19 ม.ค. 2021 เวลา 04:30 • กีฬา
เซอร์ยา โบนาลี : นักสเก็ตลีลาอัจฉริยะที่ไม่ได้รับการยอมรับเพราะ "ผิวดำ" | MAIN STAND
เธอทำให้คนดูตื่นตา มีลีลาการเล่นที่เร้าใจ และมี "ท่าตีลังกากลับหลัง" อันเป็นเอกลักษณ์ แถมยังเป็นแชมป์ฝรั่งเศส แชมป์ยุโรป และเคยเข้าไปเล่นในโอลิมปิกฤดูหนาวถึง 2 ครั้ง
อย่างไรก็ดี เธอกลับไม่ได้รับการยอมรับจากคนในวงการ เพียงเพราะว่าเธอไม่ได้ผิวขาว ตามภาพลักษณ์ของ "เจ้าหญิงบนลานน้ำแข็ง"
พบกับเรื่องราวการต่อสู้สุดขมขื่นของ เซอร์ยา โบนาลี ยอดนักสเก็ตลีลาชาวฝรั่งเศส ได้ที่นี่
พระอาทิตย์ของพ่อแม่
ณ เมืองริมชายฝั่ง ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ติดกับทะเลเมดิเตอเรเนียน มีเมืองที่ชื่อว่า นีซ ตั้งอยู่ นอกจากเป็นเมืองตากอากาศแล้ว มันยังเป็นสถานที่ที่ เซอร์ยา โบนาลี เติบโตขึ้นมา
เธอเกิดในวันที่ 15 ธันวาคม 1973 ในครอบครัวของพ่อชาวไอวอรีโคสต์ และแม่ที่มาจากเกาะเรอูนียง ดินแดนของฝรั่งเศส ใกล้กับเกาะมาดากัสการ์ แต่หลังจากนั้นไม่นาน เธอก็ถูกส่งไปยังสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่นีซ
จอร์เจส และ ซูซาน โบนาลี คู่รักผิวขาวคือคนที่เข้ามาเปลี่ยนชีวิตเด็กน้อยคนนี้ พวกเขารับเธอมาเป็นลูกบุญธรรม ตั้งแต่เธอยังแบเบาะ และเปลี่ยนชื่อเธอจาก คลาวดิน มาเป็น เซอร์ยา ที่แปลว่า "พระอาทิตย์" ในภาษาสันสกฤติ
2
Photo : face2faceafrica.com
"พ่อแม่ของฉันเป็นคนเด็ดเดี่ยว พวกท่านกล้าพอที่จะพูดว่า 'โอเค เราอยากรับเลี้ยงเด็ก' และเด็กคนนั้นยังเป็นเด็กผิวสีอีกด้วย" เซอร์ยา กล่าวกับ Olympic Channel
"ฉันภาวนาให้ได้เจอพ่อแม่ที่จะโอบอุ้มฉัน ช่วยให้ฉันโตขึ้น และได้รับการศึกษาที่ดี"
ซึ่งมันก็ตรงตามกับที่ เซอร์ยา ปรารถนา แม้ว่าเธอจะเป็นเด็กผิวดำที่ถูกเลี้ยงดูโดยครอบครัวของคนผิวขาว แต่ชีวิตในวัยเด็กของเธอนั้นมีความสุขมาก จอร์เจส และ ซูซาน ดูแลเธอเป็นอย่างดี พวกเขาให้การศึกษาที่เหมาะสม และให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย
Photo : Surya Bonali
กีฬาเป็นอีกอย่างที่เธอได้รับโอกาส ด้วยความที่ ซูซาน แม่ของเธอเป็นครูพละ ที่หลงใหลในกิจกรรมที่ได้เหงื่อ ทำให้ เซอร์ยา ได้มีโอกาสเรียนและเล่นกีฬาที่หลากหลาย ทั้งเต้นบัลเลต์ ฟันดาบ ขี่ม้า กระโดดน้ำ สเก็ตลีลา และยิมนาสติก
ซึ่งเซอร์ยา ไม่ได้เล่นมันเพื่อความสนุกเท่านั้น เพราะเธอเธอมีพรสวรรค์ในด้านนี้ และทำได้อย่างยอดเยี่ยม ในทุกกีฬา โดยเฉพาะยิมนาสติก ที่สามารถคว้ารองแชมป์โลกในระดับเยาวชนในปี 1986
