17 ม.ค. 2021 เวลา 05:44 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เกาหลีใต้ผันตัวเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society)ได้อย่างไร?
เกาหลีใต้ในวันนี้เป็นสังคมที่แทบไม่ใช้เงินสดเลย ทุกวันนี้ฉันสามารถถือการ์ดใบเดียวเดินไปซื้อแม้แต่โค้กสักกระป๋องในร้านสะดวกซื้อได้ แม้แต่ไปถ่ายเอกสารสักใบ ร้านก็ยังรับจ่ายด้วยการ์ด
ทุกวันนี้แทบไม่มีคนเกาหลีคนไหนไม่มี Internet banking และแอพจ่ายเงินผ่าน QR Codeต่างๆ อย่าง Payco และ KakaoPay ในมือถือ และไม่ค่อยมีใครถือเงินสดจำนวนมากติดตัวอีกต่อไปเพราะการทำธุรกรรมนั้นช่างสะดวกสบาย ไม่ต้องไปกดเงินฝากเงินอีกต่อไปแล้ว
เราทำ Infographicมาให้อ่านกันเล่นๆด้วยว่า ในวันๆหนึ่งคนเกาหลีใช้จ่ายโดยไม่ใช้เงินสดยังไง
ชีวิตประจำวันของคนเกาหลีที่ไม่ใช้เงินสด
แม้ว่าเปอร์เซนต์การใช้การ์ดแทนเงินสดของประชากรอาจจะไม่เทียบเท่าจีน และประเทศอื่นๆที่ผันตัวเป็นcashless society มาก่อน และในบางสถานการณ์ อย่างการไปตลาดสด ซื้อของตามร้านแผงลอยก็ยังต้องใช้เงินสดอยู่ เกาหลีใต้ก็ถือได้ว่าเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดได้ขั้นหนึ่งแล้ว ตามคำแถลงของธนาคารกลางเกาหลีใต้แล้ว ในปี 2018 จากการทำธุรกรรมทั้งหมดในประเทศ มีเพียง20%เท่านั้นที่ทำด้วยเงินสด
◆ วันนี้เราจะมาเล่าให้ฟังว่าเกาหลีทำได้อย่างไร เผื่อผู้อ่านทุกท่านจะย้อนกลับไปดูประเทศไทยว่าเราจะเอามาใช้ได้บ้างไหม◆
◆ การเข้าสู่สังคมแบบไร้เงินสดของเกาหลี เรียกได้ว่า เป็นผลจากการผลักดันของรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่ก็ว่าได้ค่ะ◆
ตั้งแต่ช่วงปี 1997-1998 เกาหลีใต้ก็เหมือนกับหลายประเทศในเอเชียรวมถึงไทยที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจจนอ่วมกันไปหมด แล้วสมัยนั้นประธานาธิบดีคนใหม่ ชื่อ คิมแดจุง (Kim Dae-Jung)ก็ได้รับเลือกขึ้นมารับตำแหน่งพร้อมกับโจทย์ยากว่า ทำอย่างไรเกาหลีถึงจะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้ตามทันเทรนด์ของโลกและไม่เกิดวิกฤติซ้ำแบบนี้อีก
วิกฤติเศรษฐกิจทำให้รัฐบาลหันมาสนใจลงทุนเรื่องเทคโนโลยีมาก เพราะก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางไม่สามารถควบคุมการทำธุรกรรมของบริษัทยักษ์ใหญ่ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ และองค์กรการเงินต่างๆได้ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสของธุรกิจการเงิน และเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบการทำธุรกรรมทั่วประเทศ รวมถึงมีความต้องการในการเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รัฐบาลทุ่มกำลังทรัพยากรทุกอย่างเพื่อพัฒนาระบบ ITและอินเตอร์เน็ตของเกาหลี สนับสนุนให้ประชาชนใช้บัตรเดบิตและบัตรเครดิตแทนเงินสด เร่งให้ธนาคารพัฒนาInternet Bankingให้ทันสมัย เรียกได้ว่ารัฐบาลพยายามกระตุ้นให้คนเกาหลีใช้ฟังก์ชั่นเครดิตเพื่อการบริโภคและทำธุรกรรม แทนการใช้เงินสดนั่นเอง
