16 ม.ค. 2021 เวลา 02:26
จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ #8
Art is not what you see, but what you make other see.
มองเห็นในสิ่งที่มองไม่เห็น
เพราะความอยากลองเบอร์เกอร์ประจำเมืองที่ผมเคยพูดถึงหลายครั้ง หลังจากที่เราออกจากเดอะการ์ดเนอร์ โรเบอร์โต้ขอให้ผมพาเขาและแดนไปที่ Tasty Burger เราสามคนจึงเดินลัดสวนสาธารณะด้านหน้าเดอะการ์ดเนอร์ข้ามไปยังเฟนเวย์พาร์ค (Fenway Park)ที่อยู่อีกด้านของสวน เดินเพียงไม่กี่นาทีเราก็ถึงร้านที่ดูเหมือนตู้คอนเทนเนอร์สีแดงขาวหลายตู้เรียงต่อกันกลางลานกว้างเด่นสะดุดตา
เมื่อโรเบอร์โต้เริ่มทานเบอร์เกอร์ Big Tasty เมนูแนะนำของร้าน เขาออกปากชมว่าเป็นเบอร์เกอร์ที่อร่อยมาก และไม่แปลกใจที่ผมชอบทานเบอร์เกอร์ร้านนี้ จากนั้นบทสนทนาเรื่องอาหารของพวกเราก็ถูกนำมารวมกับเรื่องศิลปะโดยไม่ต้้งใจ
"ความสุขบางครั้ง..ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมาย แค่อาหารง่ายๆ พื้นๆ ที่ถูกปากและอิ่มท้อง ก็มีความสุขได้เหมือนกันนะครับ" แดนเอ่ยขึ้น
"ผมเห็นด้วยนะ แต่ถ้าต้องกินบ่อยๆ เป็นปี...อย่างที่ผมเคยทำก็คงไม่ไหวนะครับ " คำตอบของผมเรียกเสียงหัวเราะเบาๆ จากโรเบอร์โต้และแดน
"บางคนอาจจะสุขกับการใช้ชีวิตที่สมถะ แต่บางคนอาจมีความสุขมากกว่ากับการที่ได้แสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนเองประสบความสำเร็จ" แดนพูดอีกครั้งเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศผ่อนคลายของเราสามคม
1
คงเพราะอาชีพที่เป็นผู้แนะนำด้านศิลปะทำให้เขาต้องทำงานกับลูกค้าที่มีกำลังเงินมากและมีความต้องการแสดงออกตามความสำเร็จในชีวิต
Credit : HEEM, Jan Davidsz. de (1606)
"ลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's hierarchy of needs)" คือแวบความคิดที่ผมเปรยออกมา
"ถ้าผมจะคิดว่าพิพิธภัณฑ์อิซาเบลลา สจวต การ์ดเนอร์ เกิดขึ้นจากความต้องการในขั้นสูงสุดของมิสซิส การ์ดเนอร์ เป็นไปได้หรือเปล่า" แดนหันมาถามผม
"ผมว่าเป็นไปได้นะ การที่มิสซิส การ์ดเนอร์ เปิดพิพิธภัณฑ์ให้คนเข้าไปชมและเป็นผู้จัดวางตำแหน่งของงานศิลปะด้วยตัวเธอเอง รวมถึงการเขียนพินัยกรรมที่ไม่ให้มีการขยับย้ายตำแหน่งของงานศิลปะ ก็ตอกย้ำถึงความต้องการที่จะรักษาความเป็นตัวตนของเธอเอาไว้ตลอดไป" โรเบอร์โต้ช่วยตอบคำถามของแดนแทนผม