อย่างไรก็ดี ยังมีกีฬาอีกชนิดที่เซอร์ยารักไม่แพ้กัน นั่นก็คือสเก็ตลีลา
นักไอซ์สเก็ตดาวรุ่งพุ่งแรง
มันเริ่มต้นจากในปี 1984 เมื่อครอบครัว โบนาลี รวมถึง เซอร์ยา ได้ชมการถ่ายทอดสดการแข่งขันสเก็ตลีลา ในโอลิมปิกฤดูหนาวที่เมืองซาราเยโว ที่ตอนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของยูโกสลาเวีย
เพียงแค่แรกเห็น เซอร์ยา ก็ตกหลุมรักในกีฬาชนิดนี้ ท่วงท่าที่อ่อนช้อย ในขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยความดุดัน สะกดใจเธออย่างอยู่หมัด จนทำให้เธอไปลองหัดเล่นและทำท่า Double Axel (หมุนตัวกลางอากาศ 2 รอบ) จนข้อเท้าหัก และต้องใส่เฝือกอยู่ 2 เดือน
Photo : Surya Bonali
จนกระทั่งในปี 1985 ทีมสเก็ตลีลาของฝรั่งเศส ภายใต้การนำของ ดิดิเยร์ ไกยาเกต์ ได้เดินทางมาเข้าค่ายเก็บตัวที่เมืองนีซ การมาของทีมชาติทำให้ลานสเก็ตถูกจองจนเต็มทุกพื้นที่ และทำให้ เซอร์ยา ไม่มีที่เล่นสเก็ต
เมื่อเป็นเช่นนั้น ซูซาน จึงไปขอร้อง ไกยาเกต์ ว่าขอให้ลูกเธอได้เล่นสักชั่วโมงได้ไหม โชคดีที่โค้ชอนุญาต ทำให้ เซอร์ยา จึงได้มีโอกาสเล่นสเก็ตต่อหน้าโค้ชทีมชาติ และการพยายามทำท่า Double Axel ก็ทำให้ไกยาเกต์ประทับใจ
"เธอพยายามหัดทำท่าดับเบิลจัมป์ และเธอสู้มาก ผมคิดว่ามันดีนะ เราไม่มีนักสู้ขาลุยในฝรั่งเศสเลย" ไกยาเกต์ กล่าวถึง เซอร์ยา ในตอนนั้น
ความประทับใจดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ เซอร์ยา ได้ก้าวเข้ามาสู่วงการสเก็ตลีลาอย่างจริงจัง เมื่อหลังจากนั้น ไกยาเกต์ ชวนเธอไปปารีส โดยให้คำสัญญาว่าจะเป็นคนปลุกปั้นเธอเอง
Photo : Surya Bonali
ด้วยความที่ เซอร์ยา มีทักษะทางด้านกีฬาอยู่แล้ว บวกกับการมีโค้ชระดับทีมชาติเป็นผู้ฝึกสอน ทำให้ฝีมือของเธอพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และก้าวขึ้นมาเป็นนักสเก็ตลีลาดาวรุ่งพุ่งแรงของฝรั่งเศส พร้อมกับกวาดรางวัลในระดับเยาวชนมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นแชมป์เยาวชนฝรั่งเศสในปี 1987-1988 แชมป์เยาวชนโลกในปี 1991 รวมถึงอันดับ 2 และอันดับ 3 ในรายการเดียวกันในปี 1989 และ 1990
หลังจากนั้นไม่นาน เซอร์ยา ก็ได้ขยับขึ้นไปแข่งในรุ่นผู้ใหญ่ และยังคงความยอดเยี่ยมเอาไว้ ด้วยตำแหน่งแชมป์ฝรั่งเศส 9 สมัย แชมป์ยุโรป 5 สมัย และรองแชมป์โลกอีก 3 สมัย
ดูเหมือนว่าเธอจะมีอนาคตที่สดใสในเส้นทางนี้ เพียงแต่ว่า ...
