17 ม.ค. 2021 เวลา 01:23 • การศึกษา
ในคดีแพ่งที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดไปแล้วนั้น กฎหมายห้ามไม่ให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่กฎหมายกำหนด
5
และหากฝ่าฝืน กฎหมายจะถือว่าคดีที่นำมาฟ้องภายหลังนั้นเป็นการฟ้องซ้ำ ซึ่งมีผลให้ศาลต้องยกฟ้องคดีนั้นไป
1
ซึ่งในบางคดีนั้น หากดูเพียงผิวเผินก็อาจจะดูเหมือนเป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ถ้าหากพิจารณาดูดี ๆ แล้วจะพบว่าเรื่องที่คู่ความนำมาฟ้องร้องกันนั้น อาจเป็นเรื่องเดียวกันและเป็นการฟ้องซ้ำก็เป็นได้
ขอให้ดูตัวอย่างในเรื่องต่อไปนี้กันครับ (เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้นจึงขออธิบายเรียงลำดับ)
1. (คดีแรก) ผู้ให้เช่าซื้อเป็นโจทก์ฟ้องผู้เช่าซื้อเป็นจำเลยเรื่องผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาว่าผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญา และคดีถึงที่สุดแล้ว
2. (คดีหลัง) ผู้เช่าซื้อในคดีแรกเป็นโจทก์ฟ้องผู้ให้เช่าซื้อเป็นจำเลยในเรื่องละเมิด โดยกล่าวอ้างว่าผู้ให้เช่าซื้อได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อนำความเท็จมาฟ้องตน (เรื่องผิดสัญญาเช่าซื้อในคดีแรก) อันเป็นการทำละเมิด ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย
3
3. (คดีหลัง) ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า... การวินิจฉัยว่าจำเลย (ผู้ให้เช่าซื้อ) นำความเท็จมาฟ้องโจทก์เป็นการทำละเมิดหรือไม่ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก็สืบเนื่องมาจากมูลฐานและข้ออ้างเดียวกันคือ โจทก์ (ผู้เช่าซื้อ) ผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ซึ่งในคดีก่อนก็ได้วินิจฉัยแล้วว่าผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาและคดีถึงที่สุดแล้ว
4. (คดีหลัง) ศาลฎีกายังวินิจฉัยต่อไปอีกว่า... การที่โจทก์ (ผู้เช่าซื้อ) อ้างว่า โจทก์ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนจำเลยแล้ว สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกัน แต่ต่อมามีผู้ปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไปไถ่ถอนรถยนต์คันที่เช่าซื้อออกมาใช้ ข้ออ้างดังกล่าวโจทก์สามารถยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การในคดีแรกได้
อีกทั้งเหตุผลที่อ้างมานั้นก็เกิดขึ้นก่อนที่โจทก์จะถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีแรกอยู่แล้ว แต่โจทก์กลับไม่ยกขึ้นต่อสู้ เมื่อแพ้คดีแล้วจึงกลับมาอ้างเหตุที่ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคดีแรกมารื้อร้องฟ้องกันอีก
ดังนั้น ฟ้องของโจทก์ในคดีหลังจึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรก
[สรุป] สาเหตุที่คดีหลังเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรกก็คือ...
- คู่ความในคดีแรกกับคดีหลังเป็นคู่ความเดียวกัน คือ ผู้ให้เช่าซื้อ และผู้เช่าซื้อ
- ประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในคดีหลังนั้น แท้จริงแล้วเป็นประเด็นเดียวกันที่ศาลในคดีแรกได้วินิจฉัยไปแล้ว คือ “ผู้เช่าซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่” และคดีได้ถึงที่สุดไปแล้ว จึงถือว่าเป็นการนำเรื่องเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน
- ประเด็นข้อต่อสู้ที่ผู้เช่าซื้อยกขึ้นอ้างในคดีหลัง ทั้งที่สามารถยกขึ้นต่อสู้ได้ในคดีแรกได้แต่กลับไม่ยกขึ้นต่อสู้ (ข้อ 4) ถือว่าเป็นนำเรื่องเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันเช่นเดียวกัน ฟ้องคดีหลังจึงเป็นฟ้องซ้ำ
References:
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6189/2561
- ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
โฆษณา