"ด้วยความพร้อมทางการเงินและรสนิยมของเธอ การได้ครอบครองงานศิลปะชั้นดีเป็นเพียงแค่การตอบสนองความต้องการจากความชอบส่วนตัว แต่ภาพจำนวนหลายพันภาพยังไม่ใช่สิ่งที่ตอบสนองความต้องการขั้นสูงของเธอ การเปิดพิพิธภัณฑ์ศิลปะทำให้ความเป็นตัวตนของเธอได้รับรู้ทั่วไปจึงเป็นสิ่งที่ช่วยตอบสนองความต้องการในขั้นสูงคือความสมบูรณ์ของชีวิต (self-actualization), ความเคารพนับถือ (esteem)ของเธอสินะ" ผมพูดขึ้นบ้าง
"ว่าไปแล้ว คำถามของแดน และสิ่งที่พีร์พูดขึ้น ทำให้ผมนึกถึงบางเรื่อง" โรเบอร์โต้ทำท่าเหมือนฉุกคิดอะไรบางอย่างขึ้นมา ทำให้เราสองคนมองโรเบอร์โต้ด้วยความตั้งใจฟังในทันที
"ผลงานศิลปะที่ถูกขโมยไปจากเดอะการ์ดเนอร์ ส่วนใหญ่เป็นผลงานของ แรมบรันต์ เวอเมียร์ และแอดการ์ เดอกา (Edgar Degas) เหล่าศิลปินคนสำคัญในสองยุค คือ จิตรกรรมยุคทองของดัตซ์ (Dutch Golden Age painting) ในศตวรรษที่ 17 ยุคของ ศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionism) และสัจนิยม (Realist) ในศตวรรษที่ 19" โรเบอร์โต้พูด
แล้วจู่ ๆ โรเบอร์โต้ก็ถามผมว่า "พีร์ นายคิดว่าแนวคิดเศรษฐกิจทุนนิยม เริ่มขึ้นในยุคสมัยไหน?"
"ตำราเรียนเศรษฐศาสตร์เล่มแรกบอกไว้แล้วว่าเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 18 ตามแนวคิดของ อดัม สมิธ (Adam Smith)" ผมตอบด้วยความมั่นใจตามความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมา
"นั่นคือความรู้จากตำราเรียน" โรเบอร์โต้ยิ้มแล้วพูดขึ้นแบบขำๆ "จริงๆ มีผลการศึกษาหลายชิ้นบอกเราว่าแนวคิดเสรีนิยมมาจนถึงทุนนิยมอาจเริ่มในเนเธอร์แลนด์มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 หรือก่อนหน้า ความเจริญของเนเธอร์แลนด์ หรือที่เราเรียกว่า ดัตซ์ ในเวลานั้นเกิดจากการที่พ่อค้าดัตซ์เดินทางค้าขายไปทั่วโลก ทำให้เศรษฐกิจเจริญรุ่งเรือง และเกิดชนชั้นกลางหรือชนชั้นพ่อค้าที่มีฐานะร่ำรวยขึ้นจากอาชีพค้าขายกับประเทศต่างๆ จนดัตซ์เป็นประเทศที่เจริญและรุ่งเรืองมาก และถือเป็นประเทศที่มีคนอ่านออกเขียนได้มากที่สุดประเทศหนึ่ง เงินทองที่ไหลเข้ามาสร้างให้พ่อค้ามีความร่ำรวย และอยากได้รับการยอมรับนับถือบ้าง"
Circle of Ludolf Bakhuizen (A capriccio: The flagship saluting her arrival at a Mediterranean port amidst other shipping) : Credit : Christie's, London
"เมื่อชนชั้นกลางร่ำรวยขึ้นเรื่อยๆ อำนาจของชนชั้นสูงหรือขุนนางก็เริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้น จากสังคมที่เงินมีอำนาจและเป็นเครื่องตัดสินคน"
