19 ม.ค. 2021 เวลา 11:00 • สุขภาพ
เจาะชีวิต อสม. เสี่ยงชีวิตสู้โควิด ผวากลัวกันเอง เงินเดือนไม่พอเติมเน็ต
ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค. 63 จน ที่มีจุดเริ่มต้นจากตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร และระบาดไป 50 กว่าจังหวัดทั่วประเทศ กระทั่งเข้าสู่วันที่ 18 ม.ค. 64 มียอดผู้ติดเชื้อโควิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12,423 ราย
จากสถานการณ์ดังกล่าว ฮีโร่โควิด ไม่ได้มีเพียงแต่หมอ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ ที่ต้องทำงานหนักเพื่อสังคมในการป้องกันการแพร่ระบาด หากแต่ยังมี อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ (อสม.) อีกหนึ่งกลุ่มบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง
การทำงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ไวรัสโควิดที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ของ อสม. ที่เสียสละทำงานเพื่อปกป้องคนในชุมชนจากโควิด-19 โรคระบาดใหม่ที่พวกเขาไม่เคยเผชิญมาก่อน พวกเขาต้องทำงานหนักอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะพาไปคุยกับ 3 ตัวแทนกลุ่ม อสม. จากทั้งหมด 37 คนของหมู่บ้านฮ่องห้า ต.น้ำโจ้ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง กับการทำงานเชิงรุกสู้โควิดในช่วงที่มีการระบาดหนักขณะนี้
:: อสม.กลัวติดโควิด แต่เสี่ยงเพื่อคนในชุมชน
อสม. อภิรดี อินต๊ะเป็ง หรือ วุ้น อายุ 35 ปี เปิดเผยชีวิต อสม. หลังจากได้ทำมากว่า 2 ปีว่า หลังทำงานเย็บหมวกอยู่ที่บ้าน และมีเวลาว่าง อยากช่วยเหลือคนในชุมชนจึงสมัครเป็น อสม. แต่กว่าจะได้เป็น อสม. ต้องผ่านการพิจารณาว่ามีคุณสมบัติจิตสาธารณะ มีความสนใจในเรื่องสุขภาพและความสมัครใจช่วยหรือเปล่า หากผ่านการพิจารณาก็ต้องเข้ารับอบรม อสม.ใหม่ และขึ้นทะเบียน อสม.
บทบาทหน้าที่ของ อสม. ที่ทำอยู่เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีของคนในชุมชน คือ สำรวจลูกน้ำยุงลาย อาทิตย์ละ 1 ครั้งใน 10 หลังคาเรือนของหมู่บ้านที่ต้องรับผิดชอบ และทำหน้าที่อื่นๆ ตามที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. แจ้งเข้ากลุ่มไลน์ซึ่งเป็นหน้าที่เกี่ยวกับสุขภาพของคนในชุมชน
สำหรับในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อสม. ในช่วงตั้งแต่ต้นปี 63 ที่ผ่านมา ต้องมีหน้าที่ช่วยคัดกรองผู้เข้ามาในหมู่บ้าน มาร่วมงานศพ และช่วงปีใหม่ 64 ที่ผ่านมา มีหลายคนกลับบ้านเพื่อมาหาครอบครัว อสม. มีหน้าที่มาวัดไข้ และขอรายละเอียดข้อมูลต่างๆ ทั้ง ชื่อ นามสกุล เบอร์โทร วันเวลาที่เดินทางมาถึง เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวส่งไปให้ประธาน อสม. หมู่บ้าน จากนั้น ประธาน อสม. ส่งให้ผู้ใหญ่บ้าน และผู้ใหญ่บ้านส่งต่อไปยังอำเภอ นับเป็นการทำงานร่วมทีมกันเป็นอย่างดีเพื่อช่วยกันป้องกันโรคโควิด-19
ในการเว้นระยะห่างทางสังคมในช่วงนี้ เพื่อลดการแออัดของคนในชุมชนหากต้องไปหาหมอที่ รพ.สต. อสม. จะช่วยด้วยการมาหาผู้ป่วยโรคเบาหวานที่บ้านแทน เพื่อเจาะเลือดคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน วัดความดันโลหิต ซึ่งขณะนี้ทั้งหมู่บ้านมีจำนวน 27 รายที่ อสม. ช่วยดูแล
กับสถานการณ์โควิดแม้ต้องทำงานมากขึ้น เสี่ยงมากขึ้น แม้ “กลัวติดโควิด” แต่ด้วยสปิริตเพื่อคนในชุมชน เธอก็ป้องกันตัวเองอย่างดี
“โควิดระบาดรอบนี้ หนักกว่ารอบแรก ตอนนี้ตลาดสดในหมู่บ้านก็ให้ใส่หน้ากากอนามัยกันทุกคน การพนันห้ามเล่น เวลาไปวัดไข้ คัดกรองผู้ที่เข้ามาในหมู่บ้าน ถามว่ากลัวโควิดไหม ยอมรับว่า “กลัว” แต่ก็เป็นหน้าที่ที่เราต้องบริการคนในชุมชน บ่อยเลยแหละที่ต่างคนต่างกลัวกันเอง แต่เราก็สร้างความมั่นใจ อุ่นใจ เซฟตัวเอง ใส่หน้ากากอนามัย ใส่ถุงมือ พอกลับถึงบ้านก็ถอดหน้ากากอนามัยทิ้ง ล้างมือ” อสม. อภิรดีเล่าวิธีป้องกันโควิด
