19 ม.ค. 2021 เวลา 07:30 • กีฬา
ดรูว์ บรีส์ : นักบุญผู้มอบชีวิตใหม่แก่เมืองนิวออร์ลีนส์ด้วยแชมป์ซูเปอร์โบวล์ | MAIN STAND
หนึ่งในมหันตภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดในศตวรรษที่ 21 คือ เฮอริเคนแคทรีนา พายุหมุนลูกยักษ์ที่โหมกระหน่ำพัดทำลายล้างเมืองนิวออร์ลีนส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2005 ก่อให้เกิดผู้เสียชีวิตมากกว่า 4 พันราย และความเสียหายมากกว่า 2 พันล้านบาท
สิ่งสำคัญที่ชุบชีวิตเมืองแห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง คือ นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส ทีมอเมริกันฟุตบอลประจำเมือง ที่คว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ในฤดูกาล 2009 ผ่านผลงานอันยอดเยี่ยมของควอเตอร์แบ็คประจำทีม ซึ่งก่อนหน้านั้น ได้พบเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบากไม่แพ้กัน
นี่คือเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจของ ดรูว์ บรีส์ ตำนานวงการอเมริกันฟุตบอลที่พิสูจน์ให้เห็นว่า กีฬาสามารถสร้างความหวัง และมอบชีวิตให้แก่ผู้คนได้อย่างไร
เติบโตด้วยกีฬา แข็งแกร่งด้วยศาสนา
เท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้คนในมลรัฐแห่งนี้ถูกยึดเหนี่ยวเป็นหนึ่งเดียวด้วย 2 สิ่ง อย่างแรก คือ ศาสนา และอีกอย่างคือกีฬาที่ชาวไทยเรียกว่า อเมริกันฟุตบอล
ดรูว์ บรีส์ เกิดและเติบโตในรัฐแห่งนี้ เขาเติบโตด้วยใจที่รักกีฬาตั้งแต่เด็ก ไมว่าจะเป็น อเมริกันฟุตบอล, บาสเกตบอล หรือ เบสบอล กีฬาเหล่านี้ต่างเคยผ่านมือบรีส์มาแล้วทั้งสิ้น
Photo : www.si.com
อย่างไรก็ตาม บรีส์ไม่ได้เล่นอเมริกันฟุตบอลแบบจริงจัง จนกระทั่งเข้าเรียนในระดับไฮสคูลกับโรงเรียนออสตินเวสต์เลค (Austin Westlake High School) เขาจึงต้องเริ่มต้นในฐานะควอเตอร์แบ็คของทีมชุด B เนื่องจากเป็นเด็กใหม่ และขาดประสบการณ์
"ผมย้ายเข้าสู่โรงเรียนแห่งใหม่แล้วได้รู้ว่า ที่นี่มีควอเตอร์แบ็คมากถึง 10 คน ผมคิดกับตัวเองว่า ผมจะมีโอกาสได้เล่นฟุตบอลอีกหรือไม่ ? " ดรูว์ บรีส์ เล่าถึงก้าวแรกสู่การเป็นตำนานของกีฬาอเมริกันฟุตบอล
"สุดท้ายพวกเขาเก็บควอเตอร์แบ็คไว้ทั้งหมด 6 คน ผมคืออันดับที่ 4 นั่นจึงทำให้ผมเป็นควอเตอร์แบ็คมือหนึ่งของทีม B นั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผมได้ลงสนามบ่อยครั้ง ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยมมาก เพราะในทีมชุด B ผมแพ้ไปแค่ 2 นัด"
"ผมจำเรื่องนี้ได้แม่นยำ เพราะนั่นคือ 2 แมตช์ที่ผมพ่ายแพ้ ตลอดชีวิตไฮสคูลฟุตบอลของผม"