"ทั้งสองชนชั้นหาทางแสดงออกด้านต่างๆ เพื่อรักษาสถานะชนชั้นของตน ขณะที่ชนชั้นสูงแสดงออกผ่านสัญญลักษณ์ของอำนาจและการปกครอง ชนชั้นกลางก็แสดงออกด้วยชีวิตที่ฟุ้งเฟ้อจากงานเลี้ยง และพยายามยกระดับเพื่อให้เกิดความมีหน้ามีตามากขึ้น"
"งานศิลปะในยุคสมัยนั้นจึงสะท้อนสิ่งเหล่านี้ เพียงแต่เมื่อเวลาผ่านมา ความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยและวิธีคิดทำให้พวกเรามองศิลปะในยุคทองของดัตซ์ในความหมายที่แตกต่างออกไปตามแนวคิดของเราในปัจจุบัน"
"เพื่อนชาวอิตาลีของผมที่เป็นนักศิลปะวิเคราะห์เคยพูดกับผมว่า ยุคเรอแนซ็องส์ของอิตาลีในศตวรรษที่ 14 จนถึงศตวรรษที่ 17 ศิลปะและความรู้ถูกใช้เพื่อรักษาอำนาจของศาสนจักรและการสร้างการยอมรับของชนชั้นสูงในเมืองต่างๆ เมื่อเข้าสู่ยุคทองของดัตซ์ ศิลปะไม่ได้ถูกนำไปใช้กับศาสนจักรอีกต่อไป แต่ถูกนำไปใช้เพื่อแสดงออกถึงอำนาจในชนชั้นสูงหรือความมั่งคั่งของชนชั้นที่ร่ำรวยขึ้นมา"
แดนพูดขึ้นบ้างว่า "ภาพวาดเชิงศาสนาและเชิงประวัติศาสตร์ถือว่ามีคุณค่าในระดับสูง ถัดลงมาคือภาพวาดบุคคล เหตุผลสำคัญคงมาจากคุณค่าที่ถูกปลูกฝังตั้งแต่ยุคเรอแนซ็องส์ที่ภาพเหล่านี้ถูกครอบครองโดยศาสนจักรและขุนนาง แต่ภาพทิวทัศน์หรือภาพเชิงวิถีชีวิตต่างๆ และภาพแบบหุ่นนิ่งที่เรียกว่า Still Life รูปแบบของภาพวาดเหล่านี้น่าจะเกิดขึ้นมาภายหลัง ในยุคที่เกิดชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้น แม้คุณค่าของภาพเหล่านี้จะลดน้อยลง แต่สามารถตอบสนองสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงได้ดี"
1
"ภาพเก่าที่เราอาจพบเห็นได้จากยุคสมัยเหล่านี้ จึงไม่ได้มีราคาสูงเสมอไป หลายปีก่อนผมเคยช่วยลูกค้าผมประมูลภาพกองเรือฝีมือศิลปินดัตซ์ในยุคทอง ราคาที่ประมูลได้คือ 12,500ปอนด์ เทียบกับภาพศิลปะราคาแพงอื่นๆ แล้วราคาต่ำมากครับ"
โรเบอร์โต้พูดขึ้นว่า "คงจะจริงของแดน ภาพ Still Life ในช่วงเวลาของยุคทองฯ เป็นภาพที่มีการนำมาประดับในบ้านของชนชั้นกลางที่ร่ำรวยเพื่อแสดงถึงความสามารถทางการเงินของตัวเองว่ามีปัญญาซื้อหาสิ่งของหรืออาหารที่หายากและราคาแพงจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก"
Credit : Abraham van Beijeren - Banquet Still-Life with a Mouse (1667) : Los Angeles County Museum of Art
"สมัยนั้นคงไม่มีภาพเบอร์เกอร์อร่อยๆ และหอมทอดนะครับ" ผมแซวอย่างอารมณ์ดี ทำให้ทั้งสองคนยิ้มแบบขบขันกับคำพูดของผม
