18 ม.ค. 2021 เวลา 07:00 • การเมือง
อำนาจในมือ "ไบเดน" เมื่อ "ทรัมป์" อำลา สมรภูมิเกมการค้าจะรุนแรงแค่ไหน?
- ในวันที่ 20 มกราคม หรือ US Inauguration Day "โจ ไบเดน" จะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ หลังชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 46
- สหริฐอเมริกาขาดดุลการค้าจีนกว่า 10 ล้านล้านบาท ส่งออกแค่ 4 แสนล้านบาท แต่นำเข้าถึง 1 ล้านล้านบาท
- นักวิเคราะห์มอง "ไบเดน" ไม่กลับเข้าร่วม TPP หรือ CPTPP ปัจจุบัน แต่จะสร้างกติกาเกมการค้าขึ้นมาใหม่
อีกเพียงไม่กี่วันก็จะถึง US Inauguration Day หรือวันเข้ารับตำแหน่งของผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งบุคคลที่ก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำคนที่ 46 ก็คือ ชายวัย 70 กว่า ที่มีนามว่า "โจ ไบเดน" ผู้ท้าชิงแห่งพรรคเดโมแครต ที่คว้าชัยไปอย่างสวยงาม
แน่นอนว่า การที่ "สหรัฐอเมริกา" มหาอำนาจเศรษฐกิจโลก เปลี่ยน "ผู้นำทัพ" คนใหม่ ก็ย่อมเป็นที่จับตาไปทั่วโลก เพราะคนก่อนหน้าอย่าง "โดนัลด์ ทรัมป์" ช่างบ้าดีเดือดเสียเหลือเกิน นโยบายเรือธง American First ที่มุ่งหวังว่า "ชาวอเมริกันต้องมาก่อน!" ก็ดันไม่ได้ผลักดันแบบดีๆ เหมือนคนอื่นเขา กลายเป็น "สงครามการค้า" (Trade War) ห้ำหั่นกับ "จีน" ขั้วมหาอำนาจเศรษฐกิจแห่งซีกโลกตะวันออก ที่ยืดเยื้อยาวนานมากกว่า 2 ปี จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่จบ... ทิ้งทวนแบบเจ็บแสบกับการ "ลงดาบ" บริษัทเทคโนโลโยีจีน "เสี่ยวมี่" (Xiaomi) แตกแขนง "สงครามเทคโนโลยี" (Tech War) ไปอีก
และเมื่อ "โจ ไบเดน" คือ ผู้นำทัพคนใหม่ หลายๆ คน หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะ "สี จิ้นผิง" แห่งดินแดนมังกร ก็มุ่งสายตาไปที่ชายผู้นี้ว่า เขาจะทำให้ "สงครามการค้า" สงบลง หรือจะเร่งเครื่องให้รุนแรงยิ่งกว่าเดิม?
:: "โดนัลด์ ทรัมป์" สร้าง "ผลงาน" อะไรไว้บ้าง?
หนึ่งในวีรกรรมอันโจษจันอันเลื่องชื่อของ "ทรัมป์" คือ "ถอนตัวและยกเลิกสัญญา!"
เริ่มจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) ที่คณะบริหาร "บารัก โอบามา" แสนจะภาคภูมิใจ ก็ถูก "ทรัมป์" ล้มโต๊ะอย่างไม่เป็นท่า ไปจนถึงการหยุดหารือข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรป (EU) ไม่เพียงเท่านั้น เขายังขัดแย้งกับองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) แถมยังขู่ว่าจะถอนตัวออกจากการตกลงทั้งหมดด้วย
นอกเหนือจากนั้น เขายังตั้ง "กำแพงภาษี" เหล็กและอะลูมิเนียมที่นำเข้าจากทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงแคนาดาและยุโรปด้วย โดยหนึ่งในเหตุผลที่ "ทรัมป์" หยิบมาอ้างถึงคือ "สินค้าจีน" ทะลักจนล้นตลาด ซึ่งเขามองว่านั่นไม่เป็นธรรมกับชาวอเมริกันเอาเสียเลย
ซึ่งตลอดสมัยการดำรงตำแหน่งของ "ทรัมป์" ทั่วโลกต่างรับรู้ว่า ไม้เบื่อไม้เมาของเขาก็คือ "จีน" ในแง่ไหนๆ ขอแค่แปะป้ายว่าเป็นของ "จีน" ก็พร้อมจะตั้งแง่และถูกเพ่งเล็งมากเป็นพิเศษเสมอ จากแค่เล็กๆ น้อยๆ กลายเป็น "สงครามการค้า" ด้วยการตั้งกำแพง "ภาษีการนำเข้า" จากจีนมูลค่ากว่าแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จนเกิดการแก้แค้นทางเศรษฐกิจคืนกลับจากปักกิ่ง ที่แทบจะเรียกได้ว่า "ชาตินี้คงไม่มีทางญาติดีกันได้อีกแล้ว!"
หากแต่ "สงครามการค้า" จบอยู่แค่ 2 ประเทศก็คงไม่อะไรนัก ดันกระทบและลากชาติอื่นๆ เข้ามาอยู่ในสนามรบด้วย...คนเลยหวังว่า "ไบเดน" จะเข้ามาแก้ให้ดีขึ้น
:: สถิติการค้าสหรัฐอเมริกาและจีนมีอะไรน่าสนใจบ้าง?