ด้วยฟอร์มที่ยอดเยี่ยมในทีมสำรอง ดรูว์ บรีส์ ถูกเลื่อนขึ้นเป็นควอเตอร์แบ็คตัวจริงของโรงเรียน ขณะเรียนอยู่เกรด 11 (ม.5 ในประเทศไทย) เขาทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม และพาทีมเวสต์เลคเข้าสู่รอบเพลย์ออฟ ด้วยผลงานไร้พ่ายในฤดูกาลปกติ
"ผมรู้สึกสิ้นหวัง สิ้นหวังมาก เพราะไม่ใช่แค่ความหวังในการคว้าแชมป์ที่หายไป แต่เป็นเพราะผมเคยเห็นเพื่อนหรือเพื่อนร่วมทีมคนอื่น ที่ได้รับอาการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าหัวเข่า และบางคนไม่สามารถกลับมาเล่นฟุตบอลได้อีก" ดรูว์ บรีส์ บอกเล่าช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิต
"มันเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในอาชีพนักกีฬาของผม เพราะผมไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่เลวร้ายแบบนี้มาก่อน ความรู้สึกที่เหมือนกับว่า คุณถูกพรากบางอย่างไปจากชีวิต เหตุการณ์นี้ทำให้ผมกลัว แต่มันก็ทำให้ผมกระตุ้นตัวเอง ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจ ทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น และทำให้ผมมีศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้า"
"ผมเรียนรู้อะไรหลายอย่างในช่วงเวลานั้น โดยเฉพาะแรงศรัทธาที่ทำให้ผมแข็งแกร่งขึ้น ไม่ใช่แค่สภาพร่างกาย แต่รวมถึงสภาพจิตใจ เพราะผมต้องก้าวผ่านอุปสรรคที่ผมไม่เคยพบมาก่อน"
Photo : www.nola.com
ดรูว์ บรีส์ กลายเป็นความหวังสำคัญ ที่จะพาโรงเรียนคว้าแชมป์ประจำรัฐเป็นครั้งแรก แต่โชคชะตากับเล่นตลกกับเขา เมื่อบรีส์ได้รับบาดเจ็บที่บริเวณเส้นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่า จนต้องพักรักษาตัวนานถึง 9 เดือน
ดรูว์ บรีส์ สลัดอาการบาดเจ็บที่หัวเข่า และกลับสู่สนามด้วยสภาพร่างกายที่แข็งแกร่งกว่าเดิม จากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นถึง 25 ปอนด์ สภาพจิตใจของเขาก็เช่นเดียวกัน บรีส์ลงเล่นโดยไม่กลัวอาการบาดเจ็บ เขาทุ่มเทเต็มร้อยเพื่อให้ทีมคว้าชัยชนะ
ในที่สุด บรีส์ก็สามารถพาโรงเรียนเวสต์เลคก้าวไปถึงเส้นชัยตามหวัง เขาพาทีมคว้าแชมป์ประจำรัฐในปี 1996 ด้วยผลงานในฤดูกาลปกติ 16-0 และถูกยกย่องเป็นฮีโร่ของเพื่อนร่วมทีม และโรงเรียนเวสต์เลค นับแต่นั้น
"หลังจากจบเกม เด็กในทีมรวมตัวกันและตะโกนชื่อ 'ดรูว์ บรีส์' ซ้ำ ๆ" รอน ชโรเดอร์ เฮดโค้ชทีมอเมริกันฟุตบอลโรงเรียนเวสต์เลคในปี 1996 กล่าว
1
"ผมว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อนะ เพราะว่าดรูว์ไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษเพื่อให้ทีมยกย่องเขา เหตุการณ์นี้บอกถึงตัวตนของ ดรูว์ บรีส์ เป็นอย่างดี ทีมของเรารวมกันเป็นหนึ่ง เพราะ ดรูว์ บรีส์"