โรเบอร์โต้ชี้ที่ถาดเบอร์เกอร์ของพวกเราแล้วพูดว่า "ภาพเบอร์เกอร์หรืออาหารง่ายๆ แบบนี้ เทียบไม่ได้เลยกับภาพ Still LIfe ของโต๊ะอาหารในยุคทองของดัตซ์ พีร์ นายลองจินตนาการภาพมื้ออาหารในยุคนั้นดูนะ"
"อาหารในภาพยุคทองของดัตซ์เป็นอาหารที่หายากและนำเข้ามาส่วนต่างๆ ของโลก เช่น กุ้งล็อบสเตอร์ที่มาจากทวีปอเมริกา ผลทับทิมจากอิหร่าน เลมอนจากอินเดีย และผลไม้เมืองร้อนจากทั่วโลก ไปจนถึงเครื่องใช้และภาชนะต่างๆ เช่น เครื่องสังคโลกจากจีน พรมหรือผ้าทอจากตุรกีและตะวันออกกลาง ไปจนถึงเครื่องเงินจากยุโรป คือสิ่งที่แสดงถึงฐานะความมั่งคั่งของเจ้าของบ้านหลังนั้น ในความเป็นจริงเจ้าของภาพคงไม่ได้กินอาหารแบบนี้ทุกมื้อนะ"
"ดูไปแล้วคงเหมือนมื้ออาหารบุพเฟ่ต์ราคาแพงสุดหรูในโรงแรมระดับ 7 ดาวเลยนะครับ" ผมลองจินตนาการตามที่โรเบอร์โต้พูดถึง
"ใช่เลยพีร์ ยุคสมัยนั้นบ้านคนที่ร่ำรวยแต่ละหลังมักถูกประดับไปด้วยภาพศิลปะเหล่านี้ ค่านิยมเหล่านี้ ทำให้มีศิลปินในยุคทองฯ มีอาชีพวาดภาพต่างๆ เหล่านี้ แต่ใครจะรู้ว่าในปัจจุบันแนวทางภาพ Still Life ถูกนำมาใช้ในโฆษณาต่างๆ ลองสังเกตุดูสิครับ"
ความหรูหราของอาหารชั้นดีที่โรเบอร์โต้พูด ทำให้ผมมองถาดเบอร์เกอร์ของผมเพื่อเปรียบเทียบโดยไม่ตั้งใจ อืม...เบอร์เกอร์กับหอมทอด...เทียบกันไม่ได้เลยจริงๆ แต่ผมก็อดโต้แย้งไม่ได้ว่า "อาจดูละลานตาและมีราคาสูงจนเทียบไม่ได้ แต่ความอร่อยอาจสู้ได้นะครับ"
"ผมเห็นด้วย" แดนและโรเบอร์โต้พูดขึ้นแทบพร้อมกันด้วยรสชาติของเบอร์เกอร์ และการสนทนาอย่างถูกคอของพวกเรา ทำให้สาระหนักๆ จากการสนทนาถูกกลบด้วยอารมณ์ที่ผ่อนคลาย
โรเบอร์โต้พูดต่อในสิ่งที่เขาอยากเปรียบให้เราเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า
"สำหรับคนชั้นสูงก็แสดงออกถึงความเหนือกว่าผ่านสัญญลักษณ์ที่สื่อถึงอำนาจ เวลานั้นชนชั้นสูงใช้การล่าสัตว์เพื่อแสดงออกถึงสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าชนชั้นกลาง ภาพวาดของสัตว์ที่ถูกล่าแล้วจึงถูกนำมาใช้ประดับบ้านคล้ายๆ กับการตั้งถ้วยรางวัลในบ้านในปัจจุบัน"
ความหมายในภาพที่แตกต่างกันทำให้ผมคิดแล้วพูดขึ้นว่า "หากพวกเราอยู่ในยุคสมัยนั้น ผมว่าพวกเราคงคาดกันได้ว่าภาพแบบไหนที่เราจะเห็นในเมื่อก้าวเข้าไปในบ้านของชนชั้นขุนนาง และชนชั้นพ่อค้าที่ร่ำรวย เหมือนกับเป็นสัญญลักษณ์ที่สะท้อนชนชั้นของตนเองเลย"
Jan Weenix, Still life with a dead swan, a peacock and a dog next to a fountain, (1684) : Nationalmuseum.