อัจฉริยะที่ไม่ได้รับการยอมรับ
1
"เมื่อคุณผิวดำ ทุกคนรู้ว่าคุณต้องทำให้ดีกว่าผู้หญิงผิวขาว" เซอร์ยา กล่าวกับ Face 2 Face Africa
"ฉันพยายามที่จะปฏิวัติมัน ฉันพยายามกระโดดให้ต่างออกไป แต่มันไม่ได้รับการยอมรับ ฉันหวังจะให้มันเป็นอย่างนั้น ก่อนที่จะเลิกเล่นสเก็ต"
Photo : theundefeated.com
รูปร่างที่สูงโปร่ง อ้อนแอ้นอรชร และหน้าตาที่น่ารัก คือรูปลักษณ์ของนักสเก็ตลีลาหญิงทั่วไป มันคืออุดมคติของกีฬาชนิดนี้ จนทำให้มีคำเปรียบเปรยว่าพวกเธอเป็นเหมือน "เจ้าหญิงบนลานน้ำแข็ง"
"ในวงการสเก็ตลีลา บางครั้งคุณจะต้องเจอ 'สิ่งที่กรรมการต้องการ' คุณลงไปแสดง และมันก็ดีงามถูกต้องมาก โดยเฉพาะในสมัยนั้น มันเหมือนกับ นักสเก็ตน้ำแข็งที่สมบูรณ์แบบในลูกบอลหิมะ" ทารา ลิปินสกี นักสเก็ตลีลาเหรียญทองโอลิมปิกกล่าวในสารคดี Losers ของ Netflix
อย่างไรก็ดี มันไม่ได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่ เซอร์ยา เป็น เธอมีส่วนสูงเพียงแค่ 156 เซนติเมตร ซึ่งถือว่าไม่สูงสำหรับชาวยุโรป แถมร่างกายยังเต็มไปด้วยมัดกล้าม และมีผิวที่คล้ำ ซึ่งไม่ได้ตรงตามขบบกับนักสเก็ตลีลาทั่วไป
เธอยังมักมาพร้อมกับการแต่งหน้าแบบจัดเต็ม ซ้อมหรือแข่งในชุดสีสันฉูดฉาด ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ฟลอเรนซ์ กริฟฟิต จอยเนอร์ นักวิ่งชาวอเมริกัน ซึ่งสวมใส่ในโอลิมปิกหน้าร้อน 1988 ที่โซล เกาหลีใต้
ในขณะเดียวกัน เซอร์ยา ยังมีสไตล์การเล่นสเก็ตลีลาที่แตกต่างจากคนอื่น จากการที่เธอเคยเล่นยิมนาสติกมาก่อน ทำให้เธอชอบกระโดดมาก โดยเฉพาะท่ากระโดดหมุนตัวสามรอบ ที่เธอมักใช้ในการแข่งขัน
1
นอกจากนี้เธอยังชอบท่าเล่นท่าตีลังกากลับหลัง แม้ว่ามันจะเป็นท่าที่ถูกแบนจากการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 1976 แต่ เซอร์ยา มักจะเล่นท่านี้อยู่บ่อย ๆ ในการซ้อม และแสดงโชว์ หลังจากทำให้ผู้คนเห็นครั้งแรกในงานโชว์ที่ Annecy ตอนอายุ 12 ปี
Photo : theundefeated.com
"เธอตีลังกากลับหลัง มันบ้ามาก ฉันอาจเรียกตัวเองว่าเป็นนักสเก็ตที่เก่งมาก แต่ฉันไม่มีทางลองทำแบบนั้นเด็ดขาด" ลิปินสกี กล่าวต่อ
ทำให้แม้ว่า เซอร์ยา จะเป็นนักสเก็ตลีลา ที่สร้างความตื่นตา และได้รับความนิยมในหมู่แฟน ๆ แต่เธอกลับไม่ค่อยได้รับการต้อนรับในหมู่กรรมการ ที่มองว่าเธอเป็นเหมือนรอยด่างของวงการ บางคนถึงขั้นตำหนิชุดของเธออย่างรุนแรง
"มันเหมือนกับชุดของตัวตลกมากกว่า ฉันคิดว่าชุดที่เนี้ยบและภูมิฐานกว่านี้ น่าจะเหมาะสมกว่า" วาเนสซา ไรลีย์ กรรมการสเก็ตลีลากล่าวถึงชุดซ้อมของ เซอร์ยา
และด้วยความที่สเก็ตลีลา เป็นการแข่งขันที่ใช้คะแนนจากกรรมการเป็นตัวตัดสิน มันจึงส่งผลกระทบต่อตัวเธออย่างจัง
ผิดหวังกี่ครั้งยังไม่พอ
ปี 1992 เซอร์ยา ได้มีโอกาสสัมผัสโอลิมปิกฤดูหนาวเป็นครั้งแรก เมื่อได้เป็นตัวแทนของประเทศ เข้าไปแข่งสเก็ตลีลาในการแข่งขันที่ อัลเบิร์ตวิลล์ ของฝรั่งเศส