เส้นทางที่เต็มด้วยขวากหนาม
ปี 1997 ดรูว์ บรีส์ เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดู เมืองเวสต์ลาเฟียตต์ รัฐอินเดียนา ตลอด 4 ปีที่เขาเล่นให้กับทีมของมหาวิทยาลัย บรีส์ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการคว้ารางวัลผู้เล่นทีมรุกยอดเยี่ยมของคอนเฟอเรนซ์ Big Ten ถึง 2 สมัย (1998, 2000)
และในปีสุดท้ายของเขากับมหาวิทยาลัยเพอร์ดู บรีส์ฝากหนึ่งในผลงานที่ดีที่สุดของชีวิต เมื่อเขาพาทีมคว้าแชมป์ระดับคอนเฟอเรนซ์ หรือ Big Ten Championship ฤดูกาล 2000 มาครอง
Photo : wisconsin.rivals.com
ความสำเร็จครั้งนั้นส่งผลให้ชื่อของ ดรูว์ บรีส์ ถูกจับตาในฐานะควอเตอร์แบ็คฝีมือดีที่จะเข้าสู่ NFL Draft ในปี 2001 อย่างไรก็ตาม เมื่อ NFL Combine หรืองานทดสอบฝีมือผู้เล่นก่อนการดราฟต์มาถึง เขากลับทำผลงานได้อย่างน่าผิดหวัง จนเกือบทำให้ความสำเร็จที่เคยสั่งสมมาตลอดชีวิตไร้ความหมาย
"ผมมีผลงานที่ไม่ดีนักใน NFL Combine เพราะว่า ผมพยายามพิสูจน์ตัวเองในสิ่งที่ผู้คนตั้งคำถาม นั่นก็คือ เรื่องสภาพร่างกายของผม ผมจึงโฟกัสไปที่เรื่องนั้น และมันทำให้ผมขว้างบอลไม่ดีเท่าที่ควร"
"ผมโกรธตัวเองมากในตอนนั้น"
สิ่งที่เป็นเครื่องหมายคำถามในตัว ดรูว์ บรีส์ มาเสมอ คือสภาพร่างกาย และพละกำลังของเขา เพราะ ดรูว์ บรีส์ มีความสูงอยู่ที่ 183 เซนติเมตร ซึ่งถือว่า "เตี้ย" มาก หากเทียบกับมาตรฐานความสูงของควอเตอร์แบ็คใน NFL ซึ่งมักจะสูงกว่า 190 เซนติเมตรขึ้นไป
ยิ่งไปกว่านั้น กำลังแขนของบรีส์ก็ไม่โดดเด่นพอจะทดแทนส่วนสูงที่หายไปของเขา เมื่อบวกกับผลงานที่ไม่โดดเด่นใน NFL Combine ชื่อของ ดรูว์ บรีส์ จึงไม่ปรากฎขึ้นมาในรอบแรกของ NFL Draft ปี 2001 อย่างที่สื่อหรือตัวเขาคาดการณ์ไว้
Photo : drewbrees | Instagram
"ผมมองไปยังทีมที่เหลืออยู่ในรอบแรก พวกเขามีควอเตอร์แบ็คของตัวเองหมดแล้ว ผมรู้ได้ทันทีว่า ทีมเหล่านั้นจะไม่เลือกผม" ดรูว์ บรีส์ เล่าถึงความรู้สึกรู้ว่าตัวเขาหลุดจากสิทธิ์ดราฟต์รอบแรก
"หลังจากนั้น ผมมองไปยังทีมที่มีสิทธิ์แรกในดราฟต์รอบสอง และผมเห็นชื่อของ ซานดิเอโก ชาร์จเจอร์ส"
ในบรรดาทีมที่กำลังตามหาควอเตอร์แบ็คคนใหม่ เมื่อปี 2001 ซานดิเอโก ชาร์จเจอร์ส คือหนึ่งในทีมเหล่านั้น และเป็นเจ้าของสิทธิ์ดราฟต์อันดับ 1 แต่ด้วยเป้าหมายที่ต้องการสร้างทีมในระยะยาว ชาร์จเจอร์ส จึงแลกสิทธิ์ดราฟต์อันดับหนึ่งในรอบแรก และยอมปล่อยควอเตอร์แบ็คที่ดีที่สุด (ในขณะนั้น) อย่าง ไมเคิล วิค ไปอยู่กับ แอตแลนตา ฟอลคอนส์ (ซึ่งหนึ่งในสิทธิ์ดราฟต์ที่ได้กลับจากการแลกสิทธิ์ ทีมได้เลือก ลาแดเนียน ทอมลินสัน ซึ่งกลายเป็นผู้เล่นระดับหอเกียรติยศในเวลาต่อมา) ส่วนพวกเขาตัดสินใจเลือกควอเตอร์แบ็คที่ลำดับต่ำกว่า ซึ่งนั่นคือ ดรูว์ บรีส์