"งานศิลปะที่สวยงามแต่กลับซ่อนความหมายไว้หลากหลายจริงๆ นะครับ" ผมพูดต่อ "ภาพวาดดอกไม้ ภาพวาดโต๊ะอาหารเหล่านี้ ในมุมมองของผมเหมือนเป็นเพียงภาพวาดที่แสดงถึงฝีมือและความสามารถของศิลปินที่สร้างภาพออกมาได้สวยงามและปราณีตละเอียดอ่อน จนดูเหมือนภาพถ่ายเลย ไม่คิดเลยครับว่าจะมีความหมายแฝงอยู่ในภาพเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะภาพสัตว์ที่ถูกล่าถ้าไม่บอกผมก็คงสงสัยว่าภาพแบบนี้มีไว้เพื่ออะไรกัน"
"สมัยนี้เรามีวิธีการแสดงออกถึงชีวิตที่เพียบพร้อมได้หลากหลายรูปแบบมากกว่าสมัยนั้นนะครับ ทั้งเครื่องประดับ สิ่งของราคาแพงต่างๆ แบรนด์เนม ถ้วยรางวัล หรือแม้แต่ความหรูหราต่างๆ ที่เราสามารถใช้เงินเพื่อครอบครองได้" แดนพูดขึ้น
"อาชีพของผมที่ต้องให้คำแนะนำและช่วยเหลือให้ลูกค้าได้งานศิลปะที่ตรงความต้องการของเขา บางครั้งผมก็ต้องโน้มน้าวลูกค้าให้เลือกชิ้นงานศิลปะที่เหมาะกับเขามากกว่าการเลือกที่ราคาของชิ้นงาน"
โรเบอร์โต้พูดเสริมด้วยมุมมองอาชีพนักวิเคราะห์การลงทุนของเขา
"ในอดีตงานศิลปะต่างๆ คงไม่ได้มีการคิดถึงมูลค่าที่เป็นตัวเงินมากไปกว่าเครื่องประดับที่แสดงถึงรสนิยม ความสำเร็จ สร้างการยอมรับนับถือ แต่ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไป แนวคิดที่เปลี่ยนแปลงไป ปัจจุบันงานศิลปะต่างๆ ก็ยังทำหน้าหลักของตัวเองเหมือนเดิม แต่วิธีการคิดแบบทุนนิยมเต็มตัวทำให้เราตีค่าเป็นเงินและเมื่อเราแยกสินทรัพย์ทางการเงิน ทำให้เราแยกเป็นสินทรัพย์มีค่าส่วนตัวและสินทรัพย์เพื่อการลงทุนออกจากกัน"
1
"มูลค่าในรูปตัวเงินกลายเป็นสิ่งกำหนดคุณค่าของงานศิลปะ จนบางทีอาจจะมากกว่าความสวยงามและคุณค่าความหมายแท้จริงของภาพนั้นๆ ในมุมของสินทรัพย์มีค่าส่วนตัว คงไม่แปลกถ้าภาพราคาแพงจะสามารถแสดงตัวตนของเจ้าของภาพ แต่สำหรับสินทรัพย์ลงทุน บางทีการมองคุณค่าที่แท้จริงแทนที่จะมองที่มูลค่าตัวเงินอย่างเดียวอาจเป็นสิ่งที่ดีกว่า" โรเบอร์โต้อดไม่ได้ที่จะเชื่อมเรื่องราวเข้ากับความชำนาญหลักของเขา แต่ประโยคนี้ของเขากลับอยู่ในความจำของผมไปอีกนาน....