1. จีนนำเข้ากลุ่มสินค้าเกษตร-อาหารและซีฟู้ดจากสหรัฐอเมริกา มูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท
2. สหรัฐอเมริกาส่งออกรถเมล์และรถบรรทุกขนาดเล็กไปจีน จำนวนกว่า 2 แสนคัน
3. จีนนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐอเมริกา สัดส่วนกว่า 21%
4. จีนนำเข้าเครื่องสำอางจากสหรัฐอเมริกา สัดส่วนกว่า 10%
5. จีนส่งออกส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงไปสหรัฐอเมริกา มูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท
6. สหรัฐอเมริกานำเข้ารองเท้าจากจีน มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท
7. ประเทศผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่สหรัฐอเมริกานำเข้ามากที่สุด คือ จีน
:: "โจ ไบเดน" คิดจะทำอะไรนับจากนี้?
ในช่วงหาเสียงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา "ไบเดน" อ้างเหตุผลที่วอชิงตันต้อง "เขียนกฎ" การค้าในระบบระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้ว
ท่าทีของ "ไบเดน" พอจะชัดเจนอยู่บ้างว่า เขานั้นเป็น "ผู้สนับสนุน" การค้าแบบเปิดเสรี ซึ่งหากย้อนไปสมัยเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตอนนั้นเขาก็เป็นผู้สนับสนุน TPP และตอนอยู่ในฐานะวุฒิสมาชิก เขาก็โหวตข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement: NAFTA) และการเข้าร่วม WTO ของจีน
ขณะเดียวกัน เขาก็โหวตคัดค้านข้อตกลงการค้า ซึ่ง "ไบเดน" เห็นว่า อาจทำให้สิทธิแรงงานและการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมเปราะบาง แถมยังมีการเรียกร้องอย่างแข็งกร้าวให้แก้แค้น "การค้าแสนขี้โกง" ของจีนโดยเร็ว
หากมองคร่าวๆ ก็พอบอกได้ว่า "จะค้าขายแบบไหนไม่ว่ากัน แต่อย่ามาเอาเปรียบจนเกินไปนัก!" ...ประมาณนั้นใช่ไหมไบเดน?
ครั้งหนึ่ง "ไบเดน" เคยให้สัญญาว่า เขาจะร่วมมือกับพันธมิตรของสหรัฐอเมริกา เช่น สหภาพยุโรป (EU) ในการร่วมกันต่อต้าน "จีน" แต่เขาไม่ได้สัญญาว่าจะยุติการตั้งกำแพงภาษีสินค้าจาก EU หรือไม่ นั่นอาจเป็นหนึ่งในความท้าทายการต่อสู้ทางการค้าในปีนี้ (2564) ก็เป็นได้
และในขณะที่ "ไบเดน" ยังไม่ได้นั่งเก้าอี้อย่างสมภาคภูมิ พันธมิตรกับศัตรูของชาติอย่าง EU และจีนก็ดันจับมือกันทำสนธิสัญญาการลงทุน ...งงไหม?
ก่อนหน้านี้ "ไบเดน" ยังเพิ่งให้สัญญาอยู่เลย...
อย่างไรก็แล้วแต่... ปัญหา "สงครามการค้า" เชื่อว่ายังไม่จบง่ายๆ แน่ เพราะก่อนหน้านี้ "ไบเดน" ก็ออกมาพูดแล้วว่า เขายังไม่คิดจะยกเลิกการตั้ง "กำแพงภาษีจีน" ที่ "ทรัมป์" ก่อเอาไว้แบบทันทีทันใด โดยอ้างเหตุผลว่า วอชิงตันมีความจำเป็นต้องรักษาผลประโยชน์ก่อนในตอนนี้
อีกคำถามที่ว่า "เขาจะกลับเข้าร่วม TPP อีกรอบไหม หรือจะการกลับเข้าสู่การเจรจาอีกครั้งกับ EU หรือไม่?"
"ไบเดน" ก็มีการตัดสินใจว่าควรจะทำอะไรกับการคัดเลือกผู้อำนวยการใหญ่ WTO และแก้ไขกระบวนการขัดแย้งกับ WTO ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ "ทรัมป์" สร้างเรื่องทิ้งเอาไว้ให้
หนึ่งในความเห็นของ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บอกกับผู้เขียน เชื่อว่า "ไบเดน" ไม่กลับเข้าสู่ CPTPP หรือฟื้น TPP แน่นอน แต่สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของ "ไบเดน" จะเป็นฝ่ายวางกติกาขึ้นใหม่ พูดง่ายๆ ว่า เขาจะต้องเป็นผู้คุมกฎ และต้องเป็น "ผู้เล่นหลัก"
1
หากมองภาพตอนนี้ เห็นได้อย่างชัดเจนว่า จีนกำลังสวมบทบาทจับมือกับพันธมิตรเก่าและปัจจุบันของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหาก "ไบเดน" เลือกเดินตามเกมของ "ทรัมป์" ดูท่าจะไม่ดีนัก มีหลายนักวิเคราะห์ที่มองว่า เขาควรยอมรับบทบาทการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกของจีน และทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน และความพยายามที่จะเข้าร่วม CPTPP ของจีน ที่ครั้งหนึ่งคือ TPP แต่ "ทรัมป์" ทำพังไปแล้ว ก็อาจเป็นการเปิดโอกาสครั้งสำคัญ
ฉะนั้น หาก "ไบเดน" อยากจะทำตามสัญญาเรื่องการฟื้นสัมพันธ์ เขาก็ต้องหาหนทางพยายามทำให้ "หายนะ" จาก "สงครามการค้า" ระหว่างจีนจบลงให้ไว
ในมุมผู้เขียนคิดว่า "ไบเดน" น่าจะไม่แข็งกร้าวเท่ากับสมัย ทรัมป์ หากแต่ในแง่ภาษีก็คงยังมีอยู่ แต่ถ้าจะถึงกับจบ "สงครามการค้า" เลยก็คงน่าจะอีกยาว อย่างน้อยครึ่งปีแรกก็น่าจะคงไว้อย่างนี้ก่อน.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
👇 อ่านบทความต้นฉบับ👇
โฆษณา