20 ม.ค. 2021 เวลา 04:48 • ประวัติศาสตร์
เมืองเชียงแสน
เชียงแสน - เมืองก่อนประวัติศาสตร์ พื้นที่ราบลุ่มเชียงแสนและบริเวณข้างเคียงเคยมีมนุษย์เร่ร่อนอยู่อาศัยมาช้านานแล้ว นับแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อครั้งมนุษย์ยังดำรงชีวิตอยู่ในสังคมล่าสัตว์ ต่อเนื่องลงมา ถึงสังคมเกษตรกรรม หรือราว ๑๕๐๐๐ - ๓๐๐๐๐ ปีมาแล้ว เพราะปรากฏหลักฐานเครื่องมือ เครื่องใช้มนุษย์กระจัดกระจายอยู่โดยทั่วไปทั้งที่ลาดเนินเขาและริมฝั่งแม่น้ำ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้เริ่มรวมตัวกันหนาแน่นขึ้น ก่อตั้งเป็น ชุมชนเมืองบนที่ลาดเนินเขาหรือที่ตอนริมฝั่งแม่น้ำ เมื่อพุทธศาสนาเริ่มแพร่ขยายเข้ามา จึงเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ชุมชนเหล่านี้ได้หันมาเอาวัฒนธรรมทางพุทธศาสนา พร้อมกับการก้าวเข้าสู่ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ล่วงมาถึงปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พญาแสนภู กษัตริย์ราชวงศ์มังราย ทรงสร้างเมืองเชียงแสนขึ้น ในบริเวณหมู่บ้านเล็กๆ ริมฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อควบคุมไพร่พลเมือง ผลิตผลทางการเกษตร และ เส้นทางการค้าของแคว้นโยนก อันเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมแห่งบรรพบุรุษของพระองค์ในปี พ.ศ. ๑๘๗๑ ฐานะของเมืองเชียงแสนในระยะแรกมีความสำคัญค่อนข้างสูง เพราะเป็นเมืองลูกหลวงของ อาณาจักรล้านนา กษัตริย์ราชวงศ์มังรายหลายพระองค์ อาทิ พญาผายู พญาคำฟู และพญากือนา ต่างเสด็จมาครองเมืองเชียงแสน ก่อนที่จะเสด็จเสวยราชสมบัติ ณ เมืองเชียงใหม่ หลังจากต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ลงมาจนกระทั่งอาณาจักรล้านนาถูกพม่ายึดครองในปี พ.ศ. ๒๑๐๑ ฐานะของเมืองเชียงแสนก็ถูกลดลงเป็นเพียงเมืองสำคัญทางศาสนา และเมืองบริวารของอาณาจักร กษัตริย์ล้านนามักจะส่งเชื้อพระวงศ์ และขุนนางมาปกครองเมืองแทนพระราชโอรส ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ เมืองเชียงแสนกลับกลายเป็นเมืองสำคัญของทาง ยุทธศาสตร์ที่ควบคุมพื้นที่ทางตอนบนของหัวเมืองฝ่ายเหนือ กษัตริย์พม่าได้ส่งกำลังเข้ามายึดเมืองไว้ ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยาและธนบุรีต้องยกกองทัพมาปราบอยู่หลายครั้ง ล่วงมาปี พ.ศ. ๒๓๔๗ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้า กรมหลวงเทพหริรักษ์ และพระยายมราช ยกกองทัพมาขับไล่ชาวพม่าออกจากเมืองเชียงแสนได้สำเร็จ แล้วมีพระราชดำรัสให้เผาบ้านเมืองกวาดต้อนผู้คนอพยพไปไว้ตามหัวเมืองต่างๆ ในภาคเหนือ และ ส่งลงมายังกรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้าอินต๊ะ บุตรเจ้าบุญมา เข้าผู้ครองนครลำพูน นำราษฎรเมืองลำพูน เชียงใหม่ และลำปาง ขึ้นมา ตั้งถิ่นฐาน ณ เมืองเชียงแสน และพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาราชเดชดำรง ตำแหน่งเจ้าเมือง เชียงแสน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๘ ท้ายที่สุดเมืองเชียงแสนถูกยุบเป็นกิ่งอำเภอเชียงแสนหลวง ในปี พ.ศ. ๒๔๔๒ และได้ยกฐานะเป็นอำเภอเชียงแสน ขึ้นกับจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๐ ที่มา .... พิพิธภัณฑ์เชียงแสน ขอบคุณภาพจากเชียงรายโฟกัสดอทคอม(ภาพวัดป่าสัก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย)
1
โฆษณา