อย่างไรก็ดี แม้จะได้เล่นในบ้านเกิด แต่ เซอร์ยา ทำผลงานได้ไม่ดีนัก แถมการพยายามกระโดดหมุนตัว 4 รอบของเธอ ที่นอกจากทำให้ฟอร์มโดยรวมต่ำกว่ามาตรฐาน ยังทำให้เกิดความขัดแย้งกับโค้ช ไกยาเกต์ ที่ไม่เห็นด้วย ก่อนที่เธอจะจบทัวร์นาเมนต์ที่อันดับ 5 ของคะแนนรวม พร้อมกับแยกทางกับโค้ชที่ปลุกปั้นเธอมา
หลังโอลิมปิก 1992 ซูซาน แม่ของเธอเข้ามาเป็นโค้ชคนใหม่ พวกเขาต้องพยายามอย่างหนักกับการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่ก็สามารถกลับมาได้อย่างรวดเร็ว เมื่อสามารถคว้าแชมป์ยุโรปได้อีก 2 สมัยในปี 1993 และ 1994
รูปลักษณ์และการเล่นสเก็ตของเธอ ดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหาในการแข่งขันชิงแชมป์ยุโรป แต่สำหรับการแข่งขันระดับโลก มันต่างออกไป
มันเริ่มจากการแข่งขันชิงแชมป์โลกในปี 1993 เซอร์ยาทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ทำทริปเปิ้ลจัมป์ 7 ครั้ง โดยเป็นการทำติดต่อกันหนึ่งครั้ง แต่เธอกลับได้เพียงแค่เหรียญเงิน โดยเหรียญทองตกเป็นของ ออคซานา ไบอุล ที่ทำทริปเปิลจัมป์เพียง 5 ครั้ง และไม่ได้ต่อเนื่องกันเลย
1
แต่นั่นก็ไม่ได้เจ็บปวดเท่ากับการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่จิบะ ประเทศญี่ปุ่น ในปี 1994
Photo : www.wbur.org
ตอนนั้น เซอร์ยา เพิ่งจะผิดหวังจากโอลิมปิกฤดูหนาวที่ ลิลแฮมเมอร์ นอร์เวย์ หลังจบในอันดับ 4 ของคะแนนรวม พลาดเหรียญโอลิมปิกไปอย่างน่าเสียดาย ทำให้เธอมุ่งมั่นกับการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่แดนอาทิตย์อุทัยเป็นพิเศษ
ในการแข่งขันที่ญี่ปุ่น เซอร์ยาทำผลงานได้อย่างไม่มีที่ติ ทุกการกระโดดและการหมุน เธอทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ ทว่า ยูกะ ซาโตะ นักกีฬาของเจ้าภาพ ก็โชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน และทำให้คะแนนของทั้งคู่เท่ากัน
หลังการประชุมที่ยาวนานอย่างเคร่งเครียด กรรมการก็มีมติออกมาว่า ซาโตะ คือผู้ชนะในการแข่งขันครั้งนี้ โดยมีคะแนนเฉือน เซอร์ยา ไปเพียงแค่นิดเดียว และเป็นอีกครั้งที่นักสเก็ตผิวดำคนนี้ไม่ถูกเลือกอีกแล้ว
เซอร์ยา เจ็บปวดมาก เพราะเธอคิดว่าเธอควรเป็นผู้ชนะ เธอหวังกับมันไว้มาก แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่ให้เธอ ทำให้เธอปฏิเสธที่จะขึ้นโพเดียมรับเหรียญ ถอดเหรียญออกจากคอ ในขณะที่น้ำตาอาบแก้ม ท่ามกลางเสียงโห่ของคนดู
"ฉันผิดหวังมาก การเรียกมันว่าการตัดสินที่ไม่ยุติธรรมหมายความว่าฉันกำลังโทษใครบางคน แต่ฉันไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้น" เซอร์ยา กล่าวกับ Radiolab