นอกจากอินเตอร์เน็ตแบ็งกิ้งแล้ว เทคโนโลยีFinancial Technology หรือ Fintechได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากๆ ในปี 2015 องค์กรคณะกรรมการบริการทางการเงินของเกาหลีใต้ (Financial Services Commission (FSC)ได้ออกนโยบายหลายประการที่เอื้ออำนวยให้ภาคธุรกิจ Fintechเติบโต และรวมถึงทำให้ธุรกิจอื่นๆที่ไม่ใช่ธุรกิจการเงินหันมาใช้FinTechกันให้มากที่สุด ตัวอย่างความพยามนี้ก็อย่างเช่น นโยบายอนุญาตให้บริษัทที่ไม่ใช่บริษัทการเงินถือหุ้นในธนาคารออนไลน์มากที่สุดถึง 50% จากที่เคยอนุญาติให้ถือไม่เกิน 4%เท่านั้น ทั้งนี้ ก็มีการจำกัดไม่ให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่างSamsung, Hyundai Motorและ SK Groupที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจและอิทธิพลทางการเมืองมากอยู่แล้วเข้ามาแข่งขันในธุรกิจธนาคารออนไลน์
เทรนด์นี้เองก็คือ จุดกำเนิดของธนาคารออนไลน์ชื่อดัง Kakao Bank ในปี 2016 จากบริษัทกลุ่มลงทุน Financial Investment Holdings และบริษัทอินเตอร์เน็ตแพลทฟอร์ม KakaoBank Corp. คาเคาแบงค์เป็นธนาคารออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆของเกาหลีปัจจุบัน
นอกจากนี้รัฐบาลยังพยายามเปลี่ยนให้เกาหลีเป็น coinless society หรือสังคมที่ไม่ใช้เหรียญด้วย เศษเงินที่เหลือจากการทำธุรกรรมมักจะไม่ถูกใช้ เพราะคนขี้เกียจพกพาไปไหน สู้การพกการ์ดใบเดียวไม่ได้ การไม่ใช้เงินที่มีอยู่ก็เท่ากับทำให้เกิดค่าเสียหายทางเศรษฐกิจขึ้น ดังนั้นธนาคารกลางจึงมีแผนจัดให้ทุกร้านค้ามี QR codeสำหรับการโอนเงินเศษ นั่นคือ เวลาลูกค้าซื้อของด้วยเงินสด ไม่ต้องรับเศษเหรียญก็ได้ เพียงแค่แสกนQR codeแล้ว เงินเศษนั้นก็จะถูกโอนเข้าบัญชีลูกค้านั่นเอง ว่าแล้วก็อยากให้ใช้นโยบายนี้เร็วๆจัง!
ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศว่า จากผลสำรวจในปี 2018 การทำธุรกรรมด้วยเงินสดในเกาหลีทั้งหมดมีเพียงประมาณ 20% ถือว่าใช้น้อยกว่าอเมริกาและอังกฤษที่ใช้อยู่ประมาณ28%และ26%ด้วย ในปีนี้จะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามกันต่อไป
◆ เหตุผลที่เกาหลีใต้พยายามผันตัวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด ◆
1) รัฐบาลต้องการลดขนาด Informal economy หรือเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการ การจ่ายเงินทำธุรกรรมที่ไม่เข้าระบบ ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายค่าแรงงาน การซื้อขายสินค้า ฯลฯ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการลดค่าเสียหายทางเศรษฐกิจที่เมื่อก่อนควบคุมไม่ได้ด้วย
2) คาดว่าการพัฒนาระบบ Financial Technologyจะช่วยสร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจการเงินของเกาหลีที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ครอบครองอยู่ และการใช้ credit จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้หมุนเวียนมากขึ้น
3) เมื่อก่อน การทำธุรกรรมของภาคธุรกิจไม่ได้ถูกตรวจสอบอย่างจริงจังจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น การนำทุกอย่างเข้าสู่ระบบทำให้รัฐบาลตรวจสอบได้ และยังดีต่อการทำสถิติที่แม่นยำเพื่อพิจารณานโยบายเศรษฐกิจต่อไปด้วย
ถือว่าสร้างความสะดวกสบายและกระตุ้นให้ประชาชนบริโภคอย่างได้ผลเลยทีเดียว แถมการบริหารภาคธุรกิจการเงินก็โปร่งใสมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าระบบนี้จะไม่มีข้อเสียทีเดียว ยิ่งเราเชื่อมต่อเข้าหากันมากเท่าไร ความเสี่ยงในการเจอมิจฉาชีพก็อาจจะมากขึ้นได้
แล้วผู้อ่านคิดว่าประเทศไทยก็จำเป็นที่จะปฏิรูปไหม คนไทยยังคงใช้เงินสดอยู่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ เราจะสามารถทำมันได้หรือไม่? ;)
เรียบเรียงจาก:
문종진.(2016). 캐시리스 사회로 방향전환의 문제점. 한국경제연구원 세미나자료, 16(03): 55-72
โฆษณา