:: โควิดระบาด อสม. ใจสู้ ทำงานหนัก ทั้งประเทศ
ส่วน อสม.ดวงฤทัย แก้ววงค์ หรือ นุ่ม ทำหน้าที่ อสม. มา 7 ปี และยังได้รับผลกระทบขาดรายได้จากการรับจ้างประดิษฐ์ดอกไม้ของชำร่วยเพื่อส่งขายต่างประเทศเพราะโควิดระบาด เธอเผยความรู้สึก “กลัวติดโควิด” เช่นกัน ที่ทุกครั้งต้องทำหน้าที่วัดไข้ คัดกรองผู้มาเยือนในหมู่บ้าน โดยเฉพาะการคัดกรองผู้ที่มาจากพื้นที่อื่นและมาร่วมงานศพในหมู่บ้าน แต่ก็ป้องกันตัวเองอย่างดีตามมาตรการการป้องกันของกระทรวงสาธารณสุข ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ
เธอยอมรับว่านับตั้งแต่โควิดระบาด แม้ อสม. ทำงานหนักมากขึ้น แต่ไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะยังมี อสม. อีก 30 กว่าคนของหมู่บ้าน และ อสม. ทั่วประเทศอีกล้านกว่าคนทำงานหนักเช่นเธอ และเธอรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ในการช่วยให้คนในชุมชนห่างไกลโควิด
“อสม. มีบทบาทมากขึ้น ตั้งแต่มีโควิดระบาด ต้องไปวัดความดันคนสูงอายุให้ที่บ้าน เพื่อไม่ให้คนไปแออัดที่ รพ.สต. ต้องส่งรายงานต่างๆ ส่งข้อมูลโควิดทุกวันที่ 15 และ 30 เข้าไลน์กลุ่ม อสม. สมัยนี้ทำงานผ่านออนไลน์มากขึ้น” อสม.ดวงฤทัยกล่าวถึงการทำงาน
:: อสม.วอนรัฐช่วย 500 บาท เหตุมือถือเครื่องเก่า ไร้เน็ต
ด้านนายโพธิ์ทอง อินต๊ะเป็ง ประธาน อสม.หมู่บ้านฮ่องห้า ที่ทำหน้าที่ประสานงาน อสม. ฝ่ายปกครอง รพ.สต. บอกเล่าถึงปัญหาในการทำงานของ อสม. ในหมู่บ้านฮ่องห้ามี อสม.ทั้งหมด 37 คน โดย 1 อสม.รับผิดชอบ 10 หลังคาเรือน ก่อนมีโควิด อสม.ทำงานเดือนละ 4 วัน ทั้งกำจัดยุงลาย จัดเก็บข้อมูลสุขภาพคนในชุมชน พอมีโควิด อสม. ต้องช่วยกันเฝ้าระวังมากขึ้น
สำหรับสถานการณ์การป้องกันโควิดของหมู่บ้าน คนในชุมชนให้ความร่วมมือด้วยดีเสมอมาตั้งแต่มีการระบาดเมื่อปี 63 รวมถึงในช่วงเทศกาลปีใหม่ 64 ที่ผ่านมา มีคนในชุมชมจากจังหวัดอื่นกลับมาหมู่บ้านกว่า 40 ราย อาทิ ชลบุรี กทม. นนทบุรี ปทุมธานี สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ทุกรายให้ความร่วมมือ อสม. วัดไข้ และกรอกข้อมูลต่างๆ อย่างดี ส่วนการป้องกันโควิดของหมู่บ้านยังได้งดจัดงานปีใหม่ และงดตักบาตรในวันที่ 1 ม.ค. 64 ด้วย
นอกจากนี้ในทุกเช้าเวลา 06.30 น. นายอเนก ใจคำ ผู้ใหญ่บ้าน ประกาศเสียงตามสายของหมู่บ้านทุกเช้า อัปเดตสถานการณ์โควิด และแจ้งคนในชุมชนให้ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด งดออกบ้านโดยไม่จำเป็น เน้นให้อยู่กับครอบครัว
ส่วนในช่วงเย็นเวลาประมาณ 17.30 น. ประธาน อสม. ก็ประกาศเสียงตามสาย อัปเดตสถานการณ์โควิดอีกครั้ง พร้อมย้ำขอความร่วมมือคนในชุมชนช่วยกันเฝ้าระวัง โดยสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ซึ่งคนในหมู่บ้านให้ความร่วมมือดี และเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม ประธาน อสม. พบปัญหาการทำงานของ อสม.ที่ต้องดูแลว่า เนื่องจากปัจจุบันต้องติดต่อ ส่งข้อมูลคนในชุมชนที่ต้องดูแลผ่านทางไลน์ อสม.บางราย มีทุนทรัพย์ไม่พอ เครื่องโทรศัพท์เป็นรุ่นเก่า ทำให้เกิดอุปสรรคในการปฏิบัติงาน พร้อมฝากถึงรัฐบาลฯ ให้ช่วยดูแล
“อสม.บางคนใช้มือถือเครื่องเก่าของลูก ของหลาน ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ยามไปปฏิบัติงานนอกบ้าน เงินตำแหน่ง อสม. 1 พัน ยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการทำงานมากนัก อยากให้ภาครัฐช่วย หากเพิ่มให้อีก 500 ก็จะนำส่วนนี้มาเป็นค่าอินเทอร์เน็ตได้ งานก็จะราบรื่นขึ้น” ประธาน อสม.ทิ้งท้ายถึงภาครัฐ
อสม.คือ อีกกลุ่มที่เป็นผู้ปิดทองหลังพระ เสียสละเพื่อสังคม และยังช่วยสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านในช่วงเวลานี้ที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวล สิ่งที่จะช่วยให้เขาหายเหนื่อย เราต้องร่วมมือช่วยกันป้องกันตัวเองจากโรคโควิด
👇 อ่านบทความต้นฉบับ👇
โฆษณา