อย่างไรก็ดี นั่นไม่ใช่ความผิดหวังครั้งสุดท้ายของเธอ หนึ่งปีต่อมา เซอร์ยา ลงแข่งชิงเหรียญทองในการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่เบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร และเป็นอีกครั้งที่เธอต้องเจอกับความผิดหวัง เมื่อแชมป์ตกเป็นของ เฉิน หลู่ จากจีน โดยเธอเข้าป้ายในตำแหน่งรองแชมป์เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน
แฟรงค์ แคร์โรล โค้ชสเก็ตลีลาระดับตำนานของสหรัฐอเมริกาให้ความเห็นว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ เซอร์ยา ไปไม่ถึงตำแหน่งแชมป์ คือความไม่ตรงตามแบบแผนของเธอ ทำให้แม้ว่าเธอจะทำผลงานได้สมบูรณ์แบบแค่ไหน ก็ไม่ดีพอในสายตากรรมการอยู่ดี
Photo : www.diomedia.com
"ผมชอบ ซอนยา มากนะ แต่พวกเขาให้แชมป์ เฉิน หลู่ เพราะว่าเธอถูกกล่าวหามากเกินไป ทั้งชื่อเสียงในแง่ลบ หรือเรื่องไม่ดีในที่สาธารณะ หรือการพูดถึงเซอร์ยาในแบบแย่ ๆ" แคร์โรล ให้ความเห็นกับ Sports Illustrated
"มันมีแต่เรื่อง 'แต่' เกี่ยวกับเธอเต็มไปหมด 'เธอกระโดดได้เยี่ยมเลย แต่…' 'เซอร์ยาเป็นนักสเก็ตที่ดีที่กระโดดได้เยี่ยม แต่ ...' สำหรับ เฉิน หลู่ มันแค่ 'เธอเป็นนักสเก็ตที่สวยคนหนึ่ง'"
และสิ่งนี้ก็ทำให้เธอตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดในโอลิมปิกที่ นางาโนะ
การกระโดดครั้งสุดท้ายที่โอลิมปิก
หลังจากพลาดแชมป์โลก 3 ครั้งติดต่อกัน ผลงานของเธอก็ดูตกลงไป ในปี 1996 เธอทำได้เพียงอันดับ 2 ในศึกชิงแชมป์ยุโรป โดยเสียบัลลังก์ให้กับ อิรินา สลุตสคายา นักสเก็ตลีลาจากรัสเซีย แถมในเดือนพฤษภาคม ก็ดันได้รับบาดเจ็บเอ็นร้อยหวายฉีก จนต้องพักตลอดทั้งฤดูกาล
แต่ถึงอย่างนั้นเซอร์ยาก็ไม่ยอมแพ้ เธอพยายามฟื้นฟูร่างกายอย่างหนัก จนกลับมาติดทีมชาติผ่านเข้าไปเล่นในโอลิมปิกฤดูหนาว 1998 ที่นางาโนะ ซึ่งมันก็น่าจะเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายในชีวิตของเธอ
เซอร์ยา หวังจะทำผลงานให้ดีในโอลิมปิกครั้งนี้ แต่ดูเหมือนร่างกายของเธอจะไม่ยอมทำตาม อาการบาดเจ็บที่เอ็นร้อยหวาย ยังส่งผลมาจนถึงตอนนี้ และทำให้เธอทำได้เพียงจบในอันดับ 6 ของการแข่งขันรอบ Short program
เมื่อรู้ดีว่าเธอไม่มีโอกาสคว้าเหรียญแน่นอนแล้ว เซอร์ยา จึงตัดสินใจทำในสิ่งที่เรียกว่าบ้าที่สุดในวงการสเก็ตลีลา เมื่อในระหว่างการแข่งขัน เธอจัดการตีลังกากลับหลัง และลงสู่พื้นด้วยขาเพียงข้างเดียว
"ตีลังกากลับหลัง แน่นอนว่ามันผิดกฎในการแข่งขัน เธอทำสิ่งนี้เพื่อคนดู เธอกำลังจะถูกลงโทษ" ผู้บรรยายระบุ
แน่นอนว่ามันเป็นท่าที่ผิดกติกา และเธอจะต้องถูกตัดแต้มจากท่านี้ แต่ เซอร์ยา ไม่สนอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่เธออยากทำมาโดยตลอด นั่นคือการเป็นตัวของตัวเอง ทำในสิ่งที่อยากทำ โดยไม่ต้องมาสนใจว่าใครจะว่าอะไร
"ฉันไม่ใช่พวกขบถนะ ฉันไม่ใช่แบบนั้น ไม่ได้เป็นขนาดนั้น" เซอร์ยา กล่าวกับ Olympic Channel
