิโรก็ได้เกษียณอายุ
ประธานคนต่อไป คือลูกเขยของฟุซาจิโร ชื่อว่า “เซคิเรียว คาเนดะ (Sekiryo Kaneda )”
เซคิเรียว คาเนดะ (Sekiryo Kaneda )
ในช่วงเวลาที่เซคิเรียวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานบริษัท นินเทนโดก็ได้กลายเป็นบริษัทไพ่ที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นไปแล้ว
ในช่วงเวลา 20 ปีที่เซคิเรียวดำรงตำแหน่งประธานนินเทนโด เขาก็ได้ทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพด้วยการนำสายพานการผลิต อีกทั้งยังจัดตั้งหน่วยพนักงานขาย รวมทั้งยังสร้างโรงงาน
เซคิเรียวเกษียณอายุในปีค.ศ.1949 (พ.ศ.2492) และเลือกหลานชายวัย 22 ปีให้ขึ้นมาบริหารนินเทนโด
หลายชายผู้นั้นคือ “ฮิโรชิ ยามาอุจิ (Hiroshi Yamauchi)”
ฮิโรชิ ยามาอุจิ (Hiroshi Yamauchi)
ฮิโรชินั้นถูกตาและยาย ซึ่งก็คือเซคิเรียวและภรรยา เลี้ยงดูมาตั้งแต่อายุได้เพียงห้าขวบ เนื่องจากพ่อของฮิโรชิทิ้งเขาและแม่ ส่วนแม่ก็ไม่มีปัญญาเลี้ยงลูกเพียงลำพัง จึงต้องยกให้ตาและยายเลี้ยง
ตาและยายนั้นเข้มงวดกับฮิโรชิ และคาดหวังว่าเขาจะเรียนกฎหมายหรือไม่ก็วิศวกรรม หากแต่สงครามก็ทำให้แผนของตายายนั้นต้องพับเก็บไว้ก่อน
ค.ศ.1939 (พ.ศ.2482) ขณะมีอายุได้ 12 ขวบ สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้อุบัติขึ้น และฮิโรชิก็ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมารับใช้ชาติ หากแต่ด้วยความที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ เขาจึงไม่ถูกเกณฑ์ทหาร แต่ก็ต้องไปทำงานในโรงงานของกองทัพเป็นเวลาหลายปี
กองทัพญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2
ภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงในปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) ฮิโรชิก็ได้ไปเรียนกฎหมาย แต่ก็ต้องออกจากโรงเรียนในภายหลังเนื่องจากเซคิเรียวเลือกให้เขาเป็นผู้สืบทอดบริษัท
เพียงแค่รับตำแหน่ง ฮิโรชิก็แสดงความห้าวหาญออกมาทันที
ฮิโรชิยอมรับตำแหน่งภายหลังจากที่ได้รับอนุญาตให้ไล่ญาติพี่น้องที่ทำงานอยู่ในนินเทนโดออก
สาเหตุที่ฮิโรชิทำอย่างนี้ ก็เพื่อที่จะได้ไม่ต้องมีใครมาครหาว่าเขาเข้าข้างญาติพี่น้อง และเขาก็ไม่ต้องการให้ญาติพี่น้องมาท้าทายอำนาจเขาอีกด้วย
เซคิเรียวนั้นไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่หลานชายทำ แต่ก็ต้องยอม
ฮิโรชิในวัยหนุ่ม
เหล่าคนงานก็ไม่ชอบฮิโรชินัก พวกเขาคิดว่าฮิโรชินั้นยังไม่มีประสบการณ์การบริหารมากพอ และได้ทำการประท้วง หยุดงานในปีค.ศ.1955 (พ.ศ.2498)
ฮิโรชิตอบรับกลุ่มผู้ประท้วงด้วยการไล่คนงานที่ประท้วงออกยกกลุ่ม
ถึงแม้จุดเริ่มต้นการเป็นผู้บริหารของฮิโรชิจะไม่ดีนัก แต่เขาก็สามารถทำให้คนงานหันมายอมรับเขาได้ เนื่องจากเขาสามารถนำพานินเทนโดสู่ความสำเร็จ
ค.ศ.1959 (พ.ศ.2502) นินเทนโดได้ทำข้อตกลงกับ “วอลท์ ดิสนีย์ (Walt Disney)” โดยตัวการ์ตูนต่างๆ ของดิสนีย์จะมาปรากฎบนสำรับไพ่ของนินเทนโด
ไพ่ดิสนีย์ของนินเทนโด
ไพ่ดิสนีย์ของนินเทนโดประสบความสำเร็จ สามารถขายได้มากกว่า 600,000 ชุดในปีแรกที่ออกวางจำหน่าย
แต่เพียงแค่นั้นไม่สามารถทำให้ฮิโรชิพอใจได้ นอกจากธุรกิจไพ่แล้ว ฮิโรชิยังเข้าไปสู่ธุรกิจอื่นๆ อีก เช่น ธุรกิจแท็กซี เครือข่ายโรงแรม สถานีโทรทัศน์ รวมทั้งธุรกิจข้าวกึ่งสำเร็จรูป
