16 ม.ค. 2021 เวลา 03:47 • หนังสือ
📖 รีวิวหนังสือ the everything store – จากร้านขายหนังสือออนไลน์ที่เปลี่ยนโลกไปโดยสิ้นเชิง! 📖 Part 2 (ตอนจบ)
โพสที่แล้วผมเล่าไปแล้วครับว่า Amazon.com ก่อตั้งมาได้อย่างไร ด้วยแนวคิดแบบไหน คราวนี้เรามาดูวิธีการทำงาน และ Core Values ที่สำคัญที่ทำให้ Amazon.com ยืนหนึ่งได้ในทุกวันนี้ได้ครับ
ใครพลาดตอนที่แล้วไปอ่านกันได้ที่นี่นะครับ
……………..
“Customer Obsession”
หนึ่งใน Core Values ที่สำคัญที่มีส่วนผลักดันให้ Amazon ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากนั้น คือ การให้ความสำคัญกับลูกค้า ตัว Jeff เองนั้นมองว่าลูกค้าควรได้ของที่ราคาถูกทุกวัน (Everyday low prices) ซึ่งเค้าได้แนวคิดนี้มาจากการที่เค้าศึกษา Walmart บริษัทค้าปลีกที่เป็นยักษ์ใหญ่ของอเมริกาและโลก เค้าจึงคิดให้ทำระบบ matching ราคาครับ คือมีระบบที่สามารถเช็คราคาสินค้าที่เว็บไซต์อื่นได้แล้วถ้าต่ำกว่าทาง Amazon จะปรับราคาลงครับ ซึ่งการที่สินค้าใน Amazon มีราคาที่ถูกกว่าที่อื่น ก็ทำให้มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งพอฐานลูกค้าใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามมาด้วยต้นทุนเฉลี่ยที่ต่ำลงไปอีก ขายสินค้าได้ราคาถูกไปอีกหมุนเวียนไปเรื่อย ๆ จน Amazon นั้นใหญ่มากและมีข้อได้เปรียบกว่าเจ้าอื่นมาก ๆ
Amazon ยังทำเรื่องการส่งสินค้าฟรี (Free Super Saver Shipping) เมื่อมีการซื้อขั้นต่ำเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาเยอะขึ้น โดยเค้าใช้การบริหารการขนส่งภายในคือส่งตอนที่รถขนส่งว่างแล้วรวม ๆ กันแต่ลูกค้าก็อาจจะต้องรอซักหน่อยซึ่งระบบนี้เหมาะกับลูกค้าที่ไม่ได้รีบเอาของมาก ส่วนลูกค้าที่อยากได้เร็ว ๆ ก็ต้องจ่ายเพิ่ม
นอกจากนี้เค้ายังมีการคิดค้นระบบ “Amazon Prime” ซึ่งเป็นเหมือนระบบสมาชิกที่ให้ลูกค้าสมัครสมาชิกไว้แล้วจะได้สิทธิพิเศษมากมายเช่น การส่งฟรีในเวลารวดเร็วมากขึ้น การดูหนังออนไลน์ ซึ่งทำให้ลูกค้านั้นยิ่งติดหนึบขึ้นไปอีก
Jeff ให้ความสำคัญกับลูกค้ามากขนาดที่เค้าบอกกับผู้ถือหุ้นของ Amazon ว่าเงินลงทุนที่เค้าได้มาเค้าจะทุ่มให้กับลูกค้า ให้ลูกค้าได้สินค้าราคาถูก สินค้าที่ดี ขนส่งได้เร็ว รวมถึงตอบสนองความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุดของลูกค้ามากกว่าผู้ถือหุ้นนะครับ
เค้ายังบอกอีกว่าสิ่งที่ทำให้ Amazon “แตกต่าง” จากคนอื่นคือการที่เค้าโฟกัสไปกับ “ลูกค้า” ไม่ใช่คู่แข่ง ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่สนใจคู่แข่งมากกว่าลูกค้าตัวเอง เรียกได้ว่า เป็นคนที่กล้า และยืดหยัดในหลักการที่แน่วแน่มาก ๆ
1
……………..
