17 ม.ค. 2021 เวลา 09:53
ปี 2563 ที่ผ่านมา วางแผนภาษีกันอย่างไรบ้าง?
ผ่านพ้นปี 2563 มาได้ครึ่งเดือนแล้วนะครับ ปี 2563 ที่ผ่านมาวางแผนลดหย่อนภาษีกันยังไงบ้างครับ
SSF : ไม่ต้องซื้อ หรือ ไม่ถูกใจ?
ในช่วงตุลาคม 63 มอร์นิ่งสตาร์ได้เปิดเผยว่ากองทุน SSF ทั้งระบบมีมูลค่าเพียง 908 ล้านบาทเท่านั้น ห่างจากประมาณการที่ทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุนเคยคาดไว้ว่าจะมีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้าน ทำให้ในช่วงปลายที่ผ่านมามา หลาย บลจ ได้ออกมาเชิญชวนให้ลูกค้าซื้อ SSF เพื่อวางแผนภาษีแทน LTF ที่ไม่มีอีกต่อไป ไม่รู้ว่าถึงสิ้นปีมูลค่าของ SSF ทั้งระบบจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าไหร่
เมื่อดูประเภทกองทุน SSF ที่เลือกลงทุน ยังพบว่าส่วนใหญ่เป็นกองทุนหุ้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ LTF นั่นเอง
*** 20/1/64 : อัพเดตเพิ่มเติมรายละเอียด - ล่าสุดสมาคมบริษัทจัดการลงทุนได้เปิดเผยข้อมูล NAV ของ SSF ณ สิ้นปี 2563 แล้ว มียอด NAV อยู่ที่ 19,XXX ล้านบาท นับว่าใกล้เคียงกับประมาณการของทางสมาคมฯ ตามข่าวข้างบน ***
LTF: อาจมีการขายคืนต่ำกว่าที่ประมาณการ
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน เคยประมาณการไว้ว่าหากไม่มีการต่ออายุ LTF คาดว่าจะมีเงินไหลออกประมาณ 30,000 บาท จากกองทุน LTF โดยรวมที่มีอยู่ในปัจจุบัน 3.1 แสนล้าน (ณ สิ้น กย 63) ซึ่งพบว่าช่วง 9 เดือนแรกมีเงินไหลออกจากการขายคืนกอง LTF เป็นจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่กระทบจากโควิด-19 ในปีที่่ผ่านมา ทำให้หลายคนต้องเพิ่มสภาพคล่อง การขายคืน LTF ที่ครบหลักเกณฑ์ก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยเรื่องสภาพคล่องได้ ราคาหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาส 4 อาจไม่เอื้อให้มีการขายคืนกองทุน LTF เท่าไหร่นัก แต่จากที่ลองเปรียบเทียบหลายๆ กองทุน LTF กองทุนที่ครบกำหนดสามารถไถ่ถอนได้ส่วนมากจะได้กำไรจากราคา NAV ที่สูงกว่าราคาในวันที่ซื้อโดยส่วนใหญ่ ก็คงต้องดูว่า ณ สิ้นปี 2563 มีการขายคืน LTF เป็นมูลค่าเท่าไหร่
RMF : กองทุนที่ยังต้องซื้อต่อไปด้วยเงื่อนไขการซื้อต่อเนื่อง
9 เดือนแรกของปี 2563 มีเงินไหลเข้ากองทุน RMF 4,200 ล้านบาท น้อยกว่าปีก่อนหน้าพอสมควร แต่เนื่องจากเงื่อนไขการซื้อของ RMF และ SSF ถูกผูกไว้ด้วยกัน ก็คงต้องดูว่าการที่ SSF ไม่ค่อยได้รับความนิยม จะทำให้หันมาซื้อ RMF กันมาขึ้นหรือไม่ และสัดส่วนของเงินลงทุนต่อรายได้จะเปลี่ยนไปจากเดิมหรือไม่ เนื่องจากในอดีต มีผู้เสียภาษีจำนวนเพียง 6.3% ที่ซื้อกองทุน RMF ในขณะที่ 11.4% ซื้อ LTF และมื่อดูจากสัดส่วนการลงทุนต่อรายได้จะเห็นได้ว่า สัดส่วนการลงทุนต่อรายได้เท่ากับ 7.9% ของรายได้ ในขณะที่ LTF มีสัดส่วน 9.6% เหตุผลส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่ RMF ถูกผูกเข้าไปรวมกับ PVD (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข และประกันบำนาญ) เมื่อเงื่อนไขในปัจจุบันมีการทำ SSF รวมเข้าไปด้วย ผู้ที่ลงทุนใน RMF จะถูกเงื่อนไขซื้อต่อเนื่องกำหนดให้ต้องลงทุนต่อไป ทำให้การหันไปลงทุนใน SSF มีความจำเป็นที่ลดลงก็อาจเป็นไปได้
ประกันชีวิต : ถูกใช้เพื่อวางแผนภาษีมากขึ้น
ปีที่ผ่านมาต้องบอกว่าเป็นปีที่ธุรกิจประกันชีวิตต้องปรับตัวค่อนข้างมาก ด้วยอัตราผลตอบแทนการลงทุนที่หายไป กำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์และปันผลที่ลดลง อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 2563 ประกันชีวิตถูกนำมาใช้วางแผนภาษีมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านๆ มา บริษัทฯ ประกันชีวิตหลายแห่ง สามารถขายแบบประกันชีวิตที่เน้นเพื่อลดหย่อนภาษี เช่น แบบประกันสะสมทรัพย์ 10 ปีจ่ายเบี้ย 1-5 ปี ได้มากกว่าที่ผ่านมา ชาว BD มีใครซื้อประกันเพื่อลดหย่อนภาษีในปี 2563 บ้างหรือเปล่าครับ
1
ในปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์ทางการเงินการออมที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเหล่านี้ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข สภาพตลาด และกำลังซื้อที่หดหาย คงต้องรอดูการวิเคราะห์ของหน่วยงานต่างๆ ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรบ้าง แต่สำหรับชาว BD ได้ปรับแผนการลดหย่อนภาษีในปี 2563 อย่างไรบ้างครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา