20 ม.ค. 2021 เวลา 11:40 • ธุรกิจ
ความเงียบเหงา ของตลาดนัดจตุจักร ในวันนี้
หลายคนอาจไม่เชื่อว่า ตลาดนัดสุดสัปดาห์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น ตั้งอยู่ที่ประเทศไทย
และมีชื่อว่า “ตลาดนัดจตุจักร” หรือที่บางคนเรียกว่า JJ Market
ตลาดนัดจตุจักรเป็นที่คุ้นเคยของชาวไทยและชาวต่างชาติมานาน
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 จนถึงวันนี้
ตลาดนัดจตุจักรได้รับผลกระทบมากแค่ไหน?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ความเป็นมาของตลาดนัดแห่งนี้ เริ่มจากในปี พ.ศ. 2491 รัฐบาลในสมัยนั้นมีความคิดที่จะจัดตั้งตลาดนัดขึ้นในทุกจังหวัด ซึ่งในกรุงเทพมหานครนั้น ได้เลือกสนามหลวงเป็นสถานที่จัดตลาดนัด
ต่อมาในปี พ.ศ. 2521 รัฐบาลมีนโยบายใช้สนามหลวงเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ
ทำให้ต้องมองหาสถานที่ใหม่เพื่อทำตลาดนัด
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้การรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ดูแลพื้นที่ที่เป็นตลาดนัดจตุจักรในปัจจุบัน ได้มอบพื้นที่ดังกล่าวให้แก่กรุงเทพมหานคร ในการใช้เป็นพื้นที่จัดตั้งตลาดนัด
1
ตลาดนัดจตุจักรจึงถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2521 ซึ่งเดิมทีนั้นใช้ชื่อว่า ตลาดนัดย่านพหลโยธิน ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ตลาดนัดจตุจักร” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เนื่องจากตลาดดังกล่าวอยู่ใกล้สวนสาธารณะจตุจักร
2
Cr. Thairath
ในปี 2562 ตลาดนัดจตุจักรมีจำนวนแผงค้าทั้งหมดประมาณ 15,000 แผง
และถือเป็นศูนย์รวมสินค้าขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
1
โดยภายในตลาดนัดจตุจักร มีร้านขายสินค้าหลากหลาย ตั้งแต่ผักและผลไม้ เสื้อผ้า สัตว์เลี้ยง ต้นไม้ อาหารปรุง อาหารสำเร็จรูป อาหารสด และเบ็ดเตล็ด
ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มีการขายกันมากที่สุดในตลาดนัดจตุจักร คือ
1. เสื้อผ้า-เครื่องนุ่งห่ม โดยมีสัดส่วนกว่า 41%
2. อาหารแปรรูป 16%
3. เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง 12%
2
ที่น่าสนใจคือ ในช่วงเวลาปกตินั้น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาที่ตลาดนัดจตุจักรกว่า 200,000 คน
3
จากผลการสำรวจข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยในปี 2562 พบว่า
ค่าเช่าแผงค้าที่ตลาดแห่งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทของการเช่า
- การเช่าโดยตรงกับ กทม. มีราคาตั้งแต่ 1,400-5,900 บาทต่อเดือน
- การเช่าช่วง มีราคาตั้งแต่ 6,500-15,000 บาทต่อเดือน
3
ราคาค่าเช่าของแต่ละแผงค้ายังขึ้นอยู่กับทำเลด้วย ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแผงค้าในตลาดนัดจตุจักรนั้นอยู่ที่ 139,500 บาทต่อเดือน
2
โดยกว่า 60% ของแผงค้า มีช่องทางการขายสินค้า คือหน้าร้านเพียงอย่างเดียว
ไม่มีการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์
Cr. Siamrath
การที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
โดยเฉพาะในปี 2562 กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนถึง 22.8 ล้านคน
มากเป็นอันดับ 1 ของโลก
2
เรื่องนี้จึงทำให้ตลาดนัดจตุจักร กลายมาเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางมาเที่ยวด้วย โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเดินทางมาที่ตลาดนัดจตุจักร 3 อันดับแรก คือ
1. นักท่องเที่ยวจากจีน
2. นักท่องเที่ยวจากอาเซียน
3. นักท่องเที่ยวจากยุโรป
แต่แล้วการแพร่ระบาดของโควิด 19 ก็ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงตลาดนัดจตุจักรด้วย
1
จากที่เคยมีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนอย่างหนาแน่น
มาวันนี้จำนวนคนที่มาเดินที่นี่แทบจะบางตา แม้จะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ก็ตาม
1
การขาดหายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้ตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีที่แล้ว ขณะที่คนไทยก็ระมัดระวังการเดินทางไปในที่แออัด เมื่อรวมกับช่วงเวลาที่สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้กำลังซื้อนั้นหดหายลงอย่างหนัก
จำนวนลูกค้าที่ลดลง ทำให้แผงค้าจำนวนมากนั้นขาดรายได้ นอกจากนี้ ต้นทุนของร้านค้าต่างๆ นั้นไม่ได้มีเพียงแค่ค่าเช่าที่ แต่ยังรวมไปถึงต้นทุนของสินค้าที่สั่งมาขายด้วย
1
Cr. เส้นทางเศรษฐี
ซึ่งการกลับมาระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ ก็เป็นเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้แผงค้าในตลาดนัดจตุจักรบางส่วนต้องทยอยปิดตัวลง และหันไปพัฒนาช่องทางการขายสินค้าทางออนไลน์แทน
1
นับเป็นความเงียบเหงา ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
สำหรับตลาดนัดสุดสัปดาห์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้..
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้ หากการระบาดของโควิด 19 ค่อยๆ จางลงไป นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ก็น่าจะได้กลับมาเยี่ยมเยือนตลาดนัดจตุจักร จนทำให้ตลาดแห่งนี้คลาคล่ำไปด้วยผู้คนอีกครั้ง
และวันนั้น พวกเราก็คงกลับมาได้ยินประโยคที่ว่า
“หากมาที่กรุงเทพฯ แล้วไม่มาเดินตลาดนัดจตุจักร ก็ถือว่ามาไม่ถึงกรุงเทพฯ”
อีกครั้งหนึ่ง..
3
โฆษณา