1
หากแต่ธุรกิจเหล่านี้ล้วนแต่ล้มเหลว และฮิโรชิก็ต้องยุติกิจการทั้งหมดนี้ และในขณะเดียวกัน ผู้คนก็เริ่มจะไม่สนใจการเล่นไพ่อีกต่อไป
เมื่อดูเหมือนจะเข้าตาจน หากแต่โชคก็ยังเข้าข้างนินเทนโด
ในปีค.ศ.1965 (พ.ศ.2508) นินเทนโดได้จ้างวิศวกรชื่อ “กุนเป โยโคอิ (Gunpei Yokoi)”
กุนเป โยโคอิ (Gunpei Yokoi)
กุนเปนั้นมีหน้าที่ดูแลเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตไพ่ โดยเวลาว่างของกุนเป เขามักจะประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เพื่อความสนุกสนาน
วันหนึ่ง ฮิโรชิเดินผ่านออฟฟิศของกุนเป และเห็นกุนเปกำลังเล่นกับมือกล ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ของกุนเป
มือกลนี้สามารถใช้จับสิ่งต่างๆ ได้ และฮิโรชิก็คิดว่านี่อาจจะเป็นของเล่นที่เด็กๆ ชอบ ฮิโรชิจึงขอให้กุนเปพัฒนามันเป็นสินค้าตัวใหม่ที่จะออกวางจำหน่ายในช่วงคริสมาสต์
“Nintendo Ultra Hand” ซึ่งเป็นแขนที่ยืดหดได้ของนินเทนโด ออกวางจำหน่ายในปีค.ศ.1966 (พ.ศ.2509) และภายในปีค.ศ.1970 (พ.ศ.2513) ก็ขายไปได้มากกว่าหนึ่งล้านชิ้น
Nintendo Ultra Hand
เมื่อประสบความสำเร็จจากของเล่นชิ้นนี้ ฮิโรชิก็ย้ายแผนกให้กุนเป แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนา (R&D) ของนินเทนโด
ค.ศ.1967 (พ.ศ.2510) นินเทนโดออกวางจำหน่าย “Ultra Machine” ซึ่งเป็นชุดของเล่นที่ประกอบด้วยไม้เบสบอลพลาสติกและเครื่องยิงลูกเบสบอล
จากนั้น ก็มีสินค้าอื่นๆ ตามออกมา โดยในเวลาต่อมา กุนเปและทีมวิจัยและพัฒนา ได้เริ่มนำระบบอิเล็กโทรนิกส์มาใช้กับของเล่น และได้ผลตอบรับดีมาก
หากแต่ก็ไม่ใช่ไอเดียทั้งหมดจะประสบความสำเร็จ
วันหนึ่ง ฮิโรชิอ่านบทความเรื่องการยิงเป้าดิน ซึ่งก็คือการยิงเป้าดินขึ้นฟ้า และผู้เล่นก็ต้องยิงเป้านั้น ซึ่งฮิโรชิก็สนใจและสั่งให้กุนเปรีบนำไปพัฒนาทันที
กุนเปและทีมได้ออก “Nintendo Clay Shooting System” โดยจะเป็นระบบที่จะฉายภาพไปบนผนัง เป็นภาพเป้าดิน ผู้เล่นต้องยิงเป้าบนผนังด้วยปืนของเล่นที่มาคู่กัน
Nintendo Clay Shooting System
ฮิโรชิวางแผนที่จะนำเกมนี้ไปติดตั้งตามลานโบว์ลิ่งต่างๆ ซึ่งในเวลานั้น ที่ญี่ปุ่น โบว์ลิ่งเริ่มจะเสื่อมความนิยม ทำให้มีลานโบว์ลิ่งที่เลิกกิจการจำนวนมากให้ฮิโรชิกว้านซื้อได้
ปีนั้นคือปีค.ศ.1973 (พ.ศ.2516) โดยในช่วงแรกก็ดูเหมือนจะฮิต นอกจากในญี่ปุ่นแล้ว นินเทนโดยังได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียอีกด้วย
แต่ไม่นาน คำสั่งซื้อต่างๆ ก็ค่อยๆ ซาลง สาเหตุก็เนื่องจากมันมีราคาแพงเกินไป
นินเทนโดขาดทุนถึง 64 ล้านดอลลาร์ (ประมาณเกือบ 2,000 ล้านบาท)
ในยุค 70 (พ.ศ.2513-2522) หลายๆ บริษัทได้ผลิตวีดีโอเกมที่ใช้กับเครื่องเล่นโทรทัศน์
ฮิโรชิเล็งเห็นว่าตลาดวีดีโอเกมกำลังมาแรง และเขาก็ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของตลาด
ภายหลังจากได้รับสิทธิในการจำหน่ายเครื่องเล่นเกมแม็กนาวอกซ์ นินเทนโดก็เริ่มจะก้าวไปอีกขั้น
นินเทนโดเริ่มจะพัฒนาวีดีโอเกมของตนเอง ทั้งที่ใช้กับตู้เกมและสำหรับโทรทัศน์ในบ้าน
เรื่องราวของนินเทนโดจะเป็นอย่างไรต่อไป ติดตามได้ในตอนหน้านะครับ
โฆษณา