"สิ่งสำคัญที่สุดคือ การได้ไปอยู่กับทีมที่ดี ทีมที่ใช่สำหรับผม ทีมที่สามารถช่วยให้ผมเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และกลายเป็นผู้เล่นแบบที่ผมอยากจะเป็น ซึ่งผมรู้สึกว่า ซานดิเอโก คือทีมที่เพอร์เฟกต์สำหรับผม"
ในไม่ช้า เวลาจะพิสูจน์ว่า ดรูว์ บรีส์ คิดผิด เขาต้องนั่งสำรองในฤดูกาลแรกกับชาร์จเจอร์ส เพื่อเรียนรู้งานจาก ดั๊ก ฟลูตี้ ควอเตอร์แบ็ครุ่นเก๋า หลังจากนั้น บรีส์จึงถูกเลื่อนขึ้นเป็นตัวจริงของทีมในปี 2002 ซึ่งเขาทำผลงานได้ค่อนข้างดี ด้วยการพาชาร์จเจอร์สจบฤดูกาลด้วยผลงาน 8-8
Photo : saintswire.usatoday.com
ด้วยเหตุนี้ ความคาดหวังของแฟนที่ต้องการเห็นทีมประสบความสำเร็จ จึงโถมเข้าใส่บรีส์ในฤดูกาล 2003 เขาไม่สามารถรับแรงกดดันนั้นได้ และทำผลงานได้อย่างยอดแย่ในปีดังกล่าว
ดรูว์ บรีส์ พาชาร์จเจอร์ส จบฤดูกาล 2003 ด้วยผลงาน 4-12 จบอันดับสุดท้ายของดิวิชั่น AFC West และอันดับสุดท้ายของตารางอันดับรวมทั้ง 32 ทีม ผลงานส่วนตัวของเขาก็ย่ำแย่ ทำ 11 ทัชดาวน์ และ 15 อินเตอร์เซ็ปต์ ซึ่งถือเป็นผลงานที่แย่ที่สุดตลอด 20 ปีของเขาใน NFL
"ผมถูกจับนั่งสำรองถึง 5 เกมในฤดูกาลนั้น มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับผม ความมั่นใจและอีโก้ของผมถูกทำลาย เพราะผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ผมไม่เคยนั่งสำรองมาก่อนในชีวิต ผมไม่เคยคิดว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ"
การจบอันดับสุดท้ายในตารางอันดับรวมของฤดูกาล 2003 หมายความว่า ซานดิเอโก ชาร์จเจอร์ส ได้รับสิทธิ์ดราฟต์อันดับหนึ่งในปี 2004 เมื่อบวกกับผลงานที่น่าผิดหวังของบรีส์ในฤดูกาลที่ผ่านมา อนาคตของเขากับต้นสังกัดจึงมาถึงทางตัน เมื่อชาร์จเจอร์สเลือกควอเตอร์แบ็คคนใหม่เข้าสู่ทีม
"เฮดโค้ชเรียกผมไปพบแล้วบอกว่า ฟังนะ ผมเชื่อในตัวคุณ แต่ผมคงต้องบอกคุณไว้ก่อนว่า พวกเขาจะดราฟต์ควอเตอร์แบ็คคนใหม่เข้ามา ใครสักคนที่จะแย่งงานนี้ไปจากคุณ" ดรูว์ บรีส์ เล่าถึงฝันร้ายของควอเตอร์แบ็คทุกคนใน NFL
Photo : www.sandiegouniontribune.com