"แต่ตอนที่ฉันทำมัน ฉันรู้สึกขอบคุณและภูมิใจกับตัวเองในตอนนั้น วันนั้น มากกว่าหลายปีที่ผ่านมา"
หลังจากทั้งสนามเงียบไปชั่วขณะ และกรรมการกำลังตกตะลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้น คนดูทั้งสนามก็พากันปรบมือ และโห่ร้องด้วยความตื่นเต้น มันคือการแสดงที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อนในโอลิมปิก มันคือการตีลังกากลับหลังที่สมบูรณ์แบบ
"คนดูถูกใจกันสุด ๆ คนลุกขึ้นปรบมือให้ฉันก่อนที่ฉันจะแสดงจบเสียอีก คนดูชอบมาก ยกเว้นกรรมการ" เซอร์ยา กล่าวในสารคดี Loser
แม้ว่าสุดท้ายเธอจะจบในอันดับ 10 ของตารางคะแนน แต่ชื่อของ เซอร์ยา ก็กลบ ทารา ลิปินสกี เจ้าของเหรียญทองสเก็ตลีลาของโอลิมปิกครั้งนั้นไปจนมิด เธอกลายเป็นคนที่ถูกพูดถึงในชั่วข้ามคืน ทั้งที่เธอไม่ได้เป็นแชมป์หรือคว้าเหรียญใด ๆ
"ผู้คนบ้าคลั่งกันในชั่วข้ามคืน ฉันเดินเข้าไปในหมู่บ้านโอลิมปิก คนจะพูดว่า 'พระเจ้า คุณบ้ามาก คุณเจ๋งสุด ๆ' ฉันก็ 'ว้าว มันบ้าจริง ๆ'" เซอร์ยา กล่าวต่อ
"มันมาจากปากผู้ชายด้วยนะ ไม่ใช่ผู้หญิง เพราะผู้หญิงจะบอก 'ใช่ หล่อนบ้า' แต่ผู้ชายพวกนักฮอกกี้ นักเล่นเลื่อนหิมะ นักสกีจะพูดว่า 'พระเจ้า มันเป็นอะไรที่เจ๋งที่สุดที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน'"
หลังโอลิมปิกครั้งนั้น เซอร์ยา ตัดสินใจเทิร์นโปรเป็นมืออาชีพ และทำให้เธอสามารถลงแข่งในฐานะนักกีฬาอาชีพไปพร้อมกับงานแสดงโชว์อย่าง Champions on Ice ที่มีคิวแน่นเอี๊ยดต้องออกทัวร์ในระดับ 10 เดือนต่อปี
บทบาทใหม่ของ เซอร์ยา ได้ปลดปล่อยเธอจากพันธนาการทุกอย่าง เธอได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่ว่าจะเป็นการกระโดดหมุนสามรอบ รวมไปถึงการตีลังกากลับหลัง ที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของเธอ มันคือความสุขที่เธอตามหามาทั้งชีวิต
ปัจจุบัน โบนาลี เกษียณตัวเองจากการเป็นนักสเก็ตลีลามาตั้งแต่ปี 2016 และทำงานเป็นครูสอนสเก็ตลีลาให้กับผู้คนในลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา
แม้ว่า เซอร์ยา อาจจะไม่เคยได้แชมป์โลก หรือเหรียญโอลิมปิก แต่สิ่งที่เธอทำ เพื่อให้ผู้คนยอมรับในความสามารถ โดยไม่ไปมองถึงการแต่งตัว สีผม หรือนิสัย ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะไม่เพียงช่วยขับเคลื่อนวงการสเก็ตลีลา แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬาผิวดำรุ่นหลัง
"สำหรับผู้หญิงอย่างฉัน ชีวิตนักสเก็ตของ โบนาลี ไม่เพียงแค่น่าชื่นชม เพราะเธอคือหนึ่งในผู้หญิงผิวดำไม่กี่คนที่ขึ้นมาอยู่แนวหน้าของการแข่งขัน มันเป็นสิ่งไม่ธรรมดา เพราะเธอทำมันด้วยตัวเอง" สเตเซีย บราวน์ นักเขียนจาก The New Republic กล่าว
มันคือสิ่งที่ไม่มีอะไรเทียบได้ และมีค่ากว่าเหรียญรางวัลใด ๆ บนโลกใบนี้
บทความโดย มฤคย์ ตันนิยม
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา