17 ม.ค. 2021 เวลา 03:58 • การเมือง
จริยธรรมนักการเมืองเนเธอร์แลนด์
โดย
นิติภูมิธณัฐ
มิ่งรุจิราลัย
พ.ศ. 2545 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีวิม ค็อก แห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ลาออกทั้งคณะ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อรายงานการสืบสวนที่ระบุว่ารัฐบาลเนเธอร์แลนด์ต้องร่วมรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สังหารหมู่สเรเบรนนีตซาในสงครามบอสเนียเมื่อ พ.ศ. 2538
https://nord.news/2021/01/15/scandal-overthrows-the-government-of-the-netherlands/
พ.ศ. 2564 รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีมาร์ค รุตต์ แห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ลาออกทั้งคณะ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่ไปกล่าวหาว่าประชาชนมากกว่า 1.1 หมื่นคนทุจริตเงินสวัสดิการเลี้ยงดูบุตรหลาน
พ.ศ. 2546 คณะของผมอยู่ในสมรภูมิสงครามจนถึงชั่วโมงแรกที่ทหารอเมริกันบุกถึงกรุงแบกแดด อิรัก โดยคณะของผมได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวหนึ่งให้ออกมาทางซีเรีย
1
หลายปีต่อมา เด็กผู้หญิงชาวอิรักในครอบครัวนั้นก็ได้รับความช่วยเหลือให้มาเรียนจนจบปริญญาตรีคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ม.อัสสัมชัญ หลังจากนั้น บัณฑิตชาวอิรักผู้นี้เดินทางไปลงหลักปักฐานที่เนเธอร์แลนด์ แต่งงานและมีบุตรที่นั่น
ครอบครัวผู้อพยพในเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่ถือสองสัญชาติ มีฐานะทางการเงินไม่ค่อยดี ไม่นานมานี้ สำนักสรรพากรแห่งชาติได้กล่าวหาประชาชนมากกว่า 1.1 หมื่นคนว่าทุจริตเงินสวัสดิการเลี้ยงดูบุตรหลาน และเรียกเก็บเงินคืนทั้งหมด ทำให้ชาวเนเธอร์แลนด์หลายครอบครัวต้องจ่ายเงินคืนเป็นจำนวนมาก กระทบต่อฐานะการเงิน บางครอบครัวถึงขั้นล่มสลาย
มีคุณแม่คนหนึ่งถูกเรียกเก็บภาษีถึง 4.8 หมื่นยูโร เป็นเงินไทยก็ 1.7 ล้านบาท เมื่อผู้หญิงคนนี้พยายามอธิบายกับเจ้าหน้าที่สรรพากรว่ารัฐทำผิดพลาด กลับถูกเจ้าหน้าที่งดจ่ายสวัสดิการ ไม่เฉพาะในส่วนที่ให้สำหรับเด็ก แต่ยังรวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟ บั้นปลายท้ายที่สุด ครอบครัวต้องแตกร้าวด้วยแรงกดดันทางเศรษฐกิจ
ต่อมา มีผลการตรวจสอบเอกสารย้อนหลังอย่างละเอียด พบว่าเป็นความบกพร่องด้านงานเอกสาร รัฐบาลของนายรุตต์จึงประชุมกับคณะรัฐมนตรีที่เป็นการรวมตัวจาก 4 พรรคการเมือง
หลังจากทราบความจริง ก็มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยการยื่นใบลาออกพร้อมกันทั้งคณะต่อสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลม อเล็กซานเดอร์ เพื่อความรับผิดชอบต่อการผิดพลาดดังกล่าว
www.journal.ie
เนเธอร์แลนด์เป็น 1 ใน 7 ประเทศของยุโรปที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ประเทศนี้มีปัญหาเรื่องผู้อพยพที่มีความแตกต่างทั้งเชื้อชาติและความเชื่อทางศาสนา
เคยมีนักการเมืองพอพิวลิสต์ปีกขวา ที่ชื่อ พิม ฟอร์ทาวน์ ถูกฆ่าเพราะมีนโยบายต่อต้านการอพยพเข้ามาอาศัยในเนเธอร์แลนด์ของพวกจากตะวันออกกลาง การฆ่าพิม ฟอร์ทาวน์ เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2545 ก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียง 2 วัน
การลอบฆ่าในเนเธอร์แลนด์ส่วนหนึ่งเกิดจากการต่อต้านการรับผู้อพยพ
ผมยกตัวอย่างอีกคดีหนึ่งก็ได้ครับ เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2547 นายเทโอฟาน โกก ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีแนวความคิดสนับสนุนฟอร์ทาวน์ถูกเด็กหนุ่มชาวดัตช์เชื้อสายโมร็อกโกที่นับถือศาสนาอิสลามฆ่า
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่เคยมีปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงาน รัฐบาลในอดีตจึงหันมาดำเนินนโยบายส่งเสริมให้มีการอพยพแรงงานเข้าประเทศ ตอนแรกก็เป็นพวกอิตาลีและสเปนที่เดินทางเข้ามา
แต่ก็ยังไม่พอต่อปริมาณงานที่มีเป็นจำนวนมาก จึงต้องอพยพชาวเติร์กและชาวโมร็อกโกมาช่วย รวมทั้งผู้อพยพจากอดีตอาณานิคมอย่างอินโดนีเซีย สุรินัม และเนเธอร์แลนด์แอนทิลลิส เข้ามาตั้งรกรากเป็นอันมาก นี่ละครับที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม
ด้านหนึ่งผู้คนก็ยกย่องว่าเนเธอร์แลนด์เป็นราชอาณาจักรที่มีเสรีภาพสูง มีการผ่อนปรนเรื่องการใช้ยาเสพติด และให้การการุณยฆาตเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย
1
เป็นประเทศแรกในโลกที่ให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งรับรองสิทธิของคู่สมรสเพศเดียวกันให้มีความทัดเทียมเท่ากับคู่สมรสชายหญิงตามปกติอีกด้วย
แต่อีกด้านหนึ่งรัฐบาลก็กล่าวหาพลเมืองของตนเองที่เป็นอดีผู้อพยพ แต่เมื่อรู้แท้แน่ชัดว่าตนเองผิด ก็ยอมรับผิดและลาออก
ทราบเรื่องการลาออกของนายกฯ รุตต์ และคณะรัฐมนตรีแห่งเนเธอร์แลนด์แล้ว ก็ต้องยอมรับในเรื่องจริยธรรมทางการเมืองของประเทศนี้ครับ.
โฆษณา