1
"จริงๆ ความหมายแฝงในศิลปะยุคทองฯ ยังมีอีกหลายเรื่องเลยนะครับ นอกจากของมีค่า อาหารกับสัตว์แล้ว คนที่อยู่ในภาพวิถีชีวิตต่างๆ ก็ถูกนำมาใช้สื่อถึงฐานะและชนชั้นที่ของเจ้าของภาพด้วย ผมว่าได้เวลาที่เราต้องรีบไปสนามบินกันแล้วล่ะครับ ถ้าช้ากว่านี้ เราอาจได้นั่งคุยที่สนามบินจนถึงเช้าแน่ๆ "
ประโยคต่อมาของเขาทำให้เราต้องจบการสนทนา และรีบเดินทางไปสนามบินเพื่อเดินทางกลับบ้านของพวกเรา
มื้ออาหารเย็นแบบจานด่วนที่มีเพียงเบอร์เกอร์และหอมทอดมื้อนี้ กลับถูกเติบเต็มด้วยสาระข้อมูลที่ผมได้รับฟัง ทำให้ผมพอจะเชื่อมโยงความเปลี่ยนแปลงสำคัญของศตวรรษที่ 16 17 18 และ 19 ที่พัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ศิลปะถูกปรับตามสภาพสังคมและเศรษฐกิจในแต่ละยุค เรื่องราวที่ได้รับฟังจากโรเบอร์โต้และแดน ทำให้รู้สึกได้ว่าแม้เวลาจะเปลี่ยนแปลงไปหลายศตวรรษ แต่โลกในปัจจุบันก็มีแนวคิดที่ไม่แตกต่างกันเลย
ในโลกทุนนิยม หน้าที่หลักของศิลปะก็ยังไม่แตกต่างไปจากเดิมในการทำหน้าที่ตอบสนองคุณค่าทางด้านจิตใจของเรา แม้จะมีการตีค่าเป็นตัวเงินจนกลายเป็นอีกปัจจัยในการกำหนดคุณค่าของงานศิลปะก็ตาม โลกของศฺิลปะมีอะไรให้ศึกษาอีกมาก และเชื่อมโยงกับด้านต่างๆ ได้อย่างไม่น่าเชื่อ
จักรวาลเรื่องเล่าฯ ตอนนี้ถือเป็นตอนต่อของเหตุการณ์ในบทความก่อนหน้า (ตอน จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ : #7 Some things are better left unknown โจรกรรมซ่อนเงื่อน...พินัยกรรมซ่อนปม ที่ลงไว้ตั้งแต่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา) หากจำเนื้อเรื่องไม่ได้สามารถอ่านได้จาก https://www.blockdit.com/articles/5fae9b8347fa47252f7f0aaf
จักรวาลเรื่องเล่าจากชมรมศิลป์ : ศิลปะกับการเงิน เริ่มจากการทดลองเขียนเรื่องสั้นตามคำแนะนำที่ได้รับจากคุณกู๊ด และ คุณเรื่องสั้นๆ ครับ โดยนำไอเดียเรื่องสั้นแนวศิลปะของพี่บี เพจให้เพลงพาไป มาเชื่อมโยงกับเรื่องการเงินพื้นฐาน แต่ละตอนถูกเขียนให้มีตัวละครที่เชื่อมโยงกัน แต่ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์สมมุติเพื่อความบันเทิง อาจมีบางส่วนจากเรื่องราวหรือตัวตนของบางท่านที่นำมาใช้เป็นโครงของเรื่อง แต่ตัวละครและเรื่องราวทั้งหมดในเรื่องเป็นเหตุการณ์ที่สมมุติขึ้นโดยไม่ได้มีเจตนาจะลบหลู่หรือชี้นำใดๆ และบางส่วนอาจอิงข้อมูลที่ค้นจากแหล่งต่าง รวมทั้งการแต่งขึ้นตามจินตนาการที่ไม่เป็นจริงในประวัติศาสตร์ ผมขอขอบคุณที่มาของข้อมูล ภาพประกอบ และผู้ที่ถูกเชื่อมโยงทุกคนไว้ ณ ที่นี้ครับ
สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับยุคทองของดัตซ์ สามารถอ่านข้อมูลเบื้องต้นได้จาก แหล่งที่มาของข้อมูล ยุคทองของเนเธอร์แลนด์ :
โฆษณา