ซานดิเอโก ชาร์จเจอร์ส ได้ตัว ฟิลิป ริเวอร์ส ควอเตอร์แบ็คหน้าใหม่เข้าสู่ทีมในปี 2004 (อันที่จริง ทีมเลือกตัว อีไล แมนนิง ในฐานะดราฟต์เบอร์ 1 ของปีนั้น แต่เนื่องจากตัวผู้เล่นขู่ว่าจะไม่ลงสนามให้ทีม ทำให้ชาร์จเจอร์สต้องเทรดแลกตัวกับ นิวยอร์ก ไจแอนส์ และได้ ริเวอร์ส ดราฟต์เบอร์ 4 ปีเดียวกันมาแทน) ส่วน ดรูว์ บรีส์ เล่นเป็นตัวจริงให้กับทีมแห่งนี้อีก 2 ฤดูกาล ก่อนได้รับบาดเจ็บที่ไหล่ขวาในเกมสุดท้ายของฤดูกาล 2005 และหมดสัญญากับชาร์จเจอร์ส พร้อมกับรายงานที่บอกว่า อาการบาดเจ็บครั้งนี้อาจยุติอาชีพของเขา
ดรูว์ บรีส์ ในเวลานั้น เปรียบเสมือนนกปีกหักที่ไร้รังพักอาศัย เขาไม่รู้เลยว่าอาชีพนักฟุตบอลของเขาจะจบลงที่ใด ... แต่หลังจากนั้นไม่นาน บรีส์ก็ได้ย้ายเข้าสู่บ้านหลังใหม่ นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส ทีมอเมริกันฟุตบอลในเมืองที่พังทลายและบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจไม่ต่างจากตัวเขา
มอบชีวิตแก่เมืองที่บอบช้ำ
ย้อนกลับไปในปี 2005 ประเทศสหรัฐอเมริกาต้องเจอกับหนึ่งในภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ นั่นคือ เฮอริเคนแคทรีนา พายุหมุนความรุนแรงระดับสูงสุดที่ถล่มพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ สร้างความเสียหายเป็นพื้นที่ราว 233,000 ตารางกิโลเมตร
1
Photo : www.cincinnati.com
เมืองที่ได้รับความเสียหายจากเฮอริเคนแคทรีนามากที่สุด คือเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา เพราะไม่ใช่แค่พายุที่โจมตีเมืองแห่งนี้ แต่คันกั้นนำที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันเมืองจากกระแสน้ำทะเลได้พังทลายลง ส่งผลให้พื้นที่ 80 เปอร์เซ็นต์ของเมืองถูกน้ำท่วม และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้สูงถึง 1,464 ราย
ความเสียหายครั้งนี้ถูกประเมินค่าเป็นเงิน 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ มากกว่า 2 พันล้านบาท แต่ความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ คือ สภาพจิตใจของผู้คนในเมืองนิวออร์ลีนส์ที่แหลกสลาย เพราะหลังจากพายุสงบลง ได้เกิดการจลาจลและปล้นชิงห้างสรรพสินค้า เนื่องจากความอดยากที่เกิดขึ้น
หนึ่งในสถานที่ซึ่งได้รับความเสียหายมากที่สุดจากเฮอริเคนแคทรีนา คือ ซูเปอร์โดม สนามเหย้าของทีมนิวออร์ลีนส์ เซนต์ส หลังคาของสนามแห่งนี้เกิดการชำรุด เช่นเดียวกับพื้นที่ภายนอกที่ถูกน้ำท่วมสูงเกือบหนึ่งเมตร
หลังเหตุพายุสงบ ซูเปอร์โดมถูกเปลี่ยนสภาพเป็นแหล่งพักพิงของชาวเมืองที่ปราศจากที่อยู่อาศัย ส่งผลให้สนามแห่งนี้ถูกปิดใช้งานในฤดูกาล 2005 ทีม นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส จึงต้องตระเวนเล่นฟุตบอลในเมืองอื่น เช่น ซานอันโตนิโอ หรือ นิวเจอร์ซีย์