“Two-pizza Team”
ในการทำงานที่ Amazon นั้น Jeff มุ่งเน้นการกระจายอำนาจการตัดสินใจ (decentralization) โดยเค้ามองว่าการทำงานแบบ hierarchy เป็นลำดับขั้นนั้นไม่สามารถตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ อีกทั้งคนที่อยู่หน้างานจะเห็นปัญหาและควรจะแก้ปัญหาได้ดีที่สุด อันนี้จะคุ้น ๆ และเห็นได้ว่าบริษัทแนวนวัตกรรม หรือพวกเทคโนโลยีในปัจจุบันใช้แนวทางนี้ในการบริหารงานเยอะมาก (รวมถึง Netflix ที่เคยเล่าไปแล้วด้วย)
อีกทั้งเค้ามองว่าการประสานงานและการสื่อสารกันเป็นเรื่องที่เสียเวลามาก ๆ ฉะนั้นเวลาตั้งทีมทำงานเค้าจะให้แต่ละทีมเป็นทีมที่มีขนาดไม่ใหญ่มากเพราะต้องการการลดการประสานงานและการสื่อสาร ยิ่งทีมมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งจะต้องใช้ทั้งเงินและเวลาในการจะสื่อสารกันมากเป็นสัดส่วนกับจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น เค้าเลยบอกว่าขนาดของทีมที่เหมาะสมต้องมีขนาดไม่เกินที่จะสามารถกินพิซซ่าได้ 2 ถาด (Two-pizza Team) คือน่าจะประมาณน้อยกว่า 10 คน
……………..
“6-Page Narratives”
Jeff เป็นคนที่ไม่ชอบการประชุมเอามาก ๆ อีกทั้งเค้ามองว่าการประชุมทำให้เสียเวลาทำงาน และในการประชุมที่มีการใช้ PowerPoint หรือ Excel ในการนำเสนอไอเดียนั้น Jeff มองว่ามันไม่เวิร์ค คือเค้าใช้คำว่า “lazy thinking” เลยนะครับ เค้ามองว่ามันบิดเบือนข้อมูลได้ง่าย เช่น การโชว์หัวข้อที่เฉพาะที่เราอยากนำเสนอ ไม่ได้เขียนให้ครบ อีกทั้งยังไม่เห็นการแสดงออกถึงแนวความคิดในเรื่องนั้น ๆ
ในการที่จะประชุม Jeff จะให้มีการเตรียม “6-Page Narratives” เหมือนเขียนเป็น Memo อธิบายหัวข้อเรื่องที่จะประชุมมาในกระดาษความยาวไม่เกิน 6 หน้า (ในช่วงแรก ๆ ไม่มีการกำหนดทำให้บางคนเขียนมายาวมากเกินไป) แล้วให้ทุกคนที่เข้าประชุมนั่งอ่านในห้องประชุมนั่นเลยก่อนที่จะเริ่มคุยกัน เนื่องจาก Jeff ต้องการให้คนที่จะนำประชุมเตรียมตัวและก็มีการคิดมาแล้วอย่างลึกซึ้งแบบ Critical thinking และเขียนบรรยายออกมาให้ได้
1
……………..
“Fiona”
ตอนผมเองอ่านหนังสือมาถึงบทที่ชื่อ “Fiona” ผมก็สงสัยครับว่ามันคืออะไร มันคือ product ตัวไหนของ Amazon เหรอ?
แต่ถ้าบอกว่า “Kindle” หลายคนคงร้อง อ๋ออออ หละครับ มันก็คืออุปกรณ์สำหรับอ่าน e-book ซึ่งตอนนั้น Jeff มองว่าในอนาคต e-book จะมา disrupt หนังสือที่ Amazon เป็นเจ้าตลาดอยู่แน่ เค้าเลยตั้งทีมพิเศษเฉพาะขึ้นมาเลยครับชื่อว่า “Lab126” เพื่อพัฒนาอุปกรณ์อ่าน e-book ให้ได้เสียเองเลย! ผมว่าแนวคิดนี้ค่อนข้างโหดมากนะครับ ที่จะมีใครคิดจะผลิตสินค้าที่มา disrupt สินค้าที่ตัวเองขายอยู่และจะมาแบ่งส่วนแบ่งการตลาดของตัวเองไป ถามว่าทำไมเค้าถึงต้องทำและต้องรีบทำด้วย? เพราะเค้ามั่นใจว่าถ้า Amazon ไม่ทำ Google หรือ Apple ก็ต้องกระโดดมาทำเป็นแน่ โดยเค้าให้ direction ทีมพิเศษนี้ไปว่า
 
“Your job is to kill your own business”
1
ส่วนตัวผมเองยังไม่เคยลองใช้ Kindle เลยซักครั้ง รู้สึกยังชอบอ่านหนังสือแบบเป็นเล่มอยู่ แต่ก็เชื่อลึก ๆ เหมือนกันว่าหนังสือเป็นเล่ม ๆ จะต้องค่อย ๆ หายไปจากโลกเราเป็นแน่ เหมือนกับพวกนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ตอนนี้ที่แทบจะไม่มีใครซื้ออ่านกันแล้ว
……………..
“Amazon Web Services”
ในช่วงประมาณปี 2002 Amazon ก็ได้ประกาศ product ใหม่ชื่อว่า “Amazon Web Services” (AWS) ซึ่งก็คือธุรกิจ Cloud Service นั่นเองซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจากการที่เค้าต้องการแก้ปัญหา (pain point) ให้พนักงานภายใน จนกลายมาเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ทำเงินให้กับ Amazon อย่างมหาศาลเพราะมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยบริษัท start-up ที่มีชื่อเสียง เช่น Pinterest, Instagram หรือแม้กระทั่ง Netflix ก็ใช้บริการของ AWS ซึ่ง AWS ก็เป็นหนึ่งในแผนระยะยาวของทาง Amazon ที่ในอนาคตมองว่าทุกคนต้องใช้ platform นี้สำหรับการสร้างเว็บ สร้างแอปต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญต่อไปของโลกในอนาคต
1
……………..
“Long Term Thinking”
จากหลาย ๆ เหตุการณ์ที่ยกตัวอย่างมาเล่านั้นแสดงให้เห็นว่าตัว Jeff Bezos นั้นเป็นคนที่มองอะไรระยะยาวมาก ๆ การที่เค้าให้ความสำคัญกับลูกค้าอย่างมาก เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจ กลับมาใช้ซ้ำ บอกต่อ เพิ่มจำนวนลูกค้าอย่างมากมายให้กับ Amazon โดยช่วงต้นนี่บริษัทมีรายได้เยอะก็จริง แต่ก็ไม่ได้มีกำไรนะครับ เพิ่งมีกำไรได้ไม่นานนี่เอง แต่ถามว่าทำไมผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนยังคงเชื่อใจและให้การสนับสนุนอยู่เสมอ เนื่องจากว่า Jeff ได้บอกกับผู้ถือหุ้นบ่อย ๆ ว่า Amazon เป็นบริษัทที่มองระยะยาว การคาดหวังผลกำไรระยะสั้นนั้นไม่ใช่สิ่งที่เค้าจะทำ เชื่อว่านักลงทุนน่าจะมีความเชื่อใน long term vision ของ Amazon
……………..
🎯 ต้องบอกว่าหนังสือเล่มนี้เล่าที่มาที่ไปของ Amazon.com ได้ละเอียดมาก ๆ โดยเฉพาะเรื่องราวของผู้ก่อตั้งอย่าง Jeff Bezos และ key success factors ที่ทำให้บริษัทมาอยู่ที่จุดนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นการมีวิสัยทัศน์ของผู้นำหรือการให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นอย่างแรก สำหรับใครที่สนใจอยากรู้เรื่องราวที่ละเอียดกว่านี้ก็ต้องไปอ่านครับ หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศ Business Book of the Year ปี 2013 จาก Financial Times & Goldman Sachs ด้วยนะครับ
สุดท้ายตัวผมเองได้บทเรียนสำคัญจาก “regret-minimization framework” คือหากเราต้องการจะทำอะไรที่ดี ก็จงลุยและเริ่มทำมันซะ ถ้ามันผิดพลาดไปก็จงเรียนรู้และปรับปรุง เพราะคนส่วนใหญ่เมื่อแก่ตัวไปจะเสียใจที่ไม่ได้ทำอะไรที่อยากทำมากกว่าเสียใจที่ทำไปแล้วแต่ล้มเหลวหรือผิดพลาดครับ...😃
ป.ล. ถ้าไม่อยากพลาดการติดตามการรีวิวหนังสือดี ๆ แบบละเอียดยิบ ฝากกด Like กดติดตามเพจ รวมถึงยังติดตามได้อีกหนึ่งช่องทางใน facebook.com/TheCrazyBookReader
โฆษณา