Photo : theconversation.com
ทางฝั่ง ดรูว์ บรีส์ ในเวลานั้น ก็มีสภาพร่างกายที่บอบช้ำไม่แพ้กัน เขามีโอกาสเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ที่จะกลับมาเล่นฟุตบอลได้อีกครั้ง หลังจากอาการบาดเจ็บในปี 2005 แต่ด้วยความพยายามที่จะกลับมาทำในสิ่งที่รักอีกครั้ง บรีส์จึงฟื้นฟูร่างกายจนกลับมาแข็งแกร่ง และเลือกเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฐานะควอเตอร์แบ็คของ นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส
การกลับมาสู่ซูเปอร์โดมอีกครั้งในฤดูกาล 2006 ของนิวออร์ลีนส์ เซนต์ส พร้อมกับควอเตอร์แบ็ครายใหม่ของทีม อย่าง ดรูว์ บรีส์ จึงช่วยจุดประกายความหวังของคนในเมืองแห่งนี้ ที่หวังจะเต็มเติมความสุขในชีวิต หลังพบเจอกับความสิ้นหวังนานนับปี
"ผมนั่งเหงื่อแตกอยู่ในรถ หัวใจเริ่มเต้นรัว ผมนั่งคิดกับตัวเองว่า นี่คือเกมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม เพราะซูเปอร์โดมจะกลับมาเปิดใช้งานอีกครั้ง เรื่องนี้มีความหมายต่อใครหลายคนในเมืองแห่งนี้" ดรูว์ บรีส์ ถึงความรู้สึกถึงการลงเล่นในซูเปอร์โดม
ต่อสายตาคนดูมากกว่า 7 หมื่นคนในสนาม และ 10 ล้านคนผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ ดรูว์ บรีส์ พา นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส เอาชนะคู่ปรับร่วมดิวิชั่น NFC ใต้ อย่าง แอตแลนตา ฟอลคอนส์ ด้วยสกอร์ 21-3
แม้บรีส์จะไม่ได้ทำทัชดาวน์ แต่สำหรับตัวเขา และชาวเมืองนิวออร์ลีนส์ นี่คือชัยชนะที่มีคุณค่า และมีความหมายมากที่สุดนัดหนึ่งของแฟรนไชส์ เพราะหลังจากนี้ บรีส์จะเติมรอยยิ้มให้แก่ผู้คนในเมืองด้วยการพาต้นสังกัดเข้าสู่เพลย์ออฟในฤดูกาล 2006
Photo : www.nola.com
เพียงแค่ฤดูกาลแรก ดรูว์ บรีส์ เปลี่ยนโชคชะตาของแฟรนไชส์ที่เต็มไปด้วยความผิดหวัง และชุบชีวิตเมืองที่ขาดกำลังใจให้กลับมาสดใส จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความหวังอันยิ่งใหญ่จะก่อตัวขึ้นในใจของชาวนิวออร์ลีนส์ นั่นคือ การคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ รางวัลสูงสุดของกีฬาอเมริกันฟุตบอล
บรีส์ไม่ทำให้แฟนบอลของ นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส ต้องผิดหวัง เพราะในฤดูกาล 2009 เขาพาแฟรนไชส์แห่งนี้เข้าสู่ซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 44 และคว้าลอมบาร์ดี โทรฟี่ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้วยชัยชนะเหนือ อินเดียนาโพลิส โคลต์ส ด้วยสกอร์ 31-17
โดยที่บรีส์คว้ารางวัล MVP จากการแข่งขันนัดดังกล่าว พร้อมกับสร้างตำนาน ยัดเยียดความปราชัยให้ควอเตอร์แบ็คระดับหอเกียรติยศ 3 คน ได้แก่ เคิร์ท วอร์เนอร์, เบรท ฟาฟร์ และ เพย์ตัน แมนนิง ในศึกเพลย์ออฟฤดูกาลเดียวกัน
ถนนที่เคยว่างเปล่าจากเหตุการณ์เมื่อ 4 ปีก่อน เต็มไปด้วยผู้คนที่รอต้อนรับฮีโร่ของพวกเขา เสียงหัวเราะและความยินดีกลับคืนสู่เมืองนิวออร์ลีนส์อีกครั้ง เช่นเดียวกับ ดรูว์ บรีส์ ที่เคยไร้สังกัด และเกือบต้องรีไทร์เมื่อ 4 ก่อน แต่บัดนี้ เขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองนิวออร์ลีนส์ ในฐานะ "นักบุญ" ที่พาทีมฟุตบอลประจำเมือง คว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์มาครองได้สำเร็จ
Photo : unclemikesmusings.blogspot.com
"คุณสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของผู้คน มันคือบางสิ่งที่พวกเขาไม่คิดว่าจะได้เห็น หากพวกเราทั้งในฐานะทีมและเมืองแห่งนี้ สามารถคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ ทั้งที่ไม่มีใครคิดว่าพวกเราทำได้ ผมคิดว่าเราสามารถประสบความสำเร็จได้ทุกสิ่ง และเราสามารถกลับมาได้จากทุกสิ่ง" ดรูว์ บรีส์ พูดถึงควาหมายของแชมป์ซูเปอร์โบวล์ที่มีต่อเมืองนิวออร์ลีนส์
"นี่คือบางสิ่งที่ทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกันตลอดไป"
นักบุญแห่งนิวออร์ลีนส์
ดรูว์ บรีส์ ลงเล่นให้กับ นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส อีก 11 ฤดูกาล นับตั้งแต่คว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ ในฤดูกาล 2009 ผลงานของเขายังยอดเยี่ยมไม่ต่างจากเดิม และสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่แก่ NFL มากมาย ไม่ว่าจะเป็น จำนวนหลาจากการขว้างมากที่สุด (80,358 หลา), ขว้างสำเร็จจำนวนครั้งมากที่สุด (7,142 ครั้ง), เปอร์เซ็นต์ขว้างบอลสำเร็จมากที่สุด (67.69 เปอร์เซ็นต์) และขว้างทัชดาวน์ติดต่อกันมากที่สุด (54 นัด)
Photo : nflspinzone.com
อย่างไรก็ตาม บรีส์ไม่สามารถพา นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส เดินทางกลับสู่ซูเปอร์โบวล์เป็นครั้งที่ 2 โดยในฤดูกาลปัจจุบัน หรือ ฤดูกาล 2020 บรีส์และขุนพลเซนต์ส พลาดท่าแพ้ให้แก่ แทมปาเบย์ บัคคาเนียร์ส ด้วยสกอร์ 20-30 ในการแข่งขันเพลย์ออฟ รอบดิวิชั่น โดยบรีส์ขว้าง 3 อินเตอร์เซ็ปต์ ซึ่งถือผลงานที่แย่ที่สุดนัดหนึ่งของเขา ในช่วงโพสต์ซีซั่น
หลังจบเกมดังกล่าว ความเศร้าก่อตัวขึ้นในใจชาวเมืองนิวออร์ลีนส์ ไม่ใช่เพราะทีมตกรอบ หรือผลงานที่น่าผิดหวังของควอเตอร์แบ็ค แต่เป็นเพราะข่าวลือที่ออกมาก่อนหน้านี้
เพราะหากไม่มีอะไรพลิกความคาดหมาย นี่จะเป็นเกมสุดท้ายของ ดรูว์ บรีส์ ในสีเสื้อ นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส ซึ่งเจ้าตัวได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงเรื่องนี้ เพราะหลังจากแพ้ให้แก่บัคคาเนียร์ส บรีส์ เดินออกจากซูเปอร์โดมพร้อมกับจูบลาสนามแห่งนี้เป็นครั้งสุดท้าย
"คุณค้นพบเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับตัวเอง และคุณต้องต่อสู้มากมายเพื่อเล่นกีฬานี้" ดรูว์ บรีส์ ให้สัมภาษณ์หลังจบการแข่งขันกับบัคคาเนียร์ส ซึ่งอาจเป็นเกมสุดท้ายในอาชีพของเขา
"ผมคงต้องบอกว่าฤดูกาลนี้ ผมต่อสู้กับหลายสิ่งมากกว่าที่เคยผ่านมาในฤดูกาลไหน ทั้งเรื่องของอาการบาดเจ็บ, โควิด จนถึงสถานการณ์อื่นที่บ้าคลั่ง ซึ่งผมคิดว่ามันคือช่วงเวลาที่มีคุณค่าทั้งหมด ไม่ต้องสงสัยเลย"
Photo : www.statesman.com
การโบกมือลานัดสุดท้ายของอาชีพด้วยความพ่ายแพ้ อาจเป็นตอนจบที่ไม่สวยงามนักสำหรับอาชีพนักอเมริกันฟุตบอลของ ดรูว์ บรีส์ แต่ความสำเร็จและสิ่งที่ผู้ชายคนนี้มอบให้แก่ นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส และ NFL ยิ่งใหญ่เกินไปกว่าจะมีสิ่งใดมาลบล้าง (เช่น ความเห็นของเขาต่อผู้ไม่เคารพธงชาติสหรัฐอเมริกา)
ก่อนที่ ดรูว์ บรีส์ จะเดินทางมาถึงเมืองแห่งนี้ นิวออร์ลีนส์ เซนต์ส เข้าเพลย์ออฟเพียง 5 ครั้ง จาก 39 ฤดูกาล แต่หลังจากที่บรีส์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม เขาพาเซนต์สเข้าสู่รอบเพลย์ออฟ 9 ครั้ง จาก 15 ฤดูกาล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์
ผู้ชายคนนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ความหวังมีคุณค่ามากเพียงใด และกีฬามีความหมายมากแค่ไหนต่อชีวิตมนุษย์ การจะกล่าวว่า ดรูว์ บรีส์ คือ "นักบุญ" แห่งนิวออร์ลีนส์ และวงการอเมริกันฟุตบอล คงไม่ใช่เรื่องเกินเลยไปนัก และความจริงที่บอกว่า เขาได้ลงเล่นเกมสุดท้ายในอาชีพไปแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าเสียใจเช่นเดียวกัน
Photo : www.denverpost.com
"ผมจะไม่มีวันเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มีวัน" บรีส์รำลึกเรื่องราวที่ผ่านมาในฐานะนักอเมริกันฟุตบอล
"ไม่มีอะไรต้องคร่ำครวญ ไม่มีอะไรที่เสียใจ เพราะผมได้เล่นกีฬานี้ด้วยความเคารพและคารวะอย่างถึงที่สุด และผมน้อมรับกับทุกอย่างที่กีฬาชนิดนี้ตอบแทนกลับมา ผมได้รับความทรงจำที่ดีมากมาย รวมถึงความสัมพันธ์ที่น่ามหัศจรรย์ผ่านเข้ามาในชีวิต ทั้งหมดต่างเป็นผลลัพธ์จากการลงเล่นให้แก่กีฬาชนิดนี้"
บทความโดย ณัฐนันท์ จันทร